บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์นั้นก็จัดได้น่าสนใจไม่น้อย ก่อนเข้าสู่ภายในตัวอาคาร ด้านนอกจะมีภาพถ่ายโบราณของล้านนาไทย มีทั้งภาพชาวบ้านธรรมดา เจ้านายชั้นสูง สภาพบ้านเมืองในสมัยนั้น และวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 100 ปีที่ผ่านมา กว่า 60 ภาพ ภายในตัวอาคารแบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้ ส่วนแรกเป็นส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไทลื้อ แห่งอาณาจักร 12 ปันนา ผ้าทอต้นกำเนิด "ลายน้ำไหล" อันน่าพิศวง ส่วนที่สองส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-เขิน แห่งนครเชียงตุง ชมชุดเจ้าฟ้า และซิ่นไหมคำ ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า ส่วนที่สามส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-ลาว ชมผ้าทอลาย มหัศจรรย์จากแขวงซำเหนือ ชุดเจ้านายหลวงพระบาง ผ้าอีสานและ ผ้าปูมจากเขมรอันวิจิตร ส่วนต่อไปเป็นส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-ใหญ่ แห่งรัฐฉาน ชมฉากจำลองท้องพระโรงของเจ้าเมืองแสนกวี และชุดราชาภิเษก อันอลังการหาชมได้ยากยิ่ง และส่วนสุดท้ายส่วนจัดแสดงผ้าทอของ ชาวไท-โยนก แห่งอาณาจักรล้านนาไทย ชุดอันงดงามที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจของ "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี" แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดแสดงผ้าแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังได้จัดแสดง จำลอง เครื่องใช้และชุดผ้าทอที่เด่นๆ มีให้ชมหลายชุด เช่น ชุดในพิธีอภิเษก สมรสของเจ้านายในราชสำนักไทเขิน ที่อยู่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของพม่า ซึ่งชาวเขินมีชื่อเสียง ในการทำเครื่องไม้ ลงรักสลักลายที่เรียกว่า เครื่องเขิน ชุดดังกล่าว ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้าทอด้วยด้ายที่ควั่นด้วยโลหะทองคำ ปักด้วยไหมจีนเป็นลายดอกบัว ต่อเชิงด้วยผ้าต่วน สีเขียว และประดับด้วยโลหะมีค่า เรียกว่า ซิ่นไหมคำ ส่วนฝ่ายชาย จะสวมเสื้อตัวยาว ปักประดับด้วยดิ้นโลหะเงินและทอง ถือว่าเป็นผ้าทอ ที่หาได้ยากชนิดหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่จุดเด่นที่อยู่ในความสนใจของใครหลายคนนั้น คงจะหนีไม่พ้นผ้ายันต์โบราณหลากลวดลายซึ่งคุณอัครเดชสะสมไว้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่่งบางชิ้นได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอประกอบกับบางชิ้นมีราคาค่อนข้างแพง ถึงหลักล้านบาทก็มีและบางชิ้นก็เป็นของรักของหวงจึงทำให้ต้องถูกเก็บไว้ที่บ้านซึ่งเป็นตึกแถวสองหลังจนเต็มห้องไปหมด รวมแล้วเฉพาะผ้ายันต์ก็มีไม่ต่ำกว่า 1 พันชิ้น จากประสบการณ์การสะสมผ้ายันต์และการสอบถามจากผู้รู้ทำให้คุณอัครเดชเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องผ้ายันต์ คุณอัครเดชได้เล่าถึงที่มาของผ้ายันต์ว่า "ยันต์" มาจากภาษาบาลี แปลว่า สิ่งที่มนุษย์พึงเซ่นสรวงบูชา เพื่อให้บังเกิดความสุข ความเจริญ จะพบได้บนแผ่นกระดาษ แผ่นเงิน แผ่นทอง รวมทั้งบนผืนผ้าและบนผิวหนังของมนุษย์ที่ศรัทธาอีกด้วย สัญลักษณ์คล้ายยันต์นี้ยังปรากฏเป็นตัวเลขในดินแดนอาหรับและยุโรป ปรากฏเป็นตัวอักษรในดินแดนจีน พม่า ทิเบต ลาว กัมพูชา และไทย ส่วนความหมายของผ้ายันต์ เมื่อทำการถอดคาถาและอักขระออกมาต่างแปลความได้ว่า เป็นคำสั่งสอนให้คนประพฤติดี ประพฤติชอบอยู่ในศีลธรรม อีกทั้งยังเป็นคำอวยพรให้มีความสุข ความเจริญทั้งสิ้น นอกจากนี้ผ้ายันต์แต่ละผืนล้วนมีความหมายต่างกันไปตามสัญลักษณ์ที่ปรากฎในภาพ สัญลักษณ์บนผ้ายันต์แบ่งได้เป็นสองประเภทได้แก่ ประเภทแรกคือลายเรขาคณิต รูปวงกลม หมายถึง ดวงอาทิตย์ สิ่งอันทรงพลังสูงสุดของธรรมชาติ รูปสามเหลี่ยม หมายถึง เทพทั้ง 3 ตามลัทธิฮินดู ได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร รูปสี่เหลี่ยม หมายถึง ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และประเภทที่สองคือลายรูปภาพ ได้แก่ รูปบุคคล เป็นภาพบุคคลที่นับถือ มีอำนาจ และพลังตามความเชื่อ อาทิ นางกวัก พระ เทพ และเทวดา หรืออาจเป็นรูปสัตว์ เป็นภาพสัตว์ในความเชื่อ อาทิ หมูป่า เสือ วัว จิ้งจก และ หงส์ หรือเป็นรูปต้นไม้-ดอกไม้ อาทิ ดอกบัว ต้นโพธิ์ เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังแล้วล่ะก็เราสามารถแบ่งประเภทของผ้ายันต์ออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้ 1. ยันต์เมตตามหานิยม ให้คนรักใคร่ เมตตา หายโกรธเคือง 2. ยันต์มหาอำนาจ มีอำนาจคนเคารพเกรงขามมีบารมีพกติดตัวเข้าป่าป้องกันสัตว์ร้าย ถ้าออกสู้รบจะได้ชัยชนะ 3. ยันต์ค้าขาย ค้าขายได้กำไรร่ำรวยเงินทองไม่ขาดมือพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ 4. ยันต์มหาเสน่ห์ หรือยันต์เรียกผัว เป็นคุณไสยให้คนหลงรักมักทำเป็นรูปหญิงสาวมีสัมพันธ์กับสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว เป็นต้น 5. ยันต์โชคชะตา เป็นการทำนายโดยจะมีดวงชะตาของเจ้าของปรากฏอยู่บนผืนผ้าเพื่อใช้ดูฤกษ์ยามมงคลต่างๆ 6. ยันต์อยู่ยงคงกระพัน ใช้ป้องกันอันตรายจากอาวุธ ศัตรูยิงแทงฟันไม่เข้า ในอดีตเชื่อว่าถ้าปฏิบัติตามคาถาอย่างเคร่งครัดจะทำให้หายตัวได้ 7. ยันต์ป้องกันภัย ใช้ป้องกันภูตผี ปีศาจ วิญญาณ และคุณไสย 8. ยันต์สารพัดนึกหรือยันต์พันช่อง แคล้วคลาดจากอันตรายทุกชนิดทั้งโรคภัยไข้เจ็บและสิ่งชั่วร้าย 9. ยันต์ฝ่าต๊ะ หรือยันต์ประทับรอยมือรอยเท้าของครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้มีบารมีสูงส่งและเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อายุกว่า 100 ปี ถือเป็นของขลังที่มีคุณค่าสูงสุดของอาณาจักรล้านนาไทย สำหรับนำติดตัวเป็นเสมือนสิ่งมงคลป้องกันภัย นำโชคมาสู่เจ้าของ ซึ่งผ้ายันต์ฝ่าต๊ะชิ้นนี้เองที่ตอนนี้ชิ้นที่คุณอัครเดชมีอยู่นั้นตีราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว สาเหตุที่ทำให้ผ้ายันต์โบราณเป็นผ้าที่มีคุณค่าเพราะยันต์โบราณเขียนเพียงไม่กี่ผืนไม่ได้พิมพ์กันเป็นพันผืนอย่างในปัจจุบันและผู้ลงยันต์จะต้องเป็นบุคคลพิเศษที่ได้รับการถ่ายทอดในวิชานี้ ทั้งเรื่องการเขียนและคาถา อาคม ผู้ลงยันต์ต้องเป็นผู้มีพลังจิตที่จะถ่ายทอดความเข้มแข็ง เมตตา และความอิ่มเอิบใจ ลงไปในยันต์และต้องทำสมาธิในระหว่างที่ท่องคาถาประกอบตามอานุภาพของยันต์นั้นๆ เรียกว่าลึกลงไปถึงขนาดระหว่างลายเส้นของผ้าที่ตัดกันนับหมื่นๆพันๆ เส้น มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อไหร่ที่เจ้าของผ้ายันต์สิ้นชีวิตลง ผ้ายันต์และเครื่องรางของขลังจะเกิดการ "ตายทับของ" คือ สูญสิ้นอิทธิฤทธิ์ไปพร้อมเจ้าของ จะทำให้ผ้ายันต์เหล่านั้นไม่มีค่า ยกเว้นเสียแต่ว่าได้มีการขนเครื่องรางเหล่านั้นออกไปจากบ้านเสียก่อน เรื่องเหล่านี้ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่จะดีกว่า เพราะแม้แต่คุณอัครเดชเองก็ยังเคยเจอเรื่องของความขลังของผ้ายันต์มากับตัวเอง "ครั้งหนึ่งตึกแถวใกล้ๆ ห้องเก็บผ้ายันต์ไฟไหม้ ไฟลามจนเกือบถึงห้องที่เก็บผ้าเขาจึงอธิษฐานขอให้ผ้าคุณค่ามหาศาลพวกนี้อย่าโดนไฟไหม้เลย ปรากฏว่าจู่ๆ ไฟก็ดับมอด จากวันนั้นความศรัทธาที่มีต่อการสะสมจึงยิ่งเพิ่มขึ้น"...แต่อย่างไรก็ตามคุณอัครเดชเตือนให้นักสะสมเชื่ออย่างมีสติ ไม่งมงายและต้องเคารพผืนผ้าด้วยการรักษาศีลให้จิตใจบริสุทธิ์ "ผมก็เชื่อตามวิสัยคนไทยที่เคารพพระครูบาอาจารย์ แต่ไม่ลึกซึ้งไปกว่าความสวยงามทางศิลปะที่เราเห็นว่า ผ้าพวกนี้น่าเก็บ จากการศึกษาประวัติผ้ายันต์แต่ละผืนก็รู้ว่า ผู้รับก็ต้องน้อมด้วยความศรัทธาจัดไว้ในที่อันเหมาะสม ท่องคาถาเคร่งครัด ต้องอยู่ในกฎ เช่น ห้ามผิดศีล 5 ห้ามลอดใต้ถุนบ้านหรือราวตากผ้า หรือห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน" |