ความเชื่อเรื่องหัวโขน ที่ว่า ห้ามนำหัวโขนฝ่ายยักษ์กับฝ่ายลิงอยู่ร่วมกัน ต้องเก็บไว้คนละด้าน ทั้งในเวลาแสดงและเวลาเก็บรักษาในคลังเก็บเครื่องโขน นิยมแบ่งเก็บเป็นพวกเป็นส่วนสัดไว้ในที่ที่สมควร หัวโขนหน้ายักษ์ หน้าลิง จะต้องเก็บกันไว้คนละด้าน ไม่ให้ปะปนกัน มีหัวโขนหน้าฤาษีคั่นระหว่างกลาง เคยมีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นที่วังจันทรเกษมอันเป็นที่ตั้งกรมมหรสพเดิม ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นบริเวณกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันนี้ ในห้องคลังเครื่องโขนมีตู้กระจกเป็นที่เก็บหัวโขนแบ่งเป็นสองฝ่ายตามแบบอย่าง คราวหนึ่งมีผู้อุตริยกหัวโขนหน้าพระฤาษีซึ่งคั่นไว้ระหว่างหัวโขนฝ่ายยักษ์กับฝ่ายลิงไปไว้ที่อื่น จะด้วยความเจตนาหรือความหลงลืมก็ไม่อาจทราบ
วันรุ่งขึ้นปรากฎว่าบานกระจกตู้เก็บหัวโขนแตกละเอียดเกือบหมด หัวโขนบางหัวตกลงมาฉีกขาด กระจัดกระจายบุบสลาย จอนหูหัก เขี้ยวยักษ์หลุด แต่โดยมากจะเป็นหน้าเสนายักษ์กับหน้าลิงสิบแปดมงกุฎ และส่วนมากหัวโขนหน้าลิงจะชำรุดมากกว่าหัวโขนหน้าลิง
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอีกข้อหนึ่ง คือ ห้ามไม่ให้นำหัวโขนตลอดจนเครื่องแต่งตัวโขนมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ต้องพาไปฝากไว้ที่วัด เพราะถือว่าเป็นของร้อน ห้ามแม้กระทั่งรูปวาดของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์นำมาไว้ในบ้าน แต่ปัจจุบันข้อห้ามเหล่านี้แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เพราะทั้งช่างผู้ประดิษฐ์หัวโขนก็สร้างหัวโขนเก็บไว้ที่บ้าน การทำจำหน่ายก็แพร่หลาย นักแสดงต่าง ๆก็นิยมเก็บเครื่องแต่งกายไว้ที่บ้านเพื่อความสะดวก ฉะนั้นการเก็บหัวโขนไว้ที่บ้านถ้าผู้เก็บรู้จักที่จะเก็บไว้ที่เหมาะสม และผู้ที่เป็นเจ้าของรู้จักปฎิบัติให้ดีก็ให้คุณมากกว่าโทษ
|