ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2401
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

คุณวิเศษพระคาถาชินบัญชรและพระคาถาอื่นๆทำไมจึงมีความศักดิ์สิทธิ์

[คัดลอกลิงก์]

อ่าน! สนุกคิดพิจารณา ครับ

https://dhammaway.wordpress.com/2012/11/03/helping-the-hungry-ghost/

ฝนที่ตกไม่หยุดไปได้สักพักใหญ่ โดยปกติจะมีเสียงร้องของหมู่สัตว์มากมาย แต่ค่ำคืนนี้กลับเงียบสนิทใจ แม้สุนัขที่มักจะหอนรับกัน เพราะเห็นภูตผี ปีศาจ กลับหนีหายทำตัวเงียบเชียบเหมือนพวกมันกลัวอำนาจกลัวรูปร่างที่ประหลาดน่ากลัวของเปรตวิสัยเหล่านั้น กลิ่นที่เหม็นตลบอบอวนเป็นสื่อสัมผัสทางจิตชนิดหนึ่ง ที่ถ้าใครไม่เคยสัมผัสก็ยากที่จะเข้าใจว่า ถ้ากลิ่นศีลจะหอมบริสุทธิ์ ปราศจากความเข้มข้น แต่หอมเย็นจิตเย็นใจ แต่พอเป็นกลิ่นสัตว์อบายกลับเหม็นตลบเข้มข้นชนิดแทบอาเจียน ผู้เขียนในเวลานั้นถ้าไม่ปกป้องตนเองด้วยสติเสียก่อน โดยโน้มไปในพระรัตนตรัย จิตอาจหวั่นไหว เกาะกุมกับอำนาจด้านมืดชนิดรุนแรงเช่นนี้ได้ และถ้าเผลอสติด้วยใจหวาดหวั่น ย่อมอาจถูกครอบงำเพราะพวกหมู่สัตว์ที่มาจากอบายจะทำเป็นเล่นๆ ถ้าไม่สร้างอำนาจใดๆคุ้มครองป้องกันเสียก่อนกับจิตมารยา เจ้าเล่ห์ และยังเต็มไปด้วยพยาบาท อาฆาต โลภะ ความไม่พึงพอใจ ก็อาจจะต้องอุบายด้วยกล ด้วยฤทธิ์ สำหรับเปรตบางตนที่มีอำนาจได้
คลื่นพลังงานทั้งหดหู่ ทั้งอับเฉา ทั้งมีเสียง และมีกลิ่น แผ่เจาะจงเข้ามาที่กุฏิ หน้าต่างกุฏิที่ปิดสนิทเพราะฝนที่ตกผ่านไปเหมือนถูกแรงดันชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เสียงลม ผู้เขียนในเวลานั้นจิตไหลแวบไปสร้างอุปทานในสิ่งที่น่ากลัว แต่เพราะสติที่ปรับให้คงที่ด้วยการอบรบตน จึงมีสติเข้าไปปิดกั้นความหวาดหวั่นด้วยสติที่ระลึกรู้เท่าทันและดับการปรุงแต่งเสีย
ในขณะที่ทุกสิ่งเหมือนมืดสนิท แต่ที่บานหน้าต่างกลับปรากฏภาพเหมือนดวงไฟที่กระพริบถี่ยิบ เหมือนไฟแฟลตแวบๆ ถี่ๆ พร้อมกับสิ่งที่ตามมาคือ ใบหน้าที่ใหญ่โตเหมือนยื่นเข้ามามองเต็มบานหน้าต่าง แม้คืนนี้จะมืดมิด หรือแม้จะปิดตาให้สนิทก็ยังคงเห็นอยู่ เพราะเป็นนิมิตภาพชนิดหนึ่งที่แสดงตน สิ่งที่ตามต่อมาคือ นิมิตภาพในบริเวณวัดที่เต็มไปด้วยเปรตที่มีร่างกายแปลกๆ มีทั้งสูงเท่าลำตาล มีแต่หนังแห้งหุ้มกระดูก เปรตบางตนก็ผอมจนเหมือนดั่งมีเส้นเอ็นปูดบวมไปทั่วร่าง เปรตที่สูงเหล่านั้นปราศจากเสื้อผ้านุ่งห่ม ต่างก็ส่งเสียงร้องวู้ๆ เหมือนเป่าลมออกมาจากปากที่เล็กๆ ถ้าผู้ใดที่เห็นสภาพกาย สภาพที่เสวยทุกขเวทนาทรมานของฝูงเปรตวิสัยเหล่านี้ ถ้ามีสติมั่นคงในผู้คงที่จะรู้สึกถึงความน่าเห็นใจเป็นที่สุดแล้ว
อันวิชชามัยฤทธิ์เป็นอิทธิฤทธิ์ชนิดหนึ่งคือ การใช้จิตจดจ่อโน้มเข้าถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และเมื่อจดจ่อกับบทสวด ย่อมปรากฏเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติปรากฏ โดยมีสติที่ตามรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ และย่อมปรากฏศีล สติ สมาธิ และคุณธรรมปรากฏได้ในขณะนั้นๆ
คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า… เพราะเหตุใด พระสมเด็จวัดระฆังจึงศักดิ์สิทธิ์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรตอบว่า เหตุที่สมเด็จวัดระฆังมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะปลุกเสกด้วยพระคาถาชินบัญชร นั่นเพราะท่านใช้จิตที่ประกอบไปด้วยศีล สมาธิ สติ คุณธรรม ปลุกเสกวัตถุรูปให้มีพลังงานของจิตท่านที่สัมปยุตต์กับคุณธรรมในด้านต่างๆ
จิตของผู้เขียนเหมือนปรับสติให้เข้ามาอยู่ในจิตของผู้คงที่ในที่ตั้งไม่หวั่นไหว ไม่เกาะกุมอารมณ์ใดๆ เมื่อโน้มสติเข้ามาถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสิ่งเคยชินในการระลึก ความรู้สึกถึงความปลอดภัย ความเชื่อมั่นและสติ ก็พลันตั้งมั่นคงไม่หวั่นไหว
ทั้งไม่ส่งจิตออกไปปรับแต่งนิมิตภาพของฝูงเปรตเหล่านั้น สติเหมือนเข้ามาในที่ตั้ง เพราะไม่ส่งจิตออกไปเกาะกุม โดยทั้งๆที่ภาพและเสียงเหล่านั้นยังคงปรากฏให้รู้อยู่ทางจิตสัมผัส
มันเหมือนเรานั่งอยู่ภายในโรงภาพยนต์ ทั้งๆ ที่ตาก็ยังมองเห็นภาพและได้ยินเสียง แต่ใจกลับมาอยู่ในที่ตั้งเหมือนไม่ใส่ใจ ไม่หวั่นไหว เหมือนปิดอายตนทั้ง ๕ มาอยู่ที่จิตผู้คงที่ภายในใจที่ไม่เกาะกุมอารมณ์เบื้องหน้าเช่นนั้น
ผู้เขียนโน้มไปบริกรรมบทพาหุงฯ เพื่อใช้เป็นการสร้างมงคลในการชนะทุกสรรพสิ่ง ตามความหมายอันมีบารมีแห่งพระพุทธองค์ที่ทรงใช้กำหราบมารต่างๆ นั่นเป็นเพราะพระคาถาล้วนแล้วแต่เพื่อ…
คุ้มครองป้องกันสรรพภัย สรรพโรค สรรพทุกข์ และยังให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต และในความเป็นจริงแล้วความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ล้วนมาจากตัวผู้เขียนทั้งสิ้น ที่ทำตนเป็นประทีป ทำตนเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นประทีป มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะนี่คือ พึ่งตนจึงพบธรรม
ความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ล่องลอยมาจากฟากฟ้าหรือมาจากตัวหนังสือ
แต่มาจากใจศักดิสิทธิ์ที่เราอบรมตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
ที่มีพระรัตนตรัยเป็นแสงสว่างนำทางให้แก่ชีวิต
จิตที่สัมปยุตต์กับศีล สมาธิ คุณธรรมต่างๆ กลับกลายเป็นรัศมีอินทรียธาตุชนิดหนึ่งที่แผ่ปกคลุมไปโดยรอบ นี่คืออำนาจพลังงานของจิตที่จดจ่อกับอารมณ์ในด้านคุณธรรม นี่คือมนต์ขาว และนี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาที่มีสติโน้มเข้าถึงพระปัญญา พระเมตตา พระบริสุทธิคุณ อย่างแท้จริง
ในขณะที่ผู้เขียนมีที่พึ่งเป็นธัมมานุสติ ในยามที่สวดมนต์พาหุงฯ…
ผู้เขียนจะรับรู้ได้ถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์ใจ พระเมตตา ในการต่อสู้ภัยอันตรายต่างๆ แห่งพระพุทธองค์ ที่ทรงได้ชัยชนะต่อสิ่งต่างๆที่ปองร้ายทั้งปวง สิ่งที่สัมผัสได้คือ พระพุทธองค์ใช้ความดีชนะต่อความมุ่งร้ายด้วยสันติอันคือความสงบ สิ่งนี้ก็จะย้อนเข้ามาระลึกถึงใจตนเองในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ เป็นการโน้มเข้าหาพระพุทธองค์ท่าน เหมือนดั่งจิตเราเข้าสู่กระแสแห่งความอบอุ่น โดยเข้าถึงความหมายในธัมมานุสติ แต่ละขณะที่มีจิตตั้งมั่นคงโดยการให้อภัยต่อศัตรู ด้วยเมตตาสันติ
จิตที่แข็งกระด้างของเหล่าฝูงเปรตภายนอกสงบราบลงไปเพราะถูกความเย็น ความอ่อนโยน ความปลอดภัย การไม่มีภัยต่อกัน การไม่เบียดเบียนต่อกันและกัน ในจิตที่สัมผัสกันและกัน
และเหมือนดั่งจิตเราได้ยื่นขยายขอบเขตออกไปเป็นมหัคจิตอันส่งกระแสตอบกลับไปคือ เราจะชนะศัตรูที่สำคัญคือใจเราเองกับใจของพวกท่านด้วย พวกเปรตเหล่านั้นกลับสงบนิ่งสนิทเหมือนกำลังเกิดความมุ่งมั่นเพื่อชนะใจชนะกรรมของตนในทันใด
ความน่ากลัวของเปรตวิสัยทั้งหลายไม่ได้น่ากลัวเท่ากับอุปทานในใจของเราเองทั้งสิ้น เมื่อชนะใจตนเอง เพราะไม่หวั่นไหว เพราะมีที่พึ่งทางใจคือ พระรัตนตรัยเป็นสรณะ จิตที่หวาดกลัวก็ราบลงไปทั้งหมดทั้งสิ้น แปรเปลี่ยนเป็นตบะอำนาจฤทธิ์ของใจที่ทวีกำลังอำนาจแห่งตน
สิ่งที่ตามต่อมาคือ ผู้เขียนต้องการกำลังอีกชนิดหนึ่งในการระลึกนั่นคือ พระคาถาชินบัญชร เพราะเป็นพระคาถาที่เข้าถึงมรรคและอริยสัจ อันประกอบไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ โดยอาราธนาและสั่งสอนเวไนยสัตว์ที่กำลังเสวยเวทนาที่ต้องทุกข์เหล่านั้นเสียด้วยปัญญาอันเป็นแสงสว่าง
ในขณะที่ผู้เขียนสวดพระคาถาชินบัญชร เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ แล้วเสวยวิมุตติสุขจากการตรัสรู้นั้น จิตผู้เขียนได้โน้มเข้าถึงพระรัตนตรัยเพื่อเป็นประทีปเป็นสรณะที่พึ่งและอัญเชิญท่านเพื่อเป็นสติประจำจุด ตำแหน่งของกาย อันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มาสถิตอยู่ที่ศรีษะ ที่ดวงตา และหน้าอก และระลึกถึงคุณแห่งพระอริยะเจ้าอันเป็นเครื่องแสดงถึงการตรัสรู้ และการไม่หวนกลับแห่งพระอริยสาวกทั้งปวง โดยมีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอนุรุทธเถระ เป็นต้น ให้มาสถิต ณ ส่วนและอวัยวะต่างๆ และอัญเชิญพระสูตรทั้งปวง มีรัตนสูตร เป็นต้น มาสถิตอยู่ที่ส่วนต่างๆ และกางกั้นอยู่เบื้องบนอากาศ เป็นกำแพงอันล้อมรอบเพื่อเป็นเครื่องยืนยันในการครอบคลุมหลอมกลมกลืนเข้าหาอย่างหมดจด
และในท้ายที่สุด ก็เพื่อกำกับใจตนเองให้มั่นคงต่อพระรัตนตรัยเป็นที่สุด โดยขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่อุปัทวะทั้งปวง ด้วยอนุภาพของพระธรรมขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่หมู่อริศัตรูทั้งปวง ด้วยอนุภาพแห่งพระสงฆ์ขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่อันตรายทั้งปวง
ข้าพเจ้าผู้สวดพระคาถาดังว่านี้ ขอให้อนุภาพแห่งพระสัทธรรมคุ้มครองรักษา แล้วจะประพฤติตนอยู่ในขอบเขตพระบัญชรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไปเทอญ.
อันว่าธรรมขาว หรือเรียกว่า “เศวตเวท” ไม่ใช่ไสยเวท ซึ่งเป็นธรรมดำ หรือคุณไสย อันเป็นการกำราบหรือทำให้พินาศเสีย แต่ธรรมขาวคือธรรมแห่งคุณธรรมความดี ที่จะชนะศัตรูด้วยสันติที่ไม่เป็นภัยต่อกันและกัน นั่นเพราะธรรมขาวเริ่มจากศีลอันเป็นความปกติของกาย วาจา ใจสุจริตเป็นที่ตั้ง (ผู้ที่สวดมนต์แล้วมีความเชื่อว่า ขับไล่ภูติผีปีศาจ จึงยังคงไม่เข้าถึงความสะอาด บริสุทธิ์ ที่เป็นประทีป ที่จะชนะสรรพสิ่งด้วยความดีอันมาจากใจบริสุทธิ์)
อันการสาธยายมนต์โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา และจิต ที่ไกลจากกิเลสอาสวะโดยลำดับแล้ว เมื่อกำลังของสมาธิเข้าสู่จิตตั้งมั่นในผู้คงที่ และเกิดความสงบระงับจากโลกธรรม จิตก็ย่อมรวมกำลังเข้าสู่เอกัคตารมณ์ได้เสมอ เมื่อยกพิจารณาขันธ์ อายตนะ สัจธรรม และปวงธาตุก็ย่อมเห็นความจริงของรูปนามที่ตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
อันความหมายของอิทธิฤทธิ์เป็นภัยต่อนิพพาน เพราะเป็นยอดแห่งอุปทาน คำว่า ชินบัญชร แปลว่า หน้าต่างของพระพุทธเจ้า ตามบทกลอนที่ว่า
“อันดวงตาคือหน้าต่างของดวงจิต เมื่อใจคิดงามงดตาสดใส
คิดชั่วช้าตาก็บอกออกความนัย รักษาใจให้เลิศไว้ดีเถิดเอย
สิ่งนี้ก็คือ ดวงตาที่เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ดังนั้น บทพระคาถานบัญชรที่แม้จะมีเนื้อความยืดยาวแต่ รวมความก็คือการให้มีศรัทธา ความเพียร มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญารู้แจ้ง ซึ่งพระธรรมอันประเสริฐที่พระตถาคตเจ้าได้แสดงแล้ว คือ มีดวงตาเห็นธรรมนั่นเอง การที่จะมีดวงตาเห็นธรรมว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ซึ่งเรียกว่า เห็นพระไตรลักษณ์ แล้วจะทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งหลาย ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติได้นั้น ก็โดยอาศัยการปฏิบัติอบรมจิตในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นมรรคสมังคี คือ รวมเข้าไปในจุดที่ตั้งคือ ใจ เพราะปัญญาในความบริสุทธิ์ใจนั้นจะเป็นผู้รู้แจ้งในทางเดินออกจากสังสารวัฏทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้พระคาถาชินบัญชรก็คือ บทพระคาถาที่แสดงเป้าหมายที่สุดแห่งคำสอนของพระตถาคตเจ้าคือ ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตติ โดยการฝึกฝนอบรมจิตด้วยศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง
ฝูงเปรตเหล่านั้นยกมือจบไปที่ศรีษะ เพราะรับรู้กระแสแห่งศีล สมาธิ คุณธรรม ที่ผู้เขียนระลึกถึงพระรัตนตรัย ความร่มเย็นจากใจบริสุทธิ์ส่งกระแสเป็นพลังอำนาจของความสงบ สันติ รวมทั้งอำนาจของสมาธิที่น่าเคารพในพระธรรมวินัยที่ผู้เขียนตั้งมั่นคงเอาไว้ เป็นเครื่องอยู่ในความสำรวมอินทรีย์โดยความเพียรอย่างสม่ำเสมอในคุณสมบัติที่เหมาะสม
กายหยาบกายทุกข์ของฝูงเปรตเปล่านั้น ที่กำลังรับกระแสกุศลมาแทนที่บาปกุศล เมตตากรุณาเข้าไปกำจัดทุกข์กายและใจที่เหมือนปลุกความฝันร้ายที่เคี่ยวกรำตน กลับกลายเป็นความเย็นแทนที่ความอึดอัด ความสว่างขับไล่ความมืดออกไปจากใจ ความเศร้าอกตรมภายในถูกผลักออก ด้วยธาตุคุณธรรมเข้าแทนที่เป็นเครื่องระลึก ถึงเวลานี้ กุศลผลบุญอำนาจแห่งกรรมที่ฝูงเปรตเหล่านั้นสร้างมาทั้งดีและไม่ดี ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิพากษาจิตตนเองทั้งสิ้น
ผู้เขียนใช้ความสว่างไสวของประทีปแห่งตนไปจุดความสว่างไสวในกายบาปของฝูงเปรตเหล่านั้น และฝูงเปรตเหล่านั้นจะต้องพึ่งตนเองคือ ต้องมีวาสนาที่ดีสะสมมาด้วย นั่นก็คือ กุศล ผลบุญ อันเป็นวิบากที่ศักดิ์สิทธิ์สูงที่สุดคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าพวกฝูงเปรตตนใดนึกในกุศลแห่งตนได้ ก็จะไปสู่ภพอื่นๆ ตามกำลังวาสนาชะตากรรมแห่งการกระทำของตนเองต่อไป
ฝูงเปรตทั้งหมดยกมือสาธุ อนุโมทนา พลันหายไปในบริเวณวัดทั้งหมด ด้วยการไปปฏิสนธิวิญญาณ (เกิด) ตามวาสนาบุพกรรมของตนต่อไป
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลแห่งกรรม นำพาไปในสังสารวัฏไม่สิ้นสุดด้วยประการเช่นนี้
ส่วนเรื่องเล่าของเปรตฝูงนี้ก็คือ กรรมร่วม เพราะความเป็นญาติในอดีตบ้าง มิตรสหายในอดีตบ้าง ไม่เชื่อเรื่องบุญ บาป ท่องไปในสมัยความเป็นมนุษย์ด้วยความประมาทเป็นนิจ เมื่อพวกเขารับรู้ถึงกระแสจิตของผู้เขียนที่แผ่ไป ว่านี่คือปวงญาติมิตรเก่า ที่มีวาสนาผลบุญที่พออนุเคราะห์ได้ จึงได้รับการอนุญาตบ้าง เพราะกรรรมเบาบางลงมากแล้วบ้าง จึงได้มาเยือนหากันและกัน เพื่อขอความอนุเคราะห์ เพื่อเกื้อกูลกันและกัน พวกเปรตเมื่อได้รับผลบุญแล้วย่อมพ้นจากอัตภาพของเปรตในทันที
“การทำบุญ เพื่ออุทิศผลบุญแก่เปรตนั้น ชื่อว่าเป็นการบูชาญาติอย่างยิ่ง”
นี่คือคำตรัสอนุโมทนาของพระพุทธองค์ต่อพระเจ้าพิมพิสารที่ถวายทานและอุทิศให้แก่ปวงญาติที่เป็นเปรตมาขอส่วนบุญ…
~ ~ ~
จากหนังสือ “นรกมีจริง” (หน้า ๘๕-๙๓)
โดยผู้เขียน
ชัชวาล เพ่งวรรธนะ (อ้องเขาค้อ)

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้