ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6922
ตอบกลับ: 24
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สมเด็จพระสังฆราช

[คัดลอกลิงก์]
องค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๓๖
ในรัชกาลที่ ๑ รวมเป็นเวลา ๑๑ ปี
พระนามเดิมศรี
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติไม่ปรากฏหลักฐาน
ทรงอุปสมบทณ วัดพนัญเชิง ตำบลคลองสวนพลู อำเภอกรุงเก่า(อำเภอพระนครศรี อยุธยาในปัจจุบัน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๒๕
สิ้นพระชนม์พ.ศ. ๒๓๓๖


สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดระฆังโฆษิตาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ดำรงตำแหน่ง อยู่ ๑๑ พรรษา น่าจะมีพระชนมายุไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา
พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏรายละเอียด พบแต่เพียงว่า เดิมเป็นพระอาจารย์ศรีอยู่ วัดพนัญเชิง เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๔ ได้ถูกถอดจากตำแหน่ง เนื่องจากถวายวิสัชนาเรื่อง พระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ วิสัชนานี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงเป็นพระอนุจร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการะบูชา
พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
งานสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของราชอาณาจักรไทย กระทำเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑ โดยนำพระไตรปิฎก ที่รวบรวมบรรดาพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานประดิษฐานไว้ ณ หอพระมณเทียรธรรม และสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ไว้ศึกษาทุกพระอารามหลวง เมื่อตอนต้นรัชกาล มาตรวจชำระ โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้
สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
พระธรรมไตรโลกเป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก
การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา ๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๓๖-๒๓๕๙
ในรัชกาลที่ ๑ รวมเป็นเวลา ๒๓ ปี
พระนามเดิมสุก
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลัก ฐานเอกสารต่างๆ ได้หายไป มา ปรากฏหลักฐานตอนที่มาอยู่วัด สลัก(วัดมหาธาตุ) โดยมีสมณศักดิ์ เป็น พระญาณสมโพธิ์ และได้ เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระธรรม เจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓
ทรงอุปสมบท-
ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖
สิ้นพระชนม์พ.ศ. ๒๓๕๙ สิริรวมพระชนมายุ ๘๕ ปี


   สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒๓ พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๙ สันนิษฐานว่า มีพระชนมายุ ุเกิน ๘๐ ปี พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏหลัก ฐาน พระประวัติเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสมโพธ อยู่วัดมหาธาตุ ฯ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๓ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระพนรัตน อันเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขณะที่ทรงสมณศักดิ์ ที่พระพนรัตน ได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก ใน ครั้งที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทรเมื่อปีพ.ศ.๒๓๓๑ ทรงรอบรู้แตกฉานใน พระไตรปิฎก ทรงจัดระเบียบการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อเป็นเปรียญ แบบ ๓ ชั้น คือ เปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก
พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระราชวงศ์หลายพระองค์ด้วยกัน เช่น สมเด็จกรมพระราชวัง บวรมหาเสนานุรักษ์สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ (นักองเอง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาสมเด็จกรมพระราชวังบวร มหาสุรสิงหนาท สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ในสมัยของพระองค์ ได้มีการส่งสมณทูตไทยไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๘ หลังจากที่ว่างเว้นมา ๖๐ ปี จากสมัยกรุงศรีอยุธยา
ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๕๙-๒๓๖๒ ในรัชกาลที่ ๒ รวมเป็นเวลา ๔ ปี
พระนามเดิมมี
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติวันพุธที่ ๑๕ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปี มะเมีย จ.ศ.๑๑๑๒ พ.ศ. ๒๒๙๓ (ไม่ ปรากฏภูมิลำเนาเดิม)
ทรงอุปสมบท
ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙
สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒ สิริ รวมพระชนมายุ ๗๐ ปี


สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัด มหาธาตุยุวราชวังสฤษดิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ทรง ดำรงตำแหน่งอยู่ ๔ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา
พระประวัติในตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่า ประสูติในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรี อยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๓ ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นเปรียญเอก อยู่ที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระวินัยรักชิต ซึ่งนับเป็น รูปแรกที่ได้ รับราชทินนามนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม และได้เป็น พระพนรัตน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระองค์ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในพระราชทินนามว่าสมเด็จพระอริยวงษาญาณซึ่งนับว่าได้รับพระราช ทินนามนี้เป็นพระองค์แรกต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้ทรงแก้ไขพระราชทินนาม ให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ ใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยของพระองค์ ได้เกิดมีอธิกรณ์ที่สำคัญคือ มีพระเถระผู้ใหญ่ ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง ๓ รูป จนถึงขั้นมีบุตร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษ์ รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงพิจารณาอธิกรณ์ ได้ความเป็นสัตย์ สมดังฟ้อง จึงได้ มีรับสั่งให้เอาตัวผู้กระทำผิดไปจำไว้ในคุก และได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระพนรัตน(อาจ) วัดสระเกศ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสน์เมื่อปีพ.ศ.๒๓๖๙ แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควร แก่สมณมลฑล คัด แจกไปทุกวัด เป็นทำนองสังฆาณัติ ส่วนการชำระความปาราชิก ก็สืบสวนกวดขันขึ้นมาแต่ครั้งนั้น
สาระสำคัญของหนังสือนี้ ว่าด้วยเรื่องพระอุปัชญาย์อาจารย์ พระราชาคณะพระถานานุกรม เอาใจใส่สั่งสอนพระ ภิกษุสามเณรให้อยู่ใน จตุปาริสุทธิศีล ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัย และ สังฆกรรมเป็นอย่างดี และปฏิบัติให้ถูกต้อง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้ ยิ่งขึ้นไป สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพร ให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัย ในวันวิสาขบูชา จึงได้เกิด พิธีวิสาขบูชา มาตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ได้มีการปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยขยายการศึกษาออกไปเป็น ๙ ประโยค ผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป เรียกว่าเป็นบาเรียน (หรือเปรียญ) การปรับปรุงครั้งนี้ ได้ใช้เป็นแบบแผนมาถึงปัจจุบัน

ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดราชสิทธาราม
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๖๓-๒๓๖๔ ในรัชกาลที่ ๑ รวมเป็นเวลา ๒ ปี
พระนามเดิมสุก
พระฉายาญาณสํวโร
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติวันศุกร์ เดือนยี่ พ.ศ.๒๒๗๖ ในรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา
ทรงอุปสมบท
ดำรงตำแหน่งวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๓
สิ้นพระชนม์วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๔ สิริรวมพระชนมายุ ๘๙ ปี


  สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระ สังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ อยู่ใน ตำแหน่ง ๓ พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา
พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย แขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้โปรดให้นิมนต์พระองค์มาอยู่ที่วัดพลับ และให้ เป็นที่พระญาณสังวรเถรพระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯตั้งแต่ยังอยู่ที่ วัดท่าหอย การที่โปรดให้นิมนต์มาอยู่ที่วัดพลับ ก็เนื่องจากเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดราชสิทธารามพระองค์ได้รับ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวรณ์เมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๙ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในอีก ๔ ปีต่อมา เมื่อมีพระชนมายุได้ ๘๘ พรรษา
ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
นอกจากนั้น พระองค์ยังได้รับการถวายสมัญญาว่า สังฆราชไก่เถื่อน จากชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากการที่ พระองค์ทรงคุณธรรมทางวิปัสสนาธุระดังกล่าวแล้ว
เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย ประมาณถึง สามหมื่น คนเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยพระองค์ทรงศีลและ ให้ตั้งโรงทาน ส่วนสมเด็จพระสังฆราชทรงให้สังคายนาบทสวดมนต์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว


ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดสระเกศ
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๘๕ ในรัชกาลที่ ๒-๓ รวมเป็นเวลา ๒๐ ปี
พระนามเดิมด่อน
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปี มะเส็ง พ.ศ.๒๓๐๔ ในรัชกาลของ พระเจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยา
ทรงอุปสมบท-
ดำรงตำแหน่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๖๕
สิ้นพระชนม์วันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๔ ค่ำ ปี ขาล ตรงกับวันที่ ๒๓ กันยายน พ. ศ. ๒๓๘๕


  สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษด์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็นพระพุทธ เลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ดำรงตำแหน่ง ๒๐ พรรษาสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ มีพระชนมายุ ได้ ๘๑ พรรษา
พระประวัติในตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่าประสูติในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๔ ได้เป็นที่ พระเทพโมลี อยู่ที่วัดหงส์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ และได้เป็นที่ พระพรหมมุนี ในรัชสมัยสมเด็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมล ธรรม เมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๙ ต่อมาได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ในรัชกาลเดียวกันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ซึ่งทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗
ในช่วงปลายสมัยของสมเด็จพระสังฆราชได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่ได้ตัวมา ชำระสึกเสียจำนวนมาก ประมาณถึง ๕๐๐ รูปเศษที่หนีไปก็มีจำนวนมากและพระราชาคณะก็เป็นปาราชิก หลายรูป นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นถึงความ เสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้นและในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความเอาพระทัยใส่ในการคณะ สงฆ์ของพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง



ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๘๖-๒๓๙๒ ในรัชกาลที่ ๓ รวมเป็นเวลา ๗ ปี
พระนามเดิมนาค
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนีไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปี ชวด พ.ศ.๒๓๐๑ ในแผ่นดิน พระ เจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยา
ทรงอุปสมบท-
ดำรงตำแหน่งวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๖
สิ้นพระชนม์ปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ สิริรวมพระชน มายุ ๘๖ ปี


   สมเด็จพระสังฆราช (นาค) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัด ราชบูรณะราชวรวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ทรงดำรงตำแหน่ง อยู่ ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๒ เมื่อพระ ชนมายุได้ ๘๖ พรรษา
พระประวัติตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่าประสูติในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๑ เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมุนี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้เลื่อน เป็น พระพรหมมุนี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ต่อมาเป็น พระธรรมอุดม และได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากในระยะเวลาที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุกำลังอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ พระองค์จึงสถิต ณ วัดราชบูรณะตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ ทำให้ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นอันเลิกไปตั้งแต่นั้นมา และสมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่ ณ พระอารามใด เมื่อครั้งก่อน เป็นสมเด็จ พระสังฆราช ก็ยังคงสถิตอยู่ ณ พระอารามนับสืบต่อไป เป็นแบบธรรมเนียมมาจนถึงปัจจุบัน
ได้มีการส่งสมณทูตไปลังกาเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ โดยทางเรือและเดินทางกลับในปีเดียวกัน พร้อมกับ ได้ยืมหนังสือพระไตรปิฎกมาอีก ๓๐ คัมภีร์ พร้อมทั้งมีภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ชาวลังกา ติดตามมาด้วยกว่า ๔๐ คน การที่มีพระสงฆ์ชาวลังกาเดินทางเข้ามาประเทศไทยบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าฯ ขณะทรงผนวช และเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รับภาระต้อนรับดูแลพระสงฆ์ชาวลังกา ดังนั้นวัดบวรนิเวศ ฯ จึงมีหมู่กุฎีไว้รับรองพระสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ เรียกว่า คณะลังกา




ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๙๔-๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ รวมเป็นเวลา ๒ ปี
พระนามเดิมพระองค์เจ้าวาสุกรี
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก (เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่ ๒๘)
พระชนนีเจ้าจอมมารดาจุ้ย (ภายหลังได้ เป็นท้าวทรงกันดาล)
ประสูติวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จ.ศ. ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ ชวด พ.ศ.๒๓๐๑ ในแผ่นดิน พระ เจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยา
ทรงอุปสมบท-
ดำรงตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ปี กุน ตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ เดิมไม่ได้เรียกว่า สมเด็จ พระสังฆราช แต่เรียกว่า กรมสม เด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ แต่รัชกาลที่ ๖ ได้ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ ปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔)
สิ้นพระชนม์วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ สิริรวมพระชนมายุ ๖๓ ปี


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรง เป็นพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์แรก กับเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรก ที่ทรงได้รับสถาปนาให้ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๖ รวม ๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๓ มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงผนวช เป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพน ฯ ทรงศึกษาหนังสือไทย และภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์ จนทรงมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกลางแล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่วัดพระเชตุพนฯมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกหรือร่ายยาวมหาชาติซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์
ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โดยทรงเลือกพระอิริยาบทต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน ๓๗ ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร พระพุทธรูป ปางต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสเทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น
ในทางอักษรศาสตร์ ก็ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทยตลอดมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๓ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้
เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใด มีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนาตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะนั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ หรือเป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราชแต่การ ปกครองคณะสงฆ์ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมาพระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับ ดูแลแทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรงทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ





ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๙๖ – ๒๔๓๕ ในรัชกาลที่ ๔-๕ รวมเป็นเวลา ๓๙ ปี
พระนามเดิมพระองค์เจ้าฤกษ์
พระฉายาปญฺญาอคฺคโต
นามสกุล-
พระชนกกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
พระชนนีเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
ประสูติวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ. ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ในรัชกาลที่ ๒
ทรงอุปสมบท-
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔
สิ้นพระชนม์วันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ สิริรวมพระชนมายุ ๘๓ ปี


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ พรรษา เป็นพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระชมมายุได้ ๘๓ พรรษา
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลา ๑๕ ปี ในระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ ฯ ทรงดำรงพระอิศริยยศ เป็น พระจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงดำรงสมณฐานันดร เป็นที่สองรองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ก็ยังมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นระยะเวลาถึง ๒๓ ปี จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ ขณะดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ประสูติปี พ.ศ. ๒๓๕๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ ฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ณ สำนักวัดมหาธาตุ ฯ ทรงแตกฉานในภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีคือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี นอกจากนี้ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นภาษาบาลีอีกหลายเรื่อง นับว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฤกษ์ เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย นับว่าทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติพระองค์แรก ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จ พระมหาสังฆปรินายก คือ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ การที่เลื่อนพระอิศริยยศครั้งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงรับถวาย มหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุด เท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ พรรษา ด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ นอกจากจะเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ ในด้านต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ คือ
- ด้านสถาปัตยกรรม ทรง ออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ - ด้านโบราณคดี ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทยได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้มาก และได้ ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ที่เป็นอักษรขอม เป็นพระองค์แรก
- ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้น
- ด้านดาราศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์ ตำราปักขคณนา (คำนวนปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
- ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย เรียกบันทึกนี้ว่า จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
- ด้านกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ไว้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นภาษาไทย ทรงนิพนธ์ไว้จำนวนมาก เช่น ได้ลงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่า พระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่ง ในยุคต่อมาของไทย
ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติ และประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ






ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ป.ธ.๙) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่งพ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๒ ในรัชกาลที่ ๕ รวมเป็นเวลา ๖ ปี
พระนามเดิมสา
พระฉายาปุสฺสเทโว
นามสกุล-
พระชนกจัน เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี
พระชนนีศุข เป็นชาวตำบลไผ่ใหญ่ แขวง เมืองนนทบุรี
ประสูติวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒
ทรงอุปสมบทครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๗๖ และได้ลา สิกขา ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อ ผนวชครั้งใหม่ได้ ๗ พรรษา ก็ทรง สอบได้ ๙ ประโยค อีกครั้งหนึ่ง (คนจึงมักพูดว่า สมเด็จพระ สังฆราชสา ๑๘ ประโยค)
ดำรงตำแหน่งวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๓๖
สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ ปี


    สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ รวม ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ ๘๗ พรรษา
พระองค์เป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติเมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๖ ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้บรรพชาเป็นสามเณรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เดิมอยู่วัดใหม่บางขุนเทียนแล้วย้ายไปอยู่วัดสังเวชวิศยารามและไปเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อนและ โยมบิดาของท่านเองซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสือ อยู่ที่พระราชวังบวรดัวยกัน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้ ๒ ประโยคจึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่คนเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า ซึ่งมีที่มาของชื่อนี้ว่าในการแปลพระปริยัติธรรมนั้นผู้เข้าแปลครั้งแรกต้องแปลให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียวจึงจะนับว่าเป็นเปรียญถ้าได้ไม่ครบในการสอบครั้งต่อไปจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ มีพระประสงค์ที่จะอุปการะภิกษุสามเณรที่เข้าสอบ มิให้ท้อถอย ดังนั้นถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะสอบเข้าแปลใหม่ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับพระราชทานอุปการะในเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เปรียญวังหน้า
พระองค์ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ตั้งแต่เป็น สามเณร และได้ ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่สำนักวัดราชาธิวาส จนพระชนมายุได้ ๑๘ ปี จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม อีกครั้งหนึ่งและทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคได้เป็นเปรียญเอกตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณรนับเป็นสามเณร องค์แรกที่ได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ได้อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ ทรงได้รับพระราชทาน แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลีเมื่อปีพ.ศ.๒๓๘๒ พรรษา ๖ และทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นต้นวงศ์ของคณะธรรมยุติรูปหนึ่งใน ๑๐ รูป ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อุปสมบทใหม่ ที่วัดบวรนิเวศ ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระชนมายุได้ ๓๘ ปี เมื่ออุปสมบทแล้ว ว่ากันว่าได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งและทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคจึงมีผู้กล่าวถึงพระองค์ ด้วยสมญานามว่า สังฆราช ๑๘ ประโยค ในคราวอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ พระองค์ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ รับประราชทานนิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา
พระองค์ได้แต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้สำหรับใช้อ่านในวันธรรมสวนะปกติและในวันบูชาแต่งเรื่องปฐมสมโพธิ์ย่อ ๓ กัณฑ์จบสำหรับถวายเทศน์ในวันวิสาขบูชา๓วันๆ ละหนึ่งกัณฑ์และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับ โอวาทปาติโมกข์สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและยังได้รจนาปฐมสมโพธิ์ภาคพิสดารสำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีกด้วยพระนิพนธ์ต่างๆของพระองค์ยังคงใช้ในการเทศนาและศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร จนถึงปัจจุบัน
เมื่อสร้างวัดราชประดิษฐ์ ฯ เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระองค์ ครั้งยังเป็นที่พระสาสนโสภณ จากวัดบวรนิเวศ ฯ มาครองวัดราชประดิษฐ์ ฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม แต่คงใช้ราชทินนามเดิมว่า พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะฝ่ายเหนือ
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมจารึกไว้ด้วย อักษรขอม ด้วยการจารลงในใบลาน การคัดลอกทำได้ช้า ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียนไม่สะดวกในการเก็บรักษาและนำมาใช้อ่านทั้งตัวอักษรขอมก็มีผู้อ่านได้น้อยลง ตามลำดับ การพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มด้วยตัวอักษรไทย จะแก้ปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระเถระนุเถระมาประชุม ร่วมกับราชบัณฑิตทั้งหลาย ตรวจชำระพระไตรปิฎกแล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้นสมเด็จพระสังฆราช(สา)ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเป็นรองอธิบดี จัดการทั้งปวงในการสังคายนาครั้งนี้ พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ครั้งนี้มีจำนวน ๑๐๐๐ จบ ๆ ละ ๓๙ เล่ม ใช้เงิน ๒๐๐๐ ชั่ง พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่วโลก
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศให้เป็น พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนมา คือทรงสถาปนาให้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ นับว่าเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับสถาปนาในพระราชทินนามนี้ อันเป็นพระราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ไม่ได้รับพระราชนามพระสุพรรณบัตรใหม่ คงใช้พระสุพรรณบัตรเดิม แต่ได้รับพระราชทานใบกำกับ พระสุพรรณบัตรใหม่
งานพระนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตรที่มีอยู่ ๒๐ สูตร หนังสือเทศนามี ๗๐ กัณฑ์ และเบ็ดเตล็ดมี ๕ เรื่อง
พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี






ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 14:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
ประวัติ
ทรงดำรงตำแหน่ง๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๕-๖ รวมเป็นเวลา ๒๒ ปี
พระนามเดิมมนุษย์นาคมานพ
พระฉายาไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล-
พระชนกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๔๗)
พระชนนีเจ้าจอมมารดาน้อยแพ
ประสูติวันพฤหัสบดีที่๑๒ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ณ ตำหนักหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
การศึกษาพ.ศ. ๒๔๒๔ ทรงสอบได้ ป.ธ. ๕
ทรงอุปสมบทวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๒๒
ทรงบรรพชาพ.ศ. ๒๔๑๖ ขณะมีพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชได้ ๗๘ วันก็ทรงลาสิกขา
ดำรงตำแหน่งวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒
สิ้นพระชนม์๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ สิริรวมพระชนมายุ ๖๒ ปี


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ดำรงพระอิสริยยศ ๒๒ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระชนมายุ ๖๒ พรรษา
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จในพระจอมเกล้า ฯ และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ พระนามว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนทรงผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และโหราศาสตร์ อีกด้วย
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ๒ เดือนจึงลาผนวช ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ แล้วมาประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศ เป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และเป็นเจ้าคณะรอง ในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระองค์ได้ครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศ ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖
ทรงเริ่มพัฒนาการพระศาสนา โดยเริ่มต้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่ เรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย มีการสอบความรู้ด้วยวิธีเขียน ต่อมาจึงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ เรียกว่า นักธรรม ทรงจัดตั้ง มหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นการริเริ่มจัดการศึกษาของพระภิกษุ สามเณรแบบใหม่คือ เรียนพระปริยัติธรรม ประกอบกับวิชาการอื่น ที่เอื้ออำนวยต่อการสอนพระพุทธศาสนา ผู้ที่สอบได้จะได้เป็นเปรียญเช่นเดียวกับที่สอบได้ในสนามหลวง เรียกว่า เปรียญมหามงกุฎ แต่ได้เลิกไปในอีก ๘ ปีต่อมา ทรงออกนิตยสาร ธรรมจักษุ ซึ่งเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกของไทย ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่จะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วราชอาณาจักร ทรงเห็นว่า วัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล เป็นการขยายการศึกษาได้เร็วและทั่วถึง เพราะมีวัดอยู่ทั่วไป ในพระราชอาณาจักร ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน งานนี้มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยสนับสนุน พระองค์ดำเนินการอยู่ ๕ ปี ก็สามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ ชั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ จากนั้นจึงให้กระทรวงธรรมการ ดำเนินการต่อไป
ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยดี เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง และประเทศชาติ จึงเกิด พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ขึ้น ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้จัดคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติกา มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะรอง คณะละหนึ่งรูป รวมเป็น ๘ รูป ทั้ง ๘ รูปนี้ยกขึ้นเป็น มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ และเป็นที่ปรึกษาในการพระศาสนา และการคณะสงฆ์ของพระมหากษัตริย์ มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นไปตามลำดับคือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และเจ้าอาวาส มีเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มหาเถรสมาคมเป็นเพียง ที่ทรงปรึกษา ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นกระทรวงธรรมการ จึงต้องทำหน้าที่สังฆราชโดยปริยาย
พระองค์ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสถาปนากรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จกรมพระยา ทรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต
ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีความว่า ควรถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชให้เด็ดขาด เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย หลังจากนั้นอีก ๖ เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปรินายก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕
พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการพระศาสนา และทางคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ เป็นอันมากโดยเริ่มงาน ตั้งแต่เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร โดยกระทำอย่างต่อเนื่องทุกปีเกือบ ตลอดพระชนม์ชีพ ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์ และของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นอย่างดี และนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ มาปรับปรุง แก้ไขในทุก ๆ ด้าน พอประมวลได้ดังนี้
  • ด้านการพระศาสนา พระองค์ได้พัฒนาภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทรงผลิตตำราและหนังสือทางพระพุทธศาสนา ที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย
  • ด้านการคณะสงฆ์ ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ประทานพระวินิจฉัยและทรงวางระเบียบ แบบแผน เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องเป็นมาตรฐาน เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัยอธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับ สมณศักดิ์ พัดยศ นิตยภัต ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น
  • ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติ ธรรมเพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ศึกษาภาษาบาลี โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเรียกว่า หลักสูตร นักธรรม
  • งานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงรอบรู้ภาษาต่าง ๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลี ไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ยังทรงชำระ คัมภีร์บาลีไว้กว่า ๒๐ คัมภีร์

มีเหตุการณ์สำคัญในสมัยของพระองค์ประการหนึ่ง คือ ตั้งแต่โบราณมา ตำแหน่งพระประมุขแห่งสังฆมณฑล ที่เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชนั้น ไม่เคยมีพระราชวงศ์องค์ใดที่ทรงผนวชอยู่ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งนี้ เพิ่งจะเริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ซึ่งไม่ได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่เรียกพระนามตามพระอิสริยยศ ในฝ่ายพระบรมราชวงศ์ ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำหน้าพระนาม เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า





ที่มาของข้อมูล : http://www.heritage.thaigov.net/religion/cardinal/index1.htm

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้