ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2630
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ย้อนตำนานดงพญาไฟ และเจ้าพ่อเขาใหญ่

[คัดลอกลิงก์]
ขอบคุณ:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=342710





ตำนานดงพญาไฟ


ย้อนหลังไปในอดีต  มากกว่า  120  ปีมาแล้ว
ป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ไพศาลคั่นกลางระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลาง
กับที่ราบสูงภาคอีสาน นั่นคือ  เทือกเขาพนมดงรัก  เต็มไปด้วยภยันตราย
นานัปการ ทั้งจาก สัตว์ป่า ไข้ป่า  ตลอดจนภูติผีปีศาจ และอาถรรพณ์ลึกลับ
มากมาย   ผืนป่าแห่งนี้ผู้คนจึงขนามนามว่า  "ดงพญาไฟ"  ผู้ใดเข้าไปใน
ป่าผืนนี้แล้ว  น้อยคนนักที่จะได้กลับออกมา  จนเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันมา
อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

การเดินทางจากเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา ก็ต้องผ่านดงพญาไฟ
แห่งนี้  และจะใช้เกวียนก็ไม่ได้ ต้องอาศัยการเดินเท้าอย่างเดียว ต้อง
เดินตามสันเขาบ้าง ไหล่เขาบ้าง  ลำธารบ้าง  คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่
ตำบลแก่งคอย  สระบุรี  ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน  จึงจะผ่านพ้นไปได้

ในระยะต่อมา  สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น  ในปี 2434  เมื่อพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
ทางรถไฟเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสาน  โดยตัดผ่านดงพญาไฟ
ช่วงนี้ ทำให้วิศวกร นายช่าง และแรงงาน จำนวนมาก ทั้งชาวไทย
และชาวต่างชาติ ต่างก็พาชีวิตมาสังเวยกับไข้ป่ากันเป็นจำนวนมาก
ศพกองกันเป็นภูเขาเลากา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก  ทรง
โปรดเกล้าฯ ให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้โดยทั่วกัน  พร้อมกับให้
ยุติการสร้างทางรถไฟไว้เพียงเท่านี้  


เปลี่ยนมาเป็นดงพญาเย็น

เมื่อพระองค์เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟ ขณะเสด็จกลับได้ผ่านป่าใหญ่
ดงดิบ  (ปัจจุบันคือบริเวณเขื่อนลำตะครอง)  ถึงสถานีรถไฟปากช่อง
ก็ได้ทรงรับสั่งถามว่า  "ป่านี้ชื่อว่าอะไร"  ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้กราบ
บังคมทูลว่าชื่อ "ป่าดงพญาไฟ"  พระองค์ทรงรับสั่งว่า  "ป่านี้ชื่อฟังดู
น่ากลัว"  จึงตรัสว่า  "ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  ดงพญาเย็น  เพื่อ
ความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร์
ในวันข้างหน้า"


ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก และเปลี่ยนมาเรียก "เขาใหญ่"

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น  แล้ว  เริ่มมีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน
กันเรื่อย ๆ  ต่อมา เมื่อประมาณ 80 ปีเศษที่ผ่านมา  (ประมาณปี 2467)
ราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน  จังหวัดนครนายก  ได้พากันขึ้นไป
ถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล  (ยังปรากฏมีต้นขนุน และมะม่วง
ให้เราเห็นอยู่บนเขาใหญ่จนบัดนี้)  และปลูกบ้านเรือนอยู่บนยอดเขา
ประมาณ 30 หลังคาเรือน  เกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมา  ต่อมาทางการ
ได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก   
มีการบุกรุกถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นเวลาช้านาน  จนทำให้สภาพ
ป่าเป็นทุ่งหญ้าคา มีเนื้อที่กว้างขวาง  แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกชัฏ   
อยู่

ครั้นต่อมา  ตำบลเขาใหญ่กลายเป็นที่ซ่อมสุมโจรผู้ร้าย  เป็นที่พักพิง
พวกหลบหนีคดีต่าง ๆ   กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไป  ยากแก่การ
ปราบปรามให้ราบคาบได้  

จนกระทั่ง ปี  2499-2500  รัฐบาลได้สร้างถนนมิตรภาพ จากสามแยก
สระบุรี ตัดผ่านดงพญาเย็น  ขนานกับทางรถไฟในบางช่วง  สู่ภาค
อีสาน  ทำให้ความเจริญรุกคืบหน้า

ต่อมาในปี 2502  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์
ไปตรวจราชการ โดยแวะพักบริเวณใกล้กับหนองขิง เขาใหญ่ เห็นว่ามี
ภูมิประเทศสวยงามตามธรรมชาติ  อากาศดี  การคมนาคมไปมาสะดวก  
น่าจะเป็นแหล่งดึงดูดให้ประชาชนที่อยู่พระนครและใกล้เคียงได้ไปพักผ่อน
จึงได้กำหนดนโยบายที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ตากอากาศและเป็นที่
พักผ่อนของประชาชน  ทั้งนี้ โดยให้รักษาสภาพธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดเขาใหญ่เป็นเขตหวงห้ามที่ดินของรัฐ
และให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้รับไปดำเนินการให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
และในการประชุมคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขาใหญ่
โดยเฉพาะขึ้นชุดหนึ่ง  โดยมี  พลเอก สุรจิต  จารุเศรนี  รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงเกษตร เป็นประธานกรรมการ  เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม  2503

ต่อมา กรมทางหลวงแผ่นดินได้สร้างถนนจากถนนมิตรภาพ ก่อนถึง
อำเภอปากช่อง  (ก.ม. ที่ 165.5 ) ขึ้นเขาใหญ่  ระยะทาง 40 กิโลเมตร
และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2505

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  นายกรัฐมนตรี  เป็นห่วงในเรื่องการถากถางป่า
ของชาวบ้านที่มีมากขึ้นทุกวัน  จึงได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก
ของเมืองไทย ในปี  2505  ครอบคลุมพื้นที่ รวม 4 จังหวัด  คือ จังหวัด
นครนายก  นครราชสีมา  สระบุรี  และปราจีนบุรี  หลังจากนั้น ผู้คนจึงได้
เรียกผืนป่าดงพญาเย็นว่า  "เขาใหญ่"  ตามที่ชาวบ้านเรียกเทือกเขาใน
บริเวณนั้นว่า "เทือกเขาใหญ่" (เทือกเขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา
พนมดงรัก)

(ผู้เขียน - ปัจจุบันยังมีสถานที่ในเขาใหญ่ที่ชื่อฟังแล้วยังน่ากลัวอยู่  ได้แก่  
ลำพระเพลิง  เขาฟ้าผ่า  และน้ำตกเหวนรก)  






เจ้าพ่อเขาใหญ่

ขอย้อนไปในอดีต เมื่อราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก  
ได้พากันขึ้นไปถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล และปลูกบ้านเรือน
อยู่บนยอดเขา  ประมาณ 30 หลังคาเรือน  จนเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นมา
และต่อมาทางการได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี
จังหวัดนครนายก นั้น

ในสมัยนั้น  ปลัดจ่าง นิสัยสัตย์ ชาวอำเภอเขานางบวช จังหวัดนครนายก
มาดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกองทัพ ดูแลหัวเมืองด้านทิศบูรพา  ได้แก่
ปราจีนบุรี  นครนายก  เป็นต้น  ท่านเคยผ่านสมรภูมิศึกสงครามกับประเทศ
เพื่อนบ้านมาอย่างโชกโชน  ท่านมีบุคลิกที่สง่างาม สมชายชาตินักรบ
เมื่อเสร็จศึกสงคราม ท่านมักออกเยี่ยมเยือนนักรบไทย  ลูกหลานของท่าน
เสมอ

ครั้งหนึ่ง ท่านได้ทราบข่าวว่า  ลูกน้องของท่านไปตั้งตัวเป็นโจรอยู่บน
เขาใหญ่  และเห็นลูกน้องถากถางป่าบนเขาใหญ่จนเตียนโล่ง  ท่านก็เกิด
ความเสียใจ  ท่านมีความสามารถในการปราบปรามโจรผู้ร้ายและรู้จัก
ภูมิประเทศในแถบนี้เป็นอย่างดี  มีความชำนาญในการใช้ปืนบนหลังม้า

เมื่อท่านเกษียณอายุราชการ  ทางการจึงขอความร่วมมือให้เท่านช่วย
เหลือราชการบ้านเมืองอีกครั้ง  ในการทลายซ่องโจรบนเขาใหญ่  
ซึ่งมีอยู่ 5 ก๊กสำคัญด้วยกัน  ได้แก่  เสือจัน  เสือไทร  เสือบุญมี  เสือ
สำอาง  และเสือสองพี่น้อง  คือเสือเย็น กับเสือหล้า  แต่ก็มีกลุ่มโจร
กลุ่มหนึ่งไม่ยอมเชื่อ    ท่านจึงนัดกลุ่มโจรเพื่อเจรจา  ณ  ป่าหญ้าคา
ใกล้หนองขิง   แต่ตกลงกันไม่ได้  จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น   ปรากฏว่า
หัวหน้าโจรกลุ่มนั้นถูกจับตาย   และท่านได้ชักชวนชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่
ลงจากเขาใหญ่  

ท่านปลัดจ่าง เป็นผู้มีวิธีการที่แยบยล  จนทำให้เสือก๊กต่าง ๆ ยอมรับ
นับถือและปฏิบัติตาม  เลิกราเป็นโจร กลับลงมายังพื้นราบ  มีอยู่ครั้งหนึ่ง
โจรสองพี่น้อง  เพียงพอพบหน้าท่านครั้งแรกเท่านั้น  ก็ลงจากหลังม้า
มากราบ  แล้วพูดคุยกับท่าน ถึงกับยอมบวชเรียนและต่อมามีอาชีพเป็นครู

นับว่าท่านปลัดจ่าง  เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง  ในช่วง
กรุงรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นผู้เก็บค่า
รัชชูปกรณ์ (ส่วย) ในพื้นที่นครนายก   เนื่องจากขณะนั้นเมืองนครนายก
เก็บค่าส่วยส่งหลวงน้อยลงทุกปี  เพื่อให้เก็บส่วยได้อย่างเต็มเม็ดเต็ม
หน่วย  ทางราชการจึงสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่นี้  ด้วยเหตุนี้
ท่านปลัดจ่าง  จึงได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าว  เพราะท่านเป็นผู้มี
ฝีมือ มีความซื่อสัตย์  มีจิตใจโอบอ้อมอารี  กอร์ปกับท่านเชี่ยวชาญ
ในการรบ  เคยออกปฏิบัติหน้าที่เก็บส่วยกับทางราชการ  ท่านจึงมีม้า
เป็นพาหนะ  แต่งกายด้วยชุดสีแดง มีปืนและดาบเป็นอาวุธประจำกาย

ต่อมา ท่านได้สิ้นชีวิตลงด้วยพิษไข้ป่า ด้วยวัย 75 ปี   ชาวบ้านจึง
พร้อมใจกันตั้งศาลเพียงตาไว้ที่ใต้ต้นกระบกใหญ่บนเขา  ใกล้โรงเรียน
วัดหนองเคี่ยม  จังหวัดนครนายก  โดยเรียกศาลนั้นว่า "ศาลเจ้าพ่อ
ปลัดจ่าง"  

ต่อมา  หลังรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ได้มีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่
เป็นอุทยานแห่งชาติ   ได้เกิดนิมิต  ถึงเจ้าผู้คุ้มครองสรรพสัตว์  และ
ผืนป่า  จึงได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าพ่อขึ้นบริเวณกิโลเมตรที่ 23  ถนน
ธนะรัชต์  และได้อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาสิงสถิตไว้ และขนาน
นามว่า "ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่"   ถือว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ
ที่ยิ่งใหญ่    ทุกปี  ในวันที่ 26  มกราคม  จะมีการบวงสรวง ระลึกถึง
พระคุณท่าน  โดยเลือกเอาวันที่อัญเชิญดวงวิญญาณท่าน  มาอยู่ที่
ศาลใหม่  

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวบนเขาใหญ่  มักจะแวะกราบไหว้
อธิษฐานขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและขอโชคลาภจากท่านอยู่เสมอ
และมักจะสมความปรารถนา  หรือใครเดินทางผ่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
ก็มักจะบีบแตร ทำความเคารพท่านทุกครั้ง   ถิ่นสถิตของเจ้าพ่อเขาใหญ่
ก็มีอยู่ทั่วไปในบริเวณป่าเขาใหญ่ทั้งหมด  และเจ้าหน้าที่รักษาป่า  
ตลอดจนผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณนั้น  ก็มักจะมากราบบูชา บนบานศาล
กล่าวต่อเจ้าพ่อเขาใหญ่องค์นี้เสมอ

(ผู้เขียน :  ในปัจจุบัน ยังมีศาลอีกแห่งหนึ่งบนเขาใหญ่  คือ ศาลเจ้าพ่อ
               เขาเขียว   อยู่บริเวณทางขึ้นเขาเขียว)
ขอบคุณคร้าบ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้