ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2415
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง

[คัดลอกลิงก์]
หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอาจารย์ของ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ (ยอดพระสัก แห่งเมืองกรุงเก่า)
พระพุทธวิหารโสภณ (หลวงพ่ออ่ำ) ท่านเกิดในตระกูลชาวนา ราวปี พ.ศ.2406 ท่านเป็นพระอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทางโหราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์โบราณ ท่่านสามารถทำนายทายทักผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องนำคนไข้มาหาท่าน แต่สามารถให้ญาติมาจดชื่อยาไปซื้อตามร้านขายยาได้
กิตติศัพท์ของท่านได้ทราบกันทั่วไปในสมัยนั้น
ดังตัวอย่างก็คือ คุณวิลาศ โอสถานนท์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (ในสมัยนั้นเรียก กรมโฆษณาการ) ไปขี่ม้า บังเอิญตกจากหลังม้ากระดูกสันหลังหัก ได้เข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งโดยนอนเข้าเฝือกลำตัวไว้ ต่อมาญาติของท่านได้ทราบถึงความสามารถของหลวงพ่อ จึงขึ้นรถไฟไปหาท่าน (สมัยนั้นไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางรถไฟทางเดียว)
หลวงพ่อบอกว่า เดี๋ยวก่อนไม่ต้องบอกว่าป่วยเป็นอะไร ว่าแล้วท่านก็จุดเทียนขึ้นเล่มหนึ่ง ตั้งเทียนไว้ที่ปากบาตร ที่สำหรับทำน้ำมนต์ พอท่านนั่งหลับตาอยู่ครู่เดียว ท่านก็บอกว่า คนไข้ กระดูกสันหลังหักเสียแล้วให้เอาใส่เรือมาจอดที่หน้าวัดเลย จะรักษาให้ ญาติๆ ถึงกับตะลึงเพราะไม่ได้มีใครบอกท่านก่อนเลยว่า จะพาใครมาหาท่าน มาเรื่องอะไร
เมื่อ พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ นอนในเรือมาถึงหน้าวัด (ท่านได้รับยศพันตรีในระหว่างสงคราม พร้อมๆ กับ คุณควง อภัยวงศ์) หลวงพ่อก็สั่งให้เอาเฝือกที่เข้าไว้ตั้งแต่บั้นเอวจนถึงหัวเข้าทั้งสองออก แล้วก็ทำการรักษาตามวิธีที่ได้ร่ำเรียนมา
เนื่องจากกระดูกสันหลังหักและเคลื่อนไปจากที่เดิม หลวงพ่อจึงต้องทำการรักษาอยู่ 3 ครั้ง คือ 3 วัน พอครบ 3 วัน กระดูกที่หักของคุณวิลาศ ก็ติดเป็นปกติ หลวงพ่อจึงสั่งให้ผู้ป่วยยืนขึ้น และเดินมาหาท่านผู้ป่วยก็ปฏิบัติตามด้วยอาการปกติ เหมือนกับไม่เคยมีอาการหัก ณ ที่ใดมาก่อนเลย
หลักจากนั้น คุณวิลาศก็ลากลับและไปตรวจเอกซเรย์อีกครั้งที่โรงพยาบาลที่ท่านเคยเข้าไปรับการรักษาในครั้งแรกที่กระดูกหักใหม่ๆ แต่ปรากฏว่ากระดูกไม่มีรอยหัก ณ ที่ใด ยังความประหลาดใจแก่แพทย์ผู้ทำการรักษาทุกท่านเป็นอย่างมาก ตอนนี้จึงทำให้กิตติศัพท์ของหลวงพ่อยิ่งกระฉ่อนไปอย่างไม่มีใครยั้งได้
หลวงพ่ออ่ำ ท่านมรณะภาพ ประมาณปี พ.ศ. 2488 ในท่านั่งหลับทำสมาธิ
ท่านได้บอกลูกศิษย์ลูกหา ของท่านที่รับใช้ท่านอยู่ว่า พรุ่งนี้ไม่ฉันเช้า ไม่ฉันเพล ไม่ต้องปลุก เพลแล้วจึงค่อยเข้าไปหาในกุฏิ ก่อนจะไปหาในห้อง ให้หาอาหารนก ให้ไก่ ให้แมว ให้สุนัข และสัตว์ที่ซื้อชีวิตเขามาเลื้ยงไว้ในถุนกุฏิ ให้อิ่มเสียก่อนด้วย (ทั้งนี้เพราะสัตว์เป็นอันมากที่ท่านสงเคราะห์ชีวิตไว้ อยู่กันเต็มไปหมดทั้งบนกุฏิและใต้กุฏิ)
วันรุ่งขึ้น ลูกศิษย์ก็ปฏิบัติตามที่ท่านสั่งอย่างเรียบร้อย เหมือนกับที่ปฏิบัติมาทุกวัน แต่ก็นึกแปลกใจว่า วันนี้ทำไมหลวงพ่อไม่ตื่นออกมาฉันเช้าและฉันเพล ทั้งๆ ที่อยากรู้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่าน
พอได้เวลาเลยไปแล้ว คณะลูกศิษย์ก็เปิดประตูกุฏิเข้าไปหาท่านตามสั่ง จึงพบว่า ท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว ในลักษณะนั่งสมาธิบนเบาะพิงหมอนขวาน มือทั้งสองของท่านวางที่หน้าตัก ศีรษะเอียงไปข้างหนึ่ง
เมื่อท่านมรณะภาพ ชาวบ้านต่างมากันทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบนมัสการด้วยความเคารพและอาลัย วัดวงษ์ฆ้องในระยะนั้นแน่นขนัดไปด้วยสาธุชนที่เคารพในตัวท่าน บุคคลที่เคยได้รับอนุเคราะห์จากท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ไปขอความเมตตาจากท่านนับด้วยสิบ ๆ ปี เพราะท่านได้แผ่เมตตาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่เลือกว่ายากดีมีจน ร่ำรวยหรือยาจกเข็ญใจ
แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน จะเห็นได้ว่า ทั้งเป็ด ทั้งไก่ ทั้งหนู เต็มไปทั้งใต้ถุนกุฏิ รวมทั้งวัว ควาย ที่เขาจะฆ่า พอท่านทราบเข้า ท่านก็จะขอบิณฑบาตชีวิตไว้ ถึงจะต้องเสียปัจจัยในการซื้อชีวิตนี้เท่าใดก็ตาม
เวลาฉันจึงเห็นจะมีแมวและสุนัข นอนหมอบอยู่ แล้วก็มีจิ้งจกคลานมาขอเม็ดข้าวจากท่าน
พอฉันเสร็จลูกศิษย์ก็ยกอาหารใส่ถาดมาวางข้างนอก ตอนนี้จะมีแมว สุนัข นก มารุมกันกินอาหารที่เหลือจากหลวงพ่อมากมายหลายตัวมากจริงๆ แต่ละตัวต่างก็นั่งกิน นอนกินกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกันเลย
ตอนนี้หลวงพ่อมักจะออกมานั่งพิงบานประตูดูสัตว์กินอาหารกันด้วยความเมตตา เศษอาหารที่เหลือจากคนกิน ก็เป็นของหมูใต้ถุนกุฏิที่ท่านขอซื้อชีวิตมา วัวควายกินหญ้า กินผัก ที่มีคนมาให้ นี่ก็เป็นกิจวัตรของท่าน
ลักษณะรูปร่างหลวงพ่อ ท่านไม่สูงใหญ่ ไม่เจ้าเนื้อ ครองผ้าธรรมดา ไม่ใช่สีกรัก ไม่ใช่สีเหลืองแจ้ด ไม่มีลูกประคำห้อยที่คอ ครองผ้าครองจีวรอยู่เสมอ ไม่ใช่นั่งรับแขกด้วยอังสะพาดไหล่นุ่งสบงเพียงแค่นั้น
ท่านไม่ฉันหมาก ไม่สูบบุหรี่ อาหารฉันน้อยมาก ฉันเช้าแต่เช้า แล้วมาเพล ฉันน้อยจริงๆ ของหวานที่รู้สึกว่าจะฉันบ่อยก็คือ ทองหยิบ ฝอยทอง
................................นพ. อาจินต์ บุณยเกตุ



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้