พุทธชัยมงคลคาถาบทที่ ๒ กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่ออาฬวกยักษ์ ซึ่งเป็นยักษ์ที่ดุร้าย ใจคอเหี้ยมโหด เต็มไปด้วยโทสะ และโมหะ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะได้ด้วยขันติบารมี คาถาบทนี้นิยมใช้สำหรับการเอาชนะศัตรูผู้กระด้างกระเดื่อง ศัตรูผู้เป็นอันธพาล เป็นต้น
ที่มาของชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๑๖ รายละเอียดมีดังนี้
ยักษ์นั้น เป็นเทวดาจำพวกหนึ่งอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก อยู่ในปกครองของท้าวเวสสุวรรณ ในสมัยที่เป็นมนุษย์นั้น บุคคลพวกนี้มักเป็นคนเจ้าโทสะ โกรธง่าย โมโหง่าย แต่ได้ทำบุญอยู่บ่อยๆ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจึงได้ไปเกิดเป็นยักษ์ ในครั้งพุทธกาล มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่อ อฬวกยักษ์ มีวิมานอยู่ที่ต้นไทรใกล้เมืองอาฬวี ยักษ์นี้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินอากาศได้ และมีนิสัยดุร้าย ชอบจับคนและสัตว์กินเป็นอาหาร โดยอฬวกยักษ์ได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้สามารถจับมนุษย์และสัตว์ที่เข้าไปสู่ร่มไทรของตนกินเป็นอาหารได้
ในครั้งนั้น นครอาฬวี มีกษัตริย์ชื่อ พระเจ้าอาฬวกะ พระเจ้าอาฬวกะเป็นพระราชาที่โปรดการล่าเนื้อมาก พระองค์เสด็จออกล่าเนื้อเป็นประจำ ระหว่างการล่าเนื้อพระองค์ได้ตั้งกติกาว่าถ้าเนื้อหนีออกไปทางผู้ใด ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบติดตามเนื้อนั้นกลับมาให้ได้ วันหนึ่ง ระหว่างการออกล่าเนื้อ เนื้อตัวหนึ่งได้หลบหนีไปทางที่พระเจ้าอาฬวกะประทับอยู่ ดังนั้น พระองค์จึงทรงธนูเสด็จติดตามเนื้อนั้นไปเป็นระยะทางถึง ๓ โยชน์ ในที่สุด พระองค์ก็สามารถฆ่าเนื้อนั้นได้
พระเจ้าอาฬวกะทรงตัดเนื้อออกเป็น ๒ ท่อน แล้วหาบกลับมา ระหว่างที่เสด็จกลับมานั้นเป็นเวลาเที่ยง เมื่อพระองค์เห็นต้นไทรใบหนาร่มเย็นจึงได้เสด็จเข้าไปประทับพักเหนื่อย โดยไม่รู้ว่าเป็นที่อยู่ของอฬวกยักษ์ พระองค์จึงถูกอฬวกยักษ์จับตัวไว้กินเป็นอาหาร แต่พระเจ้าอาฬวกะทรงขอชีวิตและสัญญาว่าจะส่งคนและสำรับอาหารมาให้เป็นประจำ วันใดพระองค์ไม่ส่งคนมาให้ ก็ขอให้อาฬวกยักษ์ไปจับพระองค์กินได้ อาฬวกยักษ์จึงปล่อยพระองค์ไป
เมื่อพระเจ้าอาฬวกะเสด็จกลับพระนครแล้ว พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามสัญญาโดยจัดส่งนักโทษไปให้อาฬวกยักษ์กินเป็นอาหารทุกวัน
อาฬวกะยักษ์นี้มีกำลังมาก เคี้ยวกินนักโทษเหมือนกินเผือกกินมัน คนที่ไปส่งนักโทษเห็นเข้าก็หวาดกลัว นำมาบอกเล่าสู่กันฟังจนชาวเมืองอาฬวีไม่มีผู้ใดกล้าทำความผิด ในไม่ช้าจึงไม่มีนักโทษส่งไปให้ยักษ์อีก แม้พระเจ้าอฬวกะจะแกล้งเอาทรัพย์ไปทิ้งล่อไว้กลางทาง ก็ยังไม่มีใครกล้าหยิบฉวยเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเพราะกลัวจะถูกจับเอาไปเป็นอาหารยักษ์
|