ที่กล่าวว่า พญาเศษนาค กับ พญาอนันตนาคราช เป็นนาคตัวเดียวกันนั้น ก็เพราะในตำนานฮินดูกล่าวว่า อนันต (Ananta) แปลว่าไม่สิ้นสุด หมายถึงมีตัวยาวมากสุดประมาณเป็นชื่อหนึ่งของเศษะ (Sesha) ก็พญาเศษนาคนั้นเป็นเจ้าแห่งนาคทั้งหลายอยู่ในบาดาลมีพันเศียร และขดร่างเป็นที่บรรทมของพระวิษณุ ชูเศียรแผ่เป็นเพดานกั้นเบื้องบน ซึ่งเป็นเวลาที่พระวิษณุบรรทมพักผ่อนรอเวลาที่จะสร้างโลกใหม่ หน้าที่ของพญาเศษนาคมีมากจึงกล่าวไว้ในตำนานหลายแห่ง บ้างก็ว่าโลกอยู่บนเศียรของพญาเศษนาค เมื่อพญาเศษนาคอ้าปากหาวคราวใดโลกก็กระเทิือน (แผ่นดินไหว) คราวนั้น และที่สำคัญก็คือเมื่อจะสิ้นสุดกัลป์คือโลกหมดอายุ พญาเศษนาคก็มีหน้าที่พ่นพิษเป็นไฟเผาผลาญโลก ที่เราเรียกกันว่า ไฟบรรลัยกัลป์หรือไฟล้างโลก เมื่อครั้งเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทร ก็ใช้พญาเศษนาคต่างเชือกเส้นใหญ่พันรอบมันทระ (Mandara) ๔ รอบ แล้วดึงชักเขามันทระให้หมุนไปมา กล่าวเฉพาะรูปพญาเศษนาคว่าทรงอาภรณ์สีม่วงสวมสร้อยคอสีขาวกรหนึ่งถือคันไถ อีกกรหนึ่งถือสาก ใน บาลีลิปิกรม ว่า มีหน้าเป็นคน มีหางเป็นงูเป็นพวกกึ่งเทวดา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนันต มเหสีชื่ออนันตศิรษา ที่คอหรือที่แผ่แม่เบี้ยเรียกว่า มณีทวีป (เกาะแห่งเพชร) วังที่ประทับชื่อ มณีภีตติ (กำแพงเพชร) หรือ มณีมณฑป (วังเพชร) ในตำนานทั่วๆ ไปบางครั้งก็ออกชื่อพญาอนันตนาคราช บางครั้งก็ออกชื่อพญาเศษนาค เพราะเป็นนาคตัวเดียวกันนั่นเอง ส่วนตำนานในเอกสารฝ่ายไทยชอบอ้างชื่อพญาอนันตนาคราชมากกว่าพญาเศษนาค เรื่องรูปพญาเศษนาคที่กล่าวว่ามี ๒ กรนั้นยังไม่พบ บางทีจะเป็นแบบพระราหูที่มีร่างเป็นงู มี ๒ กร ใบหน้าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนสาเทวีซึ่งเป็นน้องสาว แต่ที่เห็นโดยมากจะเป็นพญานาคเต็มตัวอย่างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นต้น ในส่วนประวัติก็มีต่างกันอยู่บ้าง ตามคัมภีร์บุราณะกล่าวว่าพญาเศษนาคเป็นโอรสของพระกัศยปและนางกัทรุร่วมพระบิดาเดียวกันกับพญาครุฑแต่ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับโบราณของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ต.จ.กล่าวไปอีกอย่างหนึ่งว่า “พระอิศวรผู้เป็นเจ้าจึงเปลื้องสายซำร่ำออก บันดาลให้เป็นพระอนันตนาคราช มีศักดานุภาพยิ่งนัก พระอนันตนาคราชมีจิตคิดฟุ้งซ่าน อยากจะสำแดงฤทธิ์จึงออกวาจา ว่าผู้ใดในไตรภพนี้ไม่มีฤทธิ์เสมอเราผู้ชื่อว่า พระอนันตนาคราชนี้หามีไม่แล้วหรือเทวดาองค์ใดจะมีฤทธิ์บ้าง ก็มาลองฤทธิ์กันต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าทั้งสี่พระองค์ เทพยดาทั้งหลายมิอาจที่จะผจญด้วยพระอนันตนาคราชไม่ตอบประการใด ฝ่ายพระพายผู้เป็นธาตุแห่งโลก มีฤทธิ์ศักดาอันประเสริฐจึงรับว่า เราชื่อพระพายจะขอลองฤทธิ์กับท่าน ฝ่ายพระอิศวรผู้เป็นเจ้าทรงทราบ ก็ส่องญาณดูก็รู้ว่าเกิดเหตุแล้วจึงเกิดผลจึงมีเทวบัญชาอนุญาตให้ท่านทั้งสองลองฤทธิ์กันฝ่ายพระอนันตนาคราชก็แผลงเดชานุภาพ เอากายกระหวัดรัดเขาพระสุเมรุราชตั้งแต่ปฐพีขึ้นไปจนถึงยอดเขาพระสุเมรุราช โดยสูงได้สี่หมื่นโยชน์แล้วเลิกพังพานไว้คอยรับพระพายซึ่งจะพัดมา แล้วจึงว่าแก่พระพายว่า ท่านถือว่ามีฤทธิ์กว่าเรา ท่านจงเร่งพัดให้เขาพระสุเมรุราชหักลงแล้วเมื่อใด ท่านจึงจะชนะเรา ฝ่ายพระพายก็เร่งพัดจะให้เขาพระสุเมรุราชหักลงให้จงได้ ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็เลิกพังพานอ้าโอษฐ์ออกกลืนลมเสียสิ้น เขาพระสุเมรุราชมิได้หวาดไหว ฝ่ายพระพายก็โกรธหนักก็บันดาลให้เป็นลมพายุใหญ่ พัดทวีหนักยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็เนรมิตองค์ใหญ่ยาวยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าก็กลืนลมเสียสิ้น และลมพัดมาเท่าใดๆ พญานาคก็เนรมิตเศียรกายใหญ่ยาวขึ้นทุกครั้งเป็นอนันตังอปริมาณัง ฝ่ายพระพายเทวบุตรเห็นฤทธิ์พญานาคดังนั้นก็ทรงพระพิโรธโกรธยิ่งนัก จึงไปเก็บเอาลมอัสสาสวาตปัสสาสวาต ซึ่งรักษากายเทวดามนุษย์และสัตว์ทั้งปวง อันมีวิญญาณหายใจได้เก็บแบ่งเอามาประชุมกันทั้งหมดสิ้น จะพัดให้เขาพระสุเมรุราชหักลงให้จงได้ ครั้งนั้นเทวดาแต่บรรดาซึ่งมีลมหายใจเข้าออกนั้นก็ตกใจชวนกันไปทูลพระอิศวรผู้เป็นเจ้าว่าพระพายกับพระอนันตนาคราชแผลงฤทธิ์กัน แบ่งเอาลมที่รักษาร่างกายข้าพเจ้าทั้งหลายไปเสียครึ่งหนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งหลายก็หายใจไม่ทั่วท้อง ได้ความกระวนกระวายเพียงสิ้นชีวิต ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็อมลมไว้มิดชิด ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดเถิด พระอิศวรผู้เป็นเจ้าจึงมีเทวบัญชากับพระอนันตนาคราชว่าท่านทั้งสองยุทธนากันเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก ก็เห็นประจักษ์อยู่ทั่วโลกแล้วว่าฤทธิ์ท่านยิ่งเสมอกันทั้งสองฝ่าย ให้พระอนันตนาคราชคายลมเสีย ท่านทั้งหลายได้ความเดือดร้อนนัก พระอนันตนาคราชก็คายลมตามเทวบัญชาสั่ง ฝ่ายพระพายก็พลุ่งออกจากโอษฐ์พระอนันตนาคราชกระทบเขาพระสุเมรุหักแตกกระจายเป็นปัถวีธาตุ ราบไปดุจดังหน้าเภรี มีปริมณฑลกว้างข้างละหมื่นโยชน์ ฯลฯ”
ที่มา http://www.siamganesh.com/hindu/archives/344
|