องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อได้ศึกษาปรมัตถโชติกาแล้ว พบว่า บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมสโมธาน (การประชุมธรรม) ๕ ประการ ๓ คือ:- ๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) คือ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เป็นเทวดาไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสุรกาย ๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺคสมฺปตฺติ) คือ เป็นเพศชายเท่านั้น จะเป็นผู้หญิง กะเทยและอุภโตพยัญชนก (บุคคลที่มี ๒ เพศในคนเดียวกัน) ไม่ได้ แต่กระนั้น ผู้หญิงสามารถเป็นมารดาของผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ ๓. การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลาย (วิคตาสวทสฺสนํ) คือ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ๔. อธิการ (อธิกาโร) คือกระทำอันยิ่ง ต้องบริจาคชีวิตของตนเองแล้วจึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕. ความพอใจ (ฉนฺทตา) คือ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้ว่าจะยากลำบากประสบพบปัญหาอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น มีคนกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถเหยียบสากลจักรวาล อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟได้ ใครก็ตามที่สามารถเหยียบข้ามสากลจักวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวได้ ใครก็ตามที่สามารถลุยข้ามสากลจักรวาลอันเต็มไปด้วยน้ำปริ่มฝั่งได้ ใครก็ตามที่สามารถก้าวล่วงสากลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดรได้ จึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า "เราสามารถทำเช่นนั้นได้" มีคาถาแสดงไว้ว่า "มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ วิคตาสวทสฺสนํ อธิกาโร ฉนฺทตา เอเต อภินีหารการณาฯ" "มีเหตุแห่งปณิธานขึ้นพื้นฐาน (ก็เพราะธรรมสโมธาน ๕ ประการ) เหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ,การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ, อธิการและความพอใจ" แต่สำหรับบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมซึ่งเรียกว่า ธรรมสโมธาน ๘ ประการ๔ คือ:- ๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) มีนัยเดียวกับองค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺสมฺปตฺติ) ก็มีนัยเดียกัน ๓. เหตุ (เหตุ) คือ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพยายามอย่างเต็มกำลัง จะสามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ๔. การเห็นพระศาสดา (สตฺถารทสฺสนํ) คือการเห็นเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง อาทิเช่นสุเมธบัณฑิตได้เห็นพระทีปังกรพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วจึงตั้งปณิธาน ๕. การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) คือ ความเป็นอนาคาริก ต้องเป็นนักบวชผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตเป็นดาบสชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน ๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ (คุณสมฺปตฺติ) คือการได้คุณธรรมหรือธรรมวิเศษมีฌานเป็นต้น อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วจึงตั้งปณิธาน ๗. อธิการ (อธิกาโร) มีนัยเดียวกัน ๘. ความพอใจ (ฉนฺทตา) ก็มีนัยเหมือนกัน
มีคาถาแสดงไว้ว่า "มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ เหตุ สตฺถารทสฺสนํ ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตติ อธิกาโร ฉนฺทตา อฎฺฐธมฺมสโมธานา อภินีหาโร สมิชฺฌติฯ" "ปณิธานขั้นพื้นฐานย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ, เหตุ, การเห็นพระศาสดา, การบรรชา, ความถึงพร้อมแห่งคุณ, อธิการและความพอใจ" ส่วนผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระอัครสาวกทั้งสองและพระอสีติมหาสาวก ต้องมีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ อธิการ หรือการกระทำอันยิ่ง (อธิกาโร) และความพอใจ (ฉนฺทตา)๕ หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า ปรมัตถโชติกา ๖ เล่าเรื่องของ สุสีมมาณพ ผู้ปรารถนาจะเห็นเบื้องปลายของศิลปะจึงถูกส่งไปหาฤๅษีที่ป่าอิสิปตนะ หลังจากไปป่าอิสิปตนะแล้ว ได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถามว่า"ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายของศิลปะบ้างไหม?" พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า "เออ เรารู้สิท่าน" สุสีมมาณพอ้อนวอนว่า "โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด" พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย "ถ้าอย่างนั้นก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวชศึกษาไม่ได้ดอก" สุสีมาณพ "ดีละ ขอรับ โปรดให้ข้าพเจ้าบวช แล้วให้ศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด" พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ไม่สามารถให้เขาเจริญกรรมฐานได้ ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร (ความประพฤติที่ดีงาม) อาทิเช่น ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่นานนักจึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ ในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องอภิสมาจารเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งท่านก็สอนธรรมเช่นกัน แต่สอนเพียงสั้นๆ อาทิเช่น จงสิ้นราคะ จงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา โดยไม่มีหลักคำสอนที่เป็นระบบเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกประการหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าคงจะเป็นเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพราะเหตุที่ว่า "ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยของตรรกวิทยา ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็ถ้าเราพึงจะแสดงธรรม สัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหนื่อยเปล่า ความลำบากเปล่าแก่เรา" ท้าวสหัมบดีพรหมจึงทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ โดยให้เหตุผลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระองค์ จงทรงแสดงธรรมเถิด เพราะสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้"๗ แต่จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสลัดทิ้งความท้อพระทัยเสีย แล้วทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ จากหลักฐานข้างต้นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไม่สามารถเอาชนะความคิดที่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นรู้ตามได้ยากนั้นได้ จึงไม่ได้เตรียมแสวงหาสาวกและสอนให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับตน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรู้สึกจะสมัครใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รู้แจ้ง โดยอาศัยความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของผู้นั้นเป็นหลัก ดังนั้น ท่านจึงมิได้ก่อตั้งสถาบันศาสนาอันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
|