แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย metha เมื่อ 2015-1-31 14:06
"เรื่องของอุโบสถกรรม การประพฤติศีล 8 ของพญานาค"
พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงเอ่ยถึงเรื่องของอุโบสถกรรม (การประพฤติศีล ๘) ดังนี้ กาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนยากจนเข็ญใจ ได้มีโอกาสไปที่ฝั่งน้ำจัมปานที ร่วมกับ มหาชนเป็นจำนวนมาก เฝ้าดูสมบัติของพญานาคราช (ราชาแห่งงูใหญ่) พอได้เห็นแล้วก็เกิด จิตโลภ ปรารถนาจะได้สมบัติเหล่านั้น จึงพยายามเพียรทำบุญให้ทาน รักษาศีล เพื่อที่จะได้มี ได้เป็น อย่างนั้นบ้าง ต่อมา...เมื่อพญานาคราชตายไปได้เจ็ดวันแล้ว ชายยากจนเข็ญใจนั้นก็ตายตาม ด้วยผลบุญ ที่สะสมพาไปเกิดในนาคพิภพนั้นซึ่งชื่อว่าจัมปา ได้เป็นพญานาคราชชื่อ จัมเปยยะ มีสรีระใหญ่โต ศีรษะเท่าคันไถ ยอดศีรษะคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพล (ผ้าทอด้วยขนสัตว์) แดง ผิวหนังขาว ราวกับพวงดอกมะลิสด มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีสมบัติมากมายมหาศาล แต่ถึงกระนั้น จัมเปยยนาคราช ก็ยังทรงดำริว่า "ด้วยผลแห่งบุญกุศลที่เราทำไว้ จึงได้ครอบครองจัมปานาคพิภพนี้ แต่เราก็ได้กำเนิดเป็นสัตว์ ดิรัจฉานเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญบารมียิ่งไปกว่านี้ ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่เยี่ยงนี้เล่า เราควรจะเข้าอุโบสถ (รักษาศีล ๘) เพื่อบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก จะได้พ้นไปจากความเป็น นาค อย่างนี้ จะได้กำเนิดเป็นมนุษย์ สามารถแทงตลอดสัจธรรมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้" ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันอุโบสถ (วันพระแรมและขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ) จัมเปยยนาคราช จึงถือศีล ๘ อยู่ในปราสาทของตนนั้นเอง แต่บรรดาเหล่านางนาคทั้งหลาย ก็พากันตกแต่งร่างกายให้งดงาม แล้วพากัน ไปยังปราสาทเสมอๆ ทำให้นาคราชเกิดความกังวลขึ้น "หากเรายังคงอยู่ที่ปราสาทนี้ จะเป็นอันตรายแก่ศีลของเราเป็นแน่" จึงย้ายที่รักษาศีลอุโบสถ ไปอยู่ในอุทยานอันสงบ แต่นางนาคเหล่านั้นก็ตามไปยั่วยวนอีก หวังทำลาย ศีลของจัมเปยยนาคราชให้ได้ ทำให้นาคราชต้องตัดสินใจหลบออกจาก นาคพิภพ มุ่งสู่โลกมนุษย์ เพื่ออยู่รักษาศีล ๘ ณ ที่นั้น ฉะนั้น ทุกๆ วันอุโบสถจึงเสด็จออกจากนาคพิภพไปโลกมนุษย์ นอนขดขนดตัวอยู่บนยอด จอมปลวก ใกล้ทางเดินที่ผู้คนสัญจรไปมา ในหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง โดยตั้งศีลไว้อีกว่า "ร่างกายนี้เรายินดีเสียสละ หากใครต้องการแม้เนื้อหนังของเรา ก็จงมาเถือเอาไป หากใครต้องการ เอาเราไปทำอะไร ก็จงทำเถิด" นาคราชจึงประพฤติศีลเสียสละเช่นนี้เป็นประจำ จนนางนาคสุมนาอัครมเหสี อดเป็นห่วงมิได้ ต้องทูลถาม นาคราชว่า "โลกมนุษย์นั้นน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากภัยใดเกิดขึ้นแก่พระองค์ พวกหม่อมฉันจะรู้ได้ด้วย นิมิต (เค้ามูล) ใด ขอพระองค์ตรัสบอกนิมิตนั้นด้วยเถิด" จัมเปยยนาคราชจึงนำนางสุมนาเทวี ไปยังขอบสระโบกขรณีอันเป็นมิ่งมงคล แล้วตรัสว่า "หากใครทำร้ายเราให้ลำบาก น้ำในสระนี้จะขุ่นมัว หากพญาครุฑจับเราไป น้ำจะเดือดพุ่งขึ้น หากหมองู จับเราไป น้ำจะมีสีแดงดังโลหิต" หลังจากนั้นไม่นาน มีชายหนุ่มตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อ ลุททกะ ไปร่ำเรียน ยังเมืองตักกศิลา เขาได้เรียนมนต์อาลัมพายน์ (มนต์สะกดจิต) จบแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางนั้นเอง ได้พบเห็นนาคราชขดตัวอยู่ที่จอมปลวก ก็เลยคิดว่า "เรื่องอะไรที่เราจะกลับบ้านมือเปล่า น่าจะจับนาคตัวนี้ เอาไปแสดงการละเล่นตามหมู่บ้าน และ ในเมือง ก็จะได้ทรัพย์มากมายเป็นแน่" ชายหนุ่มลุททกพราหมณ์จึงทำการร่ายมนต์ และพ่นยาใส่นาคราช ทำให้รู้สึกเหมือนมีซี่เหล็ก เผาไฟร้อน ยอนเข้าไปในหูของนาครราช ศีรษะก็ปวดร้าวราวถูกเหล็กสว่านไชทนไม่ไหว จำต้องยก ศีรษะขึ้นมองดู "ใครกันหนอทำกับเราอย่างนี้" ครั้นเห็นเป็นพราหมณ์หมองู จึงคิดในใจว่า "เรามีพิษอยู่มากมาย มีพิษแรงกล้า หากเราโกรธแล้วพ่นลมพิษออกไป ร่างของหมองูนี้ก็จะย่อยยับ แหลกกระจุย กระจัดกระจายดังแกลบทีเดียว แต่ถ้าทำอย่างนั้น ศีลของเราก็จะขาดทะลุไป ประโยชน์ใด ที่เราปรารถนาไว้ก็จะไม่บรรลุผล ฉะนั้นเราจะบำเพ็ญศีลบารมีให้มั่นคง จะไม่ยอม แลดูหมองูคนนี้ล่ะ เราจะหลับตาทั้งสองของเราเสีย" คิดอย่างนั้นแล้วจึงสอดศีรษะเข้าไปในขนด ส่วนพราหมณ์หมองูก็ยังคงเคี้ยวยาร่ายมนต์ พ่นลง ที่ร่างของนาคราชอีก ซึ่งบริเวณใดที่ถูกพ่น บริเวณนั้นก็พุพองบวมขึ้นทันที จากนั้นหมองูก็ฉุดหาง ลากตัวนาคราชให้นอนเหยียดยาว เอาไม้ (ตีนแพะ) กดจุดสำคัญให้นาคราชอ่อนกำลังลง แล้วจับ ศีรษะบีบเค้น เพื่อให้นาคราชอ้าปาก พอได้โอกาสก็พ่นยาใส่เข้าไปในปากของนาคราช ฤทธิ์ยา เข้าไปกัดทำลาย จนฟันของนาคราชหลุดถอน เลือดกบปาก แต่นาคราชก็ยอมอดทนอดกลั้นต่อความรู้สึกทุกข์ทรมานเหล่านั้น เพราะเกรงว่าศีลของตน ที่ถือ ปฏิบัติอยู่ จะขาดทะลุด่างพร้อยไป จึงหลับตานิ่ง ไม่ยอมลืมตามองดูหมองูอีกเลย ฝ่ายหมองูกลับคิดว่า เราต้องทำให้นาคราชตัวนี้หมดกำลัง สิ้นเรี่ยวแรงอย่างสิ้นเชิง จึงขึ้นเหยียบย่ำ และ บีบขยำทั่วตัวของนาคราช ราวกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียด แล้วจับด้านหางม้วนพับ คล้ายดังพับผ้า จนทั่วร่างของนาคราชเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด แม้ทุกข์สาหัสถึงขนาดนี้ นาคราช ยังคงพยายามอดกลั้นใจไว้ได้ หมองูจึงเอาเถาวัลย์ทำเป็นตะกร้า จับนาคราชยัดใส่ในตระกร้านั้น เพื่อใช้แสดงการละเล่น ให้แก่ผู้คนได้ดู นาคราชถูกทรมานมากมาย ก็ยังยอมทำตามที่หมองูสั่งทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น.... การให้ให้เปลี่ยนสี ของร่างกายเป็นสีต่างๆ ให้ทำตัวเป็นทรงสี่เหลี่ยม ให้ทำตัวเป็นทรงกลม ทำตัวเล็กบ้าง ทำตัวใหญ่บ้าง และแผ่พังพานร่ายรำบ้าง ซึ่งประชาชนได้ดูการแสดงแล้ว พากันชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นก็ได้ถึงพันกหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) แล้วยังได้ข้าวของมีค่าอื่นๆ อีกมากมาย ตอนแรกนั้นพราหมณ์ตั้งใจไว้ว่า หากได้ทรัพย์ถึงพันแล้ว ก็จะปล่อยนาคราชไป แต่ครั้นได้ทรัพย์ มากเข้าจริง ก็เกิดความโลภจัดขึ้นมา คิดว่า "นี่ขนาดเป็นเพียงหมู่บ้านชายแดน เรายังได้ทรัพย์มากมายถึงปานนี้ ถ้าจัดแสดงให้แก่พระราชา มหาอำมาตย์ชม จะต้องได้ทรัพย์มากกว่านี้แน่นอน" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงซื้อเกวียนเป็นพาหนะให้เดินทาง แล้ววางแผนว่า "เราจะบังคับนาคราช ให้แสดง การละเล่นไปตามหมู่บ้าน จนกว่าจะได้เล่นถวายต่อ พระเจ้า อุคคเสนะ ในกรุงพาราณสี แล้วจึง จะปล่อยตัวนาคราชไป" ในระหว่างการเดินทางนั้น หมองูฆ่ากบเป็นอาหารแก่นาคราช แต่นาคราชไม่ยอมกิน ด้วยรำพึง ในใจว่า "หมองูฆ่ากบ ก็เพื่อเลี้ยงดูเราให้มีชีวิตอยู่ ไว้ใช้แสดงต่อไป เหตุนี้เราจะไม่ยอมกินเป็นอันขาด" พราหมณ์หมองูเห็นนาคราชไม่กินกบ จึงเปลี่ยนเป็นข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งให้ แต่นาคราชก็ไม่กินอีก ด้วยความรู้สึกหวั่นเกรงว่า "หากเรากินอาหารเหล่านี้ ก็คงจะต้องมีชีวิตอยู่ในตะกร้านี้จนตายเป็นแน่แท้" ครั้นเดินทางถึงกรุงพาราณสี หมองูก็บังคับให้นาคราชแสดงการละเล่นอยู่ที่เขตใกล้ประตูเมือง ได้ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เมื่อพระราชาอุคคเสนะทรงทราบข่าว ก็ตรัสสั่งให้หมองูนำนาคราช มาแสดงให้ดู ดังนั้นในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ หมองูจึงเปิดแสดงการละเล่นของนาคราช ให้พระราชา เหล่าอำมาตย์ และประชาชนได้ชมกันที่หน้าพระลานหลวง ทุกคนต่างชื่นชมยินดี พากันดีใจต่อการแสดง ของ นาคราช จนอดไม่ได้ที่จะปรบมือสนั่นหวั่นไหว โบกธงโบกผ้าไปมา ด้วยอาการรื่นเริงบันเทิงใจยิ่ง แต่สำหรับนาคราชแล้ว นับเป็นการถูกจับตัวมาครบหนึ่งเดือนเต็มพอดี ยังไม่ได้บริโภคอาหาร อะไรเลย ต้องอดทนต่อทุกข์ทรมานตลอดมา ครั้นเมื่อนางสุมนาเทวีได้เห็นสระโบกขรณีมีน้ำเป็นสีแดงดังเลือด ก็วิตกกังวลเป็นห่วง จัมเปยย นาคราช จึงออกจากนาคพิภพเที่ยวตามหา พอได้รับรู้ข่าวคราวก็ให้โศกเศร้าคร่ำครวญ ออกติดตาม ไปจนถึงเมืองพาราณสี ได้พบนาคราชกำลังโดนหมองูบังคับให้แสดงการละเล่นอยู่ นางจึงยืน ร้องไห้ อยู่ตรงนั้นเอง
|