ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2826
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

"ตำนานน้ำพริกลงเรือ.... เจ้าจอมสดับ"

[คัดลอกลิงก์]

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ได้รับสนองพระมหากรุณาธิคุณในกิจการห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนัก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีความชำนาญในการปรุงอาหารคาวหวาน และยังเป็นผู้ที่มีรสนิยมในการรับประทานอาหารเป็นอย่างยิ่ง มีความสุขที่จะเป็นผู้ทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทานมาตั้งแต่ยังสาว
เมื่อเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าจอมสดับมีอายุเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ทรงเล่าว่า...
"มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคุณจอมสดับอีกเรื่อง คือ กับข้าวสำเร็จรูปซึ่งเรียกว่า น้ำพริกลงเรือ คนรู้จักกันมาก แต่ไม่รู้เหตุผลเรื่องนั้น คือ เจ้านายในรัชกาลที่๕ เข้าไปอยู่วังสวนสุนันทาใหม่ๆ ดินที่ขุดมาถมเพื่อทำตำหนักทำให้มีสระกว้างใหญ่ยาว ต่างองค์ต่างมีเรือพายเล่น...
วันหนึ่งตอนค่ำ คิดจะลงเรือกัน สมเด็จอาหญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเ ธอฯ) ก็ชวนว่าให้ไปกินข้าวในเรือกันเถอะ ก็รับสั่งว่า'...สดับไปดูซิในครัวมีอะไรบ้าง...'เวลานั้นยังไม่ ถึงเวลาเสวย คุณจอมสดับเข้าไปในห้องเครื่อง เห็นมีแต่ ปลาดุกทอดฟู กับ น้ำพริกตำไว้เท่านั้น
จึงหยิบน้ำพริกกับปลามาผัดรวมกับ หมูหวาน เล็กน้อย พอตักขึ้นมาก็หยิบ ไข่เค็ม ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ต้ม ความที่เป็นคนคล่องและไว เลยทิ้งไข่ขาว เอาแต่ไข่แดงดิบวางลงไปทั้งลูก และจัดผักเตรียมลงมาด้วย กลายเป็นอร่อยมาก ถึงเรียก น้ำพริกลงเรือ เกิดขึ้นเพราะคุณจอมสดับนี่เอง...."
เหตุด้วย เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นผู้ที่เติบโตมาภายใต้พระอุปถัมภ์บำรุงของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาถฯ ซึ่งรับสนองพระมหากรุณาธิคุณในกิจการห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนัก
จึงมีผลให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีความชำนาญในการปรุงอาหาร คาวหวาน ควบคู่ไปกับงานฝีมือด้านอื่นๆ ซึ่งอุปนิสัยส่วนตัวของเจ้าจอมสดับนั้นเป็นผู้มีรสนิยมในการรับ ประทานอาหารเป็นอย่างยิ่ง มีความสุขที่จะเป็นผู้ทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทานมาตั้งแต่วัยสาว จนแม้กระทั่งอายุ ๙๒ปีเศษแล้ว ก็ยังไม่งดที่จะลงมือตำน้ำพริกเองในยามมีหลานหรือแขกไปรับประทานอาหารด้วย
ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อท่านเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเวลานี้นี่เอง ที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง โดยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง
วันหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกรุณาเสด็จเยี่ยมที่ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ประจวบเป็นเวลาที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับกำลังจะรับประทานอาหารกลางวันจึงกราบเรียนเชิญเสด็จ พร้อมทั้งกราบทูลว่า
“ แหม นี่ถ้าประทานรับสั่งมาก่อนล่วงหน้าสัก ๑๐ นาทีว่าจะเสด็จมา จะตำน้ำพริกตั้งเครื่องทันที ”
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนอกจากจะเป็นผู้ที่มีรสมือหาตัวจับยากแล้ว ยังเป็นผู้ไม่ปิดบังตำรา ตรงกันข้ามกลับมีความยินดีที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้น และทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดแก่ผู้ใดแล้วก็ตามก็จะต้องพูดติดปากเสมอว่า “ เป็นตำราพระวิมาดา ” แสดงถึงความยกย่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในฐานะที่ทรงเป็นต้นตำรับ และแสดงถึงความเป็นผู้ไม่แอบอ้างว่าอาหารอร่อยเพราะเพียงฝีมือผู้ปรุงเท่านั้น ตำรับเป็นส่วนสำคัญด้วย
เจ้าจอมสดับได้ครองตนเป็นที่น่าเคารพนับถือ โดยปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันให้เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนได้กราบบังคมลาอนิจกรรมในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี
ตำนานน้ำพริกลงเรือโดยเจ้าจอมคนสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปิดฉากลงและทิ้งตำรับอาหารที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดิน....
----------------------------------///
ที่มา
: ร้อยเรียงเรื่องราวจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และเวปไซด์www.ladysquare.com/forum_posts.asp?TID=341 ในหัวข้อ ตำนานน้ำพริกลงเรือ
: ขอขอบคุณภาพประกอบ
ภาพแรก : เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถ่ายไว้เมื่อพ.ศ.๒๕๐๗ อายุ ๗๔ปี (อ้างอิง หนังสือศรุตานุสรณ์ ใน pantip.com)
ภาพที่สอง: เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้รับเชิญไปวางศิลาฤกษ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางละมุง เป็นภารกิจสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้สนองพระมหากรุณาธิคุณฯ (อ้างอิง หนังสือศรุตานุสรณ์ ใน pantip.com)
ภาพที่สาม : ตำรากับข้าวไทย (อ้างอิง หนังสือศรุตานุสรณ์ ในpantip.com)
ภาพที่ สี่ :น้ำพริกลงเรือ ในปัจจุบันมีการดัดแปลงเพิ่มเติมเครื่องต่างๆลงไปตามสูตรเฉพาะของแม่ครัวแต่ละคน (ภาพประกอบจากเวปไซด์jahatyab.com/?p=27)


















ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้