วันที่ ๓: เจริญสติระหว่างซมไข้ ตอนที่ 1
สิ่งที่จะได้รับจากบทความวันนี้
8.ความสำคัญของการเพียรรู้ในทุกการเคลื่อนไหว
9.ท่านอนที่ทำให้ลากลมได้ยาว
10.สติรู้ตามจริงช่วยให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิ ภายในร่างได้
๐ ลมหายใจเข้าต่อมา เมื่อรู้สึกถึงความเย็นของลม แล้วตามด้วยความรู้สึกร้อนแสลงตลอดช่วงอก ฉันก็ทำใจรับรู้ตามสภาพ ว่าที่ร้อนนั้นเป็นความร้อนภายในอิริยาบถนอน อิริยาบถนอนเป็นผู้ร้อน ไม่ใช่ฉันเป็นผู้ร้อน
๐ เออ! มันช่างต่างกันดีเหลือเกินจริงๆ พอสติรู้ชัดว่าอิริยาบถนอนเป็นผู้อมความร้อน จิตก็คายความร้อนรนกระวนกระวายทิ้ง ครั้งต่อครั้ง นาทีต่อนาที จนในที่สุดจิตเกิดสภาพผ่อนพักเกือบเต็มที่ คล้ายหลับสนิท แต่ในความหลับนั้นจิตเฝ้ารู้อยู่ว่ากำลังดูอิริยาบถนอนที่อมความร้อนไว้ และจิตไม่เดือดร้อนกับสภาพร้อนของอิริยาบถนั้นเลย ธรรมดาคนเป็นไข้จะไม่ค่อยมีแรงคิดเรื่องจิปาถะนอกตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจิตได้ที่จับดีๆ ความคิดก็หลีกทางให้สติเอง สำคัญคือตอนต้น ทำอย่างไรจะได้ที่จับให้จิตมั่นคงหน่อยเท่านั้น
๐ อุปสรรค ณ จุดเริ่มต้นที่เอาชนะยากมีหลายประการ ฉันสังเกตว่าการพลิกตัวแต่ละครั้งเป็นที่มาสำคัญของความเผลอสติ เพราะการได้เปลี่ยนท่าจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางกาย ขณะวางกายในท่าใหม่จะเกิดความหลงสุขชั่วครู่ ทำให้มีความเป็นเรานอนอย่างสุขสบายชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะแปรเป็นความรู้สึกร้อนกายหรือปวดหัวในท่านั้นๆ ความปวดหัวจะทำให้เป็นทุกข์ เหมือนแรงเสียดทานสติ ไม่ให้สติดำเนินผ่านไปได้ง่ายนัก เพียงนิ่งในท่าใหม่ครู่เดียวก็จะมีความเป็นเราปวดหัวขึ้นมาแทนเราสบายเสียแล้ว หากสติรู้ลมหายใจหรืออิริยาบถนอนตามมาไม่ทัน หรือสติใหญ่ไม่พอจะเอาชนะความรู้สึกว่าเราปวดหัวตัวร้อน ท่านอนใหม่ก็จะเอาสติของเราไปกินหมด ความเพียรรู้ในทุกการเคลื่อนไหวจึงมีบทบาทสำคัญ
๐ ฉันพบว่าการนอนตะแคงจะทำให้หายใจติดขัด ไม่ลากยาวได้เหมือนอย่างนอนหงาย ดังนั้นจึงจับจุดได้อย่างหนึ่ง คือเมื่อนอนตะแคงควรเน้นสติรู้อิริยาบถมากกว่าสติรู้ลมหายใจ แต่เมื่อนอนหงายก็ควรเน้นสติรู้ลมหายใจมากกว่าอิริยาบถ ส่วนถ้าหากความร้อนหรือความปวดหัวกำเริบ ก็มองว่าเป็นอิริยาบถนอนร้อน อิริยาบถนอนปวดเท่านั้น ไม่ใช่ฉันร้อน ไม่ใช่ฉันปวด
๐ สลับไปสลับมาตามถนัดในแต่ละขณะ ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับสติรู้อิริยาบถ กระทั่งสติขาดหายไปเพราะถูกพิษไข้บีบให้เพลียหลับ แต่ขณะหลับยังเหมือนมีความนิ่งรู้ความร้อนในอิริยาบถอยู่รางๆ คล้ายหลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่เชิง
๐ ตื่นขึ้นมาอีกรอบ ฉันยังไม่สมหวัง เพราะอาการปวดทุเลาไปเพียงนิดเดียว แต่ความร้อนยังรุมกาย ฉันลุกมาเข้าห้องน้ำแล้วกลับมานั่งที่เตียง คิดในใจว่าคงไม่สำเร็จกระมัง สติยังไม่แข็งแรงจนเอาชนะพิษไข้ได้
๐ แต่พอนั่งเฉยๆไม่กำหนดอะไรราว ๕ นาที พอชำเลืองจิตกลับมารู้กายใหม่ ก็พบด้วยความประหลาดใจว่าความร้อนลดลง เนื้อตัวสบายขึ้น แต่ยังมีมึนๆและปวดหัวข้างเดียวเป็นระยะ กับทั้งอ่อนเพลียอีกครั้ง จึงล้มตัวลงนอน พอนอนจังหวะแรกๆยังปวดหัว แต่เทียบเคียงกับครั้งเมื่อก่อนตื่นแล้วเห็นท่าว่าน่าจะเบาบางกว่ากันเยอะ เห็นเช่นนั้นก็ชักมีกำลังใจกำหนดสติต่อ
๐ เริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจออก เห็นความร้อนในแต่ละช่วงไม่เสมอกัน ช่วงหนึ่งๆอาจหมายถึงสองสามนาที ฉันไม่ได้แกล้งนึกให้มันร้อนมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่แม้แต่กำหนดให้ลมระบายออกยาวหรือสั้น แต่ก็เห็นเช่นนั้นด้วยความเพียรอดทนสังเกตในระยะยาว ถ้ามีอาการปวดหัวหรือตัวร้อนระดับทรมาน ก็เปลี่ยนไปกำหนดว่าอิริยาบถเป็นผู้ปวด อิริยาบถเป็นผู้ร้อน
๐ รอบนี้ทำให้เกิดความเห็นที่รอบก่อนไม่เห็น คือสติรู้ตามจริงนั่นเองเป็นตัวแปร เป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในร่างได้ กล่าวคือถ้าขาดสติ ปล่อยจิตปล่อยใจให้ระทมทุกข์ไปกับความร้อนหรือความปวด ก็จะมีส่วนช่วยบีบคั้นอาการทางกายให้หนักอยู่อย่างนั้น หรือกระทั่งหนักยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าจิตอยู่ในดุลที่จะรู้พอดีๆตามที่ทุกภาวะปรากฏอยู่จริง ก็ไม่มีอะไรมาบีบคั้นกายให้หนักไปกว่าเดิม น่าจะเปิดโอกาสให้กายซ่อมแซมตัวเองตามกลไกธรรมชาติสะดวกขึ้น หรือมีความเยือกเย็นจากจิตนั่นเองมาช่วยให้กายสบายเร็วผิดปกติ
๐ หากอธิบายตามหลักการแพทย์ก็ต้องบอกว่ามีสารที่เป็นประโยชน์เช่นเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมาขณะจิตใจสงบสุขเป็นสมาธิ สำคัญคือขณะเป็นไข้นั้น คนทั่วไปไม่อาจสงบจิตสงบใจเป็นสมาธิได้ไหว นี่ย่อมถือว่านักปฏิบัติธรรมภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ได้เปรียบยิ่ง เพราะฐานสติที่แกร่งแล้วพอควร จะมีส่วนช่วยให้จิตสงบเป็นสมาธิง่ายขึ้น
๐ สองชั่วโมงต่อมาฉันตื่นนอนขึ้นอีกครั้ง ความรู้สึกแรกคือความนิ่งสบายใจทางจิต ความรู้สึกต่อมาคืออาการของกายเบาลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นหัวที่ปวดหรือตัวที่ร้อน ฉันขยับลุกขึ้นยืนอย่างลุ้นว่าผลเป็นอย่างไร ก็ยิ้มออก ไข้ลดลงแล้วจริงๆ รู้สึกได้เลยว่าไม่ใช่อุปาทาน เดี๋ยวฉันทานข้าวแล้วกินพาราฯอีกที น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆจนไปทำงานได้ในวันพรุ่งนี้แล้ว และคิดในใจว่าไม่เป็นไร ถ้าปวดหัวตัวร้อนอีกก็เจริญสติให้จิตเข้าไปอยู่ในสภาพผู้รู้ ผู้เยือกเย็นรับทราบปรากฏการณ์การเป็นไข้ตามจริงอีก ที่จริงก็ได้ความรู้ ได้ปัญญา ได้ความไม่ประมาทในกายอันเป็นอนัตตานี้ดีเหมือนกัน
....................................................
*** โปรดติดตามโพสต์ธรรมะจากดังตฤณ
พรุ่งนี้เวลา ๒ ทุ่มตรงนะครับ
_____________________________
ที่มา : หนังสือ "๗ เดือนบรรลุธรรม"
หนังสือประสบการณ์ธรรมะกึ่งนิยาย
นิยายที่แต่งขึ้นจากประสบการณ์จริงของเหล่านักภาวนา
ผนวกเข้ากับวิธีการเจริญสติตามแนวสติปัฏฐาน ๔
ฟังฟรีที่
http://bit.ly/WfdRop
อ่านฟรีที่
http://bit.ly/1tYK12x
โดย
#ดังตฤณ |
www.facebook.com/Dungtrin
เรียบเรียงและโพสต์โดยแอดมิน โจ๊กยุ้ย