ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4506
ตอบกลับ: 13
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต วัดพระขาว ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระครูสังวรสมณกิจ (หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต)  
วัดพระขาว ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา



   ชาติกำเนิด
               
ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ ซึ่งเป็นปีฉลู ชาวบ้านพระขาวและชาวประชาราษฎร
ในเขต อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทุกคนต่างก็เศร้าสลดอย่างสุดซึ้ง
เมื่อได้ทราบข่าวคราวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับคืนมา
ของพระเกจิอาจารย์ผู้ซึ่งมีวิชาอาคม และเวทมนตร์ที่เก่งกาจมาก
ในสมัยนั้นสามารถใช้คาถาอาคมสะบัดผ้าไปทางไฟที่กำลังลุกไหม้ให้ดับได้อย่างใจนึก
และยังมีวาจาสิทธิ์อีกด้วย ให้แม่ครัวใช้กระบุงใส่ถ้วย ชาม จาน
นำไปกระเหย่าน้ำล้างโดยไม่แตกร้าวแม้แต่น้อยนิดเลยทีเดียว
ท่านผู้นั้นก็คือ "หลวงพ่อปั้น แห่งวัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา"
ซึ่งชาวอยุธยาต่าง เสียดายเป็นอย่างยิ่งในการจากไปของท่าน
ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นยอดในยุคนั้น เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับสูญ
เป็นธรรมดาในโลกมนุษย์ปัจจุบัน มีสุขแล้วก็ต้องทีทุกข์
มีดีใจก็ต้องเสียใจ เป็นเรื่องธรรมดาของสามัญชนในภพนี้ สุดที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย

เมื่อชาวพระขาว อ.บางบาล ต่างเสียอกเสียใจกันใหญ่หลวงแล้ว
เทพเจ้าแห่งเบื้องบนท่านเกิดความสงสารมีเมตตาต่อชาวบ้านย่านนี้
จึงประทานเด็กผู้ชายให้มากำเนิดในปีเดียวกันนี้ ณ ถิ่นฐานย่านเดียวกัน
ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกันนี้ทุกประการ
ดั่งคำพังเพยที่ว่า "กรุงศรีอยุธยาย่อมไม่สิ้นคนดี มีวิชา"

เด็กชายผู้นี้ บิดามารดาได้ตั้งชื่อและแจ้งเกิดต่อกำนัน ต.พระขาว อ.บางบาล
ให้ชื่อว่า "เด็กชายทิม ชุ่มโชคดี"
เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ เดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ ปีฉลู
ที่บ้านเลขที่ - หมู่ที่ ๓ ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

เป็นบุตรคนที่ ๕ ของคุณพ่อพร้อม-คุณแม่กิ่ม ชุ่มโชคดี ตามลำดับดังนี้

คนแรก พี่ทอง ชุ่มโชคดี เป็นหญิง (เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย)
คนที่ ๒ พี่เทียบ ชุ่มโชคดี (เสียชีวิตแล้ว)  
คนที่ ๓ พี่ทัศน์ ชุ่มโชคดี เป็นผู้ใหญ่เก่า หมู่ที่ ๕ ต.พระขาว (เสียชีวิตแล้ว)
คนที่ ๔ พี่ทอด ชุ่มโชคดี (เสียชีวิตแล้ว)   
คนที่ ๕ หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต (มรณภาพแล้ว)
คนที่ ๖ นายสังวาลย์ ชุ่มโชคดี (เสียชีวิตแล้ว)

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
   การศึกษา
                        
ครั้งแรกเมื่อยังเป็นเด็ก ได้ศึกษาเล่าเรียนกับวัดพิกุล อ.บางบาล
พ่อ-แม่สมัยก่อนมักจะพาลูกหลานไปฝากให้พระตามวัด
ที่อยู่ใก้ลบ้านสอนอบรมบ่มนิสัยก่อน เพราะยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลเหมือนสมัยนี้
พออายุย่างเข้า ๑๐ ขวบก็มาเข้าเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาล
อยู่วัดพิกุลที่นั้น ค่าเล่าเรียนเก็บเป็นรายเดือนๆ ละ ๕๐ สตางค์

ในสมัยนั้น โดยเฉพาะเด็กวัดไม่คิดค่าเล่าเรียน หลวงปู่เป็นเด็กวัด
อยู่กับหลวงปู่น้อย  สมัยนั้นใช้พระสอนเพราะยังไม่มีโรงเรียน
มีพระสังเวียนเป็นผู้สอน ต่อมาเจริญขึ้นมีโรงเรียนประชาบาลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
มีครูจำเนียร ภู่ประเสริฐ เป็นครูใหญ่และครูน้อยเสร็จ

หลวงปู่ได้อยู่กับหลวงปู่น้อย ซึ่งเป็นพระปลัดของหลวงพ่อปั้น
หลวงปู่ท่านเกิดไม่ทันหลวงพ่อปั้นซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกาจมาก
ในสมัยนั้นแต่ก็เกิดปีเดียวกับหลวงพ่อปั้นท่านมรณภาพพอดี
เสมือนกับว่าเทพเจ้าท่านได้ให้มาเป็นตัวแทนกับหลวงพ่อปั้นก็ว่าได้
ใครจะรู้หลวงปู่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน อยู่วัดพิกุลมาจนอายุ ๑๓ ปี ก็จบ ป.๔
ออกจากโรงเรียนวัดพิกุล ก็มาช่วยบิดา-มารดาทำนาอยู่กับบ้าน
เพราะหลวงปู่ทิมพื้นเพของหลวงปู่ท่านเป็นชาวนา


   รับใช้ชาติครั้งที่ ๑

เข้าอายุเกณฑ์ทหาร หลวงปู่ท่านถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารทันทีโดยไม่ต้องคัดเลือกเลย
เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนใหญ่โต จัดอยู่ในประเภท ดี ๑
ประเภท ๑ ไม่ ต้อง จับ เลือก ใบดำ ใบแดงเหมือนสมัยปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ หลวงปู่ประจำอยู่ ร.พัน ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
ตำบลสวนเจ้าเชตุ (หน้าวังสราญรมย์)
เป็นทหารประจำการอยู่ ๑ ปี กับ ๓ เดือน ก็ปลดจากทหารเกณฑ์


เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เมื่อกลับมาอยู่บ้าน
ก็มาบวชตามประเพณีของลูกผู้ชายไทย
เพื่อทดแทนพระคุณและค่าน้ำนมของบิดามารดา

อุปสมบท ณ วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมี หลวงพ่อปุ้ย วัดขวิด อ.บางบาล เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงลุงหลิ่ม วัดโพธิ์กบเจา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และพระอธิการหลิ่ว เจ้าอาวาสวัดพิกุล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อุปสมบทอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา ๑ พรรษา ก็ลาสิกขา
ในระหว่างอุปสมบท ๓ เดือนนั้น หลวงปู่ได้ทำกิจของสงฆ์โดยท่องหนังสือ
และสวดมนต์ไหว้พระ ไม่มีใครเสมอเหมือนได้เลย
เพราะทั้งเจ็ดตำนานและสิบสองตำนานหลวงปู่สามารถท่องจำได้ทั้งหมดทั้งสองอย่าง
จน พระอาจารย์หลิ่ว เจ้าอาวาสวัดพิกุล อ.บางบาล ท่านไม่อยากให้หลวงปู่สึก
ท่านเสียดายมาก เมื่อหลวงปู่ไปขอลาสิกขาจากท่าน
คงจะเป็นเพราะบุญและบารมีของหลวงปู่ขั้นต้นมีเพียงเท่านี้ก่อน
เพื่อเป็นพื้นฐานสาเหตุที่หลวงปู่ต้องลาสิกขาในครั้งนี้
ก็เพราะมีความสงสารมารดาเป็นอย่างมากที่ต้องลำบากตรากตรำทำนา
เนื่องจากบิดาท่านมาเสียชีวิตตั้งแต่หลวงปู่ท่านยังตัวเล็กๆ
จึงตัดสินใจลาสิกขา เพื่อมาช่วยมารดาทำนา
เป็นการตอบแทนพระคุณที่ได้อุ้มเลี้ยงหลวงปู่มาตั้งแต่เล็กจนเติบโตใหญ่
พระคุณท่านใหญ่หลวงนัก ถึงจะเปรียบเอาโลกมาทำปากกา เอานภามาแทนกระดาษ
เอาน้ำทั้งหมดมหาสมุทรมาแทนน้ำหมึก ประกาศพระคุณแม่ไม่พอ


รับใช้ชาติครั้งที่ ๒

เมื่อย่างเข้าวัยเบญจเพศ ทางมารดาท่านก็มาอ้อนวอน
ให้มีครัวเรือนตามประเพณีของผู้เฒ่าผู้แก่สมัยโบราณ
เพื่อที่จะได้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
พูดตามภาษาชาวบ้านก็คือ จะได้เป็นผู้ใหญ่เสียที

หลวงปู่ใช้ชีวิตในการครองเรือนตามประเพณีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
ก็มีเหตุการณ์จำเป็นเกิดขึ้น คือ ในปี พ.ศ.๒๔๘๔
เป็นปีที่หลวงปู่มีความภาคภูมิใจมากในชีวิต ที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นลูกผู้ชายไทย
เพราะได้มีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมือง เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ
ให้กับพื้นแผ่นดินที่ตนได้อาศัยเพื่อที่ใช้ฝังร่างกายในบั้นปลายของชีวิต
เมื่อหมดลมหายใจจะได้ไม่เป็นหนี้ในผืนแผ่นดินที่ตนกำเนิด

เมื่อทางรัฐบาลไทยต้องการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
มีเมืองปอยเปรสศรีโสภณ-เสียมราษฎร์ และพระตะบอง
ซึ่งเป็นดินแดนที่ประวัติศาสตร์ไทยจารึกไว้มาจนทุกวันนี้

หลวงปู่ท่านถูกระดมไปผ่านศึกยังประเทศเขมรในครั้งนี้ด้วย
เป็นเหตุการณ์ที่หลวงปู่ระลึกถึงทุกคืนวัน คืนหลวงปู่ท่านได้ปะทะข้าศึกอย่างชนิดที่เรียกว่า
ประจัญบานต่อหน้าเลยทีเดียวด้วยบุญญาธิการและวาสนาที่มีมาแต่กำเนิด
หลวงปู่ก็รอดปลอดภัยมาได้ด้วยคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
และคุณของ บิดา มารดา ที่หลวงปู่ท่านได้ระลึกและนึกถึงอยู่ประจำใจ
ในขณะที่กองทัพทั้งสองฝ่ายกำลังต่อสู้กับข้าศึกชนิดประจัญบานอยู่นั้น
หลวงปู่ท่านมีจิตใจเป็นวิหารธรรมมั่นอยู่เสมอ คือ มีความตั้งใจว่า

"ข้าพเจ้าที่ยิงไปนี้ไม่ได้ต้องการเอาชีวิตท่าน
ข้าพเจ้าที่ยิ่งไปนี้ก็เพื่อป้องกันประเทศชาติ-ศาสนา-องค์พระมหากษัตริย์
เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ขอพวกท่านจงหลีกไปเสีย"


ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหลวงปู่ท่าน กำหนดดวงจิตเป็นเมตตาธรรม
แผ่เมตตาธรรมต่อศัตรูที่กำลังจ้องจะปลิดชีวิตของตน
แม้แต่ชีวิตของตนก็ยังไม่ห่วง แสดงให้เห็นถึงชีวิตจิตใจของหลวงปู่ท่าน
ซึ่งมีจิตเป็นกรรมฐานตั้งแต่ครั้งเมื่อยังเป็นฆราวาสเลยจริงๆ
ผลสุดท้ายข้าศึกก็พ่ายแพ้แตกทัพกลับไปทำให้ไทยเรา
ได้ชัยชนะในการรบทำสงครามแย่งดินแดนต่างๆ
ที่ตกเป็นของกัมพูชากลับคืนมาตามเดิม
ใช้ระยะเวลาออกศึกสงคราม ประมาณ ๖ เดือนเศษ ศึกสงครามก็สงบลง

หลวงปู่ท่านได้รับบัตรเหรียญชัยสมรภูมิเป็นเครื่องเทิดทูนประจำตัว
นับว่าหลวงปู่ท่านได้รับเกียรติยศอันสูงส่งยิ่ง ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ภาคภูมิใจที่สุดของหลวงปู่
ที่ได้มีโอกาส มารับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองในยามที่ประเทศชาติต้องการ
ซึ่งเป็นคำพูดที่ออกจากใจจริงของหลวงปู่ท่านช่างผิดกับชายในสมัยนี้
ชอบหลบหนีหาโอกาสหลีกเลี่ยงทหารกันมากต่อมาก
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-4-5 15:13

   รับใช้ชาติครั้งที่ ๓

เมื่อสิ้นศึกสงครามเรียกร้องดินแดนคืนได้แล้ว
หลวงปู่ท่านก็กลับมาพักผ่อนยังบ้านเกิดเมืองนอนพระนครศรีอยุธยา
ได้ประมาณ ๗ เดือนเศษๆ ในระหว่างนั้นศึกสงครามยังไม่สงบดี
หลวงปู่ก็ต้องถูกเรียกระดมกลับเข้าไปประจำการอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งเป็นศึกสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรา คือ "สงครามโลกครั้งที่ ๒"

เราทราบกันดีจาก ปู่-ย่า-ตาและยาย ที่ได้เล่าสู่ให้ฟังกันบ่อยๆ
ครั้งกระนั้นประเทศไทยเราถูกเข้าร่วมรบกับประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน
เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก ด้วยเหตุที่ว่า
หลวงปู่ท่านประจำการอยู่รักษาความสงบภายใน
เพื่อคุมเชิงรบให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จนกระทั่งสงครามสงบลง
ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่ท่านก็ได้รับอิสรภาพเรื่อยมาจนทุกวันนี้

กลับจากศึกสงครามมาทำนาอยู่ยังบ้านพระขาว อ.บางบาล
กับครอบครัวตามเดิมใช้ชีวิตครองเรือนอยู่กินกับบุตรและภรรยาชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี
ก็เกิดเบื่อหน่ายในทางโลก โบราณท่านว่าเมื่อบุญญาธิการและวาสนามีมาถึง
ก็จะทำให้บังเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตของการเป็นฆราวาส
แล้วก็จะช่วยดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ นานาขึ้น

คือชาวบ้านในตำบลพระขาว และใก้ลเคียงเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง
โรคนั้นก็คือ "โรคห่ากินคน" หรืออหิวาตกโรคนั้นเอง
ชาวบ้านแถวย่านนั้นได้ล้มเจ็บกันและก็ตายด้วยโรคห่ากันเป็นจำนวนมาก
หลวงปู่ท่านก็ประสบกับเขาเหมือนกันแต่บุญวาสนาให้ฟังดังต่อไปนี้

วันหนึ่งในเวลาเช้า หลวงปู่เตรียมตัวจะไปไถนายังกลางทุ่ง
ก็เกิดปวดท้องขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเสียก่อน แล้วก็ไปถ่ายเพียงครั้งเดียวแท้ๆ
ก็หมดแรงเดินแทบไม่ไหว ต้องกลับขึ้นมานอนบนเรือนอาศัยเยียวยาแบบชาวบ้านในสมัยนั้น
คือ รักษาพยาบาลด้วยตนเองไม่มีมดมีหมอเหมือนกับสมัยนี้
แล้วให้ภรรยาขุดเอาข่าที่ปลูกไว้ข้างบ้าน
มาโขลกกินกับเหล้าขาวจนหมดแก้วท้องก็หยุดเดินทันที
ถึงกระนั้นก็ยังมีลมปั่นป่วน อยู่ในท้องโครกคราก
หลวงปู่ก็เริ่มมีสติระลึกนึกขึ้นมาได้ว่า โรคนี้มันร้ายแรงมากนัก
โดยยกมือขึ้นมาดู ว่านิ้วและฝ่ามือเป็นล่องหรือเปล่า ถ้าชักล่องก้ต้องตายแน่
แล้วก็เอากระจกมาส่องดูอีกว่าใบหน้าตาของตนเองลึกและโหลอย่างเขาว่ากันก็ต้องตายแน่ๆ

จึงตั้งจิตแล้วอธิษฐานในใจต่อ "คุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์"
ว่าอย่าเพิ่งหมดอายุเลย ตัวของข้าพเจ้านี้ยังปฏิบัติมาในบวรพระพุทธศาสนานี้น้อยนัก
ให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสช่วยต่อพระพุทธศาสนาอีกสักหน่อยเถิด ค่อยตายจะไม่ว่ากระไรเลย
(เพราะหลวงปู่ได้ถืออุโบสถอยู่เป็นประจำตลอดมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส)


ด้วยแรงอธิษฐานของหลวงปู่ในครั้งกระนั้นโรคนี้ก็ได้บรรเทาและก็หายอย่างปาฏิหารย์เลยทีเดียว
เมื่อหายจากโรคห่านี้แล้ว หลวงปู่ก็ได้รักษาพระอุโบสถตามสัญญาเรื่อยมาไม่เคยขาด
เป็นเวลา ๕ ปี ก็บังเกิดมีจิตใจศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างจับจิตจับใจอย่างมาก
และบุญญาบารมีช่วยดลใจบันดาลให้มองเห็นอะไร
ก็เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตของการเป็นฆราวาส ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมา

หลวงปู่ท่านจะเล่าให้เราฟังต่อดังนี้

วันหนึ่งเป็นวันถืออุโบสถ ข้าพเจ้าได้มารักษาอุโบสถที่วัดพิกุล
ในตอนบ่ายมีพระธรรมเทศนาขึ้นที่วัดบนศาลาการเปรียญ
ข้าพเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็เลยเข้าไปคุยกับพระในกุฎิ
บังเอิญพระท่านได้วางหนังสือนวโกวาท เอาไว้ที่เตียงนอนของท่าน
ข้าพเจ้าก็หยิบมาอ่านดูในเรื่องสิกขา ๓ คือ เรื่องศีล สมาธิ และปัญญา
ซึ่งแปลความว่า ความสำรวมกาย-วาจา ให้เรียบร้อย ชื่อว่าศีล
ความรักษาใจมั่น ชื่อว่าสมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขาร ชื่อว่าปัญญา
เท่านั้นเองข้าพเจ้าก็บังเกิดความเลื่อมใสแล้วก็ตั้งใจปฏิญาณในใจว่า

"เมื่อเกิดมาเป็นลูกผู้ชายต้องบวช ให้ได้อีกสักครั้งหนึ่ง"

ข้าพเจ้ามานึกถึงเมื่อบวชครั้งแรก ไม่ได้เรียน-ไม่ได้รู้อะไรเลย
แม้แต่หนังสืออย่างนี้ก็ไม่มีอ่าน และก็ไม่มีครู-อาจารย์สั่งสอนด้วย
ข้าพเจ้ามีความตั้งใจมั่นและแน่วแน่จะต้องบวชให้ได้อีกครั้งตั้งแต่บัดนั้นมา


หมายเหตุ : บางคนอาจจะเข้าใจว่าการบวชครั้งที่ ๒ นี้เรียกว่าเป็นชาย ๒ โบสถ์
คำว่า ชาย ๒ โบสถ์ หมายถึง คนที่บวชสองหน หนละศาสนา
เช่น บวชครั้งแรกบวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาแล้วสึกออกไปบวชอยู่อีกศาสนาหนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา เช่นนี้เรียกว่า ชาย ๒ โบสถ์ โบราณว่าเป็นคนไม่ดี




4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ครั้งที่ ๒

ก่อนที่หลวงปู่จะออกอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้
ให้บังเกิดอาเพศมีเหตุการณ์ประหลาด ๓ ประการ

ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตของการเป็นฆราวาสอย่างที่สุด
ประการแรก วันนั้นหลวงปู่เดินทางกลับจากบ้านพี่ชายทัศน์ซึ่งอยู่ทางทิศใต้วัดพิกุล
เพื่อจะกลับบ้าน พอเดินผ่านมาถึงวัดก็ได้ยินพระสวดมนต์
หลวงปู่ก็เลยก้มลงนั่งแล้วยกมือขึ้นมาไห้วสาธุ
ในบัดดลนั้นก็ให้บังเกิดมีจิตศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างจับจิตจับใจ
พร้อมทั้งอธิษฐานในใจว่า ข้าพเจ้าจะต้องบวชให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งที่สอง หลวงปู่ได้ออกไปเกี่ยวหญ้าเพื่อจะนำมาให้วัว
ซึ่งเลี้ยงไว้หลายตัว พอจะก้มลงเกี่ยวหญ้า ก็บังเอิญเกิดต้นหญ้ามาตำนัยน์ตา
ถึงกับน้ำตาไหลพรากแทบจะบอดด้วยความเจ็บปวดอย่างมาก
จึงยกมือพนมขึ้นไห้วพระ ทันใดนั้นก็บังเกิดแรงดลใจขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองว่า
ข้าพเจ้าจะต้องบวชให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งที่สาม หลวงปู่ได้ออกไปเกี่ยวหญ้าเช่นเดิมอีก
แต่เป็นทางเรือเพราะน้ำท่วม เท้าได้แช่อยู่ในเรือเป็นเวลานานเมื่อเกี่ยวหญ้าเสร็จ
หลวงปู่ได้ก้มลงวิดน้ำเรือออก วิดเสร็จแล้วก็ยกเท้าขึ้นมาดม
มีความรู้สึกในใจว่ามีกลิ่นเหม็นเน่าเพราะน้ำมันกัด
ทำให้เกิดมีอารมณ์สังเวชและสลดใจตัวเองเป็นอย่างมาก
ทำให้บังเกิดมีวิจารณาญาณขึ้นมาเองว่า "ตัวเรานี่หนอเน่าทั้งเป็นเสียแล้ว"
จะหาความสะอาดและบริสุทธิ์เหมือนอย่างพระพุทธศาสนานี้ไม่มีอีกแล้ว
ทำให้เกิดความตั้งใจมั่นขึ้นอีกเป็นวาระสุดท้ายของการออกบวช ให้ได้เป็นครั้งที่สอง

ด้วยแรงจิตอธิษฐานมาถึงสามครั้งสามครา
ประกอบกับบุญบารมีของหลวงปู่ที่มีมาแต่ปางก่อนมาถึงได้มาดลจิตดลใจ
พร้อมทั้งบันดาลให้เกิดความสังเวช และเบื่อหน่ายต่อชีวิตของการครองเรือน
จึงตัดสินใจสละความสุข ความสนุกสนานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ออกบรรพชาเป็นครั้งที่สอง และพร้อมใจก้าวเข้าสู่ประตูพระพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ สมประสงค์ที่ได้ตั้งใจมั่นไว้

นับว่าโชคดีของชาวบวรพระพุทธศาสนา
ที่ได้บังเกิดมีสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นองค์แทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
พร้อมทั้งประพฤติและปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระโพธิสัตว์
อย่างเคร่งครัดทุกประการ โดยมี พระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์ ปุญญสิริ)  
แห่งวัดน้ำเต้า ต.น้ำเต้า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นองค์พระอุปัชฌาย์
ท่านได้รับนามฉายาว่า "อตฺตสนฺโต" ซึ่งแปลว่า ผู้มีจิตอันสงบ, ผู้สงบ

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ในพรรษาแรกของการบวชหลวงปู่ได้ใช้เวลาประพฤติและปฏิบัติอย่างจริงจัง
โดยท่องนวโกวาทได้จนจบหมดทั้งเล่ม
จนมีความรู้สึกในด้านพระวินัยและธรรมะเป็นอย่างดีเลิศ

ในระหว่างที่หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพิกุลนั้น
ได้มีชาวบ้านนำเอาศพคนตายมาฝากไว้ในกุฏิถึง ๒ ศพด้วยกัน
ทำให้เกิดมีแนวกรรมฐานด้วยตนเองอย่างถ่องแท้
พร้อมทั้งอาศัยหลักกรรมฐานด้วยตนเองอย่างถ่องแท้
พร้อมทั้งอาศัยหลักกรรมฐานที่ว่า "สามัญในลักษณะ"
หมายความว่า ลักษณะที่เสมือนกันในสังขารทั้งหลายทั้งปวง

สิ่งนั้นก็คือ
อนิจจัง (ความไม่แน่นอนในสังขาร)
ทุกขัง (ความวุ่นวาย, ไม่สงบสุขในสังขาร)
อนัตตา (ความตาย, ไม่มีตัวตน)


พยายามพิจารณาให้เป็นอารมณ์
โดยปฏิบัติด้วยตนเองและอาศัยศพที่ขึ้นอืดเน่าเฟะ
ที่มีอยู่เป็นเครื่องพิจารณาแทนอุปกรณ์การเรียน
ทีแรกๆ ก็นึกหวาดกลัวอยู่บ้างเหมือนกัน เป็นของธรรมดา
เมื่อพิจารณาจนเกิดความชินในศพทั้งสองนั้น
ด้วยการพิจารณาอยู่ทุกคืน โดยเอาเทียนไขจุดตั้งไว้บนปากโลงศพ
แล้วก็นั่งพิจารณาดูศพนั้นตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา

นั่งพิจารณาอยู่จนดูเสมือนว่าศพนั้นได้ยิ้มและก็หัวเราะเล่นกับเรา
เหมือนว่ามีบุญและวาสนามาในทางนี้ จึงทำให้ไม่กลัวต่อศพที่กำลังเน่าเฟะ
ที่ขึ้นอืดอยู่ในโลงศพนั้น ทั้งๆ ที่ตัวของหลวงปู่ท่านเอง
ก็ยังไม่มีครูหรืออาจารย์มาช่วยแนะแนวทางหรือมาสั่งสอนให้ก่อนเลย
หลวงปู่พยายามปฏิบัติด้วยตัวของหลวงปู่เองก่อนแท้ๆ

เมื่อมีจิตใจเข้มแข็งพร้อมแล้ว
หลวงปู่ก็แอบเข้าไปเจริญกรรมฐานอยู่ในป่าหลังวัดอย่างเงียบๆ
โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า พระที่เพิ่งบวชใหม่นี้ยังไม่ได้พรรษาเลย
จะสามารถประพฤติและปฏิบัติได้ถึงขนาดนี้
หลวงปู่ท่านใช้หลักการปฏิบัติที่ว่า ทำอะไรต้องทำให้จริง
และต้องทำให้สำเร็จให้ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะติดตัวเป็นนิสัย

คืนแห่งความทรงจำ ในคืนหนึ่งซึ่งมืดสนิทหลวงปู่ได้เข้าป่าหลังวัดพิกุล
ซึ่งตอนนั้นถนนหนทางยังไม่มี จะเป็นป่าทึบไม่เตียนรื่นเหมือนปัจจุบันนี้
หลวงปู่ท่านได้เข้าไปนั่งเจริญกรรมฐาน
จนเวลากลางดึกสงัดแล้วก็เดินเข้ามานั่งในพระวิหารของหลวงพ่อโส วัดพิกุล
เป็นเวลาประมาณตี ๑ เศษ แล้วก็กลับมาจำวัดในกุฏิ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-4-5 15:16



ในคืนแห่งความทรงจำนี้ทำให้ได้แนวทางทางกรรมฐานไว้จิตใจ
คือ ได้ความวิเวกและวังเวงอย่างที่สุด
อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของแนวทางกรรมฐานของหลวงปู่
รวมระยะเวลาที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดพิกุล อ.บางบาล นี้เป็นเวลา ๑ พรรษา

พอออกพรรษา หลวงปู่ก็ได้มาอยู่ยังวัดพระขาว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒
สาเหตุที่มาพรรษาอยู่ ณ วัดพระขาว ครั้งแรกนั้น ก็เพื่อจะให้ห่างบ้านเกิดเมืองนอนสักหน่อย
ซึ่งในขณะนั้นพระอาจารย์ติ่ง พุทฺธสิริ เป็นเจ้าอาวาสและอีกประการหนึ่ง
ที่อยากจะมาอยู่ที่วัดพระขาวนี้ เพราะในสมัยนั้นวัดพระขาวเป็นป่าทึบ
และก็มีกุฏิร้างอยู่กลางป่าทึบ ๑ หลัง ซึ่งเหมาะที่จะมาประพฤติและปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก
ระยะแรกที่หลวงปู่ได้มาอยู่ในวัดพระขาว
หลวงปู่มีความรู้สึกกลัวต่อสภาพ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ วัดนี้มาก
แม้แต่ศาลาการเปรียญก็ไม่ค่อยกล้าไป

แต่ด้วยใจอันเด็ดเดี่ยวที่ปรารถนาจะหาธรรมะ
เพื่อต้องการเจริญกรรมฐานเป็นที่ตั้งหลวงปู่มีความมานะและอุตสาหะ
เพื่อที่จะฝึกจิตใจให้ หายต่อความกลัวพวกผีปีศาจ
อยากจะศึกษาว่าผีมีจริงหรือไม่ โดยลงไปที่ศาลาในยามวิกาลเป็นขั้นแรก

หลวงปู่ทดลองอยู่ ๓ คืน โดยไม่ให้ใครรู้
เพื่อที่จะค้นคว้าหาสาเหตุของธรรมชาติมนุษย์ที่มักจะกลัวกันนักกันหนา
ก็คือจำพวกผี-ปีศาจ ในระยะเวลาที่หลวงปู่แอบลงมาในยามวิกาลดึกๆ ดื่นๆ
และเงียบสงัดนั้น ก็เพื่อที่จะสังเกต รูป-เสียง ว่าจะมีอะไรบ้าง
ในยามวิกาลผลของการทดลองปรากฏว่า
ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องของความน่ากลัวให้ปรากฏเห็นเลย
ต่อจากั้นก็ลองไปเจริญกรรมฐานที่อุโบสถในยามวิกาลอีก ๓ คืน
เหตุการณ์ปกติเหมือนเดิมไม่ปรากฏอะไรให้เห็นเลย
ในที่สุดหลวงปู่ก็ไปอยู่ที่วัดร้างกลางป่าในเวลาดึกสงัด โดยไม่มีใครรู้เห็นอีก ๓ คืน
จนพระในวัดทราบเรื่อง ก็เพราะเด็กวัดที่มาอยู่ด้วย
ตื่นขึ้นมาไม่เห็นหลวงปู่ ก็เกิดการกลัวตกใจร้องลั่น จนพระในวัดตกใจตื่น
ลุกขึ้นมาค้นหาหลวงปู่ก็พบว่า หลวงปู่แอบไปอยู่ในป่าหลังวัดแต่ลำพัง
โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าใน ๓ คืนแรกมาอยู่ในกุฏิร้างกลางป่าช้านี้
ถ้าไม่มีอะไรเกิดเหตุบอกเพทภัย ก็จะจำพรรษาอยู่ในกุฏิร้างแห่งนี้ตลอดไป
ถ้าตัวหลวงปู่ไม่มีบุญบารมีพอล่ะก็ขอให้มีอะไรมาดลใจ
หรือปรากฎเหตุการณ์อะไรๆ ให้ต้องอยู่ไม่ได้ในที่นี้ผลสุดท้ายก็เป็นอันว่า
หลวงปู่ตกลงจำพรรษาอยู่ในกุฏิกลางป่านั้นเรื่อยมาโดยมีสภาพของกุฏิไม่น่าอยู่เลย
หลังคาก็ผุรั่ว พื้นก็ผุพง เอาเสื่อเก่าๆ ของวัดที่ใช้รองศพอาจารย์ทรัพย์
ซึ่งเป็นสมภารเก่าของวัดพระขาวซึ่งมรณภาพแล้ว
กลิ่นสาบเห็นสางยังติดอยู่มาปูลงนอน จนทายกเห็นความมานะ
และความรักสันโดษของหลวงปู่ จึงได้ชักชวนชาวบ้านย่านใก้ลๆ วัด
มาปรับปรุงกุฏิให้น่าอยู่อาศัยขึ้น โดยมีน้าโชติ, น้าเก๋, น้าฟู เป็นผู้นำปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ในระหว่างจำพรรษที่กุฏิกลางป่า
หลวงปู่ก็ได้เริ่มนั่งเจริญกรรมฐานอย่างเอาจริงเอาจัง
โดยพิจารณา "อัฐิกรรมฐาน" คือ พิจารณากระดูกเป็นอารมณ์
จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ขึ้นใจในกรรมฐานเท่าใดนัก

อยู่มาคืนวันหนึ่ง เมื่หลวงปู่ปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐานเรียบร้อยดีแล้ว
ก็เข้าจำวัดในกุฏิร้างกลางป่าในคืนนั้นหลวงปู่ก็เกิดนิมิตขึ้นอย่างประหลาด
และอัศจรรย์มากคือในฝันว่าหลวงปู่กำลังนั่งสมาธิอยู่ในป่า
ได้มี ชีปะขาว นุ่งขาว ห่มขาว มาจนถึงตัวด้านขวาแล้วในฝันนั้น
ชีปะขาวบอกว่า ท่านจะมาอยู่กุฏิกลางป่านี้ ท่านต้องเปลี่ยนการเจริญกรรมฐานเสียใหม่
คือ ท่านจะต้องพิจารณาถึงความตายให้เป็นอารมณ์ถึงจะอยู่ที่กุฏินี้ได้
ต่อจากนั้นหลลงปู่ก็สะดุ้งตื่นทำให้มีกำลังใจไม่รู้สึกกลัวอะไรเลย
กลับรู้สึกทราบซึ้งในบุญวาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาช่วยเหลือ
และช่วยแนะแนวทางให้ด้วยเหตุว่าวันข้างหน้าจะต้องมีเหตุการณ์ที่อันตราย
และเป็นอุปสรรคต่อการเจริญกรรมฐานมาก

ถ้าการเจริญกรรมฐานแตกก็จะทำให้เสียผลที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น
ต่อมาเหตุการณ์ที่ชีปะขาวมาเข้าฝันในคืนนั้นก็เป็นจริงดังว่า
คือ ในคืนต่อมาได้มีผู้นำเอาศพของชายผู้หนึ่งซึ่งถูกยิงตาย
กำลังหามกันมาร่องแร่ง แล้วก็มาหยุดอยู่ข้างกุฏิร้างที่หลวงปู่อยู่
ต่างก็เร่งรีบช่วยกันขุดหลุม เพื่อที่จะฝังศพของชายผู้นั้นอย่างฉับไว
ซึ่งอยู่ใก้ลกับกุฏิของหลวงปู่ ที่ใช้ปฏิบัติกรรมฐานอยู่เมื่อเสร็จแล้วก็รีบไป

ภาพและเหตุการณ์ที่เห็นในคืนนั้นทำให้จำวัดไม่หลับ
แต่มิใช่ว่าจะกลัว พยายามข่มใจให้อยู่ได้แล้วก็ยังหลับไม่ลงจนรุ่งสว่าง
เพราะภาพนั้นติดตาจนเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าขืนจำวัดอยู่ ณ ที่นี้
ในไม่ช้าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาสืบรู้เข้ามาให้เป็นพยานสอบถามหาความแล้ว
จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นก็กระไรอยู่เพราะจะทำให้ผิดศีล
จึงตัดสินใจออกจากกุฏิร้างกลางป่าแห่งนั้น
แล้วมุ่งหน้าไปจำวัดอยู่ยังวัดน้ำเต้ากับพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อสังข์
อยู่กับหลวงพ่อวัดน้ำเต้าประมาณ ๑ เดือน ในระหว่างที่อยู่กับหลวงพ่อสังข์นั้น
ท่านได้ไต่ถามถึงความเป็นมาของการปฏิบัติกรรมฐาน
ที่ผ่านๆ มาอย่างไรบ้าง โดยตั้งคำถาม ถามหลวงปู่ก่อนว่า

ถาม : การปฏิบัติธรรมกรรมฐานท่านั่งอย่างไร ทำอย่างไร     
ตอบ : นั่งท่าสมาธิ คือ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ถาม : ท่านพิจารณาอะไร เป็นอารมณ์                                 
ตอบ : พิจารณาถึงความตายเป็นอารมณ์
ถาม : ท่านบริกรรมว่าอย่างไร
ตอบ : บริกรรมว่า "มรณังภวิสติ"  ซึ่งแปลความว่า ความตายจักมี
"ชีวิตินทรียัง อุปชิตชิตสติ" ซึ่งแปลความว่า ชีวิตอินทรีย์จะเข้าไปขาด


เมื่อหลวงพ่อสังข์ ทราบเรื่องแล้ว
หลวงพ่อสังข์ก็กล่าวชมเชยว่า ใช้ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครสอนหรือต่อให้มาก่อน
พร้อมทั้งพูดเสริมขึ้นอีกว่า "ฉันบวชให้คุณ ฉันได้บุญหลาย"
ต่อจากนั้น หลวงปู่ก็ได้นั่งปุจฉา-วิสัชนาอยู่กับหลวงพ่อวัดน้ำเต้า
อย่างใก้ลชิด และทราบซึ้งในธรรมะมาก

นับว่าเป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ ท่านได้รับรู้แนวทางการเจริญธรรมกรรมฐานอย่างจริงจัง
หลวงปู่มีเวลาอยู่เจริญกรรมฐานกับหลวงพ่อวัดน้ำเต้าอย่างใก้ลชิดเป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม
หลวงปู่ก็กราบขอลาหลวงพ่อสังข์กลับมาอยู่จำพรรษายังวัดพระขาวตามเดิม
      
เมื่อหลวงปู่กลับมาอยู่กุฏิที่วัดพระขาวอย่างเดิม
ก็มีเหตุการณ์ให้ติดตาติดใจหลวงปู่หลายๆ อย่าง คือ
คืนวันหนึ่งมีการเผาศพคุณวิเชียร ทรงเคารพ
วันนั้น หลวงปู่ได้ขึ้นพิจารณาศพของคุณวิเชียรบนเชิงตะกอนเป็นนิมิตจนติดตา
เนื่องจากศพที่เผานั้นไม่ยอมไหม้ไฟ
ต้องนำเอาศพของคุณวิเชียรนั้นออกจากเชิงตะกอน
แล้วนำศพนั้นมาหั่นเป็นท่อนๆ เสร็จแล้วจึงนำเอาชิ้นส่วนศพนั้นไปเผาไฟใหม่ถึงจะไหม้
ตอนหลังได้ทราบว่าศพนั้นถูกคุณทางไสยศาสตร์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น หลวงปู่ได้นำมาให้เกิดเป็นนิมิต
เพื่อพิจารณาแนวทางกรรมฐานของการเจริญในเรื่อง "มรณานุสสติ"
คือ พิจารณาศพที่ตายนั้นเป็นอารมณ์ พร้อมทำสมาธิอยู่ในกุฏิกลางป่า
เมื่อได้อารมณ์สงบดีแล้ว จึงเข้าไปเดินจงกลมที่ในป่ายามดึกสงัดของคืนวันนั้น
โดยอาศัยนิมิตของคุณวิเชียร ที่ตายนั้นเป็นอารมณ์
เดินกลับไปกลับมาอยู่ในป่าหลังวัดนั้น โดยที่ไม่มีแสงไฟหรือแสงสว่างอะไรเลย
นอกจากแสงดาวระยิบระยับเท่านั้น จนถึงเวลาอันสมควรแล้ว จึงได้ขึ้นมาบนกุฏิร้าง
เพื่อกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไปให้ยังผู้ตายมีคุณวิเชียรเป็นต้น
แล้วจึงเข้าจำวัด ถึงกระนั้นจิตก็ยังไม่ยอมละจากกรรมฐาน
ในขณะนั้นเองก็บังเกิดมหัศจรรย์ขึ้นอย่างประหลาด คือ มีเสียงดัง ปัง! ปัง! ปัง! ขึ้นถึง ๓ ครั้ง
คล้ายกับว่าเหมือนมีใครเอาท่อนไม้มาตีที่ระเบียงกุฏิร้างนั้น
ทั้งๆ ที่รอบๆ กุฏิก็ไม่มีต้นไม้ หรือกิ่งไม้ใหญ่มาปกคลุมเลย
หลวงปู่ไม่รู้สึกประหวั่นหรือกลัวเลยแม้แต่น้อยเนื่องจากมีจิตใจที่ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐานทุกเวลา
เหตุการณ์ที่ระทึกขวัญนี้ หลวงปู่สำนึกว่าคงเป็นคุณวิเชียรที่ตายนั้นมาแสดงอาเพศ
เพื่อที่จะให้หลวงปู่มีจิตใจเจริญกรรมฐานได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
สำหรับคุณวิเชียรที่ตายนั้นก็คงไปเกิดในที่ดีๆ ด้วยเช่นกัน
หลวงปู่ท่านอธิบายว่า ผู้ที่เจริญกรรมฐานเพื่อจะให้พ้นทุกข์สำเร็จได้
จะต้องประสบกับเรื่องทำนองนี้เองเสมอๆ จนดูเสมือนว่าเป็นเรื่องธรรมดา
เพราะเขาจะต้องมาลองใจเราไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง                                                                                       

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การทำนุบำรุงพระศาสนา

รวมระยะเวลาได้ ๓ พรรษา ที่หลวงปู่ได้ดำรงตำแหน่งสมภารเจ้าอาวาส
วัดสันติการาม (วัดสีคต) แห่งนี้  โดยในระหว่างที่เป็นสมภาร
ท่านได้สร้างหอสวดมนต์ไว้เป็นอนุสรณ์ ๑ หลังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงปู่ได้มาดำรงตำแหน่งเป็นสมภาร ณ วัดพระขาว
อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากวัดพระขาวนี้ขาดสมภาร
เพราะท่านสมภารเก่า (สมภารติ่ง พุทฺธสิริ) ท่านลาออก

ชาวบ้านพระขาวต่างก็รู้เคยเห็นการประพฤติการปฏิบัติของหลวงปู่มาก่อน
ก็ไปขอร้องให้หลวงปู่มาดำรงตำแหน่งสมภาร
ณ วัดพระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้
และได้บูรณปฏิสงขรณ์สภาพของวัดที่เก่าแก่แต่เดิมให้เป็นของใหม่ทั้งหมด
ดังที่เราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะด้วยบุญและบารมีของหลวงปู่ท่านอย่างแท้จริง
จึงมีผลงานให้ปรากฏเห็นทุกวันนี้ กล่าวคือ

๑. ปรับปรุงกุฏิทั้งหมดรวม ๙ หลังด้วยกัน ปี พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑

๒. สร้างหอสวดมนต์ ปี พ.ศ.๒๕๐๑

๓. เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาอุโบสถ จากกระเบื้องดินมาเป็นกระเบื้องเคลือบ

๔. ยกช่อฟ้าอุโบสถ, ทำหน้าบรรณอุโบสถ, ทำกำแพงแก้วรอบอุโบสถ,
ทำรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรอบๆ บริเวณ และสร้างศาลาพักร้อนหน้าวัด

๕. สร้างฌาปนสถาน (เมรุเผาศพ)

๖. ปฎิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และสร้างศาลาเรียง,
พร้อมทั้งเปลี่ยนกระเบื้องศาลาทั้งหมด, ทำห้องสุขาชาย-หญิงพร้อมห้องน้ำ

๗. สร้างถังน้ำคอนกรีตใหญ่ พร้อมทั้งติดเครื่องสูบน้ำ

๘. สร้างหอปริยัติธรรม และศาลาเรียง

๙. สร้างสะพานคอนกรีตจากกุฏิไปยังศาลาการเปรียญ

๑๐. เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาอุโบสถ จากกระเบื้องเคลือบมาเป็นกระเบื้องลายเทพพนม

๑๑. สร้างภาพเขียนฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นภาพพุทธประวัติ
และเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก

๑๒. สร้างศาลาบำเพ็ญกุศลศพ


ผลงานการทำนุงบำรุงศาสนสถานทั้งหมดที่กล่าวมา
หลวงปู่ท่านเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งนั้น
แสดงให้เห็นว่าหลวงปู่ท่านเป็นนักพัฒนาอย่างยิ่ง
พร้อมทั้งบารมีของหลวงปู่อย่างถ่องแท้จริงๆ
จึงสามารถสร้างและปฏิสังขรณ์วัดพระขาวนี้สำเร็จลุล่วงอย่างฉับไวดั่งเนรมิต

แม้กระทั่งการออกเที่ยวเรี่ยไรตามชาวบ้านก็ไม่เคยเลย
มีแต่ไอ้ผีเท่านั้นที่เที่ยว ออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับชาวบ้าน
อ้างว่าหลวงปู่จะสร้างนั่นสร้างนี่ หลวงปู่มักจะเรียกบุคคลที่ประพฤติไม่ดี
ว่า "ไอ้ผี" หมายถึงพวกที่ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด

หลวงปู่ก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมดนี้ ด้วยเงินอันบริสุทธิ์ของท่าน
ทั้งที่ได้อนุโมทนามากับกองกฐินบ้างผ้าป่าบ้าง
ถวายเป็นส่วนตัวบ้าง หลวงปู่ท่านจะนำมาก่อสร้างวัดให้หมดไป
เนื่องจากหลวงปู่ท่านไม่หยิบปัจจัย
และผ้าป่าของหลวงปู่ที่ได้ดำริจัดสร้างขึ้นมาปีละครั้งนั้น
ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายใฝ่ในพุทธศาสนา
หลวงปู่ท่านจะเอาจากท่านฝ่ายเดียวไม่ดี
จะมีของตอบแทนให้ท่านทุกๆ ครั้งไป
เพื่อเป็นสินน้ำใจของผู้บริจาคของตอบแทนของหลวงปู่นั้น
เดี๋ยวนี้มีค่ามากเป็นเหรียญรูปเหมือนของหลวงปู่กับหลวงพ่อขาว
ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถอยู่ด้านหน้า
สร้างให้เป็นของขวัญสำหรับท่านทั้งหลายปีละหลายพันเหรียญ


การศึกษาปริยัติธรรมและลำดับสมณศักดิ์

นอกจากหลวงปู่จะเป็นนักพัฒนาที่เก่งกาจแล้ว
หลวงปู่ยังเป็นนักศึกษาธรรมะที่ล้ำเลิศมากอีกด้วย
ด้วยสติปัญญาและความจำอันแม่นยำสามารถสอบได้
ถึงนักธรรมชั้นเอก โดยที่ใช้ระยะเวลาไม่นานเลย
และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท มีสถิติดังนี้

ปี พ.ศ.๒๔๙๒ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
ปี พ.ศ.๒๔๙๓ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท
ปี พ.ศ.๒๕๐๐ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลน้ำเต้า-ตำบลพระขาว
พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี
พร้อมทั้งได้รับพระราชทินนามว่า "พระครูสังวรสมณกิจ"
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในพระราชทินนามเดิม
                                                                                       

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน


การศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน

ในด้านการศึกษา จะเห็นได้ว่าหลวงปู่ท่านมีน้ำใจฝักใฝ่อย่างจริงจัง
แล้วมักจะทำอะไรต้องต้องทำจริงๆ และต้องให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ในไม่ช้า
สมกับเป็นชายชาติทหาร ต่อมาหลวงปู่มาพินิจพิจารณาเห็นว่า
การมาลุ่มหลงใฝ่ฝันในยศถาบรรดาศักดิ์นี้ ไม่ทำให้เราพ้นทุกข์ได้แน่
มีแต่จะเพิ่มความทุกข์ทรมานจิตใจเราให้ มัวเมาและลุ่มหลง
ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดกิเลส จะมีแต่ความโลภ ความโกรธ และความหลง

เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว หลวงปู่ท่านจึงหันหน้ามาศึกษาหนทางแห่งความตาย
พยายามศึกษาและค้นคว้าหลักสัจธรรม
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตัวของหลวงปู่เอง
และได้ออกธุดงค์เป็นครั้งแรก โดยไปปักกลดที่สระบุรี

ในตอนเช้าหลวงปู่ออกบิณฑบาตเดินไปสวนทางกับพระในละแวกนั้น
ซึ่งพระท่านกำลังรับบิณฑบาตอยู่ ก็เกิดความคิดขึ้นว่า
นี่เรากำลังมาแย่งอาหารจากเขาซึ่งเขาได้รับอยู่ประจำทุกวันๆ
จึงตัดสินใจหันหลังกลับทั้งๆ ที่ข้าวในบาตรมีเพียงทัพพีเดียวเท่านั้น
เมื่อกลับมาถึงกลดที่พัก ได้มีชาวบ้านนำอาหารมาถวายพอประมาณ
หลวงปู่จึงตัดสินใจถอนกลดเดินทางกลับพระนครศรีอยุธยา
แล้วเลิกเดินธุดงค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลวงปู่กลับมาอยู่วัด ได้ศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานด้วยตนเอง
และได้เที่ยวแสวงหาแนวทางแห่งกรรมฐานเพิ่มเติมอีก
และได้เดินทางไปศึกษาการเจริญกรรมฐานกับ หลวงพ่อจง พุทฺธสโร
แห่งวัดหน้าต่างนอก ต.หน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
ไปๆ มาๆ อยู่หลายหนเพราะอยู่ไม่ไกลกับวัดพระขาวนัก
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ท่านได้แนะแนวทาง "ทางเมตตาให้"

หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า มีอยู่หนหนึ่งหลวงปู่ได้เดินตัดทุ่ง
ไปหาหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พอจะเลี้ยวเข้าหลังวัด
ซึ่งเป็นทุ่งนาได้มีเหลือบควายตัวหนึ่งบินมาเกาะที่แขนขวา
เพื่อหวังจะกินเลือดด้วยความหิว หลวงปู่ได้เอามือปัด
ไล่มันไปถึงสองครั้งก็แล้วเจ้าเหลือบตัวนั้นก็ไม่ยอมหนี
พอครั้งที่สาม จึงหยุดนิ่งปล่อยให้เจ้าเหลือบนั้นดูดเลือดกินจนอิ่ม
อ้วนแทบจะบินไปไม่ไหว เพื่อสนองความต้องการของมัน
ความรู้สึกตอนนั้นมันช่างเจ็บปวดแปลบเข้าในหัวใจทีเดียว

หลวงปู่มีความรู้สึกสบายใจมากที่ได้ช่วยเหลือเจ้าเหลือบนั้น
เมื่อยามหิวโหยจนอิ่มหนำดี แล้วก็บินไปด้วยความปลอดภัย
เป็นเรื่องแปลกให้เราได้คติและข้อคิดมาก
ในเรื่องความมีเมตตาปรานีต่อผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก
อันเป็นการบำเพ็ญทานอย่างหนึ่งที่จะเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จ
ผู้ที่จะสำเร็จมรรคผลทางนี้ได้ ย่อมจะมีอะไรมาลองจิตลองใจอยู่เสมอ
หรือเรียกว่า ตัวมาร ถ้าจิตปล่อยให้ตัวมารมาครอบงำได้
จิตนั้นก็ย่อมแต่สบายหรือที่เรียกว่า ตบะแตก
มรรคผลที่ปลูกเอาไว้มันก็จะเสีย เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามฝึกจิตให้ชนะมาร


8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา


ในสมัยก่อนชาวบ้านเขาจะทดลองว่า
พระที่ปฏิบัติกรรมฐานนั้นจะมีจิตเข้มแข็งหรือไม่  
เขาจะนิมนต์พระไปชักมหาบังสกุลในป่าตอนดึกๆ
มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่ถูกนิมนต์ไปชักมหาบังสกุลกับหลวงพ่อจงและหลวงพ่อสังข์
ในป่าหลังวัดบางยี่โท เพื่อเป็นการทดลองตบะของหลวงพ่อทั้งสาม
โดยนำเอาศพของคนตายที่กำลังมีกลิ่นเหม็น นัยน์ตาโปน
หาศพที่น่ากลัวมากๆ นำไปนั่งพิงโคนต้นไม้ในป่าที่เงียบสงัด
นั่งพนมมือมีผ้าบังสกุลวางอยู่บนสามผืน
แล้วนิมนต์หลวงพ่อทั้งสามให้เข้าไปพิจารณาทีละรูปในยามดึกๆ โดยจับสลากกัน

ยามแรกหลวงพ่อจง ท่านเข้าไปพิจารณาก่อน
เวลาประมาณ ๕ ทุ่ม ถึงเที่ยงคืน
ยามที่สองหลวงปู่วัดพระขาวเป็นผู้พิจารณา
ตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนไปแล้ว เรื่อยไปตามลำดับ


หลักการพิจารณาของหลวงปู่ท่านมีง่ายๆ คือ

๑) เดินเข้าไปยืน พิจารณาอยู่เหนือลม
เพื่อจะได้ไม่มีกลิ่นเหม็นจากศพนั้น
เพราะจะทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวและจะอยู่ไม่ได้นาน

๒) ประการสองนึกเสียว่า งูที่มีพิษหรือสิงสาราสัตว์ร้ายต่างๆ
เมื่อมีชีวิตอยู่ เมื่อกัดเรา เราก็ตาย
แต่เมื่อมันตายแล้วพิษหรือความดุร้ายของมัน
ก็จะหมดไปก็หมดความน่ากลัว ก็เหมือนดังศพที่อยู่ตรงข้างๆ เรานี้
ตายแล้วถึงจะทำร้ายก็ไม่เป็นไร พิษสงก็หมดไปเหมือนดั่งเช่นงูที่ตาย
เมื่อฟังดูแล้วทำให้เราค่อยคลายความกลัวเรื่องผีๆ สางๆ ไปได้บ้าง


ต่อมา หลวงปู่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐาน
กับ หลวงพ่อสด จนฺทสโร แห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นพระผู้คิดค้นวิชชาธรรมกายที่มีชื่อเสียงมาก
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ "หลวงพ่อวัดปากน้ำ"

หลวงปู่ได้อยู่เจริญกรรมฐานกับหลวงพ่อสด จนฺทสโร เป็นเวลาหลายคืนหลายวัน
หลวงปู่ได้แนวทางในการทำ "สมาธิภาวนา"
หลวงพ่อสด จนฺทสโร ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก
ไม่ยอมหยิบปัจจัยเช่นเดียวกับหลวงปู่เหมือนกัน
ระหว่างที่หลวงปู่ได้มาอยู่ศึกษาธรรมที่วัดปากน้ำนั้น
ขณะที่หลวงปู่กำลังนั่งสนทนาอยู่กับหลวงพ่อสด ได้มีหญิงสองคนเข้ามาหา

แล้วหญิงคนที่หนึ่งได้เอ่ยถามหลวงพ่อสดว่า
บิดาของฉันที่ได้ตายไปแล้วนั้นเวลานี้ท่านได้ไปเกิดแล้วหรือยัง
หญิงคนที่สองก็เอ่ยถามหลวงพ่อสดต่ออีกว่า
แล้วสามีของดิฉันล่ะคะ เวลานี้ก็ได้ตายไปแล้วเหมือนกัน
เวลานี้เขาไปเกิดแล้วหรือยังและไปเกิดอยู่ ณ ที่ใด

หลวงพ่อสดท่านให้หญิงม่ายทั้งสองนั่งรอสักครู่
แล้วหลวงพ่อแห่งวัดปากน้ำก็เดิน ขึ้นไปยังชั้นบน
ปล่อยให้หญิงม่ายทั้งสองนั่งคุยกับหลวงปู่วัดพระขาวไปพลางๆ ก่อน
แล้วสักพักใหญ่หลวงพ่อสด จนฺทสโร ท่านก็เดินลงมานั่งยังที่เดิม

แล้วหลวงพ่อสดท่านก็พูดขึ้นว่า พ่อของโยมที่ได้ตายไปแล้วนั้น
บัดนี้เขาได้ไปเกิดเป็นมนุษย์แล้วอยู่แถวๆ บ้านโยมนั่นแหละ
ส่วนสามีของโยมอีกคนนั้น เข้ายังไม่ได้ไปผุดไปเกิด
ยังอยู่ใช้เวรกรรมที่เขาได้ทำไว้

หญิงม่ายผู้นั้นได้ถามต่ออีกว่า เหตุที่เขาไม่ได้ไปผุดไปเกิดนั้น
สามีของดิฉันเขาได้สร้างเวรสร้างกรรมอะไรไว้หรือ
หลวงพ่อสดท่านตอบว่า เหตุที่สามีของโยมที่ยังไม่ได้ไปเกิดนั้น
เป็นเพราะเขาได้ทำกรรมไว้มาก คือ เมื่อตอนเขายังมีชีวิตอยู่
เมื่อตอนเข้ายังหนุ่มได้ไปฆ่าเขาไว้
เวรกรรมอันนี้แหละที่ทำให้สามีของโยมไม่ได้ไปผุดไปเกิด
ยังตกอยู่ในนรกอเวจีอีกนาน


เหตุการณ์ที่หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก
ที่หลวงพ่อแห่งวัดปากน้ำท่านสามารถหยั่งรู้
และก็สามารถเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
คงจะเป็นเพราะว่าหลวงพ่อท่านสามารถกระทำจิตเป็นสมาธิ
โดยนั่งวิปัสสนากรรมฐานและภาวนาสำเร็จถึงขั้นสุดยอด
จึงสามารถมองเห็นเรื่องราวในอดีตได้ เหมือนกับหลวงปู่วัดพระขาวเหมือนกัน

เพราะข้าพเจ้าเคยแกล้งลองใจถามหลวงปู่ว่า
"หลวงปู่นั่งสวดมนต์ภาวนากลางคืนดึกๆ ดื่นๆ เป็นประจำ
หลวงปู่เคยเห็นตัวเลขอะไรๆ บ้างไหม"
หลวงปู่ตอบด้วยความโมโหว่า "เห็นแต่บอกไม่ได้"

แล้วหลวงปู่ท่านก็แจงให้เข้าใจว่า ถ้าฉันบอกให้แกไปถูก
ทางโน้นเขาเป็นฝ่ายเสียเงิน ฉันก็ผิดที่ทำให้เขาเสียเงิน
ถ้าฉันบอกให้แกไปผิดๆ ทำให้แกเสียเงิน ฉันก็ผิดอีกมันไม่ดี
ถ้าจะเอาดีทางนี้ล่ะก็มันดีไม่นาน
หวังว่าทุกๆ คนที่ชอบเรื่องแบบนี้คงเข้าใจในความหมายของหลวงปู่ท่านดี



หลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ต่อมาหลวงปู่ท่านได้พาสามเณรไปฝากเรียนพระปริยัติธรรม
กับหลวงพ่อสด แห่งวัดปากน้ำ ๑ รูป ซึ่งปัจจุบันนี้สอบเป็นมหาได้แล้ว
คือ ท่านมหายุ้ย แห่งวัดเขาวัง อ.เมือง จ.ราชบุรี
จากนั้นหลวงปู่ได้เดินทางไปศึกษากรรมฐานกับ อาจารย์จู อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
อาจารย์จูท่านสามารถนั่งสมาธิเจริญกรรมฐานเห็นอะไรๆ ได้ทุกอย่าง

ครั้งสุดท้ายหลวงปู่ท่านได้ออกเดินทางไปยังสำนักเขาวงกฏ บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ซึ่งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงและใหญ่มากในสมัยนั้น
การเดินทางไปแต่ละครั้งๆ นั้นแสนยากและก็ลำบากใจมาก
ด้วยเหตุที่ว่า หลวงปู่ท่านไม่จับปัจจัย และก็ไม่มีลูกศิษย์ที่จะติดตามไปด้วย
ต้องอาศัยให้คนที่รู้จักกันนำปัจจัยไปฝากไว้ตามร้านอาหาร
เพื่อให้ช่วยจัดการและช่วยซื้อตั๋วให้เป็นค่าโดยสารรถและเรือ
ที่ๆ หลวงปู่ท่านจะเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ
หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า ก็นึกถึงอยู่เสมอร้านอาหารที่หลวงปู่เข้าไปฉันอาหาร
เมื่อรู้ว่าหลวงปู่ท่านไม่จับปัจจัยก็ไม่ยอมคิดค่าอาหาร จะถวายให้หลวงปู่เสมอ
ฉะนั้น เงินที่ฉันให้เขามาฝากไว้นั้น ฉันก็ไม่เอาคืนเหมือนกัน ยกให้หมดเลย
ขอเพียงแต่ท่านช่วยซื้อตั๋วส่งลงเรือให้กลับวัดได้ก็พอแล้ว
นับว่าหลวงปู่ท่านประพฤติและปฏิบัติได้ลำเลิศจริงๆ
และเป็นผู้ที่ชอบค้นคว้าแสวงหาธรรมะอย่างจริงจังและจริงใจมาก
จัดว่าเป็นพระเถราจารย์ที่ล้ำเลิศในแนวทาง "สมาธิ-ภาวนา และเมตตา"
อันสูงส่งยิ่งในปัจจุบันนี้ ยากนักที่จักหาไหนเสมอเหมือน
พร้อมไปด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสงฆ์คุณ
ประพฤติปฏิบัติตามรอยพระบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วัตถุมงคลของหลวงปู่ท่านแต่ละชิ้น
ที่หลวงปู่ได้สร้างขึ้นมาแต่ละรุ่นนับเป็นพันๆ เหรียญ
ที่ได้แจกให้กับญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาในงานทอดผ้าป่าแต่ละปีๆ
เป็นที่นิยมชชอบของนักสะสมวัตถุมงคลเป็นอย่างมาก ดังจะชี้แจงให้ทราบกันดังต่อไปนี้

ปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลวงปู่ได้สร้างเหรียญเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นของชำร่วย
ในการจัดทอดผ้าป่าสามัคคี ๒,๕๑๘ กองๆ ละ ๑๘ บาท
เพื่อนำปัจจัยไปสร้างพระประธานในอุโบสถ วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา
ด้านหลังของเหรียญเป็นรูปของหลวงปู่นั่งสมาธิ
โดยให้พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ (หลวงพ่อสังข์) เป็นผู้ทำพิธีพุทธาภิเษกก่อน  
ต่อมาทุกๆ ปี หลวงปู่จะจัดทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้น
ปีละ ๑๐,๐๐๐ (หนึ่งหมื่น) กองๆ ละ ๑๐ บาท เรื่อยมา
ของชำร่วยที่แจกจ่ายจะเป็นเหรียญทั้งสิ้น ส่วนแบบพิมพ์นั้นก็จะเปลี่ยนออกไปทุกๆ ปี
จะมีอยู่ปีหนึ่ง ใช้เหรียญพิมพ์รุ่นแรกมาสร้างขึ้นอีกหนหนึ่ง จำนวน ๑๑,๐๐๐ เหรียญ
จึงยากนักแก่บรรดานักนิยมเหรียญรุ่นต่างๆ ของหลวงปู่
ที่จะยึดถือว่าเป็นรุ่นแรก นอกจากผู้ที่เข้าได้รับด้วยตนเองเท่านั้น
ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงปู่จะสร้างเป็นพระพิมพ์หลวงพ่อรอดอยู่หนหนึ่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ศิษยานุศิษย์ได้ขออนุญาตหลวงปู่สร้างรูปหล่อเหมือน
ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว เนื้อทองเหลืองขัดมัน สร้างจำนวน ๒๐๙ องค์
และพระกริ่งรูปเหมือนของหลวงปู่ ขนาดหน้าตัก ๑ นิ้ว จำนวน ๑,๐๙๐ องค์
และล๊อกเกตรูปของหลวงปู่ สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่ท่านทั้งหมดนี้
หลวงปู่จะเป็นผู้พุทธาภิเษกเองทั้งหมด โดยส่วนมากจะลงในทางเมตตา
และแคล้วคลาดให้เป็นสำคัญ จะได้ไม่เจ็บตัว ถ้าถึงคราวคับขันก็ใช้ได้ในทางคงกระพัน

หลวงปู่มักจะสอนให้ทุกๆ คนนับถือคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งประจำใจ
และให้คิดถึงความตายเป็นอารมณ์ ถ้าผู้ใดระลึกไว้เสมอ
ก็จะปราศจากทุกข์โศก มีแต่ความสุข
คำสอนของหลวงปู่จะผูกเป็นนิทานและเป็นคติ แล้วก็จะสอดแทรกธรรมะ
น่าฟังสนุกไม่รู้จักเบื่อหน่ายเลย หลวงปู่เป็นนักแสดงธรรมะที่ยอดเยี่ยมมาก
ท่านแสดงธรรมได้นุ่มนวลละเอียดอ่อน และน่าฟังยิ่งนัก
ทุกวันพระเมื่อมีการทำบุญบนศาลาการเปรียญ
ทุกๆ ครั้งหลวงปู่ท่านจะขึ้นธรรมมาสแล้วแสดงธรรมให้ประชาชนชาวพุทธ
ที่ได้มาบำเพ็ญบุญฟังเป็นประจำไม่เคยขาด โบราณท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า
เมื่อทำบุญแล้วได้สดับฟังพระธรรมเทศนา ก็จะได้กุศลอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
เมื่อตายไปก็จะไปสู่สวรรค์ การประพฤติและปฏิบัติของหลวงปู่เยี่ยมมาก
ตั้งแต่หลวงปู่บวชมาจนถึงวาระมรณกาล ท่านจะไหว้พระ
และสวดมนต์ภาวนาในเวลาดึกๆ ก่อนจะเข้านอนเป็นประจำไม่เคยขาด

หลวงปู่จะกราบพระถึง ๕ ครั้งเป็นประจำเสมอ
"กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงคุณพระพุทธ, กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงคุณพระธรรม
กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ กราบครั้งที่ ๔ ระลึกถึงคุณบิดา-มารดา
และปู่ย่าตายาย กราบครั้งที่ ๕ ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ"
เสร็จแล้วก็จะระลึกนึกถึงชาติภูมิขององค์สมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก่อนที่จะมาเป็นพระบรมศาสดา คือ "พระเจ้าสิบชาติ" อันได้ พระเตมีราช,
พระชนก, พระสุวรรณสาม, พระเนมิราช, พระมโหสถ, พระภูริทัต,
พระจันทร, พระนารอท, พระวิฑูรย์บัณฑิตย์ และชาติสุดท้าย คือพระเวสสันดร
โดยหลวงปู่จะใช้ภาวนาเป็นประจำอยู่เสมอหรือที่เรียกว่า
หัวใจพระเจ้าสิบชาติ (เต-ชะ-สุ-เน-มะ-ภู-จะ-นา-วิ-เว)

ฉะนั้น ชื่อเสียงของหลวงปู่จึงดังโด่ง "ขจรขจาย" ไปทุกภาคของประเทศไทยก็ว่าได้
และที่ยิ่งไปกว่านี้แม้แต่ชาวต่างชาติที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของประเทศเรา
ไม่ว่าจะเป็น "สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งคนไทยในอเมริกา ฯลฯ"
ก็ยังรู้จักและได้ยินชื่อเสียงของท่านเลย ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก
"ทานบารมีแห่งความเมตตา" ที่หลวงปู่ได้อนุเคราะห์แผ่เมตตา
ให้แก่ญาติโยมทั้งหลายโดยแท้จริง แม้ว่าในปี พ.ศ.๒๕๔๐ นี้
หลวงปู่จะมีอายุ "ครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี" แล้วก็ตามที
อีกทั้ง "สังขาร" ของท่านก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลาของอายุก็จริงอยู่
แต่หลวงปู่ท่านไม่เคยบอกปัดหรือปฏิเสธกิจนิมนต์สักครั้งเลย
ท่านคิดอยู่เสมอว่า "ใครอยากนิมนต์ท่านไปไหนมาไหนนั้น
ถ้าท่านไปแล้วทำให้เจ้าของงานเกิดความสุขกาย สบายใจล่ะก้อ
ท่านไปให้หมดทุกครั้งโดยไม่มีการเลือกชั้นวรรณะเจ้าของงานแต่อย่างไร"
น้อยครั้งจริงๆ ที่หลวงปู่ไม่ได้ไปตามเวลาของกิจนิมนต์
เนื่องจากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ อาทิเช่น ท่านไม่สบาย
หรือมีกิจนิมนต์ติดพันจนเดินทางไปไม่ทันเวลาของงาน ฯลฯ

นับได้ว่าหลวงปู่มีกิจนิมนต์ไม่เคยว่างเว้นสักวันเดียว
ในแต่ละวันนั้นหลวงปู่ต้องเดินทางไปทำพิธีในงานต่างๆ มากมาย
อาทิเช่น "จุดเทียนบ้าง เป็นประธานในการนั่งปรกบ้าง
ไปทำพิธีขึ้นบ้านใหม่บ้าง ไปเจิมป้ายขึ้นห้างร้านใหม่บ้าง
หรือรับกิจนิมนต์ไปฉันเช้าบ้าง ฉันเพลที่บ้านญาติโยมบ้าง
รวมทั้งยังมีกิจนิมนต์อีกร้อยแปดพันอย่างอีกมากมาย" เป็นต้น



หลวงปู่ทิม วัดพระขาว ละสังขารแล้ว


ที่มา :
http://www.luangputim.com/
https://www.facebook.com/web.luangputim/
                                                                                       
.....................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45585

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-5 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


หลวงปู่ทิม วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา ละสังขารแล้ว

พระครูสังวรสมณกิจ (หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระขาว ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พระเถราจารย์ผู้มีความอาวุโสสูงสุดของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มรณภาพแล้ว เมื่อเวลา 10.55 นาฬิกา ของวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2552 ณ ห้องผู้ป่วยหนักโรคหัวใจ เตียง 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลโรคทรวงอก อ.เมือง จ.นนทบุรี ด้วยอาการสงบ

ก่อนหน้านี้หลวงปู่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก อันเป็นโรคที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเป็นกัน จึงเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลโรคทรวงอก ต่อมาแพทย์ตรวจพบว่า หลวงปู่มีอาการโรคปอดติดเชื้ออยู่ด้วย จึงให้พักอยู่ที่โรงพยาบาล และได้มรณภาพดังกล่าว  ขณะมีอายุ 96 ปี พรรษา 61 โดยคณะศิษยานุศิษย์จัดงานทำบุญฉลองอายุครบ 8 รอบไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2552 นี้เอง

ขณะนี้สรีระของหลวงปู่ทิม คณะศิษยานุศิษย์ได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล ณ วัดพระขาว ไปจนบครบ 100  วัน ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพศพจะเป็นเมื่อใด จะต้องมีการประชุมตกลงกันอีกครั้งหนึ่งศรัทธาญาติโยมที่ต้องการไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมศพหลวงปู่ทิม สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-3530-8333, 0-3572-6080

ตามประวัติ หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต นามเดิมว่า ทิม ชุ่มโชคดี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2456 ปีฉลู ณ หมู่ 3 ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายพร้อม และนางกิ่ม ชุ่มโชคดี

ในวัยเด็กศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงอายุ 13 ปี เมื่อจบ ป.4 จึงออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา ก่อนจะถูกเกณฑ์เป็นทหาร ถูกส่งตัวไปปฏิบัติราชการสงครามฝรั่งเศส รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งปลดประจำการ จึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2478 ที่วัดพิกุล บวชอยู่ได้ 1 พรรษาจึงลาสิกขา ต่อมามีครอบครัวและมีบุตร 4 คน

หลังจากนั้นได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2491 ขณะอายุ 35 ปี ณ พัทธสีมาวัดพิกุล โดยมีพระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์) วัดน้ำเต้า จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “อตฺตสนฺโต” โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดพิกุล ก่อนจะมาจำพรรษาที่วัดพระขาว

ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2492 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2493 สอบได้นักธรรมชั้นโท พ.ศ.2500 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ตามลำดับ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2504 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2510 ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลน้ำเต้า และตำบลพระขาว ทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2512 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ “พระครูสังวรสมณกิจ”

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท ในราชทินนามเดิม และที่นับเป็นเกียรติประวัติอันสำคัญยิ่งสำหรับหลวงปู่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา คือในพ.ศ.2549 ได้รับการถวายปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ต่อมา พ.ศ.2550 หลวงปู่ยังได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาสงเคราะห์ประชาชน และส่งเสริมพัฒนาชุมชน ประจำปี 2550 โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงปู่ทิมได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งความเมตตา” เป็นพระเถระผู้มีความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ญาติโยมชาวบ้านมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจนิมนต์ต่างๆ เมื่อได้รับแล้วท่านจะต้องไปสนองศรัทธาญาติโยมเสมอ ไม่ว่าใกล้หรือไกล ไม่เคยปฏิเสธเลย ขณะเดียวกันก็ไม่เคยละเลยการปฏิบัติศาสนกิจใดๆ ที่พระสงฆ์ทั้งหลายพึงปฏิบัติ แม้หลวงปู่จะสูงด้วยพรรษายุกาลมากแล้วก็ตาม

กิจนิมนต์สำคัญอย่างหนึ่งที่หลวงปู่ได้รับโดยตลอด คือ งานพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลตามวัดต่างๆ จะต้องมีชื่อของหลวงปู่นั่งปรกปลุกเสกเป็นประจำ ชื่อเสียงของหลวงปู่จึงปรากฏขจรขจายอย่างกว้างไกล ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ วัดพระขาวที่หลวงปู่ปกครองดูแล จึงเป็นวัดที่มีการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองตลอดเวลา เพราะแรงศรัทธาของชาวบ้านญาติโยม และพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่มีต่อหลวงปู่ ได้ร่วมแรงร่วมศรัทธาทำบุญบำรุงพระพุทธศาสนา บำรุงวัด จนมีเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถหลังใหม่อันงดงาม พระวิหาร หมู่กุฏิสงฆ์ทรงไทยที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหมด เป็นแถวยาวอย่างมีระเบียบสวยงาม หอพระ ศาลา เมรุ มณฑป เขื่อนกั้นน้ำ แพปลา โรงครัว หรือแม้กระทั่ง ห้องสุขาห้องน้ำ ที่มีความสะอาดและถูกสุขลักษณะ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรวมถึงสาธารณประโยชน์ ที่หลวงปู่ได้เมตตาให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบวัด ที่สำคัญคือ โรงเรียนวัดพระขาว แหล่งการศึกษาของบุตรหลานชาวบ้านในท้องถิ่น หลวงปู่ก็ได้ให้ความอุปถัมภ์ทั้งในเรื่องงานก่อสร้างอาคาร และทุนการศึกษามาโดยตลอด


ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 22 มีนาคม 2552
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้