"ตำนานรักโศกเศร้า ของคนกับพญานาค
เรื่องเล่าขานประจำบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ" สมัยก่อน บริเวณที่เป็นตัวบึงโขงหลงนั้นไม่ได้เป็นพื้นน้ำ แต่เป็นพื้นดินที่ตั้งเมือง ชื่อว่ารัตพานคร มีผู้ปกครองนคร คือพระอือลือราชา มีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อพระนางเขียวคำ (ต่อมาอภิเษกกับพระเจ้าสามพันตา) มีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ตามตำนานเล่าว่า เจ้าชายฟ้าฮุ่ง เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปเป็นสมบัติ ต่อมาเจ้าชายฟ้าฮุ่งได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระยานาคราชแห่งเมืองบาดาล ซึ่งจำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ การจัดงานอภิเษกสมรสได้จัดทำกันใหญ่โตมโหฬารมากทั้งเมืองรัตพานครและเมืองบาดาล(๗วัน๗คืน) เพื่อให้สมกับการแต่งงานอันยิ่งใหญ่ในครั้งครั้งนี้ และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างพระยานาคกับพระเจ้าอือลือ พระยานาคราชได้มอบเครื่องราชกุฎภัณฑ์ซึ่งเป็นของมีค่าประจำตระกูลให้กับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย พร้อมกับฝากฝังลูกสาวของตน ให้เมืองรัตพานครดูแล โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่า นางคือลูกของพญานาคแห่งเมืองบาดาลเจ้าชายฟ้าฮุ่งกับเจ้าหญิงนาครินทรานี อยู่กินร่วมกันมา ๓ ปี ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้สืบสายโลหิตได้(เพราะธาตุมนุษย์กับนาคเข้ากันไม่ได้) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสองเป็นอันมาก ซึ่งต่อมาทำให้เจ้าหญิงนาครินทรานีล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางกลับกลายร่างเป็นนาคตามเดิม ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วกรุงรัตพานคร แม้ต่อมาพระนางจะร่ายมนต์กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งก็ตาม เมื่อทุกคนทราบความจริงว่านาครินทรานีเป็นนาค ประชาชนชาวรัตพานครและพระเจ้าอือลือราชาไม่พอใจอย่างมาก จึงได้แจ้งให้พระยานาคราชมารับลูกสาว พร้อมขับไล่นางนาครินทรานีกลับคืนสู่เมืองบาดาล โดยไม่ใยดี แม้กระทั้งการจะไปส่งด้วยน้ำใจก็ไม่มี ไม่เหมือนกับครั้งที่นางมาในพิธีอภิเษกสมรส พระยานาคราชกริ้วโกรธกับการกระทำของเมืองรัตพานครที่ได้กระทำต่อลูกสาวของตน แต่ด้วยความรักที่มีต่อพระธิดาของตน จึงมารับพระธิดากลับโดยดี แต่ก่อนกลับสู่เมืองบาดาล พระพระยานาคราชได้ขอเครื่องราชกุฎภัณฑ์ที่เป็นเครื่องประดับยศ และสมบัติที่มอบให้พระธิดา เมื่อครั้งแต่งงานคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนได้ เนื่องจากได้นำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่นแล้วพระยานาคราชกริ้วโกรธมาก เพราะธิดาของตนถูกขับไสไล่ส่ง ก็เจ็บใจมากพอแล้ว อีกทั้งยังขอรับเครื่องราชกุฎภัณฑ์ของตนกลับเมืองบาดาลไม่ได้ พระยานาคราชแห่งบาดาลจึงได้ประกาศว่าจะกลับมาพร้อมกับไพร่พลแห่งเมืองบาดาล เพื่อถล่มเมืองรัตพานครให้สิ้นสภาพความเป็นเมืองหลังจากพระยานาคราชกลับเมืองบาดาล ตกในคืนวันเดียวกันนั้นไพร่พลแห่งพระยานาคราช ได้ยกมาถล่มเมืองรัตพานครจนราบคาบเป็นหน้ากลอง ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์ของนาคได้ จนพื้นดินที่เคยเป็นเมืองรัตพานครในอดีต กลายเป็นผืนน้ำอันเวิ้งว้าง รัตพานครล่มถล่มลง ผู้คนแห่งเมืองล้วนล้มตายเพราะความโกรธของพระยานาคราช ที่เกิดจากชาวรัตพานครกระต่อพระธิดาของตน เนื่องจากนางนาครินทรานีไม่ทราบว่าพระบิดาจะมาถล่มเมืองรัตพานคร แต่พอทราบภายหลังก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่ง นางออกตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่งทั่วบึงของหลง ถึงแม่น้ำสงครามแต่ก็ไม่พบ จึงได้กลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครถูกถล่มจนกลายเป็นบึงของหลง และได้กลายมาเป็น “บึงโขงหลง” ในปัจจุบันจากพื้นดินอันเป็นที่ตั้งของรัตพานคร กลายเป็นเวิ้งน้ำ แต่ในช่วงที่ไพร่พลพญานาคเข้าทำลายเมืองนั้นยังมีวัดที่ตั้งอยู่ในรัตพานคร ที่พระยานาคราชและไพร่พลไม่ทำลาย เหลือไว้เป็นที่สักการะของผู้คนที่จะมาพบเห็นในกาลต่อไป ซึ่งในกาลต่อมาวัดเหล่านั้นได้เสื่อมสภาพลง กลายเป็นเกาะและป่าขนาดเล็กที่มิได้จม หรือถูกทำลายให้กลายเป็นพื้นน้ำ วัดเหล่านั้นจึงปรากฏเป็นชื่อดอน หรือเกาะต่างๆ ในบึงโขงหลงในปัจจุบันดังนี้ วัดแก้วฟ้า หรือวัดดอนแก้ว ปรากฏเป็นดอนแก้วในปัจจุบัน วัดโพธิ์สัตว์หรือวัดดอนโพธิ์ มาเป็นดอนโพธิ์ และวัดแดนสวรรค์ กลายเป็นดอนสวรรค์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง และสิ่งหนึ่งที่มีชื่อปรากฏตามตำนานในปัจจุบันคือ เส้นทางที่พระธิดานาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้าฮุ่งในเมืองรัตพานครไม่เจอ จึงออกตามหาต่อจากบึงโขงหลง ต่อไปยังน้ำสงคราม เส้นทางดังกล่าว กลายเป็นน้ำเมาที่เชื่อมต่อบึงโขงหลง และน้ำสงคราม ส่วนคำว่าน้ำเมา หรือห้วยน้ำเมานั้น เป็นเพราะเกิดจากความลุ่มหลงในรักของพระธิดาของพระยานาคที่มีต่อเจ้าชายฟ้าฮุ่ง ซึ่งตกอยู่ในอาการที่เรียกว่ามัวเมาในความรัก จึงเป็นเส้นทางแม่น้ำที่เรียกว่าน้ำเมาหมายเหตุ บึงโขงหลงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เกิดตามธรรมชาติ มีพื้นที่ประมาณ ๑๑ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันประชาชนรอบพื้นที่บึงโขงหลงได้ใช้แหล่งน้ำแห่งนี้ ประกอบอาชีพด้านประมง กสิกรรม เกษตรกรรม
|