ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2049
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ทำไมต้อง"สยามเมืองยิ้ม"

[คัดลอกลิงก์]
                                                                                                                                                                                                                                                       
                                                                               
สยามเมืองยิ้ม
สยาม
                “สยาม”  มีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม ซำ หรือ สาม หมาย ถึงบริเวณที่มีน้ำซับน้ำซึมเป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดิน โคลน  แล้วเรียกคนจะเป็นชาติพันธุ์อะไรก็ได้ที่มีหลักแหล่งทำมาหากินบริเวณนี้ว่า ชาวสยาม ทั้งนั้น.
                จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเรื่องคำสยามไว้ใน หนังสือ ความเป้นของคำสยาม ไทย,ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 ไว้ว่า
                “ข้าพเจ้า รู้สึกว่า  ความพยายามที่จะแปลคำสยามให้เป็นคำสันสกฤตนี้ล้วนห่าวไกลความเป็นจริงทั้ง สิ้นทีเดียว. ตามสมมติฐานของเรานั้น สยามคือกำเนิดออกมาจากซาม-เซียม,  และแหล่งกำเนิดของมันอยู่ในบริเวณยูนนานตะวันตกเฉียงใต้และพะม่าเหนือ,  เราจะต้องคลำหาต้นกำเนิดของมันจากภาษาในเขตนี้ในยุคโบราณ  และหาคำแปลจากคำดั้งเดิมนั้น  มิใช่จับเอาสยามซึ่งเป็นรูปคำที่ถูกดัดแปลงแล้วมาแปล.”
                จิตร ยังอธิบายสรุปไว้ว่า “ถ้า เรายอมรับสมมุติฐานนี้ไว้ที่ก็หมายความว่าคำดั้งเดิมของสยามนั้นคือ ซำ  หรือซัม.จากคำนี้เองที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นซาม,เซม,เซียม,ซยาม,สยาม ฯลฯ  ในภาษาอื่นๆโดยรอบ และไปไกลจนกระทั่งกลายเป็นอาโหมในภาษาพื้นเมืองอัสสัม”

เมือง
เมือง คือ พื้นดินที่มีชุมชนอาศัยอยู่ พื้นที่มีอำนาจศูนย์กลางรัฐเรียกว่า เมือง
เมือง  มีวิวัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรม การสร้างบ้านแปลงเมือง  มีการเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คนทั้งในแง่เศรษฐกิจ ศาสนา และการเมือง  โดยมีผู้ปกครองอยู่ในศูนย์กลางอำนาจตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน
                เมืองสยาม หรือ กรุงสยาม มีประกอบด้วย ชาวสยาม กับ สยามประเทศ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเคลื่อนไหว  เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง  แล้วมาพบกันที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา
                สยาม หรือภาษาอังกฤษออกเสียงว่า Siam  เป็น ชื่อเก่าแก่เป็นที่รับรู้ทั้งจากซีกโลกตะวันตะวัน (หมายความรวมทั้ง  ยุโรปและเปอร์เซีย)และตะวันอกก ซื่อ สยาม  ปรากฏในแผนที่โบราณซึ่งอนุมานว่าน่าจะได้จากการออกเสียงของชาว มอญ และ  มลายู เรียกชื่อแผ่นดินนี้ไม่ว่าจะเป็น  Scerno,Ansia,Davsian,Iudia,Iudea หรือ Royaume de Siam  ก็เรียก        
เสียง สำเนียงที่เรียก สยาม นั้น มอญ ออกเสียงว่า เซ็ม เขมร อกกเสียงว่า เสียม  หรือ เซียม พม่า ออกเสียง ฉาน หรือ ชาน จีน ออกเสียงว่า เสียน หรือ เสียม  และ เสียมล้อ ดังนั้นต้องไม่สับสนระหว่าง ดินแดน กับ ประเทศ  ที่ออกเสียงภาษาอังกฤษว่า Iand กับ ผู้คน : Peoples ที่มีความหลากเผ่าพันธุ์ในแผ่นดินนี้
                สยามประเทศ และ ประเทศไทย ชาวต่างชาติเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าราชอาณาจักรสยามหรือเมืองไทย เมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรียกชื่อประเทศว่ากรุงสยามและประเทศสยาม เรียกพระนามพระมหากษัตริย์ว่า  The King of Siam
พ.ศ. 2310 เป็นต้นมาศูนย์กลางอำนาจรัฐเปลี่ยนจาก กรุงศรีอยุธยา ที่สำเนียงพม่าออกเสียงว่า อโยเดีย หรือ โอเดีย (Odia) เป็น กรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่า บางกอก  (Banckok) จนกระทั่ง พ.ศ. 2575 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ก็ใช้นามประเทศว่า “สยาม”
สมัยแรกมีธงช้างเป็นสัญลักษณ์ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ที่ได้แบบอย่างมาจากยุโรป
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” และจาก Siam เป็น Thailand
ประเทศไทย ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากสำนึกชาตินิยม  ผูกพันกับความเชื่อเรื่องชนชาติไทยถูกขับไล่มาจากทางเหนือของจีน  แม้ความเชื่ออย่างนี้จะคลาดเคลื่อนจากความจริง  แต่ยังทรงอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้
ผลของการเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดกระแสความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ผู้คนเผ่าพันธุ์ อื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทย  เกิดการดูถูกทางสังคมและวัฒนธรรมจนเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ การเมือง  และการปกครองเป็นเวลายาวนาน
ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้งก็ได้มีการอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น“สยาม” อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511 เป็นต้น

ยิ้ม
“เห็นนางแย้มเหมือนหนึ่งแก้มแม่แย้มยิ้ม        ดูเพราพริ้มสุดงามทรามสงวน
          อบเชยเหมือนพี่เชยเคยชมชวน          ให้นิ่มนวลนอนแนบแอบอุรา
                                                                                                นิราศพระแท่นดงรัง (นายมี)
ยิ้ม เป็นอาการกิริยาที่แสดงออกที่ริมฝีปากและสายตาบอกความรู้สึก ทั้ง ชอบใจ และ เยาะเย้ย เสียดสี
จึงมีการยิ้มที่ต่างกันทั้งหน้าตาและมุมยิ้มต่างๆที่บ่งบอกความหมายในการยิ้ม
เช่น ยิ้มกริ่ม :  ความลำพองใจจึงกระหยิ่มยิ้มด้วยสีหน้า , ยิ้มแฉ่ง : ยิ้มออกมาอย่างร่าเริง , ยิ้มแต้ : ยิ้มค้างอย่างเบิกบานอยู่นานเหมือนปลาบปลื้มในที่สิ่งที่พึ่งใจ, ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ : ยิ้มแล้วยิ้มเล่าด้วยความพออกพอใจ , ยิ้มแป้น : ยิ้มหน้าบาน และเป็นชื่อเพลงลูกทุ่งร้องและแต่งโดย พจน์ พนาวัน , ยิ้มเผล่ :ยิ้มอย่างอิ่มเอมใจ, ยิ้มพราย : ยิ้มในทีด้วยความภาคภูมิใจ,ยิ้มย่อง: ยิ้มด้วยความดีใจ,ยิ้มเยาะ: ยิ้มแบบเย้ยหยัน หรืออาจเรียกว่า พยักยิ้ม ก็ได้,
ยิ้มแย้ม : ยิ้มออกมาอย่างอารมณ์ดี ,ยิ้มละไม : ยิ้มอยู่ในหน้า บ้างทีก็เรียกว่า อมยิ้ม , ยิ้มหวาน: ยิ้มอย่างทอดไมตรี,ยิ้มหัว: ก็อาการที่ยิ้มไปหัวเราะไป, ยิ้มเหย: อาการที่ปริยิ้มออกมาเมื่อถูกจับผิดได้,ยิ้มแห้ง: ยิ้มแบบเหงาๆ แห้งๆ ในลักษณะฝืนยิ้มเยี่ยงคนอกหัก , ยิ้มแหย : ฝืนยิ้มออกมาเมื่อถูกจับได้ว่าทำผิด,ยิ้มเห็นแก้ม แย้มก็ไรฟัน เป็นคำสร้อยที่บอกอาการของคนที่ค่อยเผยยิ้มแต่น้อยๆ




                                                                               

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-25 22:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ยิ้มสยาม : สยามเมืองยิ้ม

ยิ้มสยาม คือ คำว่า ยิ้ม เชื่อมกับ คำว่า สยาม ให้เป็นศัพย์เดียวที่แปลความหมายได้ว่า  การยิ้มของคนสยาม/ไทย ซึ่งเมื่อเผชิญปัญหาหรือเจออะไรก็ยิ้มไว้ก่อน
                สยามเมืองยิ้ม และ ยิ้มสยาม เป็นคำแทนความหมายที่ใช้ในการโปรโมตต์การท่องเที่ยวในลักษณะ “ทัวร์ลิตต์”และ “เพรสทัวร์”  อาจรวมทั้ง “ทัวร์ซำเหมา” ซึ่งเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1  ใน สมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา หรือหลังยุค  ผู้ใหญ่ตีกลองประชุมเป็นต้นมา โดยผ่านสื่อกลางอย่าง อนุสาร อสท. ของ  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การท่องเที่ยวที่เน้นลักษณะ “รอยยิ้ม” ที่ดูเป็นการทอดไมตรีการบริการเพื่อเอาใจลูกค้า ลูกทัวร์ ที่มาบริการ “ยิ้ม”  จึงไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนสยามประเทศไทยเท่านั้น แต่มีลักษณะทั้งอุษาคเนย์ หรือทั่วโลกก็ว่าได้
ยิ้มสยาม”  ในที่นี้อาจจำกัดเฉพาะคนที่ยิ้มในสยามประเทศไทยเท่านั้น  จึงจำแนกเอาเฉพาะรูปเก่าที่ชาวสยามถ่ายรูปเริ่มปรากฏรอยยิ้มในยุครัชกาลที่ 5  ตอนปลาย ที่นิยมถ่ายเฉพาะเจ้าขุนมูลนาย ขณะที่  ไพร่บ้านพลเมืองยังไม่เป็นที่นิยมเพราะยังมีความเชื่อเรื่อง “วิญญาณในรูปถ่าย” หรือการ “ฝั่งรูปฝั่งรอย” ซึ่งเป็นความเชื่อดั่งเดิมของ “ศาสนาผี” ที่ฝั่งรากลึกก่อน พุทธ และพราหมณ์ จะเข้ามาสู่อุษาคเนย์
รอย ยิ้มที่ริมแก้มที่ปรากฏในภายในหน้าชวนให้เสน่หา  อาจสื่อความหมายที่งดงามในแง่ของบทเพลง อย่างเพลง อมยิ้ม ของ ชาย  เมืองสิงห์ เมื่อราว พ.ศ. 2504-2509 และเพลง เที่ยวละไม ของ วงเฉลียง
ขณะที่ “ยิ้ม” อีกอย่างหนึ่ง อาจสื่อความหมายที่เชื้อเชิญทอดไมตรีชวนชม้ายชายตาจนบางครั้งก็พะว้าพะวังเพราะรอยยิ้ม นั่น
สยามเมืองยิ้ม” ถูกใช้ในความหมายที่งดงามของรอยยิ้มผู้คนที่อาจไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น อาจสื่อความหมายในลักษณะชาตินิยมที่ปรากฏในเพลง “สยามเมืองยิ้ม”  ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ ซึ่งแต่งโดย วิเชียร  คำเจริญ หรือ ลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ เมื่อราวๆ พ.ศ. 2530  เพลงนี้ได้รับรางวัลในการงาน กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2534  ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ
ดูเหมือนคำว่า “ยิ้มสยาม” และ “สยามเมืองยิ้ม”   จึงถูกใช้เป็นคำประชาสัมพันธ์ในการณรงค์การท่องเที่ยวอยู่หลายวาระไม่ว่าจะ ยุค ฐานทัพทหารสหรัฐอเมริกา หรือ ปีณรงค์การท่องเที่ยวไทย เมื่อ พ.ศ. 2530  ของ รัฐบาล พลตรี (ยศในขณะนั้น) ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำเนินนโยบายเปลี่ยน “สนามรบเป็นสนามการค้า” พร้อมๆ กับ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโปร์โมตต์คำว่า “เวลคัม ทู ไทยแลนด์
เวลคัม ทู ไทยแลนด์” กลายเป็นชื่อเพลงที่วงดนตรีเพื่อชีวิต วงคาราบาว นำมาล้อเลียนการท่องเที่ยวรัฐบาลในการท่องเที่ยวที่เน้น“ยิ้มสยาม” ในความหมายที่นักเที่ยวชาวต่างชาติที่รับรู้กลิ่นอายของฐานทัพสหรัฐอเมริกาเมื่อคราวยกพลขึ้นบกว่า“ยิ้มสยาม” คือนัยยะเสน่ห์แห่งราตรีอย่างหนึ่ง และหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ก็ยังได้รับความนิยม จนถึง ปัจจุบัน
ยิ้มสยาม” หรือ“สยามเมืองยิ้ม” จึงเป็นความหมายที่สื่อทางกิริยาได้ทั้งด้านความหลากหลายของ  “รอยยิ้ม” ที่มีเป้าหมายของ “ผู้ยิ้ม” และ “ผู้ถูกส่งยิ้ม”   เพียงแต่สังคมที่หวั่นเกรงเรื่องศีลธรรมแบบ “ปากว่าตาขยิบ” ไม่สู้จะยอมรับความจริงในเรื่อง “เสน่ห์ของรอยยิ้มสยาม” เท่านั้นเอง

อ้างอิง
- จิตร ภูมิศักดิ์.ความเป็นมาของ คำสยาม,ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ .สำนักพิมพ์ศยาม.กทม.2519
- สำนักราชบัณฑิตสถาน.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน.กทม. 2542
- สำนักพจนานุกรม มติชน.พจนานุกรม ฉบับ มติชน .ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน.กทม.2547
- สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ.กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2.กทม. .2534
- มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์.สันต์ ท.โกมลบุตร แปล.สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.2548
- เจนภพ จบกระบวนวรรณ.เพลงลูกทุ่ง.สำนักพิมพ์สารคดี.กทม2550
- สุจิตต์ วงศ์เทศ.คนไทยมาจากไหน?.ศิลปวัฒนธรรม.กทม.2548
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.จากสยามเป็นไทยนามนั้นสำคัญมากฉะนี้หรือ?.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.กทม. 2550
- ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต.เพลงลูกทุ่งมาจากไหน.http://www.thaipoet.net.สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย


http://7prayoon.igetweb.com/articles/635382/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้