ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3258
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปิดฉากเผด็จการ อีดี้ อามิน

[คัดลอกลิงก์]
ปิดฉากเผด็จการ อีดี้ อามิน   
การเสียชีวิตของอีดี้ อามิน อดีตผู้นำเผด็จการแห่งยูกานดา หลังจากที่โดนเนรเทศอย่างสุขสบายไปอยู่ที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว




ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบสำหรับการนำตัวผู้นำเผด็จการขึ้นพิจารณาคดี  สำหรับการทำความผิดต่อมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม อีดี้ อามิน อดีตประธานาธิบดียูกันดาเสียชีวิตลงเมื่อเวลา 08.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงพยาบาลกษัตริย์ไฟซาล ในซาอุดีอาระเบีย  หลังจากมีอาการโคม่าอันเนื่องจากความดันโลหิตสูงและไตวาย  จนต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ยูกันดา  กล่าวว่าอีดี้ อามิน เสียชีวิตขณะมีอายุ 80 ปี
แต่แหล่งข่าวอื่นระบุว่ามีอายุแค่ 78 ปี

นายจอห์น นากวา  โฆษกองค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การเสียชีวิตของนายอีดี้ อามิน  ผู้นำจอมเผด็จการแห่งยูกันดา  เป็นการตอกย้ำความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโลก  ที่ไม่สามารถนำตัวผู้นำประเทศที่กดขี่ข่มเหงประชาชนมาลงโทษได้

โฆษกยังกล่าวว่า ผู้นำเลือดเย็นของยูกันดา  ที่เชื่อว่าเคยสั่งสังหารประชาชนไปกว่า 300,000 คน  กลับลอยนวลเสวยสุขอยู่ในซาอุดีอาระเบียได้นานถึง 2 ทศวรรษ ก่อนเสียชีวิตไป  โดยที่เขาไม่ต้องรับผิดชอบหรือชดใช้ใดๆในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรรม  และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่ตัวเองได้เคยกระทำไว้  เมื่อครั้งเถลิงอำนาจอยู่ในยูกันดาเมื่อ 24 ปีก่อน

ทั้งนี้  เชื่อกันว่า อีดี้ อามิน  จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศราว 300,000 ราย  ในช่วงที่เขาปกครองประเทศอย่างกดขี่ทารุณนานถึง 8 ปี

อดีตผู้นำเผด็จการรายนี้ เคยเป็นถึงอดีตแชมป์มวยเฮฟวีเวท  และทหารในกองทัพอาณานิคมอังกฤษ แต่ได้ก่อการยึดอำนาจรัฐบาลประธานาธิบดีมิลตัน  โอโบเต ขณะเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อปี 2514



ยูกันดาภายใต้การนำของอามิน ช่วงปี 2514-2522 ถือว่านองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์แอฟริกา โดยเมื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ  เขาได้สั่งเนรเทศชาวเอเชียที่กุมธุรกิจในประเทศออกจากประเทศภายใน 90 วัน  ตามนโยบายสร้างเศรษฐกิจแบบแอฟริกัน  จากนั้นได้ยึดทรัพย์สินของนักธุรกิจชาวเอเชียเหล่านั้น  ก่อนนำไปแบ่งกันเองในกลุ่มพรรคพวก  ก่อนจะลงมือกวาดล้างกลุ่มปัญญาชนผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกัน ซึ่งหากไม่ถูกฆ่าทิ้ง  ก็ต้อหลบหนีออกจากประเทศ

อามินประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของประชาชน 24 ล้านคนในดินแดนไร้ทางออกทะเล ตลอด 8 ปีที่เขาเรืองอำนาจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า  อามินเข่นฆ่าผู้คนไปราว 100,000-500,000 ราย  โดยศพเหยื่อจำนวนมากถูกนำไปโยนทิ้งแม่น้ำไนล์ และอีกไม่น้อยกลายเป็นอาหารของจระเข้

ชาวยูกานดาพลัดถิ่น ระบุว่า  อดีตผู้นำจอมโหดนำศีรษะของเหยื่อไปแช่ไว้ในตู้เย็น  และยังฆ่าภรรยาของตนเองโดยชำแหละร่างเป็นชิ้นๆ เขาเคยเอ่ยปากชื่นชมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์  อดีตผู้นำนาซีเยอรมนีที่สังหารชาวยิวหลายล้านคน



อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทน้ำหนักตัว 112 กิโลกรัม  ผู้เรียกตนเองว่า ดาดา หรือ บิ๊ก แดดดี้ ของประชาชน  เคยได้รับเลือกเป็นประธานขององค์การเอกภาพแห่งแอฟริกัน (โอเอยู) ทั้งๆ  ที่สมาชิกหลายชาติคัดค้าน

แต่การบริหารประเทศผิดพลาดและปัญหาคอรัปชั่นในยุคอีดี้ อามิน  ทำให้ยูกานดาดำดิ่งสู่ยุควิกฤติ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทั้งยังโดนสหรัฐและอังกฤษตัดความสัมพันธ์ และในปี 2519 ก็กลายเป็นศัตรูกับอิสราเอล  พันธมิตรใกล้ชิด เมื่อกลุ่มสลัดอากาศปาเลสไตน์จี้เครื่องบินของสายการบินแอร์ ฟรานซ์
ไปลงที่สนามบินเอนเท็บเบ้ของยูกานดา พร้อมจับผู้โดยสารชาวอิสราเอลเป็นตัวประกัน

อิสราเอลต้องส่งหน่วยคอมมานโด  บุกสายฟ้าแลบเข้าไปชิงตัวประกันได้สำเร็จ  ซึ่งแม้อามินจะอ้างว่าได้พยายามแก้ไขวิกฤติให้จบลงด้วยดี  แต่มีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าเขาเป็นพวกเดียวกับกลุ่มสลัดอากาศ  ความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อดีตผู้นำเผด็จการรายนี้  ต้องพบกับจุดจบทางการเมืองในที่สุด

ในปี 2521 เมื่อทหารยูกานดายึดดินแดนหลายส่วนของแทนซาเนียไม่ได้  แทนซาเนียจึงตอบโต้ด้วยการส่งทหารตะลุยเข้าไปยึดกรุงคัมปาลา เมืองหลวงยูกานดา  เมื่อเดือนเมษายน 2522 ส่งผลให้อามินต้องระเห็จออกนอประเทศ หนีไปลิเบีย  และหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ก่อนจะลี้ภัยไปอิรักและไปลงเอยที่ซาอุดีอาระเบีย  ซึ่งอนุญาตให้เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้ พร้อมกับภริยาและลูกอีก 22 คน  แต่ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง

อดีตผู้นำเผด็จการรายนี้  เคยใช้ชีวิตอย่างหรูหรา  และเคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ข้ามประเทศเกี่ยวกับความใฝ่ฝันของตนเองที่ต้องการหวนกลับไปสู่ยูกานดาอีกครั้ง  ซึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น เขาถูกขู่ปองร้ายบ่อยครั้ง
จนทางโรงพยาบาลต้องจัดยามคุ้มกันเข้มงวด จวบจนกระทั่งสิ้นลมหายใจในที่สุด



(หมายเหตุ:-บทความนี้ ได้มาจากเว็บของ เตรียมทหารรุ่น 26โดยผู้เขียนชื่อ ทวิรัชย์)
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


Idi Amin: ทรราชแห่งกาฬทวีป


“อีดี้ อามิน” เป็นผู้นำแห่งยูกันดา เขามีเชื้อสายของชนเผ่าแคกวา (Kakwa) หนึ่งในชนกลุ่มน้อยแห่งยูกันดา – ไข่มุกแห่งอัฟริกา (The Pearl of Africa) “อามิน” คือหนึ่งในจอมเผด็จการผู้ชั่วร้ายของโลก
Idi Amin Dada Oumee

“อีดี้ อามิน ดาดา โอมี” (Idi Amin Dada Oumee) เกิดในปี ค.ศ. 1923 เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน ในครอบครัวที่เรียบง่ายและไม่มีปัญหาภายในครอบครัว แต่เมื่อครอบครัวของเขาเริ่มแตกแยก บิดาได้นำตัวเขาไปยังบ้านเกิดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของยูกันดา
ไม่นานนัก บิดาของเขาและ “อามิน” ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม – “อามิน” เรียนไม่เก่งและรักความรุนแรง เขาจึงเลือกเข้าโรงเรียนนายทหาร ซึ่งขณะนั้นประเทศยูกันดายังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงอยู่ในสังกัดของทหารอังกฤษและจากการที่เขามีความสามารถด้านการชกมวยเป็นพิเศษ เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจนกระทั่งได้เป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท
ในปี ค.ศ. 1962 อังกฤษได้ถอนกำลังออกจากยูกันดา นั่นหมายถึงการได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรและในปีเดียวกันนั้นเองยูกันดาได้มีนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ นั่นคือ “มิลตัน โอโบต” (Milton Obote) ซึ่งเป็นนักกฏหมายที่มีฝีมือฉกาจและยังมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ดีเยี่ยม แทบไม่มีข้อกังขาเลยว่าทำไมเขาถึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเสียจากว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้มาจากชนเผ่าแลนจี (Lanji Tribe) ซึ่งถือว่าเป็นชนเผ่าเล็กๆ ในยูกันดา
ภูมิหลังจากชนเผ่าเล็กๆ ทำให้ประชากรจำนวน 24 ล้านคนของยูกันดาไม่ยอมรับนโยบายของนายกฯ ผู้นี้ เขาจึงเกิดปัญหาในการดำเนินงานอยู่บ่อยๆ ต่อมาเขาพยายามแก้ไขงกล่าวโดยการเชิญ “กษัตริย์เฟรดดี้” (Freddy King) แห่งบูกานดา ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก โดยหวังให้ “กษัตริย์เฟรดดี้” เป็นกันชนระหว่างชนกลุ่มน้อย-ใหญ่ที่มีต่อเขา และคอยเชิด “กษัตริย์เฟรดดี้” ไว้ในเบื้องหลัง ขณะเดียวกันกับที่เขาต้องการลดบารมีของ “กษัตริย์เฟรดดี้” ทว่า … เหล่าผู้ทรงความรู้ของเผ่าบูกานดาหลายคนต่างรู้ทันแผนการของ “โอโบต” จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แกมต่อต้านจากเหล่าผู้มีความรู้ของเผ่าบูกานดา ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ “โอโบต” ไม่ต้องการเลย
ปี ค.ศ. 1966 “มิลตัน โอโบต” ได้เลือกเฟ้นขุนทหารที่เข้มแข็งพอจะมาเสริมเขี้ยวเล็บเขาให้ได้ – “อีดี้ อามิน” จึงได้ใบเบิกทางเพื่อเข้าสู่เส้นทางในการเมือง … จากนายสิบทหารเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นทหารอารักขา
งานแรกของ “อามิน” ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้รับงานที่ถนัดจาก “โอโบต” นั่นคือ การทำลายขวัญและกำลังใจของชาวบูกานดาด้วยการยิงถล่มพระราชวังของ “กษัตริย์เฟรดดี้” จนข้าราชบริพารชาวบูกานดาขวัญหนีดีฝ่อด้วยปืนกลหนัก ขนาด 122 มม. ซึ่งใช้ติดตั้งรถถัง แต่ขนส่งมาด้วยรถจี๊บ แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่นั่นคือการทำลายขวัญกำลังใจชาวบูกานดาอย่างบ้าเลือดที่สุด ขณะที่ “กษัตริย์เฟรดดี้” ถึงกับต้องย้ายที่ประทับไปที่สหราชอาณาจักรจนสิ้นพระชนม์
การลี้ภัยของ “กษัตริย์เฟรดดี้” นอกจากจะถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ “อามิน” แล้ว ยังส่งผลให้นายกรัฐมนตรี “มิลตัน โอโบต” อยู่ในตำแหน่งต่อมาได้ถึง 4 ปี
แต่แล้ว เดือนมกราคม ค.ศ. 1971 หลังจากที่ “โอโบต” ต้องเดินทางไปร่วมงานชุมนุมประเทศในเครือจักรภพอันเป็นเมืองขึ้นเก่าของอังกฤษที่ประเทศสิงคโปร์ – “อามิน” ก็วางแผนปลดนายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งเป็นนายเหนือหัวของเขาอย่างหน้าตาเฉย ทั้งยังไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง เนื่องจาก “อามิน” ระดมกำลังบุกยึดส่วนสำคัญต่างๆ เช่น

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การสื่อสารมวลชน กระทรวงกลาโหมและต่างประเทศ พร้อมสถาปนาตนเองให้นานาชาติรู้ว่า “ยูกันดา” เปลี่ยนผู้นำคนใหม่แล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “มิลตัน โอโบต” อดีตนายกรัฐมนตรีต้องกลืนเลือด เนื่องจากการกระทำของ “อามิน” อดีตคนสนิทของเขาทำให้เขาต้องกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและอยู่ในสภาพที่ถูกเนรเทศโดยสมบูรณ์แบบ
“อามิน” รับรู้ว่าแม้ไม่มีผู้ใดขัดขวางเส้นทางการเมืองของเขา แต่ก็อาจมีการรัฐประหารเงียบเกิดขึ้นได้ เขาจึงเริ่มเชื่อมสัมพันธไมตรีกับชนเผ่าบูกานดา โดยเขาบอกว่าเขาเองก็นับถือ “กษัตริย์เฟรดดี้” ที่ต้องเนรเทศตนเองไปต่างแดนจนสิ้นพระชนม์ แม้วันที่นำพระศพของ “กษัตริย์เฟรดดี้” กลับมายังยูกันดา เขาก็ให้ความสะดวกในการขนพระศพกลับมา เพื่อเรียกคะแนนความชื่นชมจากชาวบูกานดา
ไม่เพียงเท่านั้น “อีดี้ อามิน” ยังมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของยูกันดาที่เคยตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับอดีตนายกรัฐมนตรี “มิลตัน โอโบต” เป็นจำนวนมาก
หนึ่งเดือนหลังจาก “อีดี้ อามิน” ได้รับตำแหน่ง เขาประกาศให้มีการปรับเปลี่ยนระบบกองทัพของยูกันดา ตลอดจนวางรากฐานการพัฒนายุทโธปกรณ์ให้สมบูรณ์ เขาจึงเรียกผู้นำทหารระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าแลนจี (Langi Tribe) และชนเผ่าอาโชลี่ (Acholi) เข้าประชุมที่เรือนจำมาคินยี โดยอ้างว่าจะมีการเลือกเฟ้นเหล่าทหารเพื่อจัดฟอร์มทีมเป็นรัฐบาลทหารที่เยี่ยมยุทธ แทนบรรดานักกฎหมายและนักการเมือง แต่แท้ที่จริงแล้ว ผลลัพธ์หลังจากนั้นก็คือการสังหารหมู่ทหารกลุ่มนี้ เนื่องจากความกังวลว่ามาจากชนเผ่าอื่นที่ไม่ภักดีต่อเขา
เมื่อทุกคนมารวมกันถึงเรือนจำมาคินยี – “อามิน” สั่งควบคุมนายทหารทุกนายและลำเลียงไปยังห้องขัง ห้องย่อยๆ ก่อนปิดฉากด้วยการสังหารนายทหารด้วยดาบปลายปืนอย่างอำมหิต เป็นจุดเริ่มต้นการสังหารหมู่ของแผ่นดินไข่มุกแห่งแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมตัว “นายพลสุไลมาน ฮุสเซน” ผู้บังคับการกองทัพบกแห่งยูกันดาอย่างอุกอาจและนำตัวไปสังหารที่เรือนจำมาคินยีด้วยพานท้ายปืน “นายพุลฮุสเซน” ถูกทุบตีจนเสียชีวิต ทว่า … “อามิน” ยังสั่งการให้ตัดศีรษะด้วยการเฉือนเข้าที่ลำคอจนขาดวิ่น เนื่องจากศีรษะของ “นายพลฮุสเซน” เป็นเครื่องมือข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามอย่างดีเยี่ยม ศีรษะที่ของ “นายพลฮุสเซน” ถูกเก็บอย่างดีในช่องแช่เย็นที่คฤหาสถ์ของ “อามิน”
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่โหดร้ายไม่แพ้กัน เกิดขึ้นระหว่างการประชุมใหญ่ในค่ายบาราร่า (Mbarara) และค่ายจินจา (Jinja) ขณะที่ทหารระดับสูงใต้บัญชาของ “อามิน” ซึ่งแน่นอนพวกเขาเป็นคนเก่าแก่ของ “มิลตัน โอโบต” กำลังรอทำความเคารพต่อผู้นำของเขาอยู่นั้น พลันปรากฏเงารถสีดำคันงาม เมอซิเดส เบนซ์ รุ่น 1949 เลี้ยวเข้าหัวโค้งทางเข้าเรือนจำบาราร่า นั่นคือสัญญาณแห่งยมทูต ซึ่งได้ส่งสัญญาณที่มาพร้อมเครื่องมือที่จะใช้ประหัตประหารเหล่านายทหารทั้งหลาย
รถถังหุ้มเกราะ รวมถึงรถ APC บรรทุกพลทหารกรูเข้าไปทับเหล่าทหารระดับสูงอย่างรวดเร็ว บดขยี้ร่างกายจนแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี แม้จะมีนายทหารระดับสูงหลายนายที่ตั้งสติทันและพากันหลบหนี แต่ก็มิอาจพ้นชะตากรรม ปืนเล็กยาวแต่ละกระบอกของนายทหารในสังกัดของ “อามิน” ถูกลำเลียงเพื่อนำไปพิฆาตเหล่านายทหารระดับสูงที่ยังเหลือ กระสุนถูกระดมยิงเต็มอัตราจนในที่สุดก็ไม่หลงเหลือผู้รอดแม้แต่รายเดียว ขณะที่สถานการณ์ในค่ายจินจาก็ไม่ต่างกันมากนัก เหล่านายทหารระดับสูงถูกสังหารอย่างเลือดเย็นเช่นเดียวกัน ถึงขนาดใช้ปืนใหญ่ติดรถถังกระหน่ำยิงเหล่าทหารระดับสูงกันเลย

ผ่านไป 6 เดือน ผู้นำระดับสูงแต่ละหน่วยงานถูกสังหารโหดไม่ต่ำกว่า 500 คน แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน เพื่อถามหาญาติของตนที่เป็นนายทหารระดับสูง กลับได้คำตอบที่ปัดความรับผิดชอบว่า “ไม่ทราบว่าหายไปไหน”

มีสาเหตุหลายประการที่ “อามิน” กระทำการเหี้ยมโหดครั้งนี้ ประการแรกคือ เขาต้องการถ่วงดุลย์อำนาจจากฝ่ายการเมืองตรงข้ามกับเขาซึ่งนั่นก็คือเหล่าทหารที่มาจากคนละเผ่าของเขานั่นเอง และประการที่สองคือ เขาต้องการสร้างช่องโหว่ทางตำแหน่งการบริหารของประเทศ เมื่อเกิดช่องโหว่ของตำแหน่งขึ้น “อามิน” ก็สบโอกาสใช้บรรดาพรรคพวกของตนเองเข้าไปอุดช่องโหว่เหล่านั้น ซึ่งแน่นอนพวกเขาเหล่านั้นต้องเป็นเชื้อสายแคกวาเช่นเดียวกับท่านผู้นำ … ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าเมื่อผู้รับตำแหน่งนายทหารระดับสูงนั้นมาจากกรรมกร คนล้างจาน รวมไปถึงคนขับรถแท็กซี่

รัฐบาลภายใต้การปกครองของเผด็จการ “อีดี้ อามิน” มีนโยบายที่ปิดกั้นข่าวสารอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศเลย ทว่า … ยิ่งปิดสื่อมวลชนก็ยิ่งมีผู้ต้องการทราบมากยิ่งขึ้น “นิโคลาส สโตร์” (Nicholas Storh) ช่างภาพและนักหนังสือพิมพ์อิสระแห่งวอร์ชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) เจ้าของรางวัล “Washington Star” อันเป็นรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นและเคยเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ฟิลาเดลเฟียบุลเลติน ต้องการเจาะลึกประวัติส่วนตัวของ “อีดี้ อามิน” เพื่อที่เขาจะนำไปลงนิตยสารพร้อมๆ กับรางวัล “Washington Star” สมัยที่ 2 ติดต่อกัน สื่อมวลชนทั่วเมริกาต่างจดจ้องเขาด้วยความสนใจว่า “นิโคลาส สโตร์” จะได้ข่าวสำคัญหรือไม่
เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด “นิโคลาส” จึงขอแรงร่วมกับ “โรเบิร์ต ซีเบล” (Robert Siedle) ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมาเคเล (Makele University) ในกรุงกัมปาลา ให้ช่วยงานในด้านล่ามแปลภาษาและเป็นลูกมือในการทำข่าวการสังหารหมู่นายทหารระดับสูงชาวแลนจี

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ที่ได้รับหน้าที่แถลงข่าวกับนักข่าวชาวอเมริกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายนั่นก็คือ “พันตรีจูมา เอก้า” (Major Juma Aiga) มือขวาคนสนิทของ “อามิน” – ทั้งๆ ที่นายพันผู้นี้เดิมที่เป็นเพียงโชเฟอร์แท็กซี่ธรรมดาเท่านั้น เพียงแต่ “อามิน” ต้องชะตากับโชเฟอร์คนขับแท็กซี่ชนเผ่าเดียวกันเท่านั้น ในช่วงเพียงค่ำคืนเดียวจากโชเฟอร์แท็กซี่ขึ้นกินตำแหน่ง “พันตรีจูมา เอก้า” โดยมีหน้าที่บัญชาการหน่วยทหารบาราร่า
บทสัมภาษณ์ถูกป้อนเข้ามาเรื่อยๆ ด้วยคำถามที่แทงใจดำจากนักข่าวทั้งสอง หารู้ไม่ว่าคำถามเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตของพวกเขาทั้งสองต้องจบลงภายในวันเดียวนั่นเอง เมื่อ “เอก้า” ทนการรบเร้าไม่ไหวจนกระทั่งขอตัวไปโทรศัพท์เรียนท่านผู้นำเกี่ยวกับเรื่องที่นักข่าวทั้งสองสัมภาษณ์อย่างไม่เกรงใจ
“Kill Them All” หรือฆ่าแม่งไปเลย คือคำตอบของท่านผู้นำและเป็นคำอาญาสิทธิ์ที่จะทำให้นักข่าวทั้งสองกลายเป็นผีเฝ้าเรือนจำตามนายทหารระดับสูงที่เขาจ้องจะขุดคุ้ยไปด้วย
กระทั่งเวลาผ่านไปเดือนหนึ่ง สื่อมวลชนจากวอชิงตัน ดี.ซี. เรียกร้องให้รัฐบาลทวงถามถึงความเป็นอยู่ของนักข่าวทั้งสองว่าหายไปไหน แน่นอนว่าทางการยูกันดาปฏิเสธถึงความเป็นอยู่ในประเทศของทั้งสองคนว่า “มิได้รู้เรื่องอะไรเลย”
ปลายปี ค.ศ. 1971 เศรษฐกิจของยูกันดาอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากสหราชอาณาจักรและอิสราเอลตัดสัมพันธภาพทางด้านการเงินต่อรัฐบาลของ “อามิน” โดยเฉพาะอิสราเอลซึ่งเล็งเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลเผด็จการในการบริหารประเทศอย่างดิบเถื่อน จึงปฏิเสธการช่วยเหลือด้านการเงินโดยไร้เยื่อใย
แม้กระนั้น “อามิน” ก็ยังอนุมัติการพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยที่เงินทุนสำรองไม่ได้ถูกนำไปค้ำประกันเงินที่ถูกพิมพ์ออกมา แต่กลับถูกผู้นำของพวกเขา “อามิน” นำไปช้จ่ายสำรองส่วนตัวอย่างหน้าด้านๆ จึงไม่แปลกเลยที่ยูกันดายุคนั้นจะมีลักษณะทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างจากเยอรมันยุคนาซีช่วงปลายๆ ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อจนขีดสุด ขนาดที่ขนมปังก้อนหนึ่งราคาตกเกือบ 800 ซิลลิ่ง เข้าไปแล้ว
ทว่า … ฟ้าเสมือนมาโปรด “อามิน” เมื่อปรมาจารย์แห่งผู้ก่อการร้าย “โมฮัมหมัด กัดดัฟฟี่” (Mohammard Guddafy) แห่งลิเบีย เกิดความสนใจในระบบการบริหารของ “อามิน” จึงต้องการที่จะเป็นเบื้องหลังให้กับยูกันดา โดยส่งเงินทุนอัดฉีดมูลค่า 1,000 ล้านดอลล่าห์ ให้แก่รัฐบาลยูกันดา ซึ่งนับว่ามหาศาลมากเหลือคณานับ ขณะเดียวกัน “กัดดัฟฟี่” ก็เป็นอริศัตรูกับอิสราเอลอยู่แล้วจึงทำให้ “อามิน” ประกาศการขับไล่ชนชาวอิสราเอลออกจากไปประเทศ แม้กระทั่งช่างวิศวกรผู้ดูแลการก่อสร้างสนามบินเอเทปเป้ ก็ถูกสั่งขับออกจากประเทศทันที โดยมีข้ออ้างว่า “เราไม่ง้อชาวยิวขี้เหนียวอีกต่อไป”
การกระทำครั้งนี้ของ “อามิน” ทำให้ทางการอิสราเอลถึงกับเลือดขึ้นหน้า เนื่องจากอิสราเอลต้องการพันธมิตรที่อยู่ในซีกโลกทวีปมืด แม้จะเป็นประเทศด้อยพัฒนาก็ตามที
ในที่สุด ทีมงานวิศวกรชาวอิสราเอลต้องขนย้ายวัสดุของพวกตนกลับประเทศบ้านเกิดของพวกเขาทันที แม้แต่ทีมงานก่อสร้างสนามบินเอเทปเป้ ก็ต้องกลับไปทั้งๆ ที่ยังไม่เสร็จภารกิจการก่อสร้างสนามเสียด้วยซ้ำ และวิศวกรชาวยิวก็ยังไม่ลืมสิ่งสำคัญที่ต่อมาจะเป็นเครื่องช่วยชีวิตชาวยิวของพวกตนด้วยนั่นคือ “แปลนพิมพ์เขียวสนามบินเอเทปเป้” ซึ่งต่อมาแปลนชิ้นนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้หน่วยคอมมานโดของอิสราเอลสำเร็จแผนปฏิบัติการสายฟ้าแลบเอเทปเป้ ถึง 99.3%
ข่าวลือที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกอีกเรื่องหนึ่งคือ การรับประทานเนื้อส่วนศีรษะของ “นายพลสุไลมาน ฮุสเซน” เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในงานเลี้ยงรับรองที่ทำเนียบรัฐบาลภายในกรุงเอนเทปเป้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นงานเลี้ยงระดับรัฐพิธีหรือพิธีซึ่งจัดโดยคณะรัฐบาล โดยมี “อีดี้ อามิน” เป็นประธาน
ขณะที่เวลาผ่านไป งานเลี้ยงดูเหมือนจะราบรื่น หากแต่ท่านผู้นำ “อีดี้ อามิน” รู้สึกเบื่อหน่ายงานเลี้ยงที่ผ่านไปเรื่อยๆ ท่านผู้นำจึงขออนุญาตผละออกจากโต๊ะรับแขกไปชั่วเวลาหนึ่ง และเมื่อเขาเดินกลับไปที่โต๊ะงานเลี้ยงอีกครั้งพร้อมกับบางสิ่ง-บางอย่างที่เขานำไปด้วยก็ทำเอาบรรดาแขกผู้มาร่วมงานต่างหวีดร้องด้วยความตกใจ เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเห็นคือ “ศีรษะของพลฮุสเซน” – “อามิน” นำศีรษะไร้ร่างที่อยู่ในสภาพแช่แข็งไปวางบนโต๊ะ จากนั้นเขาก็ใช้ส้อมและมีดจิ้มลงบนศีรษะ ทั้งยังตะโกนใส่ด้วยความสะใจก่อนกรีดเนื้อที่แก้มมากรับประทาน 1 ชิ้น เสมือนกับต้องการระบายอารมณ์แค้นส่วนตัวกับศีรษะไร้ร่างอันหน้าสมเพชของ “นายพลฮุสเซน” … บรรยากาศจากเดิมที่เรียบง่าย สนุกสนานกลายเป็นบรรยากาศหดหู่เงียบเชียบทันที เนื่องจากบรรดาแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายต่างตะลึงในความวิปริตของ “อามิน” หลายคนยังมิอาจกลั้นอาการสำรอกออกมาได้ถึงขั้นอาเจียนไปหลายคน สักพัก “อามิน” ก็กล่าวพอเป็นพิธีว่า “พิธีรัฐครั้งนี้จบลงอย่างเรียบง่ายแล้ว” จากนั้นก็กล่าวขอให้บรรดาแขกผู้มีเกียรติทุกท่านกลับบ้าน เนื่องจากงานเลี้ยงเลิกลาไปแล้ว
หลังจากกรณีของ “นายพลฮุสเซน” ที่เกิดในงานเลี้ยงสยองได้ผ่านไปเพียง 2 วัน “อามิน” ที่กำลังวิตกกับสถานการณ์เงินเฟื้อจนขีดสุด เขาก็สบโอกาสใช้ประโยชน์จากชาวเอเซียในประเทศของเขาเป็นครั้งสุดท้าย แม้จะไม่มีการกระทำการอันโหดเหี้ยวแก่ชาวเอเซีย แต่นโยบายใหม่ของท่านผู้นำก็คือ การออกประกาศให้ชาวเอเซียออกจากประเทศภายในเวลา 3 เดือน
ประกาศขับไล่ยังพออยู่ได้ แต่ท่านผู้นำมีการประกาศนับถอยหลังวันเรื่อยๆ ทางวิทยุกระจายเสียงเสียด้วย แล้วอย่างนี้ชาวเอเซียจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อผู้นำประเทศของเขาในขณะนั้นไม่รับรองความปลอดภัยกับพวกเขาแล้ว … สุดท้ายแล้ว “กัมปาลา” นครที่อุดมไปด้วยชาวต่างชาติอันมีชาวเอเซียร้อยละ 23 เงียบเหงาทันตา และและทหารภายใต้การบัญชาการของ “อามิน” ก็จัดแจงเรื่องขนโอนทรัพย์สินของชาวเอเซียผู้อพยพผลัดถิ่นเพื่อนำไปขายและนำเงินไปจับจ่ายซื้อของแด่ท่านผู้นำ
เมื่อเงินทุนที่ได้มาจากการขายทรัพย์สินของชาวเอเซียร่อยหรอลงจนกระทั่งหมดไป ในที่สุด “อามิน” ก็ตั้งหน่วยงานราชการลับของรัฐบาล เพื่อผลักดันผลประโยชน์เข้าสู่มหานคร หน่วยดังกล่าวมีชื่อว่า The Public Safety Unit and the State Research Bureau (SRB) แม้ภายนอกหน่วยงานดังกล่าวจะดูมีเกียรติ แต่หารู้ไม่ว่ามันคือองค์กรสังหารที่เต็มไปด้วยความโสมมเท่าที่มนุษย์จะสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

ตามความเชื่อของชาวยูกันดา หากว่าญาติมิตร สหาย สิ้นชีวิตลงไป ต้องมีการทำพิธีศพให้ถูกต้องตามหลักศาสนาทันที เพื่อมิให้วิญญาณหลงไปในอบายภูมิ เสมือนศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกนั่นเอง – “อามิน” ใช้ประโยชน์จากความเชื่อนี้ โดยสั่งการให้หน่วย SRB ทำหน้าที่เป็นนักแกะรอยศพ (Body Finder) โดยมีหน้าที่เสาะหาซากศพตามที่ลูกค้าประชาชนต้องการให้หน่วย SRB ค้นหา โดยคิดเป็นเงิน 150 ปอนด์ต่อหนึ่งศพ แต่ประชาชนจะหารู้ไหมว่า ญาติของพวกเขาต้องเป็นศพเพราะใคร หากมิใช่หน่วยงานที่เขาไว้วางใจให้เสาะหาศพ เนื่องจากหน่วย SRB กลับมีอาชีพเป็นนักทำศพ (Body Killer) ซะเอง
8 ปีหลังจากที่ยูกันดาตกอยู่ใต้อำนาจของ “อีดี้ อามิน” (ค.ศ. 1971-1979) จุดจบของอำนาจของผู้นำเผด็จการก็มาถึง เมื่อ “อามิน” ต้องการสร้างความย่ำเกรงให้แก่ชาวยูกันดาและประเทศเพื่อนบ้าน เขาจึงสร้างข่าวว่า “กองทัพของประเทศแทนซาเนีย” ทำการบุกรุกยูกันดา เพื่อมิให้การกล่าวอ้างนั้นดูเลื่อนลอย เขาจึงได้ส่งหน่วยทหารไปยังชายแดนเพื่อยึดพื้นที่ต่างๆ ในแทนซาเนีย
ทว่า ทางรัฐบาลแทนซาเนียไม่นึกสนุกกับโจ๊กระดับชาติที่ “อามิน” กำลังแสดงด้วย ยิ่งบุรุษอย่าง “จูเลีย เนอร์เรีย” ประธานาธิปดีแห่งแทนซาเนียซึ่งเคยมีปัญหากับ “อามิน” มาก่อนแล้ว การกระทำครั้งนี้ของ “อามิน” มันคือการยั่วโมโหเกินกว่าเหตุ กองทัพแทนซาเนียจึงผนึกกำลังผลักดันกองทัพด้อยพัฒนาของ “อามิน” อย่างรวดเร็ว
ด้วยกำลังของกองทัพแทนซาเนีย มันไม่เป็นการยากอะไรเลยที่จะทำลายกองทัพของ “อามิน” ที่ฝึกรบแต่กับประชาชนของตน กองทัพของแทนซาเนียสามารถผลักดันกองทัพของ “อามิน” ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ประชาชนยูกันดาเองต่างก็ไม่คิดว่ากองทัพของแทนซาเนียเป็นผู้บุกรุก พวกเขาล้วนให้ความร่วมมือกับกองทัพของแทนซาเนีย ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกด้านอาหารและที่พักต่างๆ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประชาชนชาวยูกันดาไม่ผิดหวังเลย เพราะนอกจากกองทัพของแทนซาเนียจะทำการผลักดันกองทัพของยูกันดาออกนอกประเทศแทนซาเนียแล้ว กองทัพของแทนซาเนียยังบุกเข้าไปจนถึง “กรุงกัมปาลา” เนื่องจากต้องการล้มล้างรัฐบาลเผด็จการแห่งกาฬทวีปให้แหลกราญและปรากฏว่าชาวกรุงกัมปาลาก็ยังให้ความร่วมมือกับกองทัพของแทนซาเนียเสียด้วย
ปรากฏการณ์พลิกผันเช่นนี้ทำให้ “อามิน” จนตรอกทันที ทว่าเขาก็ยังสร้างสถานการณ์ว่า ยังมีกองทัพของยูกันดามารวมกันอยู่ในค่ายฝึกทหารจินจา และสั่งการให้ทหารมารวมกันผ่านทางวิทยุกระจายเสียง แต่ทว่าไม่มีใครสนใจในตัวผู้นำผู้ตกต่ำอีกต่อไป เพราะตัวเขาเองก็ยังไม่ไปที่ค่ายจินจาเหมือนกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้ “อามิน” ได้พาบรรดาครอบครัวและนายทหารคนสนิทของเขาไปยังลิเบียด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพื่อขอรับความคุ้มครองจาก “พันเอกโมฮัมหมัด กัดดาฟี่” และเขาก็ยังประกาศก้องอยู่ตลอดเวลาว่า เขาจะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งหนึ่งในยูกันดาให้ได้ แต่เสียงของสุนัขขี้แพ้ไม่อาจส่งผลกระทบใดๆ ต่อจิตใจของคนอื่นได้ เพราะไม่มีใครฟังเขาแล้ว
“อามิน” อาศัยอยู่โดยปราศจากผู้รบกวนที่ลิเบียจนกระทั่งย้ายไปอยู่ที่ซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 1983 เป็นเวลา 2 ทศวรรษจนกระทั่งล้มป่วยลงด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตวายเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม ค.ศ. 2003 และใช้เครื่องช่วยหายใจมาตลอด กล่าวกันว่า ขณะที่เขารักษาตนในโรงพยาบาล มีคำขู่จะสังหารชีวิตของเขาพร้อมกับคนในครอบครัว ทำให้อาการของเขากำเริบหนักยิ่งขึ้น กระนั้นทางโรงพยาบาลก็ยังเปิดโอกาสให้คำขู่เข้าไปให้ “อามิน” ในวัยชราได้ยินอยู่เสมอ ยิ่งทำให้เขารู้สึกกลัว
จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2003 เวลา 08:20 ตามเวลาท้องถิ่น “อีดี้ อามิน” ก็หมดชะตากรรมโฉดที่ต้องดำรงชีวิตในโลกนี้ด้วยอาการความดันโลหิตสูงขั้นโคม่า กระอักเลือดออกมาจนต้องเสียชีวิตอย่างทรมาน แต่ก็ยังไม่เท่ากับชีวิตที่ต้องสูญเสียไปกับเขาถึงกว่า 500,000 คน
“จอห์น นากวา” โฆษกองค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การเสียชีวิตของ “อามิน” ผู้นำจอมเผด็จการแห่งยูกันดาเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโลกที่ไม่สามารถนำตัวผู้นำประเทศที่กดขี่ข่มเหงประชาชนไปลงโทษได้
หน่วย SRB – ชายฉกรรจ์ร่างใหญ่ บึกบึน ใส่เสื้อสวยหรู ท่อนล่างเป็นกางเกงทหาร สวมรองเท้าบู๊ต ข้างกายมีรถจี๊บ Mitsu ทำงานเป็นทีม มีสำนักงานที่เรียกว่า The Public Safety Unit and the State Research Bureau PARTY ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ 3 ชั้น มีห้องใต้ดินและห้องเย็นขนาดใหญ่สำหรับจุคนได้หนึ่งร้อยคนหลายห้อง
เมื่อหน่วย SRB ออกปฏิบัติการ พวกเขาจะทำการลักลอบจับกุมประชาชนริมถนนหรือบ้างก็จับในที่เปลี่ยว เมื่อจับมาได้ หน่วย SRB จะนำไปรวมกันไว้ที่หน้าอาคารสำนักงานเพื่อสังหารเสียจนหมด จากนั้นก็นำศพไปกองในห้องใต้ดิน เมื่อขั้นตอนการสร้างสรรค์ศพเสร็จสิ้น ต่อไปก็เป็นขั้นตอนการติดต่อญาติสนิทของผู้สูญหาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือผู้ตายนั่นเอง
หากทางญาติพี่น้ององผู้สูญหายมีความประสงค์จะนำศพไปประกอบพิธี ทางหน่วย SRB จะทำการเรียกร้องเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 ปอนด์ (ราว 10,500 บาท) แม้ว่าจะสูญสิ้นชีวิตไปมากมาย แต่มันกลับเป็นวิธีที่ทำเงินสะพัดให้แก่ “อามิน” มากที่สุด เท่าที่สติปัญญาของจอมเผด็จการจะทำได้ และมันก็เป็นวิธีระดมเงินทุนที่ง่ายที่สุดด้วย
ว่ากันว่า หน่วย SRB สามารถจับกุมผู้บริสุทธิ์ได้วันละ 1,000 คน และทำการสังหารผู้ที่ถูกจับกุมในช่วงเวลากลางคืนอย่างโหดเหี้ยม พอวันรุ่งขึ้นก็จะติดต่อไปยังเหล่าญาติของผู้สูญหายเพื่อเรียกร้องเงิน 150 ปอนด์ เพื่อเป็นค่าเสาะหา … หน่วย SRB เป็นทั้งผู้สังหาร แกะรอยศพและเก็บค่าแกะรอย มันช่างเป็นวงจรอุบาทว์ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสร้างสรรค์ได้โดยสิ้นเชิง

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขณะที่ศพที่ไม่ได้รับการติดต่อจากญาติ หรือญาติไม่มีค่าแกะรอยศพ ทางหน่วย SRB ก็จะนำศพที่ถูกตีค่าว่าเป็นสินค้าไร้ราคาไปโยนลงแม่น้ำไนล์ ช่วงแรกจระเข้ก็มีอาหารมื้อกลางวันกินอย่างเต็มที่ ทว่าต่อมา … เมื่อสินค้าไร้ค่ากลับเพิ่มมากขึ้นจนเหล่าจระเข้ไม่สามารถกินอาหารประเภทเดียวติดต่อกันหลายมื้อทุกค่ำคืนวันได้ ในที่สุดก็มีศพจำนวนมากไหลไปตามสายน้ำ นั่นเพราะหน่วย SRB เพิ่มมาตรการสังหารอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถนับจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันได้เสียแล้ว
เขื่อนยักษ์โอเว่น (Owen Falls Dam) เป็นเขื่อนขนาดยักษ์ ที่อยู่ในแม่น้ำไนล์ อันเป็นส่วนสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่เมืองหลวงกัมปาลาและเมืองอื่นๆ ในยูกันดา ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับหน่วย SRB เลย ถ้าหากว่าสินค้าไร้ค่าในสายตาของพวกเขาไม่ลอยไปติดเครื่องปั่นไฟ จนทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แม้แรกๆ จะไม่มีปัญหานัก แต่ภายหลังศพเหล่านั้นได้ลอยไปติดที่เครื่องปั่นไฟฟ้ามากจนกระทั่งพนักงานในเขื่อนไม่สามารถควบคุมได้ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ต้องออกเรือเพื่อไปเก็บซษกศพเหล่านั้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีศพมาติดค้างวันละ 40-50 ศพจนได้ กระทั่งสถานทูตฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในกรุงกัมปาลา ใกล้ๆ กับที่ทำการของหน่วย SRB ออกมาร้องเรียนเรื่องของเสียงยิงปืนที่ทางหน่วย SRB อ้างว่าเป็นการยิงซ้อมรบ
“อามิน” จึงปรึกษา “ร้อยโทไอแซค มัลยามันยู” (Lieutenant Issact Malyamungu) หัวหน้าหน่วย SRB ให้เปลี่ยนวิธีการสังหารโดยใช้วิธีที่เงียบแต่แยบยล ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะ “มัลยามัลยู” ก็เป็นนักฆ่าตัวฉกาจเหมือนกัน ค้อนปอนด์ คืออุปกรณ์ชิ้นใหม่ที่ทางหน่วย SRB นำไปใช้ เนื่องจากไม่เปลืองกระสุน เงียบเชียบและใช้เวลาไม่นานนัก วิธีการก็ง่ายๆ แค่ให้นักโทษผู้ที่ถูกจับมาโดยหน่วย SRB ถือค้อนปอนด์แล้วกระหน่ำฟาดลงไปยังนักโทษอีกคนที่ถูกมัดร่างไว้ หากนักโทษผู้ถืออาวุธสังหาร สังหารนักโทษผู้ขัดขืนได้ พวกเขาก็จะเป็นอิสระ มีหลายครั้งที่เหล่าผู้ถูกจับกุมเกิดความเกรงกลัวในบาปและทำไม่ลง สถานภาพจะเปลี่ยนไปทันที เพราะพวกเขาผู้เกรงกลัวในบาปที่จะหยิบยื่นความเจ็บปวดให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง พวกเขาจึงต้องถูกจับมัดเพื่อเป็นนักโทษที่จะถูกทำการประหัตประหารแทน ร้ายที่สุดก็เห็นจะมีการจับนักโทษทั้งสองรายมัดผูกติดด้วยกันทั้งคู่ ทว่า … นักโทษอีกรายนั้นมิใช่มนุษย์ หากแต่คือซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนที่ชอนไชร่างกาย เชื้อโรคจากซากศพจะคืบคลายเข้าหานักโทษชะตาขาด งานนี้ถ้าไม่ติดเชื้อโรคตายก็ช็อคตายล่ะ

แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีเหตุการณ์สังหาร แต่เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า “อีดี้ อามิน” เป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ เพราะถ้าเขาคือมนุษย์ สิ่งที่เขาทำ มันใช่การกระทำของมนุษย์รึเปล่า …

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการตายของ “เคย์ อามิน” (Caye Amin) ภรรยาคนที่สามของท่านผู้นำ ซึ่งเธอรับไม่ได้ที่สามีของเธอเป็นคนกระหายเลือดเช่นนี้ จึงขอเลิกกับ “อามิน” (ช่างกล้าหาญยิ่ง) … แต่บางเอกสารกล่าวว่า “อามิน” เฉดหัวเธอเนื่องจากเธอไม่ปฏิบัติตามกฏของศาสนาอิสลาม (การก้าวก่ายหน้าที่ของสามี) โดยที่เธอเข้ามายุ่งกับกิจกรรมในการหาเงินของหน่วย SRB มากเกินไป (คาดว่าเธอห้ามปราม “อามิน” เรื่องของหน่วยงานนี้)
หลังจากที่บอกเลิก (หรือถูกบอกเลิก) กับ “อามิน” – “เคย์ อามิน” จึงไปทำแท้งในขณะที่เธอตั้งครรภ์กับ “อามิน” ได้ 4 เดือน และเสียชีวิตจากอาการตกเลือดในช่องคลอด เมื่ออดีตสามีทราบข่าวก็ถึงกับโกรธจัด เขาจึงเดินทางไปดูศพของเธอทันที ณ เวลานั้น “อามิน” ก็นึกวิธีลงโทษกับผู้ที่ทำให้ตนต้องเหนื่อยใจไว้แล้ว
เขาเรียกบรรดาแพทย์ในโรงพยาบาลให้ทำงานให้เขาชิ้นหนึ่ง แต่เมื่อทราบถึงคำสั่งของท่านผู้นำ แม้แต่ทีมแพทย์ผู้คลุกคลีกับชีวิตและความตายยังอึ้งในความคิดอันสุดแสนวิปริต แม้นใจไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ เพื่อรักษาชีวิตตนให้รอด ก่อนที่ท่านผู้นำจะออกจากโรงพยาบาล
ต่อมาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง จอมเผด็จการก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทว่าครั้งนี้เขามาพร้อมๆ กับ “ซาร่า” ภรรยาคนที่สี่ ซึ่งมีอายุ 18 ปี และ “อลิกา อามิน” วัยหกขวบ ลูกของเขากับ “เคย์ อามิน” ที่เสียชีวิตไปแล้ว … ทั้งหมดเดินทางไปยังห้องผ่าตัดพิเศษ เมื่อทุกคนเข้าไป ภาพที่ได้เห็นก็สร้างความสยดสยองให้แก่ทุกคนทันที โดยเฉพาะ “อลิกา อามิน” ผู้เป็นบุตร

ศพของ “เคย์ อามิน” ถูกแปรสภาพโดยสิ้นเชิง ศีรษะและแขนขาถูกตัดออก เท่านั้นยังไม่พอ … ศีรษะที่ถูกตัดขาดจากร่างถูกนำเข้าไปวางไว้ในท้อง ซึ่งถูกชำแหละออกมาแล้ว แขนถูกเย็บติดไว้ที่ช่วงหัวไหล่และขาถูกเย็บติดไว้ที่สะโพกแทน ร่างที่ชุ่มไปด้วยเลือดและกลิ่นคาวเหม็นๆ ดูกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ประหลาดไปเสียแล้ว “อามิน” ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการข่มขู่บรรดาญาติและบุตรของตนเพื่อมิให้ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขา

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-26 14:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อำนาจกับมนุษย์
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้