ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1694
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เปลก็ไกว..ดาบก็เเกว่ง 4วีรสตรี ของไทย

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย oustayutt เมื่อ 2017-7-30 19:02


อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน

*พระนางจามเทวี วีรสตรีแห่งภาคเหนือ

ตามตำนานต่างๆ นั้น กล่าวกันว่า พระนามจามเทวีนั้น ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ จ.ลำพูน ในปัจจุบัน ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิราช แห่งกรุงละโว้ (เมืองลพบุรี)

พระนางจามเทวีทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ทรงเป็นเบญจกัลยานี มีศีล และมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน ในภายหลังจากที่ทรงอภิเษก และพระสวามีได้บรรพชาเป็นเพศบรรพชิตแล้ว พระราชบิดาของพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาติให้พระนางจามเทวีเดินทางไปครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งในขณะนั้นกำลังทรงพระครรภ์ได้ประมาณ 3 เดือน

การเดินทางไปครองเมืองหริภุญชัยนั้น ได้ทรงนำพระสงฆ์ สมณะชีพราหมณ์ พ่อค้า และช่างสาขาต่างๆ ประมาณ 7,000 คน เดินทางล่องไปตามลำน้ำปิง ระหว่างเดินทางก็ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดเส้นทาง จนกระทั่งมาถึงเมืองหริภุญชัย ก็ได้ประสูติพระโอรสฝาแฝด พระนามว่า พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ

พระนางจามเทวีทรงปกครองเมืองหริภุญชัยให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความร่มเย็นเป็นสุข และยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่พสกนิกรต่างก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อถึงคราวศึกสงคราม เช่นในครั้งสงครามขุนวิลังคะ ผู้นำชาวละว้า ก็ทรงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง

ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นศึกครั้งนั้น และบ้านเมืองกลับเป็นปกติสุขแล้ว พระนางจามเทวีก็ทรงสละราชสมบัติให้พระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรส ขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองหริภุญชัยแทนพระองค์ ส่วนพระเจ้าอนันตยศ พระโอรสอีกพระองค์นั้น ก็ทรงสร้างเมืองเขลางค์นคร (เมืองลำปาง) และโปรดให้พระโอรสไปปกครอง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ หลังจากบ้านเมืองสงบสุขดีแล้ว ก็ได้ทรงสละเพศฆราวาส ฉลองพระองค์ขาว เสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี ในเขตเมืองหริภุญชัย และได้ทรงทำนุบำรุงพระศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมาย นับได้ว่า พระนางจามเทวี ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนา จนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยิ่งในเขตภาคเหนือ


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-7-30 19:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จ.อยุธยา


*พระศรีสุริโยทัย วีรสตรีแห่งภาคกลาง

สมเด็จพระศรีสุริโยทัย สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเฑียรราชา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อปี พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และพระมหาอุปราชบุเรงนองได้ยกกองทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จนกระทั่งมาหยุดอยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ยกกองทัพของกรุงศรีอยุธยาออกไปนอกกรุงเพื่อรับศึก ซึ่งมีสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และพระโอรส พระธิดา เสด็จร่วมมาในทัพนี้ด้วย

เมื่อได้ปะทะกับกองทัพของพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ก็ได้ทรงเข้าชนช้างกัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเกรงว่าพระราชสวามีจะทรงเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางไว้ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ด้วยคิดว่าเป็นชาย และทรงสิ้นพระชนม์ลงกับคอช้างพระที่นั่ง

ภายหลังจากอัญเชิญพระศพเข้ามาสู่พระนครแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพไว้ในสวนหลวงเป็นการชั่วคราวและมีพระราชพิธีพระราชทางเพลิง ณ บริเวณนั้น จากนั้นก็สร้างวัดขึ้นในบริเวณเดียวกัน เพื่ออุทิศพระราชกุศลพระราชทาน ตั้งชื่อว่า วัดสบสวรรค์ ในปัจจุบันชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-7-30 19:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา


*ย่าโม ท้าวสุรนารี วีรสตรีแห่งอีสาน

ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม หรือย่าโม ตามตำนานระบุว่าเป็นชาวเมืองนครราชสีมาแต่กำเนิด เกิดเมื่อปีเถาะ พ.ศ.2314 ในแผ่นดินของพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรี เมื่อเติบโตขึ้น ก็ได้สมรสกับนายทองคำ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นมาจนกระทั่งเป็นพระยาสุริยเดช คุณหญิงโมจึงได้เป็น คุณหญิง ตามตำแหน่งของสามี

ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น ด้วยเหตุที่ เจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ต้องการที่จะยกทัพเข้ามาตีกรุงเทพฯ โดยระหว่างทางที่ยกทัพมานั้น เจ้าอนุวงศ์ก็จะเกลี้ยกล่อมให้บรรดาหัวเมืองต่างๆ เข้าร่วม หากเจ้าเมืองใดขัดขืนก็ให้ฆ่าทิ้งเสีย ราษฎรและเจ้าเมืองต่างๆ พากันกลัวอำนาจจึงยอมเข้าร่วมด้วยหลายเมือง

จนเมื่อมีกำลังมากพอแล้วก็ยกกองทัพมาพร้อมกันที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งเปนเวลาเดียวกันกับที่เจ้าเมืองนครราชสีมาไม่อยู่ ไปราชการที่ต่างเมือง เจ้าอนุวงศ์จึงสั่งให้ผู้ที่ดูแลเมืองอยู่ในขณะนั้น กวาดต้อนครัวเรือนชาวนครราชสีมาไปยังเวียงจันทน์ ซึ่งรวมถึงคุณหญิงโมด้วย ทางด้านพระยาสุริยเดช สามีของคุณหญิงโม ที่เดินทางไปราชการพร้อมกับเจ้าเมืองพอทราบข่าว ก็ได้กลับมาช่วยครอบครัวและชาวเมือง

คุณหญิงโมนั้นได้ช่วยวางแผนขบคิดกับผู้นำฝ่ายชาย และได้ควบคุมกำลังฝ่ายผู้หญิงช่วยหนุนการสู้รบอย่างองอาจกล้าหาญ โดยการออกอุบายขอมีด ขวาน ปืน ไว้เพื่อใช้หาเสบียงมาประทังชีวิตระหว่างเดินทาง จัดหญิงสาวให้แม่ทัพนายกอง และมอมเหล้าจนเมามาย จากนั้นก็ทำการต่อสู่ด้วยอาวุธที่เก็บรวบรวมไว้

แม้จะมีอาวุธอยู่เพียงน้อยนิด แต่ด้วยความสามัคคีและความมุ่งมั่น ชาวเมืองนครราชสีมาก็สามารถที่จะรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ได้ ทำให้เจ้าอนุวงศ์ต้องถอยทัพกลับไป วีรกรรมของคุณหญิงโมในครั้งนี้ ได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบ แต่งตั้งขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี

ในภายหลังจากที่ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาสุริยเดชก็ได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสรณ์สถานเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นภายในวัดศาลาลอย ส่วนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่อยู่กลางเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นใหม่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรูปหล่อทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น ซื้อซ้ายท้าวเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-7-30 19:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จ.ภูเก็ต


*ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร 2 วีรตรีแห่งภาคใต้

ท้าวเทพกระษัตรี มีชื่อเดิมว่า “คุณจัน” ท้าวศรีสุนทร มีชื่อเดิมว่า “คุณมุก” ทั้งสองคนเป็นบุตรีของจอมร้างบ้านเคียง เจ้าเมืองถลาง เมื่อโตขึ้น คุณจันได้สมรสกับหม่อมภักดีภูธร แต่ก็เสียชีวิตลงต่อมาคุณจันได้แต่งงานครั้งที่สองกับพระยาพิมล ซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง ส่วนคุณมุกนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้สมรสหรือไม่

ต่อมาได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น เป็นสงครามที่พม่ายกทัพเข้ามาตีสยาม โดยกองทัพบางส่วนได้เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองกระ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ และเมืองถลาง ซึ่งในขณะนั้น เจ้าเมืองถลาง สามีของคุณจันได้เสียชีวิตลง และยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่

คุณจัน ในฐานะภรรยาของเจ้าเมือง และคุณมุก น้องสาว ก็ได้ช่วยกันปกป้องเมืองถลางไว้ โดยการวางแผนตั้งค่าย ยิงปืนใหญ่ดึงเวลาไว้หลายวันให้เสบียงอาหารของฝั่งพม่าน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางมาเคลือบดีบุกถือแทนอาวุธ ทำทีเป็นยกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงกลางคืน เพื่อให้กองทัพพม่าเข้าใจว่า เมืองถลางมีกองกำลังเข้ามาเสริมทุกคืน นอกจากนี้ก็ยังวางแผนการรบต่างๆ จนสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ในที่สุด ทำให้เมืองถลางไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

หลังจากนั้น ความก็ได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ บำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้คุณจันเป็น “ท้าวเทพกระษัตรี” และคุณมุกเป็น “ท้าวศรีสุนทร” และในภายหลังก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นการรำลึกถึง ตั้งอยู่ที่บริเวณวงเวียนสี่แยกท่าเรือ อ.ถลาง

……………..

และนี่คือเรื่องราวบางส่วนของวีรสตรี 4 ภาค ที่วันนี้วีรกรรมและคุณความดีของท่านยังคงเป็นสิ่งเตือนใจในความรักชาติ รักแผ่นดิน ความเข็งแข็งเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ และเสียสละต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมืองอย่างไม่กลัวตาย

ผิดกับผู้ชายบางคนในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ที่แม้จะเกิด เติบโต และได้ดิบได้ดีบนผืนแผ่นดินไทย แต่กลับมีพฤติกรรมเนรคุณแผ่นดินทำได้ถึงขนาดใช้เงินสั่งการให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองตัวเอง ซึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมีคนที่ได้ชื่อว่าคนไทยคนไหน ทำร้ายเมืองไทยได้ถึงขนาดนี้

ที่มา .manager.co.th


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้