ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3058
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เปิดโลก

[คัดลอกลิงก์]


จากการที่ได้พบว่า มีผู้สนใจพระเครื่องรุ่น “เปิดโลก” เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกที
ข้อมูลบางอย่างที่ปรากฏตามหนังสือ อินเทอร์เน็ต และสื่อต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจผิด
และคลาดเคลื่อนจากความจริง
และเป็นความคลาดเคลื่อนที่มีนัยสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ประสานงานดำเนินการจัดสร้างพระรุ่นนี้
จึงจำเป็นต้องบันทึก และ เผยแพร่ที่มาของวัตถุมงคล
เพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบวัตถุประสงค์ และรายละเอียดการจัดสร้างพระรุ่นนี้

ในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจากคุณวรวิทย์ ด่านชัยวิจิตร นักศึกษารุ่นพี่ชุมนุมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่มีพระคุณต่อข้าพเจ้าอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มาพบและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งในการติดต่อครั้งนั้น คุณวรวิทย์ต้องการให้ข้าพเจ้าช่วยเป็นธุระหาช่างแกะพระที่มีฝีมือ เพื่อจัดสร้างเหรียญหลวงปู่ทวด ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่า “รุ่นเปิดโลก” ซึ่งข้าพเจ้าขอสรุปตามลำดับหัวข้อ ดังนี้

๑. ที่มาและวัตถุประสงค์ของการสร้าง
ด้วยเหตุที่มีสัญญาณบ่งบอกว่า พระเครื่อง พระบูชา...ของหลวงปู่ดู่ มีแนวโน้มที่เป็นที่ต้องการและหายากมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับองค์หลวงปู่ท่านก็มีอายุมากแล้ว (ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๘๖ ปี) ทำให้พวกเรา โดยคุณวรวิทย์ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม จึงมีดำริที่จะสร้างเหรียญสักจำนวนหนึ่ง สำหรับแจกให้กับผู้ที่มีศรัทธาในองค์หลวงปู่ดู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีศรัทธาในการรักษาศีล และใฝ่ใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนา จะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียทองมาก ๆ เพียงเพื่อให้ได้วัตถุมงคลของท่านสักชิ้นหนึ่ง

เงื่อนไขในการแจกเหรียญเปิดโลก ที่เน้นผู้มีศรัทธาในการฝึกฝนอบรมตนเองในแนวทางแห่งศีล สมาธิ และปํญญา นี้  ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า ขออนุญาตจัดทำเหรียญเพื่อแจกให้กับนักปฏิบัติ ซึ่งหลวงปู่ก็อนุญาตด้วยเมตตายิ่ง ทั้งที่หลวงปู่ได้งดอธิษฐานจิตวัตถุมงคลมาเป็นระยะเวลากว่า ๑ ปีแล้ว
ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ

โดยหลวงปู่ท่านกำหนดวันพิธีอธิษฐานจิตวัตถุมงคลรุ่นนี้ ในวันที่ท่านเรียกว่า วันธงชัย
ตรงกับวันอังคารที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๒ ทุ่ม ส่วนกำหนดเวลา ๒ ทุ่ม นั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะท่านไม่ต้องการให้ไปรบกวนเวลาที่ญาติโยมมาทำบุญ หรือ สนทนาธรรมกับท่านในช่วงระหว่างวัน

๒. การออกแบบเหรียญ
เดิมทีพวกเราเจตนาจะจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ดู่ แต่ท่านกลับแนะนำว่า สร้างรูปเคารพครูบาอาจารย์คือ หลวงปู่ทวดดีกว่า ท่านเน้นว่ายังไงก็ต้องให้มีข้อความว่า “หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” ด้วย และภายหลังจากที่คุณวรวิทย์ได้ไหว้วานให้ข้าพเจ้าช่วยดำเนินการ เพราะบ้านคุณวรวิทย์อยู่ที่อยุธยา จึงไม่สะดวก ข้าพเจ้ารับปากช่วยดำเนินการด้วยเหตุผลที่อยู่ทางกรุงเทพฯ และพอจะมีช่องทางติดต่อช่างแกะพระอยู่บ้าง โดยที่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ เพราะนี่เป็นการสร้างพระครั้งแรกในชีวิต

สำหรับรูปที่ใช้เป็นต้นแบบนั้น ได้อาศัยเค้าโครงจากรูปหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ทวด ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
เพราะให้รายละเอียดที่ชัดเจน สะดวกสำหรับช่างแกะพระ ในเรื่องช่างแกะพระนั้น
พวกเราตัดสินใจเลือก คุณประหยัด ลออพันธ์สกุล หรือช่างอ๊อด ซึ่งวงการยอมรับในฝีมือ
จากรูปแบบหน้าตาหลวงปู่ทวดที่ลงตัว ก็ขยายผลมาสู่รูปแบบที่เหลือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล่าวคือ





·       ฐานเป็นรูปดอกบัว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ขององค์หลวงปู่ทวด เพราะสื่อถึงความเป็นพระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มแล้ว  

·       ลูกแก้วบนฝ่ามือหลวงปู่ทวด ซึ่งสร้างตามอย่างความนิยมของวัดพะโคะ จังหวัดสงขลา

·       อักขระ “พุท ธะ สัง มิ” ที่ด้านหน้า หมายถึง หัวใจของพระไตรสรณคมณ์ คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ  
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ  และ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านให้ลูกศิษย์ใช้เป็นคำบริกรรมภาวนา

·       เส้นรัศมีโดยรอบขอบด้านหลัง หมายถึง อานุภาพแห่งคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ที่มีมากอย่างจะนับจะประมาณมิได้ และแผ่ออกไปได้ทุกทิศทุกทาง

·       อักขระ “นะ โม พุท ธา ยะ” ที่ด้านหลัง หมายถึง พระนามย่อของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์  ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อ และคำกล่าวของหลวงปู่ดู่ที่ว่าหลวงปู่ทวด ท่านบารมีเต็มแล้ว ท่านจะมาตรัสรู้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕)

·       กึ่งกลางอักขระ “นะ โม พุท ธา ยะ” คือ “นะ” ที่มีเส้นขมวด ๓ รอบ ที่หลวงปู่ดู่ใช้จารในวัตถุมงคลของท่านเสมอ ๆ

·       ด้านซ้ายของชื่อพระพรหมปัญโญ จะพบพยัญชนะ “ด” ซึ่งหมายถึง หลวงปู่ดู่
ส่วนด้านขวาจะพบสัญลักษณ์คล้ายกากบาท (เลข ๕ โบราณ) ซึ่งหมายถึง หลวงปู่ทวด

·       รูปแบบขอบเหรียญที่เป็นลายกนก รวมทั้งลักษณะฐานบัวที่ประทับนั่งของหลวงปู่ทวดนั้น เป็นการออกแบบโดยช่างอ๊อด


มีเรื่องแปลกเกี่ยวกับการแกะองค์หลวงปู่ทวดที่ขออนุญาตบันทึกไว้ ณ ที่นี้ กล่าวคือ
ในตอนแรกนั้น ผู้เขียนได้ยุติกับช่างอ๊อดว่า อยากให้หลวงปู่ทวดห่มจีวรให้เรียบร้อย พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ต้องการให้เห็นนมหลวงปู่อย่างที่เขานิยมแกะกัน ช่างอ๊อดก็รับไปดำเนินการ ระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็เทียวไปเทียวมาในการดูและปรับแก้แบบ ตั้งแต่เป็นภาพสเก็ต กระทั่งเป็นฟิล์ม และเป็นต้นแบบบนแท่งเหล็กกลม ๆ  ช่างอ๊อดใช้เวลาแกะบล็อคเหล็กต่อเนื่องกันนาน ๑๕ วันก็แล้วเสร็จ จากนั้นก็เริ่มดำเนินการปั๊มจริง แต่เมื่อปั๊มไปได้มากกว่าหนึ่งพันเหรียญ
ช่างอ๊อดก็เพิ่งมาสังเกตเห็นว่าเหรียญที่ปั๊มออกมา ทำไมหลวงปู่มีนมทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในบล็อก จึงติดต่อให้ข้าพเจ้าช่วยไปพิจารณา พอเลิกงานแล้ว ข้าพเจ้าแวะเข้าไปช่วยกันดูจึงพบว่ามีเศษเหล็กปุ่มเล็ก ๆ ไปฝังติดอยู่ที่บล็อกตัวเมีย ในตำแหน่งหัวนมพอดิบพอดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงให้ช่างอ๊อดเขี่ยเศษเหล็กออกแล้วปรับปรุงบล็อคด้วยการแกะนมขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราว
ด้วยสงสัยว่า หลวงปู่ทวดอาจต้องการรักษาเอกลักษณ์รูปแบบของท่านก็เป็นได้

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-14 08:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓. ชนิดและจำนวนการสร้าง
การจัดทำเหรียญหลวงปู่ทวดครั้งนี้ นอกจากเหรียญทองแดงแล้ว ยังมีเหรียญโลหะอื่น ๆ รวมทั้งเนื้อผง โปสเตอร์ และลูกแก้ว ซึ่งสรุปได้ดังนี้

๑. เหรียญเนื้อทองคำ ๒๔๐  เหรียญ  
ใช้ทองคำชนิด ๙๖% แต่ละเหรียญมีน้ำหนัก ๙.๙ กรัม
ให้สั่งจองเท่าราคาทองคำรวมค่ากำเหน็จที่ช่างแกะพระคิด คือ เหรียญละ ๓,๔๐๐ บาท
ในจำนวนนี้ มี ๓ เหรียญที่คุณวรวิทย์สั่งทำพิเศษ แต่ละเหรียญมีน้ำหนัก ๑ บาท  

๒. เหรียญเนื้อเงิน ๑,๐๓๗ เหรียญ
ให้สั่งจองเท่าราคาที่ช่างแกะพระคิด คือ เหรียญละ ๑๓๐ บาท

๓. เหรียญเนื้อทองแดง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ  
ไม่รวมส่วนที่ช่างแกะพระปั๊มเกินมาอีกจำนวน ๕๐๐ เหรียญ
ภายหลังได้มอบให้ช่างแกะพระเป็นที่ระลึกจำนวน ๒๘ เหรียญ
ซึ่งเหรียญเนื้อทองแดงนี้ ไม่ได้เปิดให้สั่งจอง เพราะเป็นส่วนที่มีเจตนาจัดทำเพื่อแจกแก่ผู้ปฏิบัติธรรม

๔. เหรียญเนื้อตะกั่ว ๑,๔๐๐ เหรียญ
เป็นเหรียญที่ไม่มีข้อความ “หลวงพ่อทวดฯ” ๑,๐๐๐ เหรียญ
เป็นเหรียญที่มีข้อความ “หลวงพ่อทวดฯ” ๔๐๐ เหรียญ

๕. เนื้อผง (รูปทรง ๔ เหลี่ยมขอบมนเล็กน้อย) ๕,๐๐๐ องค์
ใช้ผงมวลสารว่าน ๑๐๘ ที่อาจารย์ศุภรัตน์มอบให้ ซึ่งหลวงปู่ดู่อธิษฐานให้แล้ว
ในจำนวนนี้ มีประมาณ ๓๖๐ องค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  
เป็นที่น่าเสียดายที่พระผงกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ชำรุดระหว่างการขนส่ง เนื่องจากความรีบเร่งส่งของในขณะที่เนื้อผงยังไม่แห้งสนิทดี
            
พร้อมกันนี้ คณะผู้จัดสร้าง ยังได้จัดทำโปสเตอร์หลวงปู่ดู่ในอิริยาบถต่าง ๆ บนฉากหลังที่เป็นรูปใบโพธิ์
ขนาด ๘ x ๑๐ นิ้ว อีกจำนวน ๑๐,๐๐๐ แผ่น และลูกแก้วใสเคลือบปรอทบาง ๆ (เป็นลูกแก้วที่ใช้ประดับตู้ปลาทั่วไป) อีกจำนวน ๕,๐๐๐ ลูก (ไม่รวมลูกแก้วชนิดเคลือบปรอทสีสันต่าง ๆ อีกจำนวนประมาณ ๕๐ ลูก)            

๔. เหตุการณ์ในวันพิธี  (อังคารที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๒)            
บ่ายเย็นวันนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก ขณะที่ข้าพเจ้าพร้อมด้วยน้องชายของคุณวรวิทย์เร่งขับรถฝ่าพายุฝน เพื่อจะนำวัตถุมงคลที่เหลือ (ส่วนมากเป็นพระเนื้อผง) ไปที่กุฏิของหลวงปู่ดู่ให้ทันพิธี แต่พอมาถึงวัด ฝนก็หยุดตก ท้องฟ้าแจ่มใสมาก ราวกับว่าได้ปัดเป่าสิ่งสกปรกออกไปจนหมดสิ้น พอใกล้เวลา ๒ ทุ่ม ก็ปรากฏว่า มีผู้คนมาร่วมพิธีกันจนเต็มตลอดพื้นที่หน้ากุฏิหลวงปู่ หลายคนได้นำวัตถุมงคลส่วนตัวมาร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก คุณวรวิทย์ได้เปิดกล่องพร้อมนำตัวอย่างวัตถุมงคลที่จัดทำแต่ละชนิดออกให้หลวงปู่ได้ชม ทั้งเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ตะกั่ว พระผง โปสเตอร์ และลูกแก้ว

พอถึงเวลา ๒ ทุ่ม หลวงปู่เริ่มอธิษฐานจิต อัญเชิญบารมีพระพุทธเจ้าทั้งแสนโกฏจักรวาล รวมทั้งบารมีครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มาประดิษฐานที่วัตถุมงคล และหลวงปู่ได้ตั้งจิตอธิษฐานให้สว่างไปทั้งสามโลก คือ พรหมโลก เทวโลก และมนุษยโลก

สักครู่หนึ่ง หลวงปู่ลืมตาขึ้น ยกมือข้างขวาขึ้นลูบพระที่อยู่เบื้องหน้า สุดท้ายท่านก็กล่าวขอให้
หลวงปู่ทวด และ เทวดาปกปักรักษาวัตถุมงคลนี้ตลอดไป ให้ปิดกั้นภัยอันตรายทุกอย่าง
จากนั้นท่านก็ให้ผู้ที่มาร่วมงานตั้งจิตอุทิศผลบุญไปทั่วโดยรอบสุดขอบจักรวาล อนันตจักรวาล

            
พอเสร็จพิธี หลังจากกราบลาหลวงปู่แล้ว คุณวรวิทย์ก็แจกจ่ายเหรียญเนื้อทองแดงบางส่วนให้กับตัวแทนหมู่คณะหลายคน เพื่อหาโอกาสแจกจ่ายให้กับผู้เหมาะสมในโอกาสต่อไป ส่วนวัตถุมงคลอันเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ที่นำมาร่วมในพิธีนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง เพราะมากมายเหลือเกิน ทราบว่าบางท่านก็นำมาชนิดหมดหิ้งพระที่บ้านตนเองเลยทีเดียวก็มี

๕. ทำไมจึงชื่อว่า รุ่นเปิดโลก            
เช้าวันรุ่งขึ้น ได้มีลูกศิษย์หลวงปู่ที่เป็นนักปฏิบัติบางคน ซึ่งไม่ได้มาร่วมงาน ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า เมื่อคืนไม่รู้ที่วัดสะแกมีอะไร กำหนดจิตดูเห็นหลวงปู่ทวดลอยอยู่เต็มท้องฟ้าวัดสะแก หลวงปู่ก็บอกกับผู้นั้น รวมทั้งลูกศิษย์คนอื่น ๆ ณ ที่นั้นว่า
“เมื่อคืนข้าเสกให้แบบเปิดสามโลกเลยนะ”
นี่เอง น่าจะเป็นที่มาของการพูดปากต่อปากกระทั่งกลายมาเป็นชื่อรุ่นว่า “รุ่นเปิดสามโลก”
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “รุ่นเปิดโลก”

๖. วัตถุมงคลรุ่นเปิดโลกมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าพระรุ่นอื่นจริงหรือ
คำกล่าวข้างต้น ค่อนข้างจะกล่าวเกินเลย
เพราะเหตุที่หลวงปู่เคยพูดให้เพื่อนข้าพเจ้าฟังว่า...
เวลาที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานพระที่ทางวัดจัดทำมาให้นั้น ท่านจะส่งกระแสจิตอัญเชิญพุทธคุณ ธรรมคุณ
สังฆคุณ บรรจุเข้าในวัตถุมงคลทั้งใหม่ และ เก่าทั้งหมดของท่าน
...ไม่ว่าจะวัตถุมงคลนั้นจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม


ดังนั้น เมื่อทราบความตามนี้แล้ว ก็ขอให้ผู้มีวัตถุมงคลของหลวงปู่รุ่นใด ๆ ก็ตาม ขอได้โปรดอย่าหวั่นไหวไปตามค่านิยมที่ตลาดเขาแต่งแต้มให้เลย และ
โปรดระลึกถึงพระที่หลวงปู่ให้ความสำคัญสูงสุด ที่หลวงปู่เรียกว่า
“พระเก่า พระแท้”
นั่นก็คือ
จิตของเราที่ฝึกฝนอบรมดีแล้วนั่นเอง

เพราะพระองค์นี้เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนของเราทุกคน
การมีพระภายนอก ก็ล้วนต้องการที่จะโยงเข้าหาการสร้างพระภายในให้เกิดให้มีขึ้น
หากปราศจากการสร้างพระภายในแล้วไซร้
การมีพระภายนอก แม้มากเท่าใด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลอดภัยอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังไม่นับว่ารู้จักองค์แท้ของหลวงปู่
ดังที่ท่านกล่าวเชิงท้าทายนักปฏิบัติว่า

“ตราบใดที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้น...ข้าจึงว่า แกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว”



***เรียบเรียงจากบทความของ คุณสิทธิ์
ที่มา http://luangpordu.com/

เหรียญสวย กราบนมัสการครับ
ขอบคุณคร้าบ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-1-31 18:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาถรรพ์ธมหลวงปู่ก็ถือลูกแก้วเหมือนกันครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้