ไปคูหาสวรรค์ ทีนี้กลับมากล่าวถึง “หลวงปู่คำคะนิง” ที่เคยเข้าไปเที่ยวในเมืองพญานาค ใต้แม่น้ำโขงว่าแตกต่างกับที่พระอาจารย์มั่นเห็นเป็นประการใด
ข้าพเจ้าออกเดินทางจากกรุเทพฯ ไปนมัสการหลวงปู่คำคะนิง จุลละมณี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2523 ที่ผ่านมานี้เอง คณะของพวกเราเป็นนักปฏิบัติธรรม มุ่งกำจัดกิเลสตัณหาออกจากกาย วาจาและใจเป็นจุดสำคัญ ขณะเดียวกันก็ใฝ่ใจศึกษาค้นคว้าถึงสิ่งเร้นลับทั้งนามธรรมและรูปธรรมไปด้วยในเชิงวิชาการ เราไปพักแรมคืนกับพระอาจารย์โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ) ที่ วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีหนึ่งคืน
รุ่งเช้าต่อมาก็นำรถลงแพขนานยนต์ ที่ท่าข้ามแม่น้ำมูลอำเภอพิบูลมังสาหาร ไปขึ้นฟากฝั่งตรงข้าม ซึ่งที่นั่นมีถนนสายยุทธศาสตร์จะพุ่งไปทางทิศตะวันออกเลียบฝั่งโขง ผ่านอำเภอบ้านด่าน ปากแม่น้ำมูลซึ่งไหลตกแม่น้ำโขง ถนนสายนี้จะเลียบเลาะฝั่งโยงไปทางอำเภอโขงเจียม อำเภอเขมราฐ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นถนนสายยุทธศาสตร์สำคัญ เล่นผ่านพื้นที่สีแดงที่พวก ผกค พยายามแผ่อิทธิพลอยู่ แต่ถนนสายนี้ก็ดีกว่าทางเกวียนเล็กน้อย เป็นถนนดินลูกรังฝุ่นคละคลุ้ง เข้าใจเอาว่า รัฐบาลคงยังไม่มีงบประมาณพอที่จะลาดยางให้ราบเรียบแน่นหนาถาวร มัคคุเทศก์นำทางไปครั้งนี้เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญผู้มีชื่อเสียงเลึ่องลือสองฟากฝั่งโขง ท่านคือ พระอาจารย์กิ ธัมมุตตะโมแห่งวัดสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร
เดิมทีนั้นท่าน พระอาจารยกิ เป็นชาวจำปาศักดิ์ ท่านเชี่ยวชาญทางธุดงควัตร ชอบอยู่ตามป่าตามถ้ำเขาเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เป็นสามเณร มีความเชี่ยวชาญเรื่องป่าเรื่องถ้ำเขาและยาสมุนไพรอย่างหาตัวจับยาก
สมัยอยู่แขวงลาวใต้ ท่านเป็นพระอาจารย์สอนสมถะ วิปัสสนา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ในความเคารพเลื่อมใสของชาวบ้านนั้น เพราะท่านพระอาจารย์กิ ธัมมุตตโมมีอภินิหารมาก
หลวงปู่คำคะนิง อยู่ที่ ถ้ำคูหาสวรรค์ อำเภอบ้านด่าน
ท่านผู้อ่านที่สนใจใคร่จะไปนมัสการท่านโปรดอ่านแล้วจดไว้เลย คือดังนี้นะครับ
เมื่อขึ้นจากแพขนานยนต์ ที่ท่าข้ามอำเภอพิบูลมังสาหารแล้ว ขับรถเลี้ยวไปทางขวามือ มีป้ายเขียนบอกไว้ หรือจะถามชาวบ้านแถวนั้นก็ได้ เขาจะยินดีชี้ทางให้ด้วยความเต็มใจ มีอัธยาศัย
ถ้าไม่มีรถขับไปออกจะไม่สะดวก เพราะรถเมล์รถประจำทางมีน้อยคัน ดูเหมือนจะวิ่งวันละเที่ยวเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือเหมารถสองแถวหรือแท็กซี่จากตลาดอุบลฯ หรือจากตลาดวารินชำราบไปกลับจะสะดวกกว่า รถจะแล่นผ่านทุ่งนาและป่าโปร่งไปเรื่อย ๆ แล้วจะขึ้นเขาผ่านสำนักสงฆ์ “ถ้ำเหวสินไชย” ไป ตอนนี้รถจะเลี้ยวซ้ายขึ้นไปบนยอดเขา ไปสักพักจะเห็นมีบ้านเรือนของชาวป่าอยู่หลังหนึ่งซ้ายมือ
จงจอดรถที่บ้านหลังนี้แล้วมองไปทางทิศตะวันออกหรือขวามือ จะเห็นแม่น้ำโขงอยู่ต่ำลงไปคดเคี้ยวคล้ายงูยักษ์ และมองเห็นตลาดอำเภอบ้านด่านอยู่ตีนเขาลิบ ๆ ตลาดบ้านด่านนี้อยู่ริมฝั่งโขงและตรงปากแม่น้ำมูลไหลตกแม่น้ำโขง
ให้ถามเจ้าของบ้านกลางป่าทางลงสู่ถ้ำคูหาสวรรค์อยู่ตรงไหน เขาจะยินดีชี้บอกทางให้และนำทางไปเอง เพราะเขาเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่คำคะนิง
ท่านที่ชมชอบธรรมชาติจะต้องตะลึงลานกับธรรมชาติของอำเภอบ้านด่าน มันงามวิจิตรพิสดารด้วยต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำและภูเขาชวนให้เคลิบเคลิ้มนี่กระไร พวกเราเข้ามนัสภารหลวงปู่คำคะนิงที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ท่านเป็นรูปร่างสูงใหญ่แบบคนโบราณผิวพรรณศิริราศีผ่องใสไปทั่วทั้งอินทรีย์ ก่อนนี้คือฤๅษี แม้วัยของท่านจะ 86 และ 42 พรรษาแล้วก็ตาม ยังนั่งเอวตั้งตรง แผ่นหลังตรงดุจดามไว้ด้วยแท่งเหล็ก บ่งบอกถึงความเข้มแข็งเปี่ยมพลังภายในลึกล้ำ แม้ท่านจะบอกกล่าวอย่างยิ้มแย้มว่า ท่านไม่สบายป่วยเรื้อรังมาสองปีแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มรณภาพไปสามวันสามคืน ญาติโยมจะเอาไปเผาแล้วซี แต่ท่านก็ฟื้นขึ้นมาอีก ยังสดชื่นกระปรี้กระเปร่าคล้ายไม่ป่วยไข้เลย แสดงว่ากำลังใจของท่านเข้มแข็ง และมีบุญญานุภาพอย่างลึกลับ หลวงปู่คำคะนิงได้อนุญาตให้คณะเราสัมภาษณ์ท่านและบันทึกเสียงได้ อัธยาศัยของท่านเปี่ยมเมตตาจิตและเปิดเผย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งสมมติ ชีวิตคนเราเหมือนตัวละครที่แสดงไปตามบทบาท ไร้สาระแก่นสาร มีแต่มรรค ผลนิพพาน เท่านั้น เป็นสารธรรมอันจริงแท้แน่นอน บริสุทธิ์สะอาด สงบศานติชั่วนิรันดร์
หลวงปู่คำคะนิง จุลละมณีเป็นชาวคำม่วน แขวงคำม่วน ประเทศลาว ปีนี้อายุเต็ม 86 ปี แรกเริ่มเดิมทีก่อนจะเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์นั้น มีครอบครัวลูกเมียเป็นฝั่งเป็นฝามาก่อน แต่พออายุได้ 30 ปีก็เบื่อหน่ายชีวิตครองเรือน จึงอำลาลูกเมียออกบวชเป็นฤๅษีดาบส ท่องเที่ยวธุดงค์ไปในป่าเขาลำเนาไพร เป็นเวลานานถึง 15 ปี ไม่เคยเข้าอยู่หมู่บ้านเลย อยู่แต่ในป่าเป็นวัตร ถือสัจจะเคร่งในศีลฤๅษีโยคี ฝึกตนอย่างเคร่งเครียดละเว้นความชั่วทุกประการ
7 วันขบฉันอาหารครั้งหนึ่ง 15 วันขบฉันอาหารครั้งหนึ่ง เป็นการบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า เพื่อพิสูจน์กำลังใจและความทรหดอดทนของตนว่า มีความกลัวตายไหม ? อาลัยใยดีในสังขารร่างกายขนาดไหน ?
จากการปฏิบัติตนแบบฤๅษีชีไพรอย่างยิ่งยวดนี้เอง ทำให้ท่านพบกับความศานติสงบกายสงบจิตอย่างล้ำลึก มีความสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้ในองค์ฌานสมาธิ เป็นพระฤๅษีผู้แก่กล้าฌานสมาบัติ สามารถเข้าฌานได้นานวัน โดยไม่อ่อนเพลีย ไม่หิวโหย
ร่างกายกระชุ่มกระชวยแข็งแรงเป็นปกติ สามารถเดินธุดงค์ขึ้นเขาลงห้วยได้เหมือนคนหนุ่มฉกรรจ์ เพียงแต่ว่าร่างกายไม่อ้วน ร่างกายผอมเกร็ง แข้งขามือกำได้รอบ แต่ทว่าแข็งแรงอย่างน่าอัศจรรย์ ไปไหนมาไหนในป่าในถ้ำ สัตว์ป่าก็เป็นมิตรไม่กล้ามาทำอันตราย ด้วยอำนาจเมตตาที่แผ่ออกมาจากฌานสมาธิ อยู่แต่ในป่าในถ้ำนับร้อยนับพันถ้ำในภูเขาแดนลาว เสวยสุขในฌานจนเบื่อหน่าย เห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้นทุกข์ ไปสู่มรรค ผลนิพพาน หลวงปูคำคะนิงจึงได้ลาเพศฤๅษีดาบส เข้าสู่พระพุทธศาสนา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อปฏิบัติธรรมสูงทางพ้นทุกข์ อันถูกต้องร่องรอย
เมื่อบวชเป็นพระแล้วก็ยังถือมั่นอยู่ในสัจจอธิษฐานคืออยู่ในป่าในถ้ำเป็นวัตร ไม่ยอมเข้าอยู่หมู่บ้านหรือสำนักสงฆ์และวัดวาอารามใด ๆ เป็นเด็ดขาด มุ่งถือ “พระธรรม” คือการปฏิบัติทางจิตเพื่อความหลุดพ้นเป็นใหญ่ ได้ธุดงค์ไปจำพรรษาตามถ้ำตามทิวเทือกเขาต่าง ๆ ในแดนลาวปีแล้วปีเล่า ตราบจนกระทั่งเวลานี้ได้ 27 พรรษา ถ้ารวมเป็นพระฤๅษีด้วยก็เป็น 42 พรรษา
ที่มา..http://www.dharma-gateway.com/mo ... ning-hist-01-02.htm |