| คณะนักโบราณคดีทั้งชาวเนปาลและชาวต่างประเทศ แถลงในวันจันทร์ (25 พ.ย.) ว่า จากการขุดค้นภายในวัดมายาเทวี ที่ ตำบลลุมพินี ทางภาคใต้ของเนปาลซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนอินเดีย และเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า พบว่านอกจากมีวัดโบราณทำด้วยอิฐ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในยุค 3 ศตวรรษก่อน ค.ศ. (ซึ่งก็คือราว พ.ศ. 100 เศษๆ) แล้ว ลึกลงไปอีกยังมีวัดเก่าแก่กว่านั้นที่โครงสร้างทำด้วยไม้ ซึ่งอายุตกอยู่ในช่วง 6 ศตวรรษก่อน ค.ศ. (เท่ากับก่อน พ.ศ. ราว 200 ปี) |
|
|
**วัดอายุด้วยเทคนิควิทยาศาสตร์** ปัจจุบันในแต่ละปีมีชาวพุทธเป็นล้านๆ คนเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่ตำบลลุมพินี ซึ่งถูกระบุมาเนิ่นนานแล้วว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ทว่านอกเหนือจากหลักฐานเอกสารจำนวนมาก เป็นต้นว่า พระไตรปิฎก ที่บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนและแทรกพุทธประวัติเอาไว้ด้วย โดยที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นการท่องจำด้วยวาจาต่อๆ กันมา ก่อนจะถูกบันทึกเป็นตัวอักษรแล้ว ยังคงไม่มีหลักฐานอย่างอื่นๆ ที่จะยืนยันให้นักวิชาการสมัยใหม่มั่นอกมั่นใจ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ ประมาณการเกี่ยวกับช่วงเวลาประสูติของพระพุทธเจ้านั้น ก็มีผู้ให้ไว้แตกต่างกันไป บางคนย้อนหลังไปไกลถึงปี 623 ก่อน ค.ศ. (เท่ากับก่อน พ.ศ. 80 ปี) ทว่านักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่ากรอบเวลาที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าคือช่วงระหว่าง ปี 390 – 340 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ.153 - 203) ก่อนหน้านี้ หลักฐานเก่าที่สุดเกี่ยวโครงสร้างสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาในลุมพินีนั้น มีอายุไม่มากไปกว่ายุค 3 ศตวรรษก่อน ค.ศ. ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อตรวจสอบให้ทราบข้อเท็จจริง พวกนักโบราณคดีจึงเริ่มต้นขุดค้นที่บริเวณใจกลางของวัดมายาเทวี ซึ่งก็คือขุดค้นอยู่ข้างๆ บรรดาพระสงฆ์, ชี, และนักแสวงบุญ ที่กำลังเข้าไปนมัสการหรือนั่งสมาธิอยู่ภายในวัดนั่นเอง ปรากฏว่าในการขุดค้น นอกจากวัดสร้างด้วยอิฐหลายๆ รุ่นที่อยู่ในชั้นบนๆ ขึ้นมาแล้ว พวกเขายังขุดลงไปพบโครงสร้างที่เป็นไม้ ซึ่งบริเวณตรงกลางว่างเปล่า และก็ไม่มีหลังคาคลุม ทั้งนี้พวกวัดทำด้วยอิฐหลายๆ รุ่นซึ่งอยู่ชั้นบนๆ เหนือโครงสร้างไม้ขึ้นมา ก็สร้างในลักษณะล้อมรอบพื้นที่ตรงกลางนี้เช่นกัน การขุดค้นและการวิจัยทางโบราณคดีธรณี (geoarchaeology) ยังยืนยันว่า มีรากของต้นไม้โบราณอยู่ในพื้นที่ว่างตรงกลางของอาคารไม้ อันเป็นการบ่งบอกว่าอาคารไม้โบราณนี้เป็นสถานที่เพื่อการบูชาต้นไม้ ในเวลานี้ ได้มีการนำเอาส่วนของอาคารต่างๆ , ชิ้นส่วนของถ่านและเม็ดทรายในชั้นต่างๆ ไปทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อวัดอายุ โดยผสมผสานทั้งเทคนิคการวัดอายุจากคาร์บอนกัมมันตภาพรังสี (radiocarbon) และเทคนิคการวัดอายุจากการเปล่งแสง (optically stimulated luminescence)