ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7230
ตอบกลับ: 26
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ภาพปริศนาธรรม

[คัดลอกลิงก์]








๐..หนึ่งพยัคฆ์ คำราม ตามตะปบ

หนึ่งคนหลบ เกาะไม้เลื้อย ริมผาหิน

ที่ด้านล่าง พญางู รอกลืนกิน

ลมหายใจ ก็โรยริน ไร้เรี่ยวแรง

เถาไม้เลื้อย ที่รับร่าง กลางภัยร้าย

หนูกระหาย ร่าง ขาว-ดำ ช่างกำแหง

ลงฟันแทะ เถาไม้เลื้อย กันเต็มแรง

คนก็แกว่ง อยู่กลางภัย พยัคฆ์-งู

ด้วยไม่รู้ ทางใดใด จะให้รอด

ได้แต่กอด เถาวัลย์ไว้ ให้อดสู

พลันได้เห็น รวงผึ้งอ่อน  เอื้อมชิมดู

จึงได้รู้ รสแสนหวาน อันโอชา..ฯ


ปริศนาธรรม  แปลความได้ว่า...



๐..พยัคฆ์คือ อดีตกรรม ตามไล่ล่า

เถาวัลย์คือ กายา สังขารขันธ์

พญางู คือสุดทาง แห่งชีวัน

หนู ขาว-ดำ สองตัวนั้น คือ วัน-คืน

จิตของคน คือชายหนุ่ม ผู้นั้นเล่า

ชีพคนเรา ภัยล้อมรอบ ไร้ใครฝืน

เปรียบน้ำผึ้ง คือพระธรรม ที่ยั่งยืน

ใครได้ลิ้ม ชิมกลืน จักชื่นบาน..ฯ



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


1.อุปมา ของธาตุทั้งหก
ภาพนี้ แสดงธาตุทั้ง ๖ มีคน ๔ คน คุกเข่าพนมมือไหว้ท้าวพระยา ซึ่งอยู่บนแท่น, ทั้งหมดอยู่ในที่ว่าง
ถ้าถามว่า นี่เป็นภาพอะไร? ตอบว่า:-ส่วนประกอบของคนๆหนึ่งซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖, คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม, เป็นคน ๔ คนคุกเข่าพนมมืออยู่ ๒ ข้าง. แล้วก็วิญญาณธาตุ คือธาตุใจที่เป็นตัวท้าวพระยาอยู่ตรงกลาง. ที่ว่างทั่วๆไปนั้นเป็นอากาศธาตุ อันเป็นธาตุว่าง (Space) รวมเป็น ๖ ธาตุ อย่างในบาลีมัชฌิมนิกาย พระพุทธภาษิตว่า "ฉ ธาตุโย อยํ ปุริโส." บุรุษนี้ประกอบด้วยธาตุ ๖. ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นรูปธาตุคือร่างกาย, และวิญญาณธาตุเป็นอรูปธาตุ หรือนามธาตุ, ส่วนอากาศธาตุ-ธาตุว่าง ควรจัดเป็นนิโรธธาตุ ไม่ใช่รูป, ไม่ใช่นาม แต่เป็นที่ดับของรูปและนาม ถ้าเราไม่ทราบความประสงค์ของเขาแล้ว ก็ไม่รู้ว่า นี่คือภาพอะไร. ที่แท้เป็นภาพของคนๆหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุ ๖ หรืออุปมาของรูป กับ นาม.
ที่นี้จงสังเกตุดูว่า ความคิดของบรรพบุรุษในการเขียนภาพธาตุหกนี้ ฉลาดแสดงความหมายต่อไปในทางธรรมะว่า:-
ทำไมจึงต้องให้คน ๔ คนไหว้ท้าวพระยา? นี่ก็เพราะว่าธาตุ ๔ คือ ร่างกายนี้อยู่ใต้อำนาจของจิต, เชื่อฟังคำสั่งของจิต, จิตมีอำนาจเหนือกาย ควบคุมกาย หรือกล่าวว่า นามธรรมเป็นฝ่ายนำรูปธรรม, ฉะนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ รูปธรรม ๔ จึงต้องพนมมือไหว้นามธรรม คือวิญญาณธาตุที่แสดงเป็นท้าวพระยานั่งบนแท่น.
ที่เขาเขียนบัลลังก์เป็นสิงโตเตี้ยๆนั้น เขาเขียนไปตามแบบสมัยนั้นซึ่งนิยมเขียนเช่นนั้น และแสดงว่าผู้นั่งเป็นผู้มีอำนาจ.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


2.อุปมาความแตกต่างระหว่างกายกับจิต
ภาพนี้ มีลิงอยู่ที่พื้นดินและบนต้นไม้, มีคนพยายามจะแทงและยิงลิง. อีกส่วนหนึ่งมีคนหาบหม้อดิน. ภาพนี้หมายถึงกายกับใจคือเป็นคนคนหนึ่ง แต่เพื่อจะแสดงว่า:- ธาตุใจคนเรานั้นหลุกหลิกแวบไหวรวดเร็วอย่างยิ่ง (dynamic) จึงอุปมาเหมือนลิง ซึ่งลุกลนกระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง, ยากที่จะแทงหรือยิงให้ถูกที่หมาย ยากที่จะปรับปรุงควบคุมให้อยู่คงที่ เพราะมันไม่แน่นอน กลับกลอกเบาหวิว หวิวไว เหมือนลิงจริงๆ, ดังนั้นต้องมีอุบายที่ฉลาดจัดการกับจิตให้ถูกต้อง อย่าทำเล่นกับมัน อีกประการหนึ่ง กายเปรียบด้วยหม้อน้ำ ธาตุภายในหม้อน้ำหรือกายคนเรานี้ กระด้าง ทื่อ (static) หนักอึ้ง เหมือนกับหม้อดินใส่น้ำ ซึ่งกระดุกกระดิกไม่ได้ แตกง่าย และแตกแน่นอนไม่กำหนดกาล, แตกเมื่อไรก็ได้, เป็นภาระอันหนักแก่บุคคลผู้ถือว่านี้เป็นกายของเรา, หรือกายนี้เป็นตัวเรา เมื่อยึดถือเป็นเจ้าของ จึงต้องแบกของหนักด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาถ้าถามว่า นี่ภาพอะไร? ตอบว่า - ภาพอุปมาความแตกต่างของกายและใจ หรือนามและรูป ที่สมมุติเป็นคนคนหนึ่ง. นามก็คือ ใจ หรือ ลิง. รูปก็คือกาย หรือ หม้อน้ำนี่ เพื่อเปรียบเทียบให้เกิดความรู้ทางธรรมะว่า:- จิตแยกออกจากกายได้เป็นคนละส่วน และมีธรรมชาติแตกต่างกันมาก ดังมีอุปมา - เหมือนหม้อน้ำแตกต่างจากลิง ฉะนั้น.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


3.อุปมา วิธีฝึกจิต ๒ วิธี
ภาพนี้ อุปมากายเป็นต้นไม้มีโพลง มีงู คือจิต อาศัยโพรงละตัว ต้นหนึ่งมีคนถือแก้วชูอยู่ข้างหน้างู, อีกต้นหนึ่งมีคนถือขวานจ่ออยู่ต่อหน้างู. ตัวเรื่องมีคติอยู่ว่า จิตนี้เปรียบเหมือนงูพิษ อาศัยอยู่ในร่างกาย ซึ่งเปรียบได้กับโพรงไม้. คนเรามีหน้าที่จะต้องจัดการฝักฝนบังคับควบคุมจิต จะต้องใช้ธรรมะเป็นอุบาย ทั้งนิคคหะและปัคคหะตามโอกาสซึ่งบางคราวก็ต้อง ข่ม อย่างเข้มแข็ง ด้วยการใช้อาวุธเหมือนกับถือขวานเข้าไปจ่อที่หน้างู เพื่อทำลายงูพิษ อันได้แก่. "ตัวตน-ของตน" ในอุบายของนิคคหะ. บางคราวก็ใช้ยกย่อง ประคอง ปลอบโยน ประเล้าประโลม เพื่อบรรเทาพิษร้ายของ "ตัวตน-ของตน" ให้เบาบางลง เหมือนกับถือแก้วเข้าไป, ในอุบายปัคคหะ. จึงแสดงอุบายไว้ ๒ แบบ คือต้องใช้อุบายทั้งปลอบประโลม, และข่มขี่ บีบบังคับ สับโขก ให้เหมาะสมแก่โอกาสจึงจะได้ผล. พระ ๓ รูปข้างบนนั้น เป็นภาพของพระโยคาวจร ผู้นั้งสมาธิฝึกฝนจิต. บางทีเขียนเป็นรูปฤาษีก็มี แต่ไม่ต้องนึกถึงนัก รวมความว่าเป็นผู้นั่งเพ่งเห็นความจริงในสิ่งเหล่านี้, คือรู้ความจริงอย่างยิ่ง ของใจก็แล้วกัน. มี อสุภ ๒ ตัว นอนอยู่ แสดงว่าเป็นเครื่องมือฝึกฝนจิต คือ อสุภกัมมัฏฐาน เพื่อใช้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายที่ไม่มีสาระแก่นสาร ถ้าถามว่า นี้ภาพอะไร? ตอบว่า ภาพอุปมาวิธีฝึกฝนจิต โดยเปรียบเทียบจิตเป็นพิษงู แสดงการบังคับควบคุมจิต ถ้าฝึกดีก็จะสำเร็จประโยชน์ ถ้าฝึกไม่ดี ผู้ฝึกจะต้องตายเอง หมายความว่าถูกงูกัด คือมีจิตฟุ้งซ่าน ถึงวิกลจริตวิการไป ถ้าทำถูกก็สำเร็จประโยชน์ตามประสงค์. อุบายที่จะฝึกมี ๒ แบบ คือข่มขี่แบบหนึ่ง, ยกย่องปลอบโยนเล้าโลมแบบหนึ่ง. ภาพแสดงซ้ำๆเช่นนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รู้ได้เห็นภาพจำติดตา เก็บไปเป็นความรู้ทางธรรมะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของตนเอง หรือสอนธรรมะด้วยภาพ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


4.อุปมา ค่าของสิ่งปฎิกูล คือกาย
ภาพคนถือดอกบัวท่าต่างๆ ศพเน่าขึ้นพองอืดลอยน้ำ และคนยืนอยู่ที่ฝั่งน้ำนั้น เรื่องมีอยู่ว่า นายคนนี้ถูกโจร ๕ คนไล่ฆ่า. เขาหนีโจรมาถึงริมตลิ่ง บังเอิญมีศพเน่าพองอืดลอยมา เขานึกได้ก็กระโจนขึ้นขี่ศพ ใช้มือ เท้า พุ้ยน้ำ ดันศพลอยข้ามฟาก พ้นจากเงื้อมมือโจร หรือพ้นจากวัฎฎสงสารไปสู่นิพพาน.โจร ๕ คน ได้แก่ นก ๕ ตัว บินไล่หลังตามกันอยู่ไนวงกลม, แสดงว่า เป็นตัวทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะหลงยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ รวมเป็นกลุ่มขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานยึดครอง บินไล่ตามกันอยู่ ไม่ออกจากวงกลม จึงเป็นความทุกข์เสมอ. ความทุกข์ที่แท้ท่านแสดงด้วยปัญจุปาทานขันธ์ จึงเป็นการลึกซึ้งและถูกต้อง. ไม่แสดงเพียงว่าให้ชัดต้องว่า "สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา" - ที่แท้ เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์.เรื่องนี้มุ่งแสดงว่า ร่างกายเปรียบด้วยศพเน่า, ใช้เป็นพาหนะข้ามฟากจากวัฏฏสงสารไปสู่นิพพาน. ตามหลักธรรมะถือว่าร่างกายนี้เป็นของเน่า เป็นปฏิกูลอยู่โดยธรรมชาติ จนต้องอาบ ต้องล้าง ต้องลูบไล้, เพราะฉะนั้นจึงถูกเปรียบเทียบด้วยซากศพ. ในที่นี้ต้องการให้ทราบว่า ซากศพนั้นมิใช่ไม่มีค่า. ถ้าอาศัยซากศพเน่าเหม็น อืด นี้ ให้ถูกต้องแล้วก็เอาตังรอด หนีพ้นโจรคืออุปาทานไปสู่นิพพานได้. ความสำคัญมุ่งจะสอนก็คือ อย่าไปหลงรักร่างกายนัก เช่นไปบำรุงบำเรอมันมาก จนเป็นกามสุขัลลิกานุโยค, นิยมวัตถุจนเป็นทาสร่างกายมากเกินไปก็ผิด. หรืออีกทางหนึ่งก็เป็น อัตตกิลมถานุโยค, ทรมานมันมากเกินไปจนเสื่อมสมรรถภาพ ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ต้องปฏิบัติให้พอดีพอเหมาะกับที่มันเป็นปฏิกูล รีบใช้อาศัยเป็นเครื่องมือข้ามฟากหนีพ้นจากความทุกข์ บรรลุนิพพานให้ได้. ภาพคนถือดอกบัวในท่าต่างๆ หมายความว่า คนเหล่านี้มีปัญญา ดอกบัวเป็นเครื่องหมายของปัญญา หรือที่เรียกว่า พระโยคาวจรผู้มีปัญญา บางทีเขียนเป็นรูปฤาษี เป็นคนชาวบ้านก็มี หรือภิกษุนั่งมีดอกบัวข้างๆ แม้แต่เด็กเล็กๆก็ยังถือดอกบัว. ผู้ถือดอกบัวในมือแสดงว่าเขามีปัญญา ถ้าทำให้ถูกวิธีแล้วก็บรรลุมรรคผลได้ สรุปเป็นธรรมะชั้นสูงก็คือ อาศัยร่างกายเป็นที่ดำรงชีวิตอยู่แล้วรีบศึกษาปฏิบัติธรรมเพิ่มเติม จนเกิดปัญญาบรรลุมรรคผลนิพพานไปเลย.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


5.อุปมา สิ่งที่เป็นแดนเกิดของปัญญา
ภาพดอกบัวใหญ่ บุรุษผู้เข้มแข็งถือพระขรรค์และจักรข้างละมืออยู่กลางดอกบัว นี้แสดงคุณค่าของร่างกายไม่เกี่ยวกับใจ แสดงว่า :- ปัญญาเกิดจากกายอันเป็นของปฏิกูล, เปรียบเหมือนโคลนที่เน่าเหม็นเป็นที่เกิดของดอกบัว
ที่เขาเขียนปลา เต่า ไว้นั้น แสดงว่าเป็นน้ำ, ให้เข้าใจว่าดอกบัวนี่เกิดจากโคลนสกปรกใต้น้ำ แม้โคลนจะเน่าเหม็น แต่เป็นที่เกิดของดอกบัวอันหอมหวนงดงามได้. เหมือนร่างกายอันเน่าเหม็น นี้เป็นที่เกิดของปัญญา อันเปรียบกับจักรและพระขรรค์ ซึ่งใช้ตัดกิเลสตัณหา ดังนั้นต้องรู้จักทำให้ปัญญาเกิดขึ้นเบิกบานเต็มที่ จึงมีกำลังพร้อมที่จะตัดกิเลสได้.
ภาพเด็กเล็กๆ ที่ลอยเข้ามาหาผู้ถืออาวุธนั้น หมายถึงความโง่ ความหลง ความมืดบอด ซึ่งเรียกว่า "อันธการ", อันธการนี้จะต้องตัดเสียด้วยปัญญา. ในที่นี้แสดงให้เห็นว่า การจะทำลายกิเลสความโง่หลงนั้น จำเป็นต้องมองให้เห็นว่ากิเลสมันเป็นต้นเหตุของความทุกข์เสียก่อน มิฉะนั้นก็ไม่ทราบว่า จะตัดตรงไหนจึงจะเกิดผลตามประสงค์ ดังนั้น จำเป็นต้องสอดส่องมองให้เห็นตัว "อันธการ" คือ ความโง่หลง ความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งมาจากเล่ห์เหลี่ยม "ตัวกู-ของกู" ที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็มีความทุกข์ตามมา มองเห็นให้ถูกต้อง จึงมีปัญญาสามารถทำลายอันธการนั้นได้, ทุกข์จึงจะดับไป.
ถ้าถามว่า ภาพนี้คืออะไร? ตอบว่า - ภาพอุปมากายเน่าเป็นแดนเกิดของปัญญา. ดอกบัวที่หอมเกิดขึ้นจากโคลนที่เหม็นฉันใด ปัญญาที่จะตัดกิเลสก็เกิดได้จากกายเน่าฉันนั้น ดังนั้นทุกคนต้องทำให้ดี บริหารให้ถูกทาง ให้ปัญญาเกิดขึ้น เบิกบานเจริญขึ้นเต็มที่ จนมีกำลังตัดกิเลสได้. อย่าเป็นทาสของร่างกาย อย่าประพฤติผิดต่อร่างกายอันเป็นที่เกิดของปัญญา ปัญญาจึงจะมีความแหลมคมถึงที่สุด. รู้คุณค่าของกายเน่า ใช้กายเน่าให้เกิดประโยชน์ถึงนิพพาน.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


6.อุปมา อารมณ์แห่งตัณหาทั้งสาม
ภาพที่แล้วมาทั้งหมด เป็นเรื่องของกายกับใจ, กายเป็นที่เกิดของปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับตัดกิเลส.
ทีนี้ เริ่มเรื่องของกิเลส ด้วยการเปรียบอารมณ์ของจิตเป็นสระน้ำใหญ่ ๓ สระ, เพราะบรรดาอารมณ์ทั้งหมดที่จิตของคนต้องการนั้นจะกี่ร้อยกี่พันอย่างก็ตาม ท่านแบ่งได้เป็น ๓ พวก ดังนี้ :-
อารมณ์ที่ กามตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดความหลงใหลในสิ่งที่ตนชอบ, และในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสระหว่างเพศตรงข้าม.
อารมณ์ที่ ภวตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดจากรูปบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกาม, เช่น ความสุขที่เกิดจากรูปฌาณ, หรือกล่าวโดยทั่วไปเป็นรูปบริสุทธิ์ล้วนๆ เช่น คนเล่นของเล่น มีบอนโกศล เครื่องลายคราม ก็เป็นที่หลงใหลได้มาก.
อารมณ์ที่ วิภวตัณหา ต้องการ, คือความสุขที่เกิดจากอรูปบริสุทธิ์ เช่น อรูปฌาณ, สิ่งที่ไม่มีรูปก็เป็นที่ลุ่มหลงได้มาก, หรือแม้หลงใหลในเกียรติยศ ต้องการชื่อเสียงจนแสดงความกล้าตาย อย่างนี้ก็ได้.
ถ้าจะพูดให้สั้นในขั้นต้นก็พูดว่า หลงใหลความสุขในเรื่องกามคุณเป็นสระหนึ่ง, หลงใหลอยากในความเป็น มีชีวิตอยู่ด้วยความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ นี้ก็สระหนึ่ง, หรือความอยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ จนกระทั่งไม่อยากเป็นอยู่หรืออยากตายเสียเลย ก็สระหนึ่ง.
ถ้าพูดให้สั่นที่สุดก็คือ :-
๑. อยากเอา อยากได้ สิ่งที่ตนชอบ.
๒. อยากเป็น ตามที่ตนชอบ
๓. อยากไม่ให้เป็น ตามที่ตนไม่ชอบ.
ความอยากของคนเราในโลกนี้มีอยู่ ๓ อยากนี้เท่านั้น เมื่อความอยากมี ๓ อย่าง เหยื่อของความอยากก็ต้องมี ๓ อย่าง ;
ภาพช้างนั้น เล็งถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง แสวงหาทางที่จะไปดื่มไปกินน้ำทั้ง ๓ สระนี้เท่านั้น, เช่นบางทีก็อยากไปในทางกามคุณ, ประเดี๋ยวก็อยากไปในทางเฉยๆ, ประเดี๋ยวก็อยากไปในทางไม่ให้มี ไม่ให้เป็น หรืออยากตายไปเสียเลยก็มี. วันหนึ่ง คืนหนึ่ง ชีวิตคนเราก็หลงอยู่ใน ๓ อยากนี้, จึงว่าช้างตัวหนึ่งกินน้ำ ๓ สระ เป็นคำเปรียบของกิเลสที่ว่า กินจุ กินมาก เหมือนช้าง. ส่วนอาการที่กิเลสจะปรุงแต่งกันต่อไปอย่างไรนั้น จะรู้ได้จากภาพถัดไป.



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-1 11:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ไว้ค่อยมาต่อครับ
ขอบคุณคนับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้