ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3427
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ฮาราคีรี

[คัดลอกลิงก์]
ฮาราคีรี วิธีการฆ่าตัวตาย





โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
      

             
      
ไม่กี่วันที่ผ่านมาดิฉันเห็นภาพเลือดสีแดงที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การประท้วงของผู้ชุมนุมแล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นอยู่สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เรื่องharakiri ที่กำกับโดย มาซากิ โคบายาชิ กับวรรณกรรมของนักเขียนนาม ยูคิโอะ มิชิมา ที่เล่าเรื่องการทำพิธีฮาราคีรีชนิดที่ผู้อ่านสามารถจินตนาการความสยดสยองของการคว้านท้องตัวเองอย่างเสมือนจริงมาก และนักเขียนคนนี้ก็จบชีวิตตัวเองด้วยการทำฮาราคีรีด้วยค่ะ

       หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ฮาราคีรี คือพิธีการฆ่าตัวตายอย่างมีเกียรติของซามุไร ที่คนทั่วไปไม่สามารถกระทำพิธีนี้ได้ ฮาระ แปลว่า ท้อง ส่วน คิริ ก็หมายถึงตัด ฮาระคีริ ก็คือ การตัดท้องนั่นเอง อีกคำหนึ่งที่มักจะได้ยินในความหมายเดียวกันก็คือคำว่า เส็บพุขุ
      
       ในอดีตซามุไรจะมีสังกัดขึ้นอยู่กับเจ้านายคนใดคนหนึ่ง หากเจ้านายเสียชีวิตหรือพ่ายแพ้ในการต่อสู้ เหล่าซามุไรก็จะไร้สังกัดและกลายเป็น โรนิน ซึ่งถือว่ามีสถานะต่ำต้อยมากในสังคม เนื่องจากซามุไรที่ดีต้องรำลึกอยู่เสมอและหาทางตอบแทนบุญคุณ ถือว่าเป็นความดีสูงสุด ไม่เพียงแต่เจ้านายเหนือหัวเท่านั้น แต่รวมไปถึงบุคคลทั้งหลายที่มีบุญคุณด้วย
      
       ซามุไรต้องเป็นผู้กล้าหาญไม่เกรงกลัวและสามารถเผชิญกับความตายทุกเมื่อ เพราะพวกเขาจะได้รับการสั่งสอนว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยงและไม่มีตัวตนแท้จริงที่ถาวร ชีวิตทุกชีวิตเกิดมาเพื่อใช้กรรม และซามุไรต้องอยู่อย่างผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรี พวกเขาต้องยอมตายเพื่อรักษาเกียรติ ดีกว่าอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี
      
       ซามุไรต้องอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเที่ยงธรรม ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มีจิตเมตตาและรักความยุติธรรม ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้ตกยาก


       ในภาพยนตร์เรื่องเส็บพุขุ (ฮาราคีริ) Seppuku (hara-kiri)ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1962 เป็นการสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นยุคนั้นที่ถือเรื่องเกียรติยศและศักดิ์ศรีเหนือสิ่งอื่นใด หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงทราบดีว่า เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องได้เนิบช้าชวนหลับเอามากทีเดียว แต่กระนั้นด้วยภาพขาวดำและบทสนทนาที่ซับซ้อนยอกย้อนด้วยสำนวนญี่ปุ่นโบราณที่ชาวญี่ปุ่นยุคใหม่เองยังฟังไม่เข้าใจอยู่หลายคำ ก็ชวนให้ผู้ชมอย่างเราๆ ต้องตั้งใจอ่านบทบรรยายภาษาไทย แบบคำต่อคำ
      
       ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงช่วงศตวรรษที่ 17 ของญี่ปุ่น สมัยที่โชกุนโทกุกาว่าเรืองอำนาจ และมีความประสงค์จะรวบอำนาจไว้กับตัวเพียงผู้เดียว จึงมีคำสั่งลิดรอนอำนาจเก่าอย่างเหล่าขุนนางตามหัวเมืองด้วยการริบทรัพย์และบ้านเรือน ทำให้เหล่าบริวารและซามุไรมากมายต้องเร่ร่อน มีชีวิตอยู่อย่างอดอยากตามท้องถนน และกลายเป็น โรนิน ในที่สุด ทางเลือกสุดท้ายของซามุไรไร้สังกัด ก็คือทำพิธีฮาราคีริ
      
       เนื้อเรื่องหลักๆของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของดิฉันขณะนี้หรอกค่ะ แต่สิ่งที่ดิฉันสนใจและการเกิดเปรียบเทียบขึ้นมาทันทีทันใดก็คือ ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ที่เล่าถึง โรนินคนหนึ่งเดินทางมาขอทำพิธีฮาราคีริที่ลานบ้านของขุนนางคนหนึ่ง ซึ่งบทได้เล่าไปว่า แท้จริงแล้ว โรนินคนนั้นไม่ได้ต้องการมาฮาราคิรี อย่างที่ขอไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาโรนินหลายคนเข้ามาในบ้านขุนนางต่างๆ ที่เข้ามาขอทำฮาราคีรีนั้น ก็เพื่อต้องการเงินและอาหารประทังชีวิต แต่.... ความตอนนี้ไม่เป็นไปดังเดิม
       เหล่าบรรดาขุนนางพร้อมใจกันให้เขาฆ่าตัวตาย เนื่องจากตรวจดูดาบของโรนินผู้นั้นแล้วรู้ว่า มันคือไม้ไผ่ธรรมดาเท่านั้น
      
       ภาพขาวดำช่วยทำให้ความสยดสยองลดลงไปได้ระดับหนึ่งค่ะ เนื่องจาก โรนินผู้นั้นต้องใช้ดาบไม้ไผ่สั้นของตัวคว้านท้องตัวเอง.... เขาต้องแทงซ้ำๆ อยู่หลายเพื่อให้ทะลุเข้าไป และร้องขอความตายจากเพชฌฆาตอีกต่อหนึ่ง....
      
       ในพิธีฮาราคีรินั้น ผู้ทำพิธีจะนั่งอยู่บนเสื่อตาตามิ เบื้องหน้ามีดาบสั้นที่ผู้ทำพิธีต้องใช้มันแทงเข้าไปในท้องของตัวเองด้านซ้ายแล้วกรีดผ่านมาทางด้านขวา สมัยก่อนมีการทำฮาราคีริ สามรูปแบบตามลักษณะของตัวคันจิ ให้เป็นเลข หนึ่ง สอง และสาม
      
       แต่สมัยต่อมาพิธีฮาราคีริ ลดความเจ็บปวดลงไปเยอะเมื่อผู้ทำพิธีใช้เพียงดาบไม้ไผ่เป็นสัญลักษณ์ของการคว้านท้องก่อนจะร้องขอให้เพชฌฆาตเป็นผู้ลงดาบที่คอแทนเขา
      
       สมัยก่อนฮาราคีริจะทำได้แต่เพียงซามุไรเท่านั้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ชาวญี่ปุ่นคลั่งชาติหลายคนก็ใช้วิธีนี้จบชีวิตของตัวเองเช่นกัน ดังเช่นนักเขียนผู้นี้ ยูคิโอะ มิชิมา จริงๆแล้วเขาเป็นนักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน เขามีผลงานทั้งสิ้น 257 เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้นและบทละคร
      
       งานเขียนของเขาในยุคนั้นถือว่าเป็นขบถต่อสังคม แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนคลั่งชาติคนหนึ่งก็ตาม ด้วยแนวคิดที่ไม่ได้อยู่ในรีตของขนบญี่ปุ่น งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาเป็นนวนิยายชุด 4 เรื่องคือ the sea of fertility ซึ่งมี spring snow,runaway horses, The temple of dawn, The decay of the angel หลังจากที่เขาเขียนงานชุดนี้เสร็จ เขาได้ไปแสดงปาฐกถากระตุ้นให้มีรัฐประหาร แล้วเขาก็ทำการคว้านท้อง ฮาราคีรีของตัวเองพร้อมกับเพื่อนสนิทของเขาอีกคนหนึ่ง ต่อหน้าผู้คนที่เข้ามาฟังการปาฐกถาในครั้งนั้ของเขา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1970 ด้วยวัย 45 ปี
      
       มิชิมาถือว่าความตาย สำหรับเขาแล้วมันคือ ความปรารถนาสูงสุด ในชีวิต และการทำฮาราคีรีของเขานั้นก็มีแผนการที่กำหนดไว้อย่างดีแล้ว.



http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000038240
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้