|
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2020-11-30 12:57
พระสมเด็จปรกโพธิ์หลังหนุมานเชิญธงเสาร์๕ พ.ศ.๒๕๓๖
วัตถุประสงค์การจัดสร้าง... เพื่อแจกในวันเสาร์๕ พ.ศ.๒๕๓๖
ความเป็นมาของการจัดสร้าง เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕ ทางผู้เขียน นายไชยา อ่ำสำอางค์ หรือพระไชยา ปัญญาธโร ในขณะนั้นได้เปิดดูปฏิทินปีพ.ศ.๒๕๓๖ พบว่าวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นวันเสาร์๕ จึงนำความเรื่องนี้ปรึกษากับหลวงพ่อยิด ว่าจะทำพระสมเด็จปรกโพธิ์ให้หลวงพ่อได้เก็บไว้แจกใน วันเสาร์๕ พ.ศ.๒๕๓๖ หลวงพ่อท่านจึงอนุญาติให้จัดสร้าง จึงเรียกช่างเผด็จ กิตติโสภาพันธุ์ ไปแกะบล๊อกเป็นพระสมเด็จปรกโพธิ์หลังยันต์ครู หลังจากแกะบล๊อกเสร็จได้นำไปให้หลวงพ่อดู พอหลวงพ่อได้ดูบล๊อกแล้ว ท่านได้พูดแบบภาษาเพชรบุรีว่า “เห็นทำแต่หลังยันต์ครูกัน หลังหนุมานตัวเก่งของฉันไม่มีใครทำเลย” ด้วยเหตุผลและคำพูดของหลวงพ่อคำนี้ เลยต้องให้ช่างไปแกะบล็อกด้านหลังใหม่เป็นหนุมานเชิญธง หลวงพ่อยิดท่านเขียนยันต์หนุมานให้ไม่ทัน ท่านจึงบอกช่างให้ไปเอาแบบหนุมานเชิญธงในหนังสือมหายันต์ หลังจากที่ช่างแกะบล๊อกเสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำกลับมาให้หลวงพ่อดูอีกครั้ง ท่านได้บอกว่าดีแล้ว จากในบางครั้งที่ท่านไปเจอพระเนื้อขาวๆที่โรงงานกดพิมพ์มาเอง เพื่อเป็นตัวอย่างมีบ้างไม่เกิน ๑๐ องค์ ความตั้งใจแรกที่จะให้โรงงานปั๊มขึ้นมา ๑๐,๐๐๐ องค์ พอหลวงพ่อได้ยินว่าให้ปั๊มที่โรงงาน ท่านจึงบอกว่าทำไมไม่ปั๊มกันเอง ด้วยความเกรงใจช่าง ได้ถามช่างว่าจะว่าอย่างไร ช่างเผด็จจึงบอกว่า ถ้าหลวงพ่อต้องการอย่างนั้นก็ไม่เป็นไรปั๊มที่วัดก็ได้ งั้นบล๊อกนี้ไม่คิดตังค์ขอถวายให้หลวงพ่อไปเลย งานหน้าถ้ามีอะไรจะให้รับใช้ก็บอก จากนั้นจึงได้ปรึกษาหลวงพ่อต่อว่าจะปั๊มอย่างไร ผสมผงอย่างไร เพราะทุกคนไม่มีประสบการณ์ หลวงพ่อท่านจึงบอกให้ไปหาผงว่านมา จึงได้ผงว่านมาต่างๆนาๆและที่มากที่สุดคือว่านสาวหลง และหลวงพ่อท่านยังให้ไปเก็บเปลือกหอยชายทะเลและเปลือกหอยที่ว่านี้ตามที่หลวงพ่อบอกหาได้เพียงสองที่คือ ชายหาดริมทะเลบางควาย อ.ชะอำและชายหาดริมทะเลบ้านใหม่ หมู่ที่๑ ต.สามร้อยยอด อ.ปราณบุรี (ในสมัยนั้น) และผงปูนขาว กล้วยน้ำว้า น้ำผึ้งเดือนห้าและข้าวก้นบาตรตอนเช้า ที่พระบิณฑบาตรได้มาและเกศาหลวงพ่อ และสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อบอก มีคนนำรูปเหมือนรัชกาลที่ ๕ ทรงยืนขนาดองค์ใหญ่ชำรุด มีคนนำมาทิ้งไว้ที่หน้าพระอุโบสถ วัดหนองจอก หลวงพ่อท่านบอกว่า อันนั้นดีมากเป็นพิธีใหญ่ของสำนักพุทธประทีป พ.ศ.๒๕๐๐ เอาผงที่องค์รัชกาลที่ ๕ มาตำผสมใส่ด้วยและใช้พระกับเณร ช่วยกันตำผงว่านต่างๆนาๆชนิดและเปลือกหอยใช้ตะแกรงร่อนแป้งร่อนผงออกมา ในองค์พระท่านจะเห็นเป็นเส้นหยาบๆนั้นคือว่านสาวหลง เห็นเป็นเม็ดข้าวก้นบาตรก็มี เห็นมีเกศาข้างในก็มีเพราะผสมรวมกันกับผง ด้วยเหตุผล ด้วยจิตที่มุ่งมั่น ด้วยจิตที่บริสทธิ์ช่วยกันตำผงโดยใช้ครกไม้สมัยโบราณ โชคดีที่เจ้าอาวาสวัดท่าลาว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ได้ให้พระกับเณรมาช่วยกันตำผงและช่วยกันปั๊มองค์พระ ครกแรกแก่ว่านจึงออกน้ำตาลดำ ครกที่สองอ่อนว่านลงมานิด จึงออกน้ำตาลอมขาวเหลือง ครกที่สามผงและผงปูนเปลือกหอยมากหน่อยจึงออกอมขาว ความตั้งใจที่จะทำ ๑๐,๐๐๐ องค์จึงได้ไม่ถึง พระกับเณรช่วยกันตำด้วยจิตที่เป็นกุศลถึงกับสู้ไม่ไหวมือไม้แตก เจ็บมือขณะที่ตำผงกัน ช่วยกันตำครั้งละ ๒ รูป รูปหนึ่งขณะที่ตำหลวงพ่อสอนให้ภาวนา นะมะพะทะ - มะพะทะนะ - พะทะนะมะ - ทะนะมะพะ อีกรูปหนึ่งหลวงพ่อสอนให้ภาวนา นะโมพุทธายะ - โมพุทธายะนะ - พุทธายะนะโม - ธายะนะโมพุท - ยะนะโมพุทธา
หลวงพ่อท่านบอกว่า นั่นคือการเรียกธาตุเล็ก ธาตุใหญ่ น้อมจิตด้วยความตั้งใจจริงอันบริสุทธิ์ จึงสามารถปั๊มพระรุ่นนี้ขึ้นมาได้ทั้งหมดสามครก เมื่อนับรวมแล้วได้ ๔,๖๘๒ องค์ ครกแรกได้ประมาณ ๕๐๐ องค์ ครกที่สองได้มาประมาณ ๑,๕๐๐ องค์ ส่วนที่เหลือคือครกที่สามจะเห็นได้ว่าเจอสีขาวมากกว่า ส่วนที่เห็นเป็นตะกรุดทองคำหรือตะกรุดเงินคือพระกับเณรที่ช่วยกันตำผง ขออนุญาตต่อหลวงพ่อให้ลงตะกรุดให้ แล้วนำมาปั๊มไว้บูชากันเอง ผมคิดว่าน่าจะมีไม่เกินอย่างละ ๕ องค์จึงหายากมากๆ จนแทบไม่อยากจะพูดถึง แต่ก็ต้องขอบอกทุกท่านเอาไว้ เผื่อท่านใดโชคดีไปเจอมาก็ต้องดูให้ดีนะครับ ต้องเป็นการกดปั๊มในพิมพ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเจาะฝังและตะกรุดหลวงพ่อยิด รอยจารต้องชัดเจน นี้คือที่มาของพระสมเด็จหลังหนุมานเชิญธง เสาร์๕ พ.ศ.๒๕๓๖ หลังจากที่ปั๊มพระเป็นองค์แล้ว พระจะแห้งช้ามากเพราะประสบการณ์ที่เราไม่รู้ เมื่อพระแห้งช้ามากจึงได้นำแล็กเกอร์เคลือบเอาไว้ ที่แห้งก่อนก็ไม่ได้เคลือบ ท่านอาจจะเจอมีทั้งเคลือบและไม่เคลือบแล็กเกอร์ หนุมานติดชัดสมบรูณ์ก็มี ติดไม่ชัดก็มี เพราะเป็นพระที่พระกับเณรช่วยกันปั๊มขึ้นมา ความสวย ความโดดเด่นอาจจะน้อยแต่มากด้วยพุทธคุณสูงสุดๆ ปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ ทำเสร็จแล้วบรรจุใส่ลังไว้ในกุฏิหลวงพ่อ ท่านได้ปลุกเสกมาตลอดจนถึงวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ที่เป็นวันเสาร์๕ คืนนั้นหลวงพ่อได้ปลุกเสกเป็นคืนสุดท้าย จึงได้แจกออกไปให้กับศิษยานุศิษย์ โดยหลวงพ่อท่านได้ถวายให้วัดท่าลาวไปแจกงานทอดผ้าป่า ๑,๐๐๐ องค์ ถวายไปแจกงานทอดผ้าป่าวัดไร่เนินอีกประมาณ ๑,๕๐๐ องค์และที่เหลือหลวงพ่อยิดท่านได้เป็นผู้แจกเองทั้งหมด
|
|