โยมแม่นิมนต์
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2522 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสคุยกับนายงิ้น คงพานิช บ้านอยู่เหนือวัดปากคลองมะขามเฒ่าท่านผู้นี้เคยบวชอยู่กับหลวงพ่อศุข และทำหน้าที่ปลงผมให้หลวงพ่อศุขตลอดเวลา 2 ปี ก่อนหลวงพ่อศุขจะมรณภาพ หลวงพ่อศุขได้เล่าให้นายงิ้นฟังว่า ก่อนที่จะหาโยมบิดามารดาพบนั้นท่านได้มาปักกลดอยู่ที่วัดท่าหาด ใต้ต้นสมอพิเภก ปัจจุบันวัดนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพิกุลงาม อยู่ในป่าช้า ข้อมูลนี้ตรงกับที่ข้าพเจ้าทราบจากนายเนตร แพ่งกลิ่น ศิษย์อีกผู้หนึ่งซึ่งเมื่อขณะบวชทำหน้าที่เลขานุการของหลวงพ่อศุขนายเนตรเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า หลวงพ่อศุขบอกนายเนตรว่า ท่านเดินผ่านไปทางไผ่สี่รูตรงมายังวัดหัวหาด ขณะนั้นเป็นเวลาจวนเข้าพรรษาเต็มทีแล้วท่านจึงตัดสินใจจำพรรษาที่วัดหัวหาดท่านได้มาปักกลดที่ไต้ต้นสมอพิเภก สร้างที่พักจำพรรษาได้ตัดเอาต้นสะแกมาเป็นขี้ฟากปูนอน กล่าวกันว่า ต้นพิกุลใหญ่หน้าวัดหัวหาดในปัจจุบันหลวงพ่อศุขท่านได้ปลูกไว้ท่านพำนักอยู่ที่วัดหัวหาดตลอดพรรษานั้น
เมื่อท่านได้สืบรู้จากชาวบ้านว่าโยมบิดามารดาอยู่ที่ใดแล้ว ท่านจึงย้ายจากวัดพิกุลงาม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งตรงกันข้าม และได้ปักกลด ณ บริเวณใกล้ต้นโพธิ์ ใต้ปากคลองมะขามเฒ่าซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา (คือต้นแม่น้ำท่าจีน) ใกล้กับศาลเจ้าเก่าแก่ศาลหนึ่ง เรียกว่าศาลเจ้าพ่อจุ้ย ชาวบ้านถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และห่างจากที่ปักกลดไม่ไกลนัก มีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งเรียกว่าวัดอู่ทอง ( บางคนเรียกว่าวัดท้าวอู่ทอง ) ขณะนั้นยังมีร่องรอยของพระอุโบสถและวิหารอยู่รอบๆพระอุโบสถยังมีสระน้ำล้อมรอบ
เมื่อหลวงพ่อศุขได้มาปักกลดนั้น นายทองดี สุวรรณวัฒนะ ศิษย์ผู้หนึ่งเล่าว่า ตาแก้วเป็นผู้ผ่านมาพบเป็นคนแรก ท่านได้สอบถามถึงเรื่องญาติโยม ตาแก้วจึงได้บอกโยมของท่านว่า มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาปักกลดอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ ถามหา โยมท่านจึงไปดูท่านจำโยมของท่านได้ แต่ไม่มีผู้ใดจำท่านได้เลย แม้แต่โยมมารดาของท่านเอง เพราะท่านทั้งผอมและดำ สบง ขาดหมด ต้องเอาจีวรมาครองแทนหลังจากนั้นท่านจึงบอกว่าท่านชื่อศุขเป็นลูกของโยมเอง โยมหญิงถึงกับร้องไห้โฮออกมา โยมท่านจึงนิมนต์ให้ท่านไปอยู่ ณ ที่นั้นไม่ให้ไหนอีก
ผู้บันทึก นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย
จากหนังสือประวัติพระครูวิมลคุณาการ ( ศุข ) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
สโมสรไลอ้อนส์ชัยนาท ร่วมด้วย ชมรมพระเครื่องชัยนาทจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๘ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม ( สงวนลิขสิทธิ์ )
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Ba Daeng