คำอธิษฐานก่อนตักบาตร ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา มีเป็นหมายเพื่อให้มนุษย์ปลดเปลื้องตนเองจากทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระเหนือทุกข์ทุกอย่าง (พระนิพพาน) หลักการดำเนินชีวีตของชาวพุทธนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งพระโบราณาจารย์ท่านจึงบัญญัติคำ อธิษฐานที่เป็นสากลนิยมไว้ว่า"อิ ทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ อะนาคะเต กาเล ฯ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายทานนี้แด่พระสงฆ์ผู้มีศีล ขอท่านที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว จงเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเทอญ ฯ" อีกบทหนึ่งเป็นคำอธิษฐานถึงพระสังฆรัตนะ ว่า “นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง, เอเตนะ สังจะวัชเชนะ, โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยคำสัตย์ นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อ เทอญ ฯ”
ข้อปฏิบัติในการใส่บาตร 1. นิมนต์พระ
หลังจากที่เราเตรียมสำรับกับข้าวเรียบร้อยแล้ว เราก็ยืนรอพระที่จะเดินบิณฑบาตผ่านมา การยืนรอพระในขั้นตอนนี้ ควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่า เส้นทางนี้มีพระเดินผ่านหรือไม่ ไม่ใช่ว่าไปรอบนทางสายเปลี่ยวที่ไม่มีพระเดินผ่าน คงไม่ได้ใส่กันพอดี รอซักพัก พอมีพระเดินมาก็นิมนต์ท่าน การนิมนต์ ก็ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/ค่ะท่าน" แค่นี้พระท่านก็ทราบแล้ว ตอนเป็นพระเคยเดินบิณฑบาตที่ตลาดเขมร โยมนิมนต์ด้วยถ้อยคำอันรื่นหูว่า "ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ" มีอีกทีนึงโยมใช้คำว่า "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์" การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวม และใช้เสียงดังพอประมาณ โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง "นิ โมนน!!" การนิมนต์ควรสังเกตอายุของพระด้วย ถ้าอายุน้อยกว่าเราหรือว่าเยอะกว่าไม่มากก็เรียกว่า หลวงพี่ ถ้ามีอายุหน่อยก็เรียก หลวงน้า ถ้าแก่พรรษามากก็เรียก หลวงตา หรือนอกจากนี้ก็อาจจะเรียก หลวงอา, หลวงลุง, หลวงปู่ ฯลฯ แล้วแต่จะลำดับญาติ โยมบางคนคงเขินอายพระ เนื่องจากไม่ค่อยได้ใส่บาตรเท่าไร เวลาพระเดินมาก็ยื่นมือออกมาทำท่ากวักๆ ทำเหมือนพระเป็นรถเมล์ หลังจากนิมนต์พระ ก็เข้าสู่ขั้นตอนถัดไปคือ
2. จบ
อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจบแล้วนะ การจบ หมายถึง การเอามาทูนไว้ที่หัวแล้วอธิษฐาน การจบ ควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่ต้องอธิษฐานนานจนเกินไป เคยมีโยมนิมนต์ไปรับบาตร ไอเราก็เดินไปเปิดฝาบาตรรอรับ โยมก็จบอยู่ ขอบอกว่านานมากกกกกกก นานจนรู้สึกได้ นานจนอดคิดไม่ได้ว่า "โยมขออะไรเราน้า?" 3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า
จริงๆ แล้ว จุดประสงค์ของการถอดรองเท้า คือเป็นการให้ความเคารพพระสงฆ์โดยการไม่ยืนสูงกว่าท่าน เพราะเวลาพระสงฆ์บิณฑบาตจะเดินเท้าเปล่า แต่มีญาติโยมบางคนไม่เข้าใจเกี่ยวกับการถอดรองเท้าซึ่งมีหลายประเภทเหมือนกัน 4. ใส่บาตร
อันนี้ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใส่บาตร สิ่งสำคัญที่ทุกคนมองข้ามก็คือ ควรดูว่าของที่นำมาใส่บาตรนั้นเสียรึเปล่า บางคนมีเจตนาอยากทำบุญดี แต่ดันไปซื้อของเสียมาใส่บาตร พระฉันไป เข้าห้องน้ำไป พวกร้านค้าก็จริงๆ บางครั้งเอาของค้างคืนมาขายเอากำไร ไม่สนใจพระเจ้า เห็นแก่ตัว หากินกับพระ ก็ฝากด้วยนะครับ เดี๋ยวทำบุญจะได้บาปเปล่าๆ นอกจากนี้ ของที่นำมาใส่ถ้าเพิ่งปรุงสุกเสร็จ ควรดูด้วยว่ามันร้อนมากรึเปล่า เคยมีโยมใส่แกงร้อนมากๆๆ บาตรเกือบหล่น ทั้งนี้เพราะบาตรทำจากโลหะ นำความร้อนได้ดี ปริมาณไม่ควรมากจนเกินไป การใส่ก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม โยมผู้หญิงบางคนกลัวโดนพระจัด พอถุงกับข้าวถึงแค่ปากบาตร ก็ปล่อยลงมา ตุ๊บ!! นึกว่ากาลิเลโอกลับชาติมาทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ขั้นตอนต่อไปคือ 5. รับพร
หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ส่วนมากก็จะให้พร เราเป็นญาติโยม ก็ประนมมือรับพรกันตามระเบียบ โดยอาจยืนหรือนั่งยองๆ ก็ได้ ก้มหัวแต่พองาม ถ้าเป็นโยมผู้หญิงก็นั่งให้เรียบร้อย เหมาะสม ระหว่างนี้ก็อุทิศส่วนกุศลให้คนที่รัก เจ้ากรรมนายเวรและอื่นๆ ก็ว่ากันไป การใส่บาตรที่อยากแนะนำก็มีประมาณเท่านี้ ขั้นตอนการทำบุญง่ายๆ ตื่นเช้ามาใส่บาตรกันเถอะจ้า คนไทย
ที่มา http://www.unigang.com/Article/5492
|