ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทภูมิโปน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ปร าสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทภูมิโปน ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปราสาทภูมิโปนตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตรจากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ
ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ
ปราสาทอิฐหลังที่ 1 อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายสลักลวดลาย ลักษณะเทียบได้กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบไพรเกมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่12-13
ปราสาทหินหลังที่ 2 อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูหินทราย
ปราสาทหินหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธาน เป็นปราสาทหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม มีบันได และประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนคร ร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ปราสาทหินหลังที่ 4 อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานศิลาแลงเท่านั้น ปราสาทหลังนี้และปราสาทหลังที่สองคงสร้างในสมัยต่อมาซึ่งไม่อาจกำหนดอายุได้ชัดเจน จากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น เสาประดับ กรอบประตูที่เหลืออยู่เป็นเสาแปดเหลี่ยมอันวิวัฒนาการมาจากเสากลมในสมัยก่อนเมืองนคร ตลอดจนการก่อฐานปราสาทด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถกำหนดได้ว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้คงจะสร้างขึ้นหลังจากปราสาทประธาน และปราสาทหลังที่หนึ่ง
ปราสาทภูมิโปนเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณหรือชุมชนโบราณที่มีระบบการปกครองแบบเมือง สังเกตได้จากบริบทปราสาทมีคูกำแพงเมือง เขื่อนดินโบราณ และสระน้ำ โดยเฉพาะน้ำเป็นระบบชลประทานถูกออกแบบอย่างสวยงามไล่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สระลำเจียก สระตา สระกนาล สระตราว และสระปรือ เรียงลำดับจากสระน้ำขนาดเล็กอยู่สูงสุด และขนาดใหญ่หรือกว้างอยู่ต่ำสุดและเชื่อมต่อกัน นับว่าเป็นระบบการจัดการน้ำที่ดีมาก ปัจจุบันยังไม่มีใครบุกรุก หรือครอบครอง ควรแก่การพัฒนา
|