ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1663
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“นางสาวบุญเหลือ” วีรสตรีที่โลกไม่รู้จัก! ต้นตำนานระเบิดพลีชีพ!!

[คัดลอกลิงก์]

“นางสาวบุญเหลือ” วีรสตรีที่โลกไม่รู้จัก
        เรื่องราวของ “นางสาวบุญเหลือ” วีรสตรีอีกคนเมื่อครั้งสงครามที่ทุ่งสัมฤทธิ์ คราวเดียวกับที่ “ย่าโม” ท้าวสุรนารีได้สร้างวีรกรรมของหญิงไทยจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวของนางสาวบุญเหลือที่ว่าเป็นคนสำคัญทำสงครามครั้งนั้นได้รับชัยชนะ กลับถูกพูดถึงน้อย จนอาจเรียกว่า เกือบไม่มีใครรู้จัก
      
       ที่โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อผ่านประตูโรงเรียนเข้าไป ด้านซ้ายจะเห็นอนุสาวรีย์ของสตรีนางหนึ่งยืนถือดุ้นฟืนชูอยู่บนแท่นเด่นตระหง่าน มีป้ายบอกว่าเป็น “อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ” ซึ่งโรงเรียนนี้สร้างขึ้นก็เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีของนาง ครูอาจารย์และนักเรียนต่างเรียกนางว่า “แม่บุญเหลือ”
      
       “แม่บุญเหลือ” เป็นวีรสตรีที่ใช้วิธีแบบเดียวกับ “ระเบิดพลีชีพ” เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองและชาวนครราชสีมาในครั้งวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
      
       ในครั้งนั้น เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งตอนนั้นขึ้นกับไทย และไทยเป็นผู้แต่งตั้งให้ครองกรุงเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์เป็นผู้สนิทชิดเชื้อกับพระราชวงศ์ไทยอย่างมาก แต่ในคราวที่เข้ามาร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าอนุวงศ์ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพวกละครผู้หญิงกับครอบครัวคนลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กลับไปเวียงจันทน์ แต่คนเหล่านั้นอยู่มาหลายรัชกาลจนเป็นคนไทยไปแล้ว รัชกาลที่ ๓ จึงไม่โปรดพระราชทาน ทำให้เจ้าอนุวงศ์รู้สึกเสียหน้า เกิดความไม่พอใจ
      
       เมื่อกลับถึงเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์หันไปฝักใฝ่ข้างญวน และคิดจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ ด้วยเห็นว่าตอนนั้นมีแต่เจ้านายเด็กๆ ขุนนางผู้ใหญ่ที่มีฝีมือก็มีน้อย กองทัพอ่อนแอ ทั้งยังถูกอังกฤษคุกคาม
      
       แต่เมื่อปรึกษาหารือข้าราชการผู้ใหญ่แล้วต่างพากันค้านว่า สยามเป็นเมืองใหญ่ ถึงตีได้ก็ใช่จะรักษาเมืองไว้ได้ ไพร่พลเมืองจะต่อต้านเหมือนนอนอยู่บนขวากหนาม เจ้าอนุวงศ์ก็ว่า หากตีได้จะกวาดต้อนครอบครัวและทรัพย์สินในท้องพระคลังกลับไป
      
       เจ้าอนุวงศ์จึงมีหนังสือไปถึง เจ้าโย้ ราชบุตร ที่ไทยตั้งให้ครองเมืองจำปาศักดิ์ ให้กวาดต้อนผู้คนเมืองเขมราฐ เมืองอุบล เมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม เมืองยโสธร ไปไว้ที่เวียงจันทน์ แล้วยกทัพตามไปนครราชสีมา
      
       ขณะเดียวกันก็ส่ง เจ้าติศะ พระอนุชา ผู้เป็นอุปราชไปเกลี้ยกล่อมเมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองชนบท เมืองขอนแก่น แต่เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ไม่ยอมเข้าด้วย เจ้าอุปราชจึงฆ่าเสีย ทำให้เจ้าเมืองอื่นๆ พากันเกรงกลัว ยอมให้กวาดต้อนไปเวียงจันทน์
      
       เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์คุมกองทัพมีกำลัง ๓,๐๐๐ คน ออกจากเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมาเมื่อวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ อ้างว่าทางกรุงเทพฯมีหนังสือเรียกให้ไปช่วยรบกับอังกฤษ แล้วส่งกำลังส่วนหนึ่งล่วงหน้ามาสระบุรี อีก ๓ วันต่อมาเจ้าอนุวงศ์ก็ตามมาถึงนครราชสีมา ตั้งค่ายถึง ๗ ค่ายที่ทะเลหญ้าทางตะวันออกของเมือง ปล่อยข่าวว่ามีกำลังถึง ๘๐,๐๐๐ คน
      
       ตอนนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา พระยาปลัด และกรมการเมืองส่วนใหญ่ไม่อยู่ ไประงับเหตุวิวาทเจ้าเมืองขุขันธ์กับน้องชาย เจ้าอนุวงศ์จึงเรียกพระยาพรหม ยกกระบัตรเมือง ออกมาพบ สั่งให้กวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไปเวียงจันทน์ภายใน ๔ วัน พระยายกกระบัตรเกรงกลัวจึงจัดต้อนรับเจ้าอนุวงศ์อย่างดี เจ้าอนุวงศ์ให้ทหารเก็บเครื่องศาสตราวุธของชาวนครราชสีมาทั้งหมด แม้แต่มีดพร้าก็ไม่ให้เหลือ
      
       เมื่อทางเมืองขุขันธ์ทราบข่าว พระยาปลัดเป็นห่วงครอบครัวจึงขอกลับมาดูทางนครราชสีมาเอง และเมื่อมาถึงก็เข้าพบเจ้าอนุวงศ์บอกว่าพระยานครราชสีมาหนีเข้าเขมรไปแล้ว ตนทิ้งครอบครัวไม่ได้จะขอไปเวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์หลงเชื่อจึงให้พระยาปลัดกับพระยาพรหมฯ คุมครอบครัวไทยไปเวียงจันทน์ ทั้งสองได้แกล้งถ่วงเวลาให้เดินช้า
      
       พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ บันทึกไว้ว่า
      
       “พระยาปลัด พระยาพรหม ยกกระบัตร กรมการ จึงคิดอ่านอุบายจัดหญิงสาวๆ ให้นายทัพนายกองที่ควบคุมครั้งนั้นทุกคน จนชั้นไพร่จะชอบใครก็ไม่ว่า เห็นว่าพวกลาวกับครัวไทยสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าแล้ว พระปลัด พระยาพรหมยกกระบัตรขึ้นมาหาเจ้าอนุวงศ์ที่ค่ายใหญ่ แจ้งว่าอพยพครอบครัวไปได้ความอดอยากนัก ขอมีด ขวาน ปืน สัก ๙ บอก ๑๐ บอก พอได้ยิงเนื้อมากินเป็นเสบียงเลี้ยงครอบครัวไปตามทาง เจ้าอนุวงศ์ก็ยอมให้ ครั้นได้มีดขวานปืนไปแล้ว เดินครัวไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์
      
       พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร พูดเป็นอุบายว่าขอพักครัวอยู่ที่นั่นก่อน ด้วยครอบครัวเมื่อยล้าเจ็บไข้ล้มตายได้รับความลำบากนัก ครั้นครัวมาถึงพร้อมหน้ากัน พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร กรมการ คิดอ่านกันเป็นความลับ ครั้นเวลากลางคืนดึกประมาณ ๓ ยามเศษ ก็ฆ่าพวกลาวตายเกือบสิ้น”
      
       การวางแผนกู้ศักดิ์ศรีชาวนครราชสีมาครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ผู้หญิงประกบแม่ทัพนายกองทหารลาวเพื่อให้ตายใจ
      
       คุณหญิงโม ภรรยาของพระยาปลัด จึงเป็นแม่งานสำคัญในการวางแผน และสั่งให้ตัดไม้เสี้ยมปลายให้แหลม ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับดาบและปืน
      
       สำหรับบุญเหลือนั้น นางเป็นบุตรีของหลวงเจริญ กรมการชั้นผู้น้อย แต่มีความสนิทใกล้ชิดและเคารพนับถือพระยาปลัดกับคุณหญิงโมเป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดและคุณหญิงโมไม่มีบุตรธิดา จึงรักใคร่เอ็นดูบุญเหลืออย่างลูกหลาน ในงานสำคัญครั้งนี้ บุญเหลือได้รับความไว้วางใจให้ประกบ เพี้ยรามพิชัย นายทหารลาวผู้เป็นหัวหน้าควบคุมกองคาราวานเชลย โดยรับหน้าที่ต้องสังหารเพี้ยรามพิชัยให้ได้
      
       เมื่อถึงเวลานัดหมาย ชาวนครราชสีมาได้เข้าจู่โจมแย่งอาวุธและฆ่าฟันทหารลาว บุญเหลือได้ยินสัญญาณก็คว้าดาบเพื่อจะสังหารเพี้ยรามพิชัยตามแผน แต่ทว่าเพี้ยรามพิชัยเป็นนักรบเจนสนาม ขณะที่บุญเหลือเป็นเด็กสาวในวัย ๒๔ ปี เพี้ยรามพิชัยจึงเป็นฝ่ายแย่งดาบไปได้
      
       บุญเหลือหันไปคว้าดุ้นฟืนที่สุมไฟอยู่แล้ววิ่งหนี โดยมีเพี้ยรามพิชัยวิ่งตามไปติดๆ เป้าหมายของนางก็คือหมู่กองเกวียนที่บรรทุกกระสุนดินดำ และเมื่อไปถึงนางก็ไม่รอช้า โยนดุ้นฟืนที่ติดไฟเข้าไปที่เกวียนเล่มหนึ่งทันที เป็นผลให้เกิดระเบิดขึ้นแล้วลุกลามต่อไปจนระเบิดหมดทั้ง ๕๐ เล่ม ร่างของวีรสตรีบุญเหลือและศัตรูแผ่นดินคือเพี้ยรามพิชัยแหลกกระจายด้วยแรงระเบิดไปด้วยกัน แสงเพลิงโชติช่วงแดงฉานทั่วทุ่งสัมฤทธิ์ ขวัญกำลังใจของทหารลาวแตกกระเจิง แต่ชาวนครราชสีมาฮึกเหิม ฆ่าฟันทหารลาวจนเกือบหมด ที่เหลือก็แตกหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต
      
       การสละชีวิตของบุญเหลือจึงเป็นผลอย่างมากต่อชัยชนะในครั้งนี้ ชาวนครราชสีมาไม่อาจลืมวีรกรรมอันน่าสรรเสริญของนางได้ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจลืมวีรกรรมของ “คุณหญิงโม” ท้าวสุรนารี
      
       นอกจากจะสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งที่ ๔ เป็นอนุสรณ์วีรกรรมของนางแล้ว ชาวนครราชสีมายังได้ร่วมกันสร้าง “อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ” แห่งนี้ขึ้น โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๙
      
       ทางจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดให้วันที่ ๔ มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดีวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และพ่อค้าประชาชน ร่วมกันทำพิธีสดุดี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าตะแบงมานตามสีแห่งปี และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือเป็นประจำทุกปี

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ
        

ตราประจำโรงเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงนางสาวบุญเหลือ
        

การแสดงละครเกี่ยวกับวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้