|
ข้าบดินทร์ พี่เราเผาเรือน[url=http://pantip.com/tag/หนังสือนิยาย][/url]
สัปดาห์นี้หลากรส รักระหว่างรบ รบระหว่างรัก เสร็จศึกนอกต่อศึกใน ชะรำมลทิน
พระเอกไสช้างเข้ารบ ตามหลักคชยุทธ
คชยุทธ
ในการคชยุทธบนหลังช้างและยุทธหัตถี ช้างเป็นพาหนะสำคัญในการรณรงค์สงครามมาแต่อินเดียโบราณ
เมื่อเกิดสงคราม เหล่าช้างศึกพร้อมควาญจำนวนมากจะถูกเกณฑ์เข้ามาร่วมกองทัพ โดยมีกรมพระคชบาลเป็นแม่กองใหญ่
เหล่าขุนศึกผู้ควบคุมช้าง จะจัดกระบวนทัพช้างเป็นแถวตามหลัก พิชัยสงคราม
โดยมีพระมหากษัตริย์ที่ประทับบนคอช้างศึก เป็นผู้นำออกคำสั่งผ่านการโบกเครื่องหมายธงบนสัปคับหลังช้าง
ช้างศึก
ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย(ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ
รูปร่างใหญ่โตกำยำ
หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์
หน้าเชิดหลังต่ำ
งายาวใหญ่มีความโค้ง และแหลมคมได้ที่
โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี และสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ เรียกว่า ช้างชนะงา
ในสงครามครั้งหนึ่ง จะมีช้างร่วมศึกด้วยข้างละประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เชือก ช้างจะผ่านพิธีกรรม
ลงยันต์ตามตัวเพื่อให้หนังเหนียว และศักดิ์สิทธิ์
พร้อมแต่งช้างให้พร้อมในการรบ ด้วยการใส่เกราะขาด้วยโซ่พัน หรือเกราะมีหนาม
ใส่เกราะงวงที่มีหนามแหลม ใส่เกราะงา
แล้วกระตุ้นให้ช้างให้ตกน้ำมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงคราม
หรือกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา
ให้ดมฝิ่นหรือควันศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดความฮึกเหิม
ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้าง ให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้า เพื่อไม่ให้ช้างตกใจ และเสียสมาธิ
ในการพุ่งไปข้างหน้า เรียกว่า ผ้าหน้าราหู
ในสงครามประจัญบาน ช้างศึกอาจมีคนนั่งเพียง ๑-๒ คน โดยไม่มีสัปคับช้างอยู่บนหลัง ช้างศึกประเภทนี้มีมากในกองทัพ
เคลื่อนที่เร็วตามฝีเท้าช้าง และสามารถเข้าตีทัพไพร่ราบฝ่ายศัตรูให้แตกกระจาย ได้ง่ายกว่าธนูและหอกซัด
ส่วนช้างศึกหลวง มีตำแหน่งของหลังช้าง ๓ คน คือ
ตำแหน่งบนคอช้าง พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ มหาเสนาระดับแม่ทัพ จะเป็นผู้ควบคุมช้างเข้าทำการต่อสู้เอง
โดยอาวุธประเภทต่างๆ ทั้งธนูและหอกซัดในระยะใกล้ และใช้ง้าวเมื่อประชิดตัว
ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณการปรับรูปทัพ และส่งอาวุธที่อยู่บนสัปคับให้แก่คอช้าง
โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่างๆ เช่น โล่ เขนเป็นต้น
ตำแหน่งควาญช้างท้าย ซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด คอยปัดอาวุธไม่ให้ศัตรูเข้ามาทำร้ายจากทางด้านหลัง
ช้างทรงของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จะมีขุนทหารฝีมือดี ๔ คน ประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างด้วย
เรียกว่า จตุรงคบาท ไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันเสมอ
และจะมีจาตุรงคบาทกลางช้าง และท้ายช้างสำรอง ตามเสด็จช้างทรงอย่างคล่องแคล่ว เพื่อสลับผลัดเปลี่ยนหากตำแหน่งนั้นตายลง
การจัดกระบวนทัพช้างไทยสมัยโบราณ
พลช้างนับเป็นกำลังสำคัญของกองทัพบกในการรบ เพราะใช้เป็นหน่วยประจัญบาน มีการจัดกระบวนแบ่งเป็นหมวด ดังนี้
๑.ช้างดั้ง เป็นช้างที่นั่งละคอ มีหมอนั่งคอ ควาญนั่งท้าย ควาญกลางหลังนั่งถือหอ เดินอยู่กลางแนวริ้วขบวนหน้า
โดยคัดช้างที่ร่างใหญ่กำยำ งาโต
๒.ช้างกัน มีลักษณะอย่างเดียวกับช้างดั้ง เดินอยู่ริ้วขบวนหลัง
๓.ช้างแทรก คล้าย ๒ ชนิดแรกแต่ไม่มีควาญหลังช้าง ทำหน้าที่ตรวจตราริ้วนอกทั้ง 2 ข้าง เป็นสารวัตรช้าง คัดช้างที่วิ่งเร็ว
๔.ช้างแซง เหมือนช้างแทรก เดินเป็นริ้วเรียงกันทั้ง ๒ ข้างตลอดแนว
๕.ช้างล้อมวัง มีหน้าที่ล้อมพระคชาธาร ผูกสัปคับโถง มีแม่ทัพนายกองฝีมือดีควบคุม โดยมีพลราบ ทัพม้ารายล้อม
๖.ช้างค้ำและช้างค่าย หรือเรียกว่า ช้างต้น เดินอยู่วงในของช้างล้อมวัง คอยอารักขาพระคชาธาร
๗.พระคชาธาร ช้างประธาน เป็นช้างทรงพระมหากษัตริย์ อุปราช โดยคัดช้างชนะงา ที่กร้าวแกร่งที่สุด
๘.ช้างพระไชย เป็นช้างผูกจำลอง ตั้งสัปคับหลังคากันยา สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป นำหน้าพระคชาธาร เป็นขวัญทัพ
๙.ช้างพังคา ช้างสำหรับเจ้าพระยาเสนาบดี และเจ้าประเทศราชเป็นช้างผูกเครื่องมั่น เป็นช้างพังทั้งหมด
อยู่ห่างจากทัพหลวงราว ๑ เสียงสังข์
๑๐.พระที่นั่งกระโจมทอง ช้างผูกสัปคับ กูบรูปเรือนวิมาน เป็นพระที่นั่งรอง คราประทับแรม
|
|