เปิดตำนาน ๓ นักมวยไทยที่ประวัติศาสตร์บันทึก! กับเรื่องที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดให้เป็นวัน “มวยไทย” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยถือเอาวันขึ้นเสวยราชยสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในพระนาม “พระเจ้าเสือ” เป็นวันสำคัญนี้ เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงสนพระทัยในเรื่องหมัดมวยเป็นพิเศษ และเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ปลอมพระองค์ออกไปประลองฝีมือกับชาวบ้าน ทั้งยังทรงคิดท่าแม่ไม้มวยไทยขึ้นเป็นแบบฉบับของพระองค์เอง เรียกกันว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรามวยไทยมาจนทุกวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ “ศิลปะมวยไทย” ว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ออกไปชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของอำเภอวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คนได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำ เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยกันแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัดถือเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้ลูกศิษย์ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆมักเกิดจากการฝึกฝนกับพระภิกษุในวัดแทบทั้งสิ้น นักมวยไทยที่ปรากฏชื่อโด่งดังอยู่ในประวัติศาสตร์อีกคน ก็คือ นายขนมต้ม
นายขนมต้ม เป็นคนบางบาล กรุงศรีอยุธยา พ่อแม่และพี่สาวถูกพม่าฆ่าตาย เหลือตัวคนเดียวจึงต้องไปอาศัยอยู่ในวัดตั้งแต่เด็ก ได้ฝึกฝนการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยจนมีชื่อเสียงเลืองลือ แต่ก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ พงศาวดารว่า “เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ ๑๗ มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวและโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”
หลังจากที่นายขนมต้มเอาชนะนักมวยพม่าได้แล้ว พระเจ้ามังระจะปูนบำเหน็จให้เป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มปฏิเสธ และขอให้ปล่อยตนกับเชลยไทยทั้งหมดเป็นอิสระ พระเจ้ามังระก็ยอมทำตามคำขอ ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ได้จารึกนักมวยไทยที่มีฝีมือยอดเยี่ยมไว้อีกคน คือ นายทองดี หรือ จ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งมีฉายาว่า “นายทองดีฟันขาว” ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองพิชัย เจ้าของฉายา “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกของพระเจ้าตากสิน นายทองดีเป็นคนใฝ่ใจในเรื่องหมัดมวยมาแต่เด็ก เมื่อไปมีเรื่องกับลูกชายเจ้าเมืองที่มารังแก เลยปราบเสียหมอบ ต้องหนีอำนาจเจ้าเมืองเตลิดออกจากบ้าน ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูมวยต่างเมืองที่ได้ยินชื่อเสียง ต่อมาได้มีโอกาสแสดงฝีมือล้มครูมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นถึง ๒ คนต่อหน้าเจ้าเมืองตาก จากนั้นก็ถูกชวนให้เข้ารับราชการ และติดตามเจ้าเมืองตากด้วยความซื่อสัตย์ภักดี จนพระยาตากขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี นับเป็นนักมวยในประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำงานสำคัญรับใช้ชาติจากฝีมือมวยไทย
|