ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1640
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ตำนานแม่น้ำเจ้าพระยา

[คัดลอกลิงก์]
[url=][/url]


  • ท่านทราบหรือไม่ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากเป็นการรวมตัวของ ปิง วัง ยม น่าน อย่างที่เรา ๆ รู้จักอยู่แล้วนั้น ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่าสนใจอีกหลายอย่างทั้งวิถีชีวิต อารยธรรม รวมถึงตำนานต่างๆ มีอยู่หลายตำนานด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์ของไทยนั้นมีอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา


     โดยเริ่มต้นเมื่อประมาณ ปีพุทธศักราช 1893 พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้ขึ้นครองราชย์สมบัติทรงพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1" ในขณะที่พระองค์ทรงได้ขึ้นครองราชย์นั้นได้ให้ พระราเมศวร ราชบุตรไปปกครองเมืองลพบุรี และได้ให้ ขุนหลวงพระงั่ว พระเชษฐาไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี

     พุทธศักราช 1912 พระเจ้าอู่ทอง สวรรคต พระราเมศวร ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์แทน แต่ในเวลาต่อมาก็จำต้องถวายราชสมบัติให้ ขุนหลวงพระงั่ว
     พุทธศักราช 1913 ขุนหลวงพระงั่วได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1" นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในการทำสงครามมาแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง

     ในขณะนั้นกรุงสุโขทัยมี พระมหาธรรมราชาลิไท เป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์ทรงอ่อนแอมาก ประเทศราชต่างก็แข็งเมือง ทางกรุงสุโขทัยไม่สามารถไปตีคืนมาครอบครองเหมือนดังเดิมได้

     พุทธศักราช 1915 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระองค์ทรงยกกองทัพเข้าตีแคว้นสุโขทัยตอนใต้ โดยยกกองทัพเข้าตีเมืองจำปา (ชัยนาท) ได้ก่อนแล้วยกทัพมาตั้งมั่นล้อมเมืองพระบางไว้ ซึ่งเมืองพระบางนั้นเป็นเมืองหน้าด่านตอนใต้ของสุโขทัย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำใหญ่มี เจ้าพระยาอนุมานวิจิตรเกษตร เป็นเจ้าเมืองในขณะนั้นมีเมืองในการปกครองอีก 4 เมือง คือ

     1. เมืองไตรตรึงษ์ อยู่ทางเหนือเมืองพระบาง มี เจ้าพระยาอัษฎานุภาพ เป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เมือง จ.กำแพงเพชร)
     2. เมืองไพศาลี อยู่ทางทิศตะวันออก มี เจ้าพระยาราชมณฑป เป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันคือบ้านหนองไผ่ ต.หนองไผ่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์)
     3. เมืองการุ้ง อยู่ทางทิศตะวันตก มี พระยาวิเศษสรไกร เป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันคือ บ้านการุ้ง ต.วังหิน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี)
     4. เมืองจำปา อยู่ทางทิศใต้ (ปัจจุบันคือ จ.ชัยนาท)

     เจ้าพระยาอนุมานวิจิตรเกษตร มีทหารเอกอยู่ 2 คน คนหนึ่งชื่อ สมบุญ อีกคนหนึ่งชื่อ ศรี แต่ทว่า ศรีไปขึ้นกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เพื่อหวังจะได้เป็นใหญ่ในพระบาง ทางด้านเมืองหน้าด่านของเมืองพระบางทั้งสาม (เว้นนครจำปาซึ่งถูกกรุงศรีอยุธยายึดไปแล้ว) จึงได้ยกทัพมาช่วย อยุธยาล้อมเมืองพระบางอยู่ถึง 5 เดือนเต็ม และแล้ว ศรีผู้ทรยศ ก็สามารถนำกองทัพอยุธยาเข้าตีเมืองพระบางไว้ได้ เจ้าพระยาทั้งสี่พร้อมด้วย สมบุญ ทหารเอกถูกจับได้


     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ให้ทหารนำตัวเจ้าพระยาทั้งสี่และสมบุญเข้าเฝ้าพระองค์ตรัสว่า
     "เราได้ทราบว่าพวกท่านกล้าหาญและเข้มแข็งนัก เรายินดีที่ได้พบและรู้จักพวกท่าน เราต้องขอโทษที่ต้องเข้าตีเมืองพระบางเพราะเราเห็นว่าสุโขทัยนับวันจะเสื่อมโทรมลงเป็นช่องทางให้ข้าศึกศัตรูจู่โจมเข้ามาแย่งยื้อถือปกครอง เราจึงคิดรวบรวมไทยไว้ให้เป็นปึกแผ่นเราเห็นว่าพวกท่านทั้งห้าคนนี้เป็นคนซื่อสัตย์กตัญญูมั่นอยู่ต่อพระเจ้าอยู่หัวของท่านยิ่งนัก ยากที่จะหาคนอย่างพวกท่านได้อีก เราจะขอให้ท่านรับราชการกับเราสืบไป"

     พระยาอัษฎานุภาพจึงกราบทูลว่า
     "นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แต่เสียใจที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งห้านี้ ได้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระเจ้าอยู่หัวในราชวงศ์สุโขทัยเสียแล้ว มิอาจอยู่ตากหน้ารับความสุขและลาภยศของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ในเมื่อพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้ากำลังตกอับซ้ำข้าทั้งห้าของท่านกลับมาช่วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ชิงราชบังลังก์"

     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงตรัสตอบไปว่า
      "ท่านเข้าใจผิด เราตั้งใจไว้ว่าหากเราได้กรุงสุโขทัย เราจะไม่ทำให้กรุงสุโขทัยต้องเดือดร้อน คงให้ดำรงพระยศเป็นกษัตริย์ฝ่ายเหนือตามเดิมแต่รวมอยู่กับอยุธยา"

     พระยาราชมณฑป จึงกราบทูลต่อไปอีกว่า
     "จะมีประโยชน์อะไรที่จะต้องอยู่อย่างผู้แพ้ อยู่อย่างประเทศราช ข้าพระพุทธเจ้ารู้พระทัยของพระเจ้ากรุงสุโขทัยดีว่า พระองค์ไม่พึงปรารถนาที่จะให้พระองค์ทรงชุบเลี้ยง ข้าพระพุทธเจ้าขอยืนยันว่าแม้แผ่นดินยังไม่กลบหน้าตราบใดแล้ว ก็ต้องหาทางกอบกู้กรุงสุโขทัยกลับคืนมาจนได้ และเมื่อนั้นเลือดไทยก็ต้องหลั่งกันอีก"

     พระยาวิเศษสรไกร กล่าวเสริมว่า
     "ข้าพระพุทธเจ้าขอยืนยันว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาถึงเจ็ดชั่วโคตร เคยแต่เป็นข้าของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ที่จะกลับมาเป็นข้าของอยุธยานั้นอย่าหมาย ชาวเหนือถือเป็นคติประจำสันดานว่าอยู่อย่างผู้แพ้ เมื่อแพ้แล้วอยู่ไปประเสริฐอย่างไรขอให้ประหารข้าพระพุทธเจ้าเสียเถิด"

     สมบุญ ทหารเอกพูดด้วยความโกรธแค้น ว่า
     "อ้ายบุญก็เหมือนกัน อย่าต้องให้เป็นหมาสองรางอย่างอ้ายศรีเลย ขอให้พระองค์ชุบเลี้ยงอ้ายหมาหัวเน่าไว้เป็นข้าแต่ตัวเดียวเถิด"

     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้ฟังสมบุญพูดดังนั้นจึงตรัสปลอบว่า
     "เจ้าสมบุญเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไทยด้วยกัน ค่อยพูดค่อยจากัน ออมชอมกันไว้ไม่ดีกว่าหรือ เป็นข้าคนไทยด้วยกันยังดีกว่าเป็นข้าของคนต่างด้าวท้าวต่างแดน แล้วเจ้าจะเอาอย่างไรต่อไป"

     สมบุญ พูดด้วยใจเด็ดเดี่ยว
     "อ๋อ ไม่ยาก ข้าพระพุทธเจ้าขออย่างเดียวง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากเสียอีก คือ ฆ่าพวกข้าพระพุทธเจ้าเสียให้หมด"

     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงตรัสต่อไปว่า
      "เราก็จนใจเมื่อพวกท่านทั้งห้าต้องการเช่นนั้น แต่เราให้พวกท่านเลือกตายตามสมัครใจ"

     สมบุญ กราบทูลว่า
     "สำหรับข้าพระพุทธเจ้าสมบุญทหารเอกเมืองพระบางเกิดที่หนองสาหร่าย เกิดที่ไหนก็อยากตายที่นั่นเอาร่างถมแผ่นดินมาตุภูมิ ขอให้เอาข้าพระพุทธเจ้าไปฆ่าเสียที่หนองสาหร่ายเถิดจะเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง"

     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงตรัสกับทหารทั้งหลายว่า
     "ทหารจงดูไว้เป็นเยี่ยงย่างจะหาคนที่ประเสริฐอย่างนี้ได้ยากมาก เพื่อให้ชาวพระบางมีใจระลึกถึงความดีงามและวีรกรรมของเจ้าสมบุญ เราขอประกาศเปลี่ยนชื่อหนองสาหร่ายเสียใหม่ว่า "หนองสมบุญ" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของสมบุญทหารเอกแห่งเมืองพระบางทหารพาสมบุญไปได้"

     เจ้าพระยาอนุมานฯ จึงกราบทูลว่า
     "ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่เป็นศิษย์สำนักเดียวกันต่างอยู่ยงคงกระพันไม่มีทางฆ่าพวกข้าพระพุทธเจ้าได้ ขอได้โปรดนำพวกข้าพระพุทธเจ้าไปกดให้จมน้ำตายที่แม่น้ำหน้าเมืองนี้เถิด"

     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เมื่อได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า
     "เราเสียดายท่านทั้งสี่ แต่เราก็จนใจในความตั้งใจของท่าน"

      แล้วจึงสั่งทหารให้นำพระยาทั้งสี่ไปกดน้ำให้จมน้ำตายที่หน้าเมืองพระบางตามความประสงค์ ก่อนตายเจ้าพระยาทั้งสี่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

      "ข้าแต่พระคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ ณ วังน้ำอันเยือกเย็นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่ได้เกิดมาในลุ่มอกแม่น้ำนี้ ลูกได้อาศัยดื่มกินมาชั่วลูกชั่วหลาน แม่มิได้เคยเหือดแห้ง บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่สิ้นวาสนา ขอฝากดวงวิญญาณแห่งชายชาติทหารกรุงสุโขทัยไว้กับพระแม่คงคา ด้วยเดชะความซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวทีของข้าฯ ขอให้แม่น้ำสายนี้จงอย่ามีวันใดเหือดแห้งจงเป็นสายธารชีวิตของชาวไทย ได้หล่อเลี้ยงพืชผลแห่งไร่นา พาเอาง้วนดินเหนืออันเกิดจากซากของผู้กล้าหาญ ที่ข้าหลั่งเลือดเนื้อปกป้องปฐพี ไปเป็นอาหารแห่งพืชที่แม่พระคงคาไหลผ่านไป ขอให้ชาวไทยในลุ่มแม่น้ำสายนี้จงวัฒนาสถาพรตลอดชั่วฟ้าดินสลาย"

       และแล้วแม่น้ำสายนี้ก็ปรากฏชื่อว่า

       "แม่น้ำเจ้าสี่พระยา" แต่บัดนี้ กาลเวลาได้ผ่านมา 500 ปีเศษ คำว่า "สี่" ก็จางหายไป เหลือแต่ "เจ้าพระยา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งวีรกรรมในความกล้าหาญและซื่อสัตย์ของเจ้าพระยาทั้งสี่ผู้ครองเมืองหน้าด่านตอนใต้ของสุโขทัย
(หมายเหตุ) ตำนานแม่น้ำเจ้าพระยาและหนองสมบุญนี้ นายอ้อม ศรีรอด แห่งโรงเรียนศรีสัคควิทยา ตลาดสะพานดำ ต.นครสวรรค์ตก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น ตามเค้าเรื่องจากสมุดข่อย วัดเขื่อนแดง ต.นครสวรรค์ตก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ สมุดข่อยดังกล่าวที่วัดเขื่อนแดง ปัจจุบันได้สูญหายและไม่ทราบว่าผู้ใดเอาไป


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้