13. เมื่อต้องปรับให้ใช้กฎ 2:1 หลังจากสัปดาห์แรกไปแล้ว พ่อแม่จะเริ่มปรับหากเด็กไม่ทำตามที่บอก ซึ่งควรเริ่มดังนี้ เมื่อหลังจากพ่อแม่พูดแล้ว 10 วินาที หากเด็กยังไม่มีท่าทีขยับจะทำ ก็จะถูกเตือนว่าจะอดได้เหรียญ และหากต้องสั่งครั้งที่สอง จะถูกปรับเหรียญจากบัญชีสะสมของเขา และหากต้องสั่งครั้งที่สามก็ควรแยกเด็กออกไปอยู่ในมุมสงบ ไม่มีสิ่งกระตุ้น (time-out) เมื่อเริ่มลงโทษปรับ พ่อแม่ควรใช้กฎ 2:1 คือ เหรียญรางวัลที่เด็กจะได้จากการทำดีควรเป็น 2 เท่า ของที่ถูกปรับไปใน 24 ชั่วโมง ถัดมา ทั้งนี้เพื่อคงแรงจูงใจกับเด็ก ให้เด็กเห็นว่าเราอยากให้เขาทำดี มากกว่าการลงโทษเมื่อผิด
14. พ่อแม่ควรระวังการเข้าสู่วังวนของการลงโทษ ซึ่งมักต่อเนื่องจากเมื่อพ่อแม่เริ่มลงโทษปรับ เด็กจะโกรธต่อต้าน พ่อแม่ควรลงโทษปรับเพียง 2 ครั้ง ถ้ามีกิริยาไม่ดี ก็เพิกเฉย แล้วส่งเด็กไป time-out แทน
15. พ่อแม่ควรมีจำนวนเหรียญรางวัลต่ำสุดในแต่ละวัน เนื่องจากพ่อแม่บางคน "หวง" รางวัลเกินไป และยังกระตุ้นให้พ่อแม่คอยมองหาพฤติกรรมดีๆ ของเด็กอยู่เรื่อยๆ ด้วย
16. ถ้าไม่ได้หรือไม่มีสิทธิ์ได้ คือ เมื่อเด็กได้เหรียญสะสมไม่ถึงขั้นที่จะได้ของหรืออภิสิทธิ์บางอย่าง ก็ไม่ควรให้ แม้จะอาละวาดเพียงใด หรือต่อรองเพียงใด พยายามรักษาระบบไว้
17. ปรับปรุงรายการรางวัลทุก 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะถ้าเห็นว่ารางวัลบางอย่างไม่ได้รับความสนใจจากเด็กเลย ควรหาสิ่งใหม่ที่จูงใจกว่ามาใส่แทน
18. เก็บสะสมคะแนนเพื่อออกจากระบบโปรแกรมนี้ พ่อแม่ควรใช้ระบบสะสมรางวัลอย่างเคร่งครัดอยู่ 6-8 สัปดาห์ ถ้าทำได้ดีจริง เด็กจะเริ่มเคยชินกับการปฏิบัติตัวเหล่านี้ เราอาจเริ่มถอนรายการพฤติกรรมบางอย่างออก โดยชมเขาว่าที่ผ่านมาเขาทำดีมาก แต่เรายังจะสังเกตเขาอยู่ห่างๆ และเพื่อดึงแรงจูงใจของเด็กไว้ ภายในหนึ่งปี พ่อแม่ควรปรับปรุงโปรแกรมทั้งรายการพฤติกรรม และรางวัลหลายๆ ครั้ง
ทั้งหมดเป็นเคล็ดลับการช่วยให้ระบบทำดีมีรางวัล ได้ผลยิ่งขึ้น ซึ่งก็คงเหมือนการปรุงอาหาร แต่ละบ้านคงมีวิธีปรุงให้รสชาติถูกปากสมาชิกครอบครัวต่างๆ กันไป ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยเด็กได้จริง เชื่อว่าจากเด็กที่ซุกซนไม่เชื่อฟังจะกลายเป็นเด็กน่ารักยอมเชื่อฟังและอยู่ในกฎกติกาขึ้นอีกเป็นกอง