ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5910
ตอบกลับ: 13
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)

[คัดลอกลิงก์]
หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติหลวงพ่อคง วัดบ้านสวน (พระครูพิพัฒน์สิริธร สิริมโต)
ประวัติ หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน จ.พัทลุง:ประวัติหลวงพ่อคง พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ซึ่งเป็นศิษย์สายวัดเขาอ้อ และพระเครื่องที่หลวงพ่อคง ปลุกเสกนั้น แล้วแล้วแต่มีประสบการณ์ทั้งสิ้น  วัดบ้านสวน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นอีกวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับวัดเขาอ้อ กล่าวได้ว่า"วัดบ้านสวน"เป็นวัดสาขาหนึ่งของสำนักวัดเขาอ้อ เนื่องเพราะอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวนต่างล้วนเป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อทั้งสิ้น ความเป็นมาของ"วัดบ้านสวน"กล่าวว่าได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2070 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า พระปรมาจารย์ผู้เฒ่าวัดเขาอ้อ พร้อมด้วยพุทธบริษัทเป็นผู้สร้างขึ้น และเจ้าอาวาสรูปแรกก็คงเป็น "ศิษย์" มาจากวัดเขาอ้อ ต่อมาเมื่อเสีย กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 วัดบ้านสวนอาจรกร้างทำให้เอกสารหลักฐานต่างๆ สูญหายไป มาปรากฏแต่ในชั้นหลังภายหลังจากที่พ่อท่านสมภารนอโม ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาวิชาในสำนักวัดเขาอ้อ ต่อมาได้ออกเดินธุดงค์ในละแวกบ้านเขาอ้อ ดอนศาลา บ้านสวน และเห็นว่าที่บริเวณบ้านสวนเป็นเนินสูง มีวัดเก่าแก่รกร้าง ควรที่จะบูรณะ จึงได้ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในบริเวณนั้น โดยเมื่อแรกได้สร้างกุฏิ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานอยู่บริเวณทางทิศใต้ของวัด ภายหลังได้มีผู้ศรัทธาทำรั้วรอบขอบชิดเป็นขอบเขตของกุฏิไว้เป็นสัดส่วน หากปัจจุบันพระครูขันตยาภรณ์ (พรหม ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ได้รื้อสร้างเป็นวิหารพ่อท่านสมภารนอโมเป็นที่ถาวรสถานแล้ว พ่อท่านสมภารนอโมได้ทำนุบำรุงเสนาสนะและโบราณวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะโบสถ์ ทำด้วยไม้กลมแก่นของต้นหาด หลังคามุงจาก มีพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นประธานอยู่ในโบสถ์ ต่อมาในสมัยพระฤทธิ์ อิสฺสโร ได้สร้างโบสถ์ใหม่คร่อม และหลังจากนั้นในสมัยพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้รื้อหลังที่คร่อม แล้วสร้างโบสถ์หลังใหม่ขนาดใหญ่ 2 ชั้น
ในการสร้างอุโบสถใหม่ครั้งนี้ ได้มีการขุดลูกนิมิตเดิมที่ฝังไว้ ได้พบหัวนอโมในหลุมลูกนิมิตด้วย เป็นหัวนอโมสมัยกรุงศรีอยุธยา พ่อท่านสมภารนอโม มีสามเณรรูปหนึ่งคอยติดตามรับใช้ ครั้งหนึ่งได้ธุดงค์ไปจำพรรษาโปรดสัตว์ยังภูเขาดิน ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของวัดบ้านสวน ใกล้บริเวณมีคลองอยู่เป็นสถานที่ลงล้างบาตรของพ่อท่านสมภารนอโม สามเณรได้นำบาตรลงล้างในคลองนี้ จึงเรียกติดปากชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า "คลองศาลาเณร" นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าว่าพ่อท่านสมภารนอโมได้เดินทางไปร่วมพิธีฉลองพระบรมธาตุวัดพะโคะ ระหว่างทางท่านได้ปักกลดที่บ้านท่าสำเภาใต้ (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาดิน) มีผู้ศรัทธาหล่อพระพุทธรูปสมภารนอโมขึ้นไว้เป็นที่สักการะสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
เป็นที่เล่าลือกันว่า พ่อท่านสมภารนอโมเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เก่งกล้าวิทยาคม สามารถสำแดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แม้ว่าพ่อท่านสมภารนอโมจะมรณภาพไปแล้วก็ยังสำแดงปาฏิหาริย์ให้ได้เห็นกัน ความจริงในการมรณภาพของพ่อท่านสมภารนอโมนั้น ไม่มีใครพบเห็นร่างของท่าน เนื่องเพราะพ่อท่านสมภารนอโมได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านเล่าขานกันว่าท่าน "โละ" กล่าวคือ หายตัวกลายเป็นแสงสว่างพุ่งเป็นทางไปในท้องฟ้า เช่นเดียวกับอัตโนประวัติของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ตอนหนึ่งที่หายไปจากวัดพะโคะ อิทธิคุณปาฏิหาริย์ของพ่อท่านสมภารนอ โมยังเป็นที่กล่าวขานอยู่ถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านสวนและบ้านใกล้เคียง เมื่อได้รับความเดือดร้อนเรื่องใด มักมาบนบานพ่อท่านสมภารนอโมให้ช่วยเหลือ ก็ได้สมหวังตามลำดับ

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน

อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน "ศิษย์" สายสำนักวัดเขาอ้ออีกรูปหนึ่ง คือ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) นับว่าเป็นที่น่าสนใจยิ่งอีกรูปหนึ่ง โดยหลวงพ่อคง วัดบ้านสวนเป็น "ศิษย์" สืบทอดวิชามาจากพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลา

ประวัติหลวงพ่อคง วัดบ้านสวน
พระครูพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2445 ที่บ้านทุ่งสำโรง หมู่ที่ 8 ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายส่ง มากหนู และนางแย้ม มากหนู มีพี่น้องด้วยกัน 4 คน คือ
1. นายปลอด มากหนู
2. นายกล่ำ มากหนู
3. นายกราย มากหนู
4. พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)
หาก บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ครั้ง พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ยังเยาว์วัย จึงได้อยู่ในความอุปการะของนายชู เกิดนุ้ย และนางแก้ว เกิดนุ้ย ผู้เป็นญาติ ซึ่งเมื่อพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) มีอายุพอสมควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว นายชู เกิดนุ้ย ได้นำไปฝากเป็นศิษย์พระครูสิทธิยาภิรัต (พระอาจารย์เอียด ปทุมสโร) ที่วัดดอนศาลา โดยเมื่อแรกได้ศึกษากับพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) โดยตรง ต่อเมื่อทางวัดดอนศาลาได้จัดตั้งโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ศึกษาร่ำเรียนในโรงเรียนแห่งนั้นจนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2462
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุนทรวาส ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน มีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุล ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลา เป็นพระศีลาจารย์ บรรพชาแล้วไปจำพรรษาอยู่วัดดอนศาลา แล้ววันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2466 จึงได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ ณ วัดดอนศาลา มีพระครูกาชาด (แก้ว) วัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดเกาะยาง ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน เป็นพระกรรมวาจารย์

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อคง ได้รับฉายาว่า "สิริมโต"
หลวงพ่อคง วัดบ้านสวนอยู่จำพรรษาและศึกษาร่ำเรียนที่วัดดอนศาลา แต่ไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดพิกุลทองจนสอบนักธรรมตรีได้ในปีที่บวช หากแต่เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ อีกทั้งครูสอนพระปริยัติธรรมสมัยนั้นหายากยิ่ง หลวงพ่อคง จึงเรียนพระปริยัติธรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่ก็ได้ศึกษาวิชาไสยเวท ตามตำรับวัดเขาอ้อจากพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) อีกทั้งยังคงขวนขวายในการหาตำรับตำราไสยศาสตร์ของท่านอาจารย์เฒ่าวัดเขาอ้อ มาศึกษาเองเพิ่มเติม จนมีความรู้แตกฉานและทรงวิทยาคุณในวิชาแขนงนี้ จนในชั้นหลังได้เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือจากประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัด พัทลุงเอง หรือจังหวัดใกล้เคียง และเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นเป็นลำดับ ต่างเรียกว่า พระอาจารย์คงบ้าง "พ่อท่านคง"บ้าง แม้ในชั้นหลังจะมีสมณศักดิ์แล้วก็ยังคงเรียกขานเช่นเดิม
หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน ไม่มีใครเรียกขานในนาม พระครูพิพัฒนสิริธรกันเลย
กล่าวในหน้าที่การงานและการสร้างสาธารณประโยชน์ของพระครูพิพัฒนสิริธร (คง สิริมโต) นั้น ในปี พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ในปี พ.ศ. 2482 พ่อท่านคง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระครูกัลยาณปรากรมนิวิฎฐ์ เจ้าคณะอำเภอควนขนุน ถึงปี พ.ศ. 2487 พ่อท่านคง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน ในปีพ.ศ.2491 หลวงพ่อคง ได้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระใบฎีกามาเป็นพระครูชั้นประทวน ที่พระครูคง สิริมโต ปีรุ่งขึ้นพ.ศ.2492 พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา และเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ มรณภาพลงเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2491 ทางเจ้าคณะอำเภอควนขนุนจึงมอบหมายให้ท่านรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือในปีพ.ศ.2493 อีก 3 ปีถัดมา คือ ในปีพ.ศ.2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลมะกอกเหนือ และยังได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอควนขนุนให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในพื้นที่ ตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลปันแต เป็นต้น จากบันทึกหลักฐานในการทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ว่า ได้ทำหน้าที่บรรพชาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2496 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2517 ก่อนหน้าที่จะมรณภาพ 5 วัน ได้ทำการอุปสมบทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,387 รูป ปัจจุบันลัทธิวิหาริกของพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ที่ยังอยู่ในสมณเพศประมาณ 30 รูป ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่สงฆ์ และสมณศักดิ์ก็มาก

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต่อเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูพิพัฒน์สิริธร" ทางด้านการพัฒนาก่อสร้างสาธารณประโยชน์ของ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) นับตั้งแต่เมื่อชาวบ้านได้เดินทางไปยังวัดดอนศาลา เพื่อขอพระภิกษุไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสวนที่ว่างลงต่อพระครูสิทธิ ยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) ที่ได้ให้ชาวบ้านเลือกพระภิกษุภายในวัดดอนศาลา ซึ่งขณะนั้นมีหลายรูปด้วยกันที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ พร้อมจะเป็นเจ้าอาวาสวัดได้ ซึ่งชาวบ้านได้เลือกพระภิกษุคง สิริมโต เนื่องเพราะว่ามีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มีอัธยาศัยดี มีบุคลิกลักษณะเหมาะสม เป็นผู้เอาการเอางาน สามารถที่จะพัฒนาวัดให้เจริญได้ ประกอบกับพระภิกษุคง สิริมโต เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติพระธรรมวินัย จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาก่อน เมื่อหลวงพ่อคง มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบ้านสวนแล้วนั้น นอกเหนือจากการปกครองคณะสงฆ์ของวัด พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ยังได้ร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้านบ้านสวนในการพัฒนาวัด และสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา และชาวบ้านทั้งหลาย
โดยในปีแรกที่หลวงพ่อคง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัด ได้จัดให้มีการศึกษาหนังสือไทยแก่เด็กชาวบ้านขึ้นภายในวัด โดยอาศัยศาลาโรงธรรมของวัดเป็นที่ศึกษาแทนโรงเรียน ให้พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นครูสอน การศึกษาได้เจริญเป็นลำดับมาจนภายหลังได้ก่อสร้างเป็นโรงเรียนประชาบาล ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลมะกอกเหนือ 2 (วัดบ้านสวนคงวิทยาคาร) เปิดสอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีพ.ศ.2477 ได้จัดตั้งสำนักเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้น โดยในชั้นแรกพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้ทำหน้าที่สอนเอง ทั้งนี้ด้วยสมัยนั้นหาผู้สอนพระปริยัติธรรมได้ยากมาก ต่อเมื่อได้ครูสอนแล้วหลวงพ่อคงท่านจึงได้หยุดสอนหนังสือ
ในปีพ.ศ.2479 เมื่อมีพระภิกษุจำพรรษาที่วัดเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีกุฏิเพียงพอ "หลวงพ่อคง"จึงได้สร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง มี 3 ห้อง และในปีพ.ศ.2482 ได้สร้างเพิ่มอีก 1 หลัง ปีพ.ศ.2484 ได้สร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลตำบลมะกอกเหนือ 2 (โรงเรียนวัดบ้านสวนคงวิทยาคาร) ซึ่งในการจัดสร้างครั้งนี้พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้ขออนุญาตทางราชการทำการตัดไม้ในป่ามาเลื่อยเป็นแผ่นกระดานสำหรับทำพื้น และฝา และในปีพ.ศ.2486 ได้จัดหาทุนสร้างโต๊ะ เก้าอี้สำหรับครู 2 ชุด โต๊ะและม้านั่งสำหรับนักเรียน 30 ชุด กระดานดำ 3 แผ่น มอบให้กับทางโรงเรียน พ.ศ.2488 ได้สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีกหนึ่งหลัง เป็นกุฏิไม้ใต้ถุนสูง ต่อมาในปีพ.ศ.2490 เมื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมวัดบ้านสวน มีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาเพิ่มเป็นจำนวนมาก อาคารเรียนไม่เพียงพอจึงได้สร้างขึ้น 1 หลัง เป็นอาคาร 2 ชั้น พ.ศ.2492 ได้สร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มอีก 1 หลัง เป็นกุฏิไม้ใต้ถุนสูง
ในปี พ.ศ. 2493 ได้สร้างบ่อน้ำเพิ่มขึ้น 1 บ่อ จากเดิมที่มีอยู่เพียงบ่อเดียว เพื่อสาธารณ ประโยชน์ทั้งวัดและชาวบ้านได้ใช้ในยามหน้าแล้ง พอปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2494 ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างถนนเข้าสู่วัด โดยเชื่อมต่อกับถนนใหญ่สายควนขนุน-ปากคลอง โดยได้ทำถนนพร้อมกัน 2 สาย คือ สายทางทิศตะวันออก และสายทางทิศตะวันตกของวัด ระยะทางของถนนที่สร้างยาวสายละ 400 เมตร ถึงปี พ.ศ. 2496 ได้ร่วมกับชาวบ้านตัดถนนขึ้นอีก 2 สาย จากวัดบ้านสวนตัดไปทางทิศใต้ผ่านหมู่บ้านในหมู่ที่ 5 และ 6 ตำบลมะกอกเหนือไปสู่วัดแจ้ง (คอกวัว) ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส่วนอีกสายหนึ่งตัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านหมู่ที่ 6 ตำบลมะกอกเหนือ เข้าหมู่ที่ 3 ตำบลโตนดด้วน

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ.2497 ได้สร้างกุฏิขึ้นอีก 1 หลัง เป็นกุฏิ 2 ชั้น แบบครึ่งตึกครึ่งไม้ เพื่อใช้เป็นกุฏิสำหรับเจ้าอาวาสวัด และพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) หลวงพ่อคง วัดบ้านสวนได้พำนักที่กุฏิหลังนี้ตราบจนมรณภาพ ครั้นปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2498 พระพุทธิธรรมธาดา เจ้าคณะอำเภอควนขนุนได้ชักชวนพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อออกพรรษาแล้วจึงได้เดินทางกลับยังวัดบ้านสวน และได้นำความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐานมาฝึกปฏิบัติให้กับชาวบ้าน หากแต่ต่อมาเมื่อมีภาระทางการบริหารคณะสงฆ์ และการพัฒนาวัดด้านอื่นๆ มากขึ้นจึงได้งดไปโดยปริยาย
ในปี พ.ศ. 2499 พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย ได้เดินทางเป็นคณะพร้อมด้วยพระพุทธิธรรมธาดา เจ้าคณะอำเภอควนขนุน เป็นเวลาเดือนเศษ ตอนขากลับได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เกิดสืบเนื่องจากต้นเดิมมาด้วย 2 ต้น ซึ่งได้นำไปปลูกไว้บนไหล่เขาวัดภูเขาทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 1 ต้น ได้ทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 8-10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ส่วนอีกต้นนั้นได้นำไปปลูกไว้ที่วัดในประเทศมาเลเซีย
ในปี พ.ศ. 2501 ศิษยานุศิษย์ และประชาชนที่เคารพนับถือได้ร่วมใจกันจัดงานทำบุญและฉลองพัดยศ เพื่อแสดงมุทิตาจิตในการที่พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 แต่งานได้จัดเมื่อวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 พร้อมกับทำบุญอายุ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบริจาคเงินมอบให้กับพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) เพื่อใช้จ่ายในการสาธารณประโยชน์ ซึ่งท่านได้ปรารภจะนำเงินดังกล่าวไปสร้างกุฏิถวายวัดคูหา สวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ คณะลูกศิษย์ต่างก็มีความยินดีจึงได้ร่วมสร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง ได้ตั้งชื่อว่า "กุฏิพิพัฒน์อนุ สรณ์" ทางวัดคูหาสวรรค์ได้จัดเป็นที่พำนักของเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง พ.ศ. 2504 พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้สร้างหอระฆังขึ้น 1 หอ โดยได้รับบริจาคทุนทรัพย์จากนายแพทย์สวัสดิ์ บุณยะกุล และนางกันยา บุณยะกุล ถึงปี พ.ศ. 2505 ก็ได้สร้างถนนอีก 1 สาย จากวัดบ้านสวนไปสู่บ้านไสคำ หมู่ที่ 1 ตำบลโตนดด้วน ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2506 ได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ปีเดียวกันนั้นยังได้สร้างอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านสวนคงพิทยาคารเพิ่มอีก 1 หลัง ด้วยอาคารเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
ในปี พ.ศ. 2508 ได้จัดสร้างเชิงตะกอนเผาศพพร้อมศาลาสำหรับทำพิธี 1 หลัง ปี พ.ศ. 2512 ได้ดำเนินการสร้างระบบประปาขึ้นใช้ภายในวัด และโรงเรียนบ้านสวนคงพิทยาคาร และสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มอีก 1 หลัง ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2513 ได้ติดต่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดพัทลุง ดำเนินการติดตั้งและเดินสายไฟเข้าวัดบ้านสวน ตลอดจนย่านชุมชนในบริเวณใกล้วัดด้วย
ในปี พ.ศ.2513 พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) เห็นว่าอุโบสถวัดซึ่งสร้างด้วยไม้ล้วน และสร้างมาเนิ่นนานแล้วได้ชำรุดทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะ จึงคิดที่จะสร้างขึ้นใหม่ และได้ปรึกษากับอาจารย์ชุม ไชยคีรี ศิษย์ฆราวาสของท่าน พร้อมด้วยนายแก้ว พ่วงคง และนายเพ็ง พ่วงคง ช่างก่อสร้างที่มีฝีมือ เพื่อดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างขึ้นเป็นอาคาร 2 ชั้น เหตุที่พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) สร้างอุโบสถ 2 ชั้น เพื่อเป็นการประหยัด เนื่องเพราะสร้างเพียงอาคารเดียวหากยังได้ศาลาการเปรียญ 1 หลัง หรือโรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง โดยใช้อาคารชั้นล่างเป็นสถานที่นั่นเอง อุโบสถหลังใหม่ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2513 และประกอบพิธียกช่อฟ้าไปเรียบร้อยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2515 หากอุโบสถก็ยังคงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเรียบร้อย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่อุโบสถหลังนี้มาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต่อเมื่อพระครู พิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) มรณภาพไปแล้ว โดยได้มรณภาพเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2517
แต่ก่อนที่ท่านจะมรณภาพในปี พ.ศ.2516 พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนจากประถมที่ 1-4 ไปจนถึงประถมปีที่ 6 และยังได้สร้างกุฏิเพิ่มอีก 1 หลัง ในปี พ.ศ. 2517 แต่ทั้ง 2 สิ่งที่ท่านดำเนินการล้วนมาเสร็จสิ้นภายหลังจากท่านมรณภาพแล้ว

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มีเรื่องน่าบันทึกก่อนวันมรณภาพของ หลวงพ่อคง วัดบ้านสวนหรือพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) กล่าวคือ ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2517 พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้นำพระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัดและญาติโยม ทำการปักรั้วขยายเขตระหว่างวัดกับโรงเรียนบ้านสวนคงพิทยาคารเสียใหม่ โดยขณะปักรั้วเขตกั้นนั้น สายฝนได้โปรยปรายมาไม่ขาดระยะ หากท่านก็ยังคงปักรั้วเขตท่ามกลางสายฝนจนแล้วเสร็จ
หากระหว่างนั้น ครูประทิน เดชสง ครูโรงเรียนวัดบ้านสวนคงพิทยาคาร ได้ผ่านมาทางวัดพบเห็นเกรงว่าท่านจะเจ็บไข้ไม่สบาย จึงได้กล่าวกับท่านว่า "หลวงพ่อคง ทำงานกลางสายฝนนานๆ อย่างนี้ไม่กลัวเป็นหวัดหรือ เข้าในที่พักเสียดีกว่า" หากพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้ตอบไปว่า "ไม่พรือ ไม่ใช่ตัวคนทำด้วยดินนี่ ที่จะละลายไปกับน้ำได้ เรามาปักเขตรั้วเพื่อแบ่งปันสมบัติให้พวกเธอ เมื่อเราตายแล้วไม่มีใครจะแบ่งปันสมบัติให้พวกเธออีก" ครั้นวันรุ่ง วันที่ 21 กันยายน ท่านได้บอกว่า เมื่อคืนท่านเป็นไข้หวัดตลอดคืน วันนี้ก็ยังไม่หาย หากวันนี้ยังมีการประชุมกรรมการวัดในเรื่องงานทำบุญอายุนายเชน คำหนูอินทร์ ครูใหญ่โรงเรียนวัดบ้านสวนคงพิทยาคารซึ่งครบเกษียณอายุราชการ และเรื่องจัดงานรับคณะกฐินที่จะนำมาทอดในวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งประชุมกันในเวลา 13.00-16.00 น. และพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้นั่งเป็นประธานจนประชุมเสร็จทั้งที่ท่านอาพาธอยู่
วันที่ 22 กันยายน อาการของท่านกำเริบกว่าวันก่อนเล็กน้อย ทว่ายังฉันเช้าและเพลได้ ทั้งยังสนทนากับผู้มาเยี่ยมได้ แต่ตกบ่ายเมื่อลูกศิษย์เห็นว่าอาการอาพาธหาทุเลาลงไม่ จึงได้ตามนายแพทย์ปรากรมมารักษา ได้ถวายยาฉีด และสั่งว่าวันพรุ่งนี้ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้นำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล
วันที่ 23 กันยายน พระพิณ และนายประเสริฐ ผู้พยาบาลท่านได้ไปตามอาจารย์ชุม ไชยคีรี พร้อมทั้งเล่าอาการป่วยของพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ให้ฟัง เมื่อคืนมีอาการไข้ขึ้นสูง ละมีอาการหอบไอด้วยนอนไม่หลับทั้งคืน อาจารย์ชุมจึงรีบไปดูอาการ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) บอกว่าท่านเพลียมาก และนอนไม่หลับแล้วก็ไม่พูดอะไรอีก อาจารย์ชุมพร้อมด้วยผู้ดูแลท่าน และญาติโยมที่กำลังเฝ้าดูอาการของท่านในขณะนั้น จึงนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุง เมื่อเวลา 07.00 น. กระทั่งเวลา 10.45 น. พระครูพิพัฒน์สิริธร(คง สิริมโต) ก็มรณภาพลงด้วยอาการหัวใจวายอย่างปัจจุบันด้วยอาการสงบ
กล่าวสำหรับพระเครื่องวัตถุมงคลที่พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้สร้างขึ้นมานั้น ในปี พ.ศ. 2483 ได้สร้างพระกลีบบัวเนื้อเงินยวงขึ้นมา โดยก่อนหน้านั้นชาวบ้านได้ขุดพบก้อนเนื้อเงินยวงก้อนใหญ่ จึงได้นำมาถวายพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) และเห็นว่าเป็นเนื้อเงินยวงศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่มานานจึงได้นำมาหลอมรวมกับ ชนวนศักดิ์สิทธิ์ และตะกรุดของคณาจารย์สายเขาอ้อ เทหล่อ พระเครื่องพิมพ์กลีบบัวขึ้นมาจำนวนประมาณ 1,000 องค์

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระกลีบบัวหลวงพ่อคง วัดบ้านสวน ปี2495 พัทลุง
พุทธลักษณะเป็น พระเครื่องหล่อพิมพ์กลีบบัว
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับบนอาสนะบัวคว่ำบัวหงาย รอบองค์พระเป็นเส้นรัศมี ขอบข้างยกเป็นเส้นลวด ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระขอม 3 บรรทัด ล่างสุดเป็นอักษรย่อ "ว.บ.ส." หมายถึง วัดบ้านสวน ใน ปี พ.ศ.2511 ขณะนั้นบ้านเมืองกำลังถูกคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน จึงได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่บรรดาทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ และประชาชน โดยจัดสร้างพระปิดตานอโมขึ้นมาเป็นพระปิดตารูปทรงกลีบบัว หรือเล็บมือ ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระภควัมบดี ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์ ด้านหลังพื้นเรียบ

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



มวลสารที่นำมาสร้างพระเครื่องในครั้งนี้ ประกอบด้วยผงวิเศษ ว่านต่างๆ ดังนี้
กรุสุพรรณบุรี-ผงพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง ผงพระขุนแผนไข่ผ่าซีก ผงพระเนื้อชินกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
กรุสุโขทัย-พระเนื้อชิน พระเนื้อดิน กรุวัดมหาธาตุ พระผงหลวงพ่อโต วัดป่ามะม่วง ผงพระกรุวัดช้างล้อม ผงระกรุวัดป่ากล้วย ผงพระนางพญาเสน่ห์จันทน์ ผงพระกรุวัดพระเชตุพน ฯลฯ

พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)
กรุพิษณุโลก-ผงพระเนื้อดินเผา วัดสะตือ ผงพระเนื้อดินเผา วัดท่ามะปราง ผงพระเนื้อดินเผา วัดจุฬามณี ผงพระกรุวัดชีปะขาว ผงพระอาจารย์แปลก วัดราชบูรณะ ผงพระกรุวัดนางพญา ผงพระกรุวัดอรัญญิก ผงพระพุทธรูปที่ชำรุด วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

กรุนครศรีธรรมราช-ผงพระคัมภีร์พระไตรปิฎก วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ผงตะไคร่พระเจดีย์ทุกองค์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ผงพระหักกรุวัดท่าเรือ ผงอิฐพระเจดีย์วัดท่าเรือ ผงพระเนื้อดินเผากรุวัดนางตรา ผงวัดท้าวโคตร ผงว่าน 108 ของพล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช

กรุเพชรบูรณ์-ผงดินพระหัก เจ้าพ่อหลักเมือง ผงดินพระป่นวัดเสือ ผงดินหักป่นวัดช้างเผือก ผงดินพระหักป่นวัดพระแก้ว ผงดินพระหักป่นวัดมหาธาตุ

กรุพัทลุง-ผง ดินดิบสมัยศรีวิชัย ถ้ำคูหาสวรรค์ ผงอิทธิเจพระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด ปทุมสโร) วัดดอนศาลา ผงพระหักป่นวัดเขาเจียก ผงดินท้องถ้ำเขาไชยสน ผงดินดิบสมัยศรีวิชัยถ้ำอกทะลุ

กรุลำพูน-ผงพระรอดมหาวัน ผงพระเปิม ผงพระสาม หรือพระตรีกาย และยังมีผงพระกรุอื่นๆ อีกจำนวนมาก ตลอดจนว่านหลายชนิด เช่น

ว่านจำพวกเมตตามหานิยม และมหาลาภ ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว ว่านเสน่ห์จันทน์แดง ว่านนางคุ้ม ว่านนางกวัก ว่านเศรษฐี ว่านนางล้อม ว่านโบตั๋น ว่านขอทอง ว่านขอเงิน ว่านขอลาภ ว่านน้ำเต้าทอง ว่านโป๊ยเซียน ฯลฯ

ว่านจำพวก คงกระพันชาตรี ว่านสามพันตึง ว่านพระยาดาบหัก ว่านหอกหัก ว่านคางคก ว่านมหาเมฆ ว่านมหานิล ว่านไพลดำ ว่านสบู่เลือด ว่านเพชรตาหลีก ว่านมหากาฬ ว่านมหาปราบ ว่านขมิ้นดำ ว่านสากเหล็ก ว่านเขาควาย ว่านพระเจ้าห้าพะองค์ ว่านหนุมาน ว่านประกายเหล็ก ว่านกระชายดำ ว่านกำแพงเพชรเจ็ดชั้น

ว่านจำพวกกำลังมาก ว่านพญาราชสีห์ ว่านเสือ ว่านม้า ว่านนิลล้อม ว่านพญาช้างสาร ว่านพญาช้างชัก ว่านถอนโมกขศักดิ์

ว่านจำพวกการสิทธิ์เทวดารักษา ว่านพระจันทร์ ว่านพระอาทิตย์ ว่านพระมเหศวร ว่านพระนารายณ์ ว่านพระนางมาควดี ว่านตาลปัตรฤาษี ว่านแสงไฟ ว่านกายสิทธิ์ ว่านพญานาค ว่านพญาหมอก ว่านไมยราบ ว่านพระฤาษีประสมยา ว่านปู่เจ้าสมิงพราย ว่านปู่เจ้าเขาเขียว


10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 16:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ว่านที่นำมาเมื่อเวลาไปเอาต้องดูฤกษ์ยาม และต้องทำพิธีบวงสรวงสังเวยก่อน จึงนำมาใช้ได้
น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่นำมาประสมว่านยา และมวลสาร
1. น้ำพระพุทธมนต์ในพระราชวังหลวง 170 ปี
2. น้ำพระพุทธมนต์ทำสังคายนา 25 พุทธศตวรรษ โดยพระเถระทั่วโลก 2,500 รูป ประเทศพม่า
3. น้ำพระพุทธมนต์ 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
4. น้ำพระพุทธมนต์ 25 พุทธศตวรรษท้องสนามหลวง
5. น้ำพระพุทธมนต์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

6. น้ำพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
7. น้ำในสระศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั่วประเทศ มีสระแก้ว สระคง สระยมนา สระเกตุ สระจันทร์ สระพังเงิน สระพังทอง สระศักดิ์สิทธิ์จังหวัดเพชรบุรี
8. น้ำมนต์หลวงพ่อเลื่อน วัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช
9. น้ำมนต์หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี
10. น้ำในมหานที 9 สาย
11. น้ำในแม่น้ำ 108 บาง ทั่วประเทศ

มวลสารเหล่านี้นำมาบดผสมคลุกเคล้า และกดพิมพ์พระเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้พระพิมพ์รวมทั้งหมด 100,000 องค์ แล้วได้จัดพิธีพุทธาภิเษก และปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายวัดเขาอ้อ เช่น พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน หลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก พระอาจารย์เล็ก วัดประดู่เรียง พระอาจารย์ปาล วัดเขาอ้อ อาจารย์นำ วัดดอนศาลา พระครูกาชาด (บุญทอง) วัดดอนศาลา พ่อท่านคล้อย วัดถ้ำเขาเงิน พระไชย วัดบ้านสวน พระอาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระครูกาชาด วัดอินทราวาส

นอกจากนั้นยังมีศิษย์ฆราวาสสายวัดเขาอ้อ เช่น อาจารย์ชุม ไชยคีรี นายแจ้ง นายแคล้ว ฯลฯ
ได้ปลุกเสกไปจนถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2511 รวมระยะเวลา 33 วัน


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้