ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3373
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระปิดตา วัดท้ายย่าน

[คัดลอกลิงก์]
พระปิดตา วัดท้ายย่าน จ.ชัยนาท




ถือว่าเป็นหนึ่งของพระปิดตาในชุดเบญจภาคี พระปิดตาเนื้อโลหะ (แร่พลวง) และถือได้ว่าเป็นพระปิดตาที่มีอายุการสร้างยาวนานและเก่าแก่ที่สุดครับ โดยพบที่ อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท ประวัติพระปิดตา กับตำนานการสร้างพระปิดตา ในสมัยนั้น จ.ชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่านในการรบทัพจับศึก คราวสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีภายหลังได้มีการเปิดกรุที่สรรค์บุรี พบพระลีลาเมืองสรรค์ พระสรรค์นั่งไหล่ยกและพระปิดตาวัดท้ายย่านอยู่ในกรุเดียวกันครับ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยเดียวกันครับ คนยุคเก่าเล่าขานว่าพระปิดตาท้ายย่านเด่นในทางคงกระพันและแคล้วคลาด พร้อมด้วยมหานิยม


ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์กบ พิมพ์เขียด พิมพ์ชีโบ และพิมพ์พิเศษ ที่มักจะหลงเข้าสนามพระมาสร้างความแปลกใจและความกังขาว่าใช่หรือไม่ใช่ แก่วงการนักนิยมสะสมพระปิดตาเป็นพักๆ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพระปิดตาอีกกรุหนึ่งของวัดท้ายย่าน ซึ่งเคยเป็นและยังเป็นสุดยอดปรารถนาแม้ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังหายากสุดๆ ทุกพิมพ์ เพราะเป็นที่ต้องการสุดๆ
ดังเป็นที่รู้แก่ใจกันดียิ่งแล้วว่า เป็นเพราะเข้าใจและเชื่อกันเหลือเกินตั้งแต่เดิมว่าเป็น พระปิดตาที่สร้างขึ้นมาในรุ่นแรกๆ แม้จะยังไม่มีหลักฐานฟันธง ประการที่สองเป็นพระปิดตาสร้างขึ้นด้วยแร่พลวง อันเป็นเรื่องแปลกใหม่และสร้างความแปลกใจแก่วงการพระรุ่นเก่าก่อนที่คลั่งไคล้การเล่นแร่แปรธาตุ คือเป็นที่แปลกใจพอๆ กันกับพระปิดตาแร่บางไผ่ของหลวงปู่จัน วัดโมลี นนทบุรี แม้ยุคหลังพบอีกว่าได้พบพระปิดตาพุทธลักษณะและพิมพ์เดียวกับพระปิดตา วัดท้ายย่านเป็นเนื้อผงคลุกรักคล้ายสูตรผงหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ความนิยมในพระปิดตากรุวัดท้ายย่าน จ.ชัยนาท ก็มิได้ลดหย่อนความนิยมลงไปแต่อย่างใด ยังคงตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอทุกเมื่อเชื่อวันที่เจอของแท้
ปัญหามีอยู่ว่า พระปิดตา วัดท้ายย่าน เป็นพระปิดตารุ่นแรกๆ ที่นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความเห็นว่า อายุ ความเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลายๆ จริงหรือไม่? อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่แม้จะเกิดไม่ทัน บางท่านก็มีทัศนะวิจารณ์ว่า น่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างสูง ประมาณก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดยุคสมัยอยุธยา นักโบราณคดีรุ่นเก่าท่านให้ความรวมมาถึงสมัยกรุงธนบุรีด้วย


ถ้าเชื่อตามนักโบราณคดี ก็เป็นไปได้ว่า พระปิดตา วัดท้ายย่าน สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่นักประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า ๖๐ ปี ขึ้นไปเห็นว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ก็หมายความว่า สิ้นสุดสมัยอยุธยา แม้ พระเจ้าตาก จะทำสงครามขับไล่พม่าไปได้ก่อนสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี กรุงศรีอยุธยาก็เหลือแต่ซากปรักหักพัง ไม่มีกษัตริย์ปกครอง อยู่ในสภาพเมืองร้าง แล้วจะเอาข้อมูล และเหตุผลอะไรมากำหนดว่า ยังเป็นยุคสมัยอยุธยา จึงน่าจะนับว่า เป็นยุคหลังกรุงศรีอยุธยาแตกดีกว่า และถ้ามีการสร้างพระปิดตาในช่วงระหว่างนี้ที่วัดท้ายย่าน จ.ชัยนาท ก็น่าจะถือว่า เป็นการสร้างสมัยหลังอยุธยาแตก ผิดตรงไหน?
เหตุผลที่นักวิเคราะห์วิจารณ์อาวุโสท่านว่า พระปิดตาวัดท้ายย่าน สร้างในสมัยอยุธยา โดยทำเป็นไม่มองว่า หลังจากมีการเปิดกรุพระสถูปเจดีย์ต่างๆ แทบทั้งเมือง ไม่ปรากฏมีพระปิดตาแม้แต่พิมพ์เดียวนั้น เป็นเพราะว่าพระปิดตา วัดท้ายย่าน พิมพ์กบ, พิมพ์เขียด, พิมพ์ชีโบ แม้กระทั่งพิมพ์พิเศษ ล้วนแล้วแต่มีพุทธลักษณะแสดงศิลปะลูกผสม ซึ่งถูกกำหนดโดยนักโบราณคดีรุ่นก่อนอีกนั่นแหละว่า ลักษณะเช่นนี้ เป็นศิลปะสมัยอยุธยา และต่อมาก็ถูกแย้งว่าพุทธศิลป์แบบอยุธยา ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครอาจหาญฟันธงลงไปอีกเหมือนกันว่า พระปิดตา กรุวัดท้ายย่าน สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพราะว่าไม่มีหลักฐาน หรือว่ามีก็คงจะถูกทำลายไป โดยวิธีเพิกเฉยไม่มีปฏิกิริยาที่จะบันทึกไว้ ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลก


เช่นเดียวกับประวัติของ หลวงปู่จันทร์ ผู้สร้าง พระปิดตาแร่บางไผ่ วัดโมลี จ.นนทบุรี ต่อเมื่อพบว่า หลวงปู่จันทร์ ท่านยังได้สร้างพระชัยวัฒน์, พระปางนาคปรก, พระกริ่งเขมร จึงได้ทราบกันว่า แท้จริงประวัติของท่านถูกนักเขียนมือต่ำ ในสมัยรัตนโกสินทร์อำพรางไว้แต่ต้น หรือเพิกเฉย ทำให้คนรุ่นหลังขาดข้อมูลขั้นพื้นฐาน
พระปิดตา กรุวัดท้ายย่าน ก็เหมือนกัน เหตุที่ทำให้นักวิเคราะห์วิจารณ์หลายสำนักพิมพ์สงสัยว่า จะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ประการแรก พระปิดตา กรุวัดท้ายย่าน โดยเฉพาะ พิมพ์กบ ชัดเจนมากกว่า มีพุทธลักษณะและพิมพ์ทรงเหมือนพระปิดตา สมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือ พระปิดตา วัดพลับ ทุกพิมพ์ ทุกเนื้อ
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมาจนมรณภาพ กล่าวได้ว่า โดยเฉพาะพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์หลังแบบ และพิมพ์หน้าเดียว หลังยันต์ทุกพิมพ์ เหมือนกับ พระปิดตา วัดท้ายย่าน พิมพ์กบ แทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยน แม้ว่าจะมีการสร้างด้วยเนื้อแร่พลวงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบว่า พระปิดตา วัดท้ายย่าน พิมพ์กบ เนื้อผงคลุกรัก มีบ้างเหมือนกัน แม้ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นแค่นี้ก็อาจแสดงว่า พระปิดตา วัดท้ายย่าน สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
เหตุผลแค่นี้ยังคงไม่พอที่ว่า พระปิดตา วัดท้ายย่าน ไปเหมือน พระปิดตา พิมพ์หลังแบบ ของ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ แทบทุกประการ แม้กระทั่งเนื้อหามวลสารนั้นยังไม่ถูกต้องทั้งหมดเสียเลยทีเดียว เพราะว่ามีข้อแตกต่างที่ชนิด หรือประเภทของพระปิดตา ซึ่งวงการพระเครื่องแยกแยะไว้ด้วยว่า ของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ โดยเฉพาะที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม แต่ยอดจั่วมนทุกพิมพ์ เป็นพระปิดตาภควัมบดี หรือพัฒนาจาก พระกัจจายนะเถระ ปางที่มีรูปกายอ้วนเตี้ย พุงพลุ้ย เศียรโต และโล้นเหมือนพระสงฆ์ไทย แต่ พระปิดตา วัดท้ายย่าน พิมพ์กบ เป็นพระปิดตาแบบภควัมบดีเหมือนกัน หากแตกต่างตรงที่ด้านหลังองค์พระมีมืออีกคู่หนึ่ง ล้วงปิดทวาร จึงต้องตัดเป็นพระปิดตาแบบที่นิยมเรียกว่าพระปิดตามหาอุตม์


พระปิดตาแบบนี้ เชื่อกันทั้งวงการว่า สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะไม่พบในสมัยอยุธยา พระปิดตาที่ว่าเก่าแก่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระปิดตา มหาอุตม์แร่บางไผ่ และ เนื้อผงปูนขาว วัดพลับเป็นแบบภควัมบดี กับ พระปิดตา มหาอุตม์ แร่บางไผ่ จ.นนทบุรี
พระปิดตา วัดท้ายย่าน อันเป็นที่นิยมมีอยู่ ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ชีโบ องค์พระประทับนั่งสมาธิขัดเพชร ยกพระหัตถ์ทั้งสองปิดพระพักตร์ พระเศียรปรากฏเป็นเส้นนูน คล้ายสวมหมวกชีโบ พระเมาลีเป็นต่อม จึงเรียกขานพิมพ์ทรงนี้ตามลักษณะพระเศียรว่า พิมพ์ชีโบ ด้านหลังองค์พระปรากฏพระหัตถ์อีกคู่หนึ่ง เป็นเส้นจากพระอังสา ลากลงมาล้วงลงปิดส่วนท้าย ในลักษณะปิดทวาร บริเวณพระศอด้านหลังปรากฏเส้นพระศอ ทำเป็นจุดเม็ดไข่ปลา ล่างลงมาเป็นอักขระตัว "อุ" ๒.พิมพ์กบ เนื่องจากรูปพรรณสัณฐานองค์พระ มีลักษณะคล้าย "กบ" เมื่อมองจากด้านหลังองค์พระ จึงเป็นจุดเด่นในการขานพิมพ์ทรง แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนชื่อเป็น พิมพ์เศียรโล้น แล้วก็ตาม แต่นักสะสมพระเครื่องยังคงเรียกกันว่า พิมพ์กบ อยู่นั่นเอง
ด้านหน้า องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นปิดพระพักตร์ ไม่ปรากฏรายละเอียดพระเศียร หากใช้รูปโค้งมนแสดงให้เห็นว่า เป็นส่วนของพระเศียรจากพระนลาฏ (หน้าผาก) ขึ้นไปเป็นพระเศียรปรากฏพระหัตถ์อีกคู่หนึ่งยกขึ้นปิดพระกรรณ (หู) ด้านหลังปรากฏพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ล้วงลงปิดทวารหนักและเบา พระเศียรที่ปรากฏกลมเกลี้ยงนูนเด่น ๓.พิมพ์เขียด องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีพุทธลักษณะที่คล้ายคลึงกับพิมพ์ชีโบ และด้านหลังปรากฏอักขระขอม ตัว "อุ" เช่นเดียวกัน หากแต่ส่วนของพระเศียรมีลักษณะยอดแหลมยาวกว่า และมีขนาดเล็กกว่า

ที่มาคมชัดลึก
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้