หลวงพ่อพรหม วัดบางปูน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พระที่คนรู้จักกันในชื่อ พระครูเทพโลกอุดร ภาพและเรื่องโดย ประพนธ์ พรอุตสาห์ สิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรีเดิมเป็นเมืองเรียกกันว่า เมืองสิงห์ มีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็มีอยู่แล้ว โดยทรงจัดให้เมืองสิงห์เป็นหัวเมืองชั้นใน ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองสิงห์ถูกจัดให้เป็นหัวเมืองจัตวา และในปี พ.ศ.๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรวมเมืองสิงห์เข้าอยู่ใน มณฑลกรุงเก่า และในรัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอยุธยา และต่อมาได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ เมื่อมีการใช้พระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีการตั้งเมืองใหม่คือยุบเมืองอินทร์เป็น อ.อินทร์บุรี เมืองพรหมเป็นอำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์เป็นอำเภอสิงห์ แล้วตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลบางพุทราเป็นเมืองสิงห์บุรี การที่ตั้งเมืองที่บ้านบางพุทรา นั้นอาจเป็นเพราะที่ตั้งนั้นเป็นกึ่งกลางทางของ อ.อินทร์บุรีกับอำเภอพรหมบุรี หรือเป็นศูนย์กลางอำเภอสิงห์ด้วย (ปัจจุบันเรียกอำเภอสิงห์ว่า อำเภอบางระจัน) อำเภอเมืองสิงห์บุรี ได้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๔ โดยใช้ชื่อว่า อำเภอบางพุทรา เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะตั้งอยู่ตรงข้ามปากน้ำบางพุทรา (แม่น้ำลพบุรีปัจจุบัน) เดิมไม่มีตัวที่ว่าการอำเภอ เมื่อมีการสร้างศาลากลางจังหวัดเมื่อ ร.ศ.๑๓๐ (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๔-ผู้เขียน) แล้ว จึงได้อาศัยอยู่รวมกับศาลากลางจังหวัด (อยู่ในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด) อาศัยทำงาน ณ ศาลากลางจังหวัด ต่อมาได้สร้างที่ว่าการอำเภอ ขึ้นเป็นเอกเทศเป็นเรือนไม้ที่หลังสำนักงานที่ดินจังหวัดปัจจุบัน หันหน้าไปทางทิศใต้ โดยตั้งอยู่บริเวณเดียวกับที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อที่ว่าการอำเภอ ที่ตั้งอยู่ในเมืองให้เป็นชื่อจังหวัดนั้นๆ ฉะนั้นที่ว่าการอำเภอจึงได้ชื่อว่า ที่ว่าการอำเภอเมืองสิงห์บุรี มาตลอดเท่าทุกวันนี้ และได้สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ดังที่เห็นในปัจจุบัน อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองอินทร์ ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นเมืองสำหรับหลานเธอครอง ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาได้จัดการปกครอง โดยให้เมืองอินทร์เป็นหัวเมืองชั้นใน เป็นเมืองหน้าด่านรายทางสำหรับทางเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นหัวเมืองชั้นในหน้าด่านสำหรับทางเหนือเป็นหลัก ปรากฏในประวัติศาสตร์ ว่าเมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ โปรดให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสีไปครองเมืองสุพรรณบุรี และทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ต่อมาขุนหลวงพะงั่วผู้นี้เองได้ยกกองทัพมาปราบปราม พระราเมศวรโอรสพระเจ้าอู่ทองและครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เป็นต้น ราชวงศ์สุพรรณภูมิ และโปรดให้น้องชายครองสุพรรณบุรีแทน และโปรดให้หลานชายซึ่งเป็นลูกของน้องคนนี้ไปเป็นเจ้าเมืองอินทร์ คนเรียกกันว่าพระนครอินทร์หรือเจ้านครอินทร์ เมืองอินทร์บุรีจึงมีฐานะเป็นเมืองหลานหลวง
ตามประวัติศาสตร์นั้นอินทร์บุรีเป็นบ้านเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว เมื่อพระบิดาของเจ้านครอินทร์สิ้นพระชนม์ เจ้านครอินทร์ได้ครองเมืองสุพรรณบุรีแทน เจ้านครอินทร์ผู้นี้เองที่ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ของกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๑๙๔๔ เพราะเกิดความวุ่นวายในกรุงศรีอยุธยา ทรงถอดพระเจ้ารามราชาธิราช ซึ่งเป็นเชื้อสายของพระเจ้าอู่ทองออกจากราชสมบัติ แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๙๔๔ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) ที่ยกประวัติศาสตร์ มากล่าวนี้เพื่อให้เห็นว่าอินทร์บุรีเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองที่มีประวัติแห่งความยิ่งใหญ่ เป็นเมืองที่ที่มีคนเก่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้นเมืองอินทร์มีฐานเป็นหัวเมืองจัตวา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบแบบแผนการปกครองใหม่ โดยในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้รวมเมืองอินทร์บุรีเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า และในพ.ศ.๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองอินทร์บุรีเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับ จ.สิงห์บุรี เรียกว่า อ.อินทร์บุรี แต่ก่อนจวนเจ้าเมืองตั้งที่ว่าการอยู่เขตวัดโบสถ์ทางทิศเหนือ เมื่อเมืองอินทร์เป็นอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งใต้วัดโพธิ์ลังกา ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มาฝั่งตะวันตกตั้งที่ต้นโพธิ์เหนือวัดปราสาท ปัจจุบันนี้ที่ว่าการ อ.อินทร์บุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใต้วัดปราสาทประมาณ ๕๐๐ เมตร การที่ย้ายหลายแห่งอาจเป็นด้วยสถานที่ตั้งเดิมคับแคบขยายไม่ออก พรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี ตามหลักฐานที่ปรากฏมีมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว โดยมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นใน แต่ก่อนนั้นจะสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานกันว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ผู้ครองเมืองไชยปราการ (ฝาง) ได้โปรดให้สร้างขึ้นแล้วขนานนามว่าเมืองพรหมบุรี ตั้งอยู่ใต้วัดอัมพวัน หมู่ที่ ๖ ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี ในปัจจุบัน สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองพรหมบุรีคงมีฐานะเป็นเมืองตลอดมา ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นเมืองสำหรับหลานหลวงครอง ในกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่งเรียกชื่อว่า พระพรหมนคร แต่ในทางปกครองได้ถูกจัดให้เป็นเมืองจัตวามีเจ้าเมืองปกครองตลอดมา ได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองจากใต้วัดอัมพวันไปอยู่ที่ปากบางหมื่นหาญ (อยู่เหนือตลาดปากบาง หมู่ที่ ๒ ตำบลพรหมบุรี ปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่จวนหัวป่าเหนือวัดพรหมเทพาวาส ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการปกครองเป็นรูปมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล โดยรวมเอาพรหมบุรีเข้าไว้ใน มณฑลกรุงเก่า ด้วย
|