ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6531
ตอบกลับ: 21
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต วัดป่าสุทธาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระครูอุดมธรรมคุณ
(หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)  


วัดป่าสุทธาวาส
ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร



๏ นามเดิม

ทองสุก มหาหิง เป็นบุตรของนายเลี้ยง และนางบุญมี มหาหิง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒


๏ เกิด

เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก ณ ตำบลห้วยป่าหวาย อำเภอหนองโคน (อำเภอพระพุทธบาท ในปัจจุบัน) จังหวัดสระบุรี


๏ บรรพชา

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) จังหวัดพระนคร (แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) โดยมี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี พระธรรมกถึกเอกในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


๏ อุปสมบท

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๐ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) โดยมี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระปลัดบุญมี อินฺเชฏฺฐโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สำเร็จญัตติจตุตถกรรมวาจาในท่ามกลางพระสงฆ์ เมื่อเวลา ๑๓.๓๘ นาฬิกา ท่านได้รับนามฉายาว่า “สุจิตฺโต” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีจิตดี, ผู้มีความคิดดี”

หลังจากที่ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) ได้ถวายตัวเป็นศิษย์กับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เมื่อครั้งท่านมาพำนักที่วัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปธุดงค์กัมมัฏฐานทางภาคเหนือ พร้อมด้วยศิษย์องค์สำคัญหลายรูป เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย ฯลฯ ต่อมาท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจให้กับพระพุทธศาสนาที่จังหวัดจันทบุรีพอสมควร จึงได้ออกติดตามมาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง ณ สำนักป่าบ้านนามน ตำบลตองโขป อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร จนท้ายสุดท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส และเป็นผู้ก่อสร้างอุโบสถวัดป่าสุทธาวาส ซึ่งเดิมเป็นสถานที่ประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น จนอุโบสถสำเร็จงดงาม
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หลวงปู่ขาว อนาลโย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การศึกษาและสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้นักธรรมชั้นตรี และเป็นครูนักธรรมที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม)

พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๔ เป็นครูสอนบาลีที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม)

พ.ศ. ๒๔๗๔  สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ เป็นครูสอนบาลีที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านห้วยหีบ ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร  จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๘

พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗

พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูชั้นโทที่ พระครูอุดมธรรมคุณ

พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม


๏ การมรณภาพ

เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๐๖.๐๔ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สิริอายุรวมได้ ๕๗ ปี พรรษา ๓๘
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ


๏ การธุดงค์และการปฏิบัติศาสนกิจ

พ.ศ. ๒๔๗๔   

ภายหลังจากออกพรรษาปีนี้ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้ขอให้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้ไปตามคำขอร้องนั้น และได้ทำการสอนพระปริยัติธรรม ซึ่งพอดีกับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ พระอาจารย์ใหญ่ของคณะพระกัมมัฏฐาน ก็ได้ถูกขอร้องจากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเช่นเดียวกัน

ท่านพระครูอุดมธรรมคุณท่านได้พักอยู่ใต้ถุนกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ท่านว่าได้ประโยชน์ ๒ ประการ ประการที่ ๑ ท่านได้ฟังเทศน์จากท่านพระอาจารย์มั่น ประการที่ ๒ ท่านได้สอนพระปริยัติธรรมให้พระภิกษุสามเณร บางครั้งท่านพระอาจารย์มั่นจะมานั่งฟังการแปลหนังสือบาลีด้วยความสนใจ

ตอนกลางคืน ท่านพระอาจารย์มั่นได้สอนกัมมัฏฐาน วิธีปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นของการทำจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนของท่านหนักไปทางกัมมัฏฐาน คือให้พิจารณา ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง ท่านได้ให้เหตุผลว่า

“ทุกคนที่เกิดมาไม่ได้ไปติด คือยึดมั่นที่อื่นหรอก โดยเฉพาะก็มายึดมั่นถือมั่นที่ ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง นี้เอง ให้พยายามพิจารณาให้ตามความเป็นจริงแก่การยึดถือ ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง เป็นสิ่งสวยงาม ด้วยสามารถแห่งกำลังสมาธิ ก็จะเป็นทางไปสู่ความเป็นอริยเจ้าได้”

พ.ศ. ๒๔๗๕

เมื่อท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) มรณภาพแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ธุดงค์เข้าไปในป่าถ้ำหุบห้วยภูเขา เที่ยวแสวงหาความสงบวิเวกอยู่กับพวกชาวป่าชาวเขา ไม่กลับมาและไม่ยอมรับหน้าที่อะไรทั้งหมดที่ทางการแต่งตั้งถวาย โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มั่นได้ถูกแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) จึงได้กลับมาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นเมื่อท่านกลับมาแล้ว ทางวัดก็ขอร้องให้ท่านสอนบาลีต่อไปอีก แต่ท่านไม่รับ เนื่องจากท่านมีความประสงค์แน่วแน่ที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือการปฏิบัติทางด้านจิตใจ ประกอบกับที่ได้รับการแนะนำจากท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๗๖

ดังนั้น ปีนี้ท่านจึงได้เดินทางร่วมกับ พระภาษมุณี (โฮม) และสามเณรประมัย เณธิชัย สามเณรประมัยนี้แตกฉานในการปฏิบัติมาก สามเณรจะคอยเป็นผู้แนะนำทางจิตอยู่เสมอ และพวกเราก็เชื่อถือสามเณรประมัยมาก ได้พักจำพรรษาที่บ้านหนองคาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านได้ปรารภความเพียร เริ่มบำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เมื่อสงสัยอะไรก็ได้สามเณรประมัยเป็นที่ปรึกษา ณ ปีนี้เอง สามเณรประมัยปรารถนาความเพียรอย่างยิ่งใหญ่ ไม่นอนตลอดพรรษา จนเชื่อมั่นตนเองว่าได้สำเร็จพระอนาคามี

ท่านเล่าว่า วันหนึ่งท่านกับสามเณรประมัยกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอยู่ ก็ได้มีงูจงอางขนาดใหญ่ประมาณเท่าต้นหมาก วิ่งพุ่งปราดเข้ามาตรงพวกเราทั้งสอง ไม่ทราบว่าจะหนีมันไปอย่างไร จึงหยุดพูดแล้วเจริญเมตตาฌาน ทำจิตให้สงบ ขณะที่งูตัวนั้นมันกำลังจะเข้ามาถึงพวกเรา อีกประมาณวาเศษๆ ก็ได้มีสุนัข ๕ ตัวกระโดดเข้ามาขวางทางงู ได้เกิดการต่อสู้กันระหว่างสุนัข ๕ งู ๑ งูสู้ไม่ไหวเลยหนีไป แต่ในวัดที่แท้จริงไม่มีสุนัขสักตัวเดียว

หลังจากที่จำพรรษาที่บ้านคางแล้ว ท่านเดินธุดงค์จากนั้นเพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เรื่อยไป จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมาเขาเต่า ไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี เดินผ่านดงไปจะไปจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่เคยเดินทางลัด ไปหลงอยู่ในดง ๓ วัน ไม่มีบ้านคนเลย นอนอยู่ในป่าใหญ่ มีแต่เสียงช้างเสียงเสือ เป็นที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ท่านไม่ต้องหลับนอน พักทำสมาธิอย่างถวายชีวิต ใน ๓ วันไม่ได้ฉันอาหารเลย มีแต่ฉันน้ำเพราะไม่มีบ้านคน ท่านว่า “แหม...เราตอนนี้นึกว่าตายแน่ๆ จึงทำให้เกิดสมาธิอย่างดี นับเป็นประวัติการณ์สำคัญทีเดียว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้เมื่ออยู่วัดเจดีย์หลวง นำมาใช้เมื่อคราวสำคัญในคราวนี้ จนทะลุดงใหญ่ออกมาได้ กินเวลา ๓ วัน ๓ คืน โล่งใจไป”

จากนั้นก็มาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ วกกลับมาปากน้ำโพไปถึงแพร่ วกกลับมาพิจิตรไปพิษณุโลก กลับมาอุตรดิตถ์อีก ทั้งนี้เดินเท้าทั้งนั้น และก็พักอยู่ตามป่า พักอยู่อุตรดิตถ์บนภูเขาเป็นวัดเก่า สืบถามได้ความว่าชื่อ วัดสันทพงษ์ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นผู้มาก่อสร้างวัดนี้ ญาติโยมทั้งหลายก็พากันมานิมนต์จะให้อยู่สถาปนาวัดนี้ ท่านบอกว่าจะไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเดินทางต่อไป

ออกจากวัดนี้ ท่านก็เดินข้ามภูเขาแสนที่จะเหน็ดเหนื่อย ข้ามไม่รู้จักพ้นภูเขาเลย แต่เพราะความศรัทธาในท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยหายไปหมด โดยความพยายามท่านสามารถข้ามภูเขาไปถึงจังหวัดลำปางได้สำเร็จ ท่านบอกว่าครั้งนั้นก็เป็นครั้งหนึ่งแห่งความพยายามที่ลำบากยิ่ง แต่สำเร็จโดยอาศัยบารมีของท่านพระอาจารย์มั่น ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นแก่ท่านอย่างอัศจรรย์ทีเดียว




“พระเจดีย์หลวง” ใหญ่โตตั้งโดดเด่นเป็นสง่า
ณ วัดเจดีย์หลวง ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) บันทึกภาพร่วมกับพระภิกษุ-สามเณร
ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙



พ.ศ. ๒๔๗๗

เป็นเวลาจวนจะเข้าพรรษาเสียแล้ว ไม่สามารถที่จะติดตาม ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ พบ จึงจำพรรษาที่ วัดป่าเชียงแสน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ออกพรรษาแล้ว ท่านพระครูอุดมธรรมคุณกลับมาที่บ้านป่าสักขวาง ได้อยู่ที่นี้เป็นเวลาหลายเดือน ก็เริ่มเดินทางไปสู่จุดที่ต้องการคือการพบท่านพระอาจารย์มั่น จึงเดินธุดงค์ไปถึงถ้ำเชียงดาว พักอยู่พอสมควร ก็ไปถึงบ้านดงแดง มาเจอดงใหญ่เข้าอีกแล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ผ่านดงนี้ ภายในดงหาบ้านคนยาก ก็พอดีพบชาวบ้านกำลังตั้งร้านเลื่อยไม้กันอยู่ ถามทางที่จะเดินต่อไปก็พอทราบว่าจะต้องค้างคืนในดงนี้ เพราะจะไม่สามารถข้ามดงไปได้ในวันนี้ เมื่อไปต่อไปก็ต้องขึ้นภูเขา พอถึงหลังภูเขารู้สึกเหนื่อยมากและก็มืดพอดี ท่านจึงต้องพักค้างคืนบนภูเขานี้

การจำวัดบนภูเขา ท่านก็พอดีไปพบแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็จำวัดในที่ใกล้ๆ แอ่งน้ำนั้น พอตกกลางดึก พวกสัตว์จะมาลงกินน้ำ พอเห็นกลดของท่านเข้า ไม่กล้าเข้ามา พวกมันร้องกันใหญ่ เป็นเสียงต่างๆ นานาน่าสะพรึงกลัว ในเสียงเหล่านั้นเป็นคล้ายช้างก็มี คล้ายเสือก็มี คล้ายกวางก็มี และมีเสียงนกต่างๆ ที่น่ากลัว เป็นเสียงแปลกประหลาดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้ต้องลุกขึ้นนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าไม่ได้การเพราะจะต้องเดินไปให้ถึงบ้าน มิฉะนั้นวันนี้จะไม่ได้ฉันอาหาร พอดาวประกายพฤกษ์ขึ้น ท่านรีบจัดของเสร็จก็เดินทางต่อไป

การเดินทางของท่าน ไปถึงบ้านป่าฮิ้นตามคำบอกเล่าของพวกเลื่อยไม้ จึงพักบิณฑบาตที่บ้านป่าฮิ้น ที่บ้านป่าฮิ้นนี้มีสิ่งสำคัญอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือกัน คือเขาผายอง พวกเขาพากันเชื่อว่า สถานที่ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับยืนอยู่ที่นี้ เพราะเป็นหน้าผาที่สวยงามและแปลกประหลาดทีเดียว

ความจริงท่านตั้งใจจะจำพรรษาที่นี้เพราะเป็นที่วิเวกดี แต่โดยความตั้งใจยังไม่ถึงจุดที่หมายคือการพบท่านพระอาจารย์มั่น จึงไม่ได้จำพรรษาที่นี้ ได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์สาร (เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น) อยู่ที่บ้านกกกอก เพื่อจะได้ไต่ถามถึงที่อยู่ของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงไปที่นั่น พบกับท่านพระอาจารย์สารพอดี และได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นอยู่บนดอยกับปะหล่อง (ชาวเขา) ท่านได้เดินทางต่อขึ้นไปดอยแม่กน ซึ่งเป็นดอยสูงพอประมาณ ขึ้นครึ่งชั่วโมงกว่าถึงยอดดอย แล้วก็เดินกลับมาทางบ้านป่าฮิ้น ผ่านไปทางอำเภอพร้าว ได้ติดตามถามข่าวท่านพระอาจารย์มั่นจนจวบใกล้เข้าพรรษายังไม่พบ

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๗๘

เมื่อเวลาจวนเข้าพรรษา ท่านพระครูอุดมธรรมคุณก็จัดเสนาสนะตามมีตามได้ อยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์สาร ปรารภความเพียรทางใจเป็นที่ตั้ง รู้สึกว่าเกิดความสงบใจได้ดี และก็ได้ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์สารแทนท่านพระอาจารย์มั่นไปพลางก่อน ก็ได้ผลพอสมควรอยู่ ครั้นออกพรรษาเกิดเป็นไข้มาลาเรีย รู้สึกเกิดทุกข์เวทนามาก ท่านพยายามฝืนแล้วก็เดินทางต่อไป แต่รู้สึกอ่อนเพลียมาก จึงได้มาพักฟื้นอยู่ที่วัดบ้านโบสถ์ชั่วคราว แล้วท่านก็กลับไปทางดอยแม่กนอีก จากนั้นท่านก็ไปบ้านป่าไหน

ณ ที่นี้เอง จุดมุ่งหมายปลายทางที่ท่านได้พยายามบุกบั่นมาจนจะเอาชีวิตไม่รอดก็พลันสำเร็จขึ้นแก่ท่าน คือพบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านไม่ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นรู้ว่าท่านอยู่บ้านนี้ได้อย่างไร จู่ๆ เวลาเย็นประมาณบ่าย ๓ โมงท่านก็มาปรากฏตัวให้เห็น ณ ที่อยู่นี้เอง ท่านมาองค์เดียว แบกกลดสะพายบาตรมารุงรังทีเดียว

ท่านมีความรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นเหลือประมาณ รีบไปรับบริขารมา แล้วท่านพระอาจารย์มั่นก็ทักท่านเป็นประโยคแรกว่า  “มาดนแล้วบ่” แปลว่า มานานแล้วหรือ

ท่านตอบว่า “๒-๓ วันแล้ว”

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านบอกว่า

“เราอยู่กับพวกมูเซอบนดอยแม่กะตำ เราเดินทางมาเพื่อจะพบกับคุณ (หมายถึงท่านพระครูอุดมธรรมคุณ) ผ่านบ้านป่าแนะ เราตั้งใจจะมาแนะนำอบรมให้ในทางจิตใจ” ท่านพระอาจารย์มั่นพูดกับท่าน

จากนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาท่านไปที่บ้านปู่จองน้อย ตอนนี้ชาวบ้านแกงดาว (เต่ารั้ง) ทำเนื้อกวางให้ฉัน เขาหุงข้าวไม่รินน้ำดีมาก กำลังพื้นไข้ ฉันอร่อยมาก วิธีหุงข้าวเขาแปลกดี เขาเอาข้าวมาต้มพอแตกเม็ด เขาขุดไม้เป็นราง ๑ ศอก เทข้าวที่ต้มแล้วลงไป คนจนนิ่ม แล้วเอาขึ้นมานึ่งอีกที ฉันแล้วดีจริงๆ อร่อยจริงๆ

ตอนท่านมาองค์เดียวกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นเริ่มสอนวิชาปฏิบัติอย่างจริงจัง ณ ที่บ้านปู่จองน้อยนี้ ทั้งพานั่งสมาธิและเดินจงกรม และสำรวจวิถีจิต และท่านก็แนะนำถึงกัมมัฏฐาน ๕ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงด้วยสามารถแห่งสมาธิ และท่านแนะนำต่อไปว่า การพูดนั้นเป็นของง่ายนิดเดียว แต่การทำนั้นเป็นของยาก เช่น พูดว่า “ทำนา” เพียงเท่านั้นเราทำกันไม่รู้กี่ปี ไม่รู้จักแล้ว และปริยัติที่เรียนมานั้นให้เก็บไว้ให้หมดก่อน ใช้แต่การพิจารณาตามความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความสงบอย่างจริงจัง

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านอธิบายต่อไปว่า

สมาธิก็ดี มีคำว่า ขณิกสมาธิ-อุปาจารสมาธิ-อัปปนาสมาธิ และมีคำว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แต่ถ้าเราจะให้ใจของเราเป็นฌาน เราจะนั่งนึกว่า นี่วิตก นี่วิจาร นี่ปีติ นี่สุข นี่เอกัคคตา มันจะเป็นฌานขึ้นมาไม่ได้ จึงจำต้องละถอนสัญญาภายนอกด้วยสามารถแห่งอำนาจของสติ จึงจะเป็นสมาธิ เป็นฌาน

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นสอนแนวทางแห่งวิธีปฏิบัติได้ ๒ วัน ท่านก็ส่งให้ไปในภูเขาลึกอยู่ห่างจากบ้านแม่กนประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และให้ไปแต่ผู้เดียว เพื่อให้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ แล้วท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็อยู่ที่บ้านแม่กนนั่นเอง การเดินทางไปภูเขาลึกนั้น เป็นห้วยลำธารเดินเลาะลัดไปเป็นทางที่ลำบากมาก แต่ก็เป็นเรื่องของความเต็มใจ ความลำบากเหล่านั้นก็เป็นสิ่งธรรมดาไป

ครั้นถึงอุโบสถต้องมารวมกันที่จุดหมาย คราวนี้ก็เอาบ้านแม่กนเป็นจุดหมายประชุมกัน การประชุมทำอุโบสถนั้น นอกจากจะทำสังฆกรรมแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้โอวาทต่างๆ เท่าที่จะแนะนำอุบายสอน และไต่ถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่า องค์ไหนเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร จะต้องแก้ไขอย่างไร เป็นการทดสอบการปฏิบัติไปในตัว

อุโบสถนี้มีทั้งหมด ๕ องค์ คือ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ (มั่น), ท่านพระอาจารย์สาร, ท่านพระอาจารย์ขาว, เรา (พระครูอุดมธรรมคุณ) และท่านพระอาจารย์มนู

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม


พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี


พ.ศ. ๒๔๗๙

หลังจากลงอุโบสถนี้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ออกจากบ้านแม่กนนี้ไปอยู่ที่บ้านแม่งับ มีบ้านร้างอยู่ ๑ หลัง คนแถวๆ นี้มีอาชีพขุดเหมือง เศรษฐีเขาเอาน้ำไปจากแม่กนและแม่งับสาหรับทำเหมือง เป็นอันว่าปีนี้ พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ ที่นี้ด้วยกันทั้ง ๕ องค์

ท่านทองดี ศิษย์ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไปพบท่านพระอาจารย์มั่น พอติดตามมากับท่าน เห็นความทุกข์ยากลำบากในการบุกบั่นเพื่อจะไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ทั้งๆ ที่อุตส่าห์ติดตามมาจนได้ข่าวท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว เลยกลับใจไม่ไปหาท่านพระอาจารย์ใหญ่ แล้วก็เลยไม่ได้พบกันอีก
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-20 11:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ. ๒๔๘๐

หลังจากจำพรรษาที่บ้านแม่กนนั้นแล้ว ออกพรรษาท่านก็ให้ไปทิศละองค์ เพื่อแสวงหาที่ทำความเพียร ต่างด้นดั้นไปตามภูเขาป่าใหญ่ อยู่แห่งละ ๕ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง เมื่อเห็นว่าที่ไหนจะสงบวิเวกดีก็อยู่นานหน่อย ถ้าเห็นว่าจะเป็นการกังวลด้วยผู้คน กลัวจะเนิ่นช้าในการทำความเพียรก็รีบเดินทางต่อไป

เมื่อต่างเดินทางไปคนละทิศละทางแล้ว ท่านไปทันพบกับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านยาง บ้านแม่กะตั๋ง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ บ้านแม่กะตั๋งนี้เป็นที่สงบวิเวกดีมาก ท่านพระอาจารย์มั่นจึงอยู่นาน และอยู่กับพวกชาวเขา สอนให้ชาวเขารู้จักพระศาสนาได้มาก มาคราวนี้พบกับ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี และท่านพระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ จึงภาวนาทำความเพียรอยู่ที่นี้ ๑๐ วัน

ตอนนี้ท่านพระอาจารย์มั่นท่านประสงค์จะไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่ให้ใครยุ่ง ท่านพระอาจารย์เทสก์กับท่านพระอาจารย์อ่อนสีไปส่งท่านพระอาจารย์มั่นไปทางบ้านยาง เดินทางกันไป ๒ คืน

พอมาถึงตอนนี้เสือชุมมาก ชาวบ้านไม่ยอมให้พวกเราเดินทางไปเอง พวกเขาพาพวกชาวบ้านไปส่ง ในระยะกลางดงนั้นมีแต่รอยเสือให้ขวักไขว่ไปหมด และเสือเหล่านั้นชอบกินวัวควายชาวบ้าน ตลอดถึงสุนัข ถ้าคนหลงไปคนหนึ่ง ๒ คนก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมันแน่แท้ ชาวบ้านกลัวมาก จึงต้องยกพวกไปส่งพวกเราทั้งๆ ที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านก็ห้าม แต่ก็ไม่ขัดศรัทธา เขาจะไปส่งก็ดีเหมือนกัน

ปีนี้จำพรรษาที่บ้านแม่เจ้าทองทิพย์ (เป็นชื่อหมู่บ้าน) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เทสก์ ท่านพระอาจารย์ขาว ท่านพระอาจารย์สาร ท่านมนู และท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ในปีนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้พาทำความเพียรเป็นกรณีพิเศษ และได้อธิบายข้อปฏิบัติและปฏิปทาต่างๆ มากมาย เช่น

๑. การปฏิบัติทางใจ ต้องถือการถ่ายถอนอุปาทานเป็นหลัก

๒. การถ่ายถอนนั้นไม่ใช่ถ่ายโดยไม่มีเหตุ ไม่ใช่ทำเฉยๆ ให้มันถ่ายถอนเอง

๓. เหตุแห่งการถ่ายถอนนั้นต้องสมเหตุสมผล ท่านอ้างเอาพระอัสสชิแสดงในธรรมข้อที่ว่า

เย ธมฺมา เหตุ ปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ เวที มหาสมโณ


ธรรมทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นดับไปเพราะเหตุ
พระมหาสมณะคือพระพุทธเจ้ามีปกติตรัสดังนี้

๔. เพื่อให้เข้าใจว่า การถ่ายถอนอุปาทานนั้นมิใช่ไม่มีเหตุและไม่สมควรแก่เหตุ ต้องสมเหตุสมผล

๕. เหตุได้แก่การสมมุติบัญญัติขึ้น แล้วหลงตามอาการนั้น เริ่มต้นด้วยการสมมติตัวของตนก่อน พอหลงตัวเราแล้วก็ไปหลงผู้อื่น หลงว่าเราสวยแล้วจึงไปหลงผู้อื่นว่าสวย เมื่อหลงตัวของตัวเองและผู้อื่นแล้ว ก็หลงพัสดุข้าวของนอกจากตัว กลับกลายเป็นราคะ โทสะ โมหะ

๖. แก้เหตุต้องพิจารณากัมมัฏฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยสามารถแห่งกำลังของสมาธิ เมื่อสมาธิขั้นต่ำ การพิจารณาก็เป็นฌานขั้นต่ำ เมื่อเป็นสมาธิขั้นสูง การพิจารณาเป็นฌานชั้นสูง แต่ก็อยู่ในกัมมัฏฐาน ๕

๗. การสมเหตุผล หมายถึง คันที่ไหนต้องเกาที่นั้นถึงจะหายคัน คนติดกัมมัฏฐาน ๕ หมายถึงหลงหนังเป็นที่สุด เรียกว่าหลงกันตรงนี้ ถ้าไม่มีหนังคงจะหนีกันแทบตาย เมื่อหลงที่นี้ก็ต้องแก้ที่นี้ คือ เมื่อกำลังสมาธิพอแล้ว พิจารณาก็เห็นตามความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่าย เป็นวิปัสสนาญาณ

๘. เป็นการเดินอริยสัจจ์เพราะเป็นการพิจารณาตัวทุกข์ ดังที่พระองค์ทรงแสดงว่า ชาติปิทุกข์ ชราปิทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณัมปิทุกข์ ใครเกิด ใครแก่ ใครเจ็บ ใครตาย กัมมัฏฐาน ๕ เป็นต้น ปฏิสนธิ เกิดมาแล้ว แก่แล้ว ตายแล้ว จึงชื่อว่า พิจารณากัมมัฏฐาน เป็นทางพ้นทุกข์เพราะพิจารณาตัวทุกข์จริงๆ

๙. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ เพราะมาหลงกัมมัฏฐาน ๕ ยึดมั่นจึงเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาก็ละได้ เพราะเห็นตามความเป็นจริง สมกับคำว่า รูปสมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ วิญฺญาณสฺสมิปิ นิพฺพินฺทติ เมื่อเบื่อหน่ายในรูป (กัมมัฏฐาน ๕) เป็นต้น แล้วก็คลายความกำหนัด เมื่อเราพ้น เราก็ต้องมีฌานทราบชัดว่าเราพ้น

๑๐. ทุกขนิโรธ ดับทุกข์ เมื่อเห็นกัมมัฏฐาน ๕ เบื่อหน่าย ชื่อว่า ดับอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เช่นเดียวกับท่านสามเณรสุมนะ ศิษย์ท่านพระอนุรุทธ์ พอปลงผมหมดศีรษะ ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

๑๑. ทุกขคามินีปฏิปทา ทางไปสู่ที่ดับ คือการเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ เห็นอะไร ? เห็นอริยสัจจ์ ๔ อริยสัจจ์ ๔ ได้แก่อะไร ? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การเห็นจริงแจ้งประจักษ์ด้วยสามารถแห่งสัมมาสมาธิ ไม่หลงติดสุข มีสมาธิเป็นกำลัง พิจารณากัมมัฏฐาน ๕ ก็เป็นองค์มรรค

หลัก ๑๑ ประการนี้กว้างขวาง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านแสดงกว้างขวางมาก ท่านพระครูอุดมธรรมคุณท่านก็บันทึกย่อๆ ไว้เพื่อจะเป็นแนวทางปฏิบัติของท่าน เพราะปีนี้สำคัญทั้งศึกษาและปฏิบัติ มิใช่ศึกษาอย่างเดียว

ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่นแนะว่า การฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดลานวัด การปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ การอยู่ป่าวิเวก เป็นศีลวัตรอันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์จะพึงปฏิบัติ

หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านเกิดอาการไข้มาลาเรียกำเริบขึ้นอีก จึงลาท่านพระอาจารย์มั่นไปพักรักษาตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงราย พอท่านหายดีแล้วกลับมาที่บ้านแม่เจ้าทองทิพย์ ไม่มีใครเหลืออยู่สักองค์เดียว ทุกๆ องค์ต่างองค์ต่างไปวิเวกหมด ท่านจึงมาอยู่องค์เดียว กลางคืนเสือชุม มาคอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา มาหาท่านใกล้ๆ แต่มันก็ไม่ทำอะไร มาคอยจ้องๆ มองแล้วก็หายไป ครั้งแรกก็ทำให้เกิดความเสียวๆ อยู่ แต่พอเคยกันเสียแล้วก็เฉยๆ

อยู่มาเดือน ๓ ปีนี้ พระครูนพรัตนบูรจารย์ ก็เลยมาพาสร้างเจดีย์ เพราะมีเจดีย์เก่าอยู่ที่นั้น ท่านพาชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างเพิ่มเติม กินเวลาก่อสร้างถึง ๔ เดือน สำเร็จเอาเมื่อเดือน ๖ สำเร็จแล้ว ชาวบ้านก็พากันฉลองกันเป็นการใหญ่ เวลาฉลองท่านพระอาจารย์ขาว ท่านมนู มาร่วมการฉลองโดยการทำบุญตักบาตร ผู้คนไม่ทราบว่ามาจากไหนมากมาย เพราะคนเมืองนี้ชอบและเลื่อมใสในการก่อเจดีย์จริงๆ มาถึงมาทำบุญ ไม่ต้องป่าวร้อง รู้แล้วมาเอง ท่านทุกองค์ต่างองค์ผลัดกันเทศน์โปรดญาติโยม ได้ประโยชน์ดีทีเดียว
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้