ธรรมโอวาท
ของ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ร่างกายมีสภาพแต่จะต้องตกไปในกระแสของความเสื่อมถ่ายเดียว
แต่ส่วน "จิต" จะไม่ตกไปอย่างนั้น
จะต้องไหลไปสู่ความเจริญได้ตามกำลังของมัน
ถ้าใครมีกำลังแรงมากก็ไปได้ไกล
ถ้าใครไปติดอยู่ในเกิด เขาก็จะต้องเกิด
ใครไปติดอยู่ในแก่ เขาก็จะต้องแก่
ใครไปติดอยู่ในเจ็บ เขาก็จะต้องเจ็บ
ใครไปติดอยู่ในตาย เขาก็จะต้องตาย
ถ้าใครไม่ไปติดอยู่ในเกิด ไม่ติดอยู่ในแก่
ไม่ติดอยู่ในเจ็บ และไม่ติดอยู่ในตาย
เขาก็จะต้องไปอยู่ในที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย
เรียกว่า มองเห็นก้อน
"อริยทรัพย์" แล้ว คือ
ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
ผู้นั้นก็จะไม่ต้องกลัวจน ถึงร่างกายเราจะแก่ จิตของเราไม่แก่
มันจะเจ็บก็เจ็บไป ตายก็ตายไป แต่จิตของเราไม่เจ็บ จิตของเราไม่ตาย
พระอรหันต์นั้นใครจะตีให้หัวแตก แต่จิตของท่านก็อาจไม่เจ็บด้วย
"จิต" เมื่อมันสุมคลุกเคล้ากับโลก ก็จะต้องมีการกระทบ
เมื่อกระทบแล้วก็จะหวั่นกลอกกลิ้งไปกลิ้งมา
เหมือนก้อนหินกลมๆ ที่มันอยู่รวมกันมากๆ ก็จะกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างเดียวกัน
ดังนั้นใครจะดีจะชั่ว เราไม่เก็บมาคิดให้เกิดความชอบความชัง
ปล่อยไปให้หมด เป็นเรื่องของเขา
นิวรณ์ เป็นตัวโรค ๕ ตัว ซึ่งเกาะกินจิตใจคนให้ผอมและหิวกระหาย
ถ้าใครมี
"สมาธิ" เข้าไปถึงจิตก็จะฆ่าตัวโรคทั้ง ๕ นี้ให้พินาศไปได้
ผู้นั้นก็จะต้องอิ่มกาย อิ่มใจ เป็นผู้ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ยาก ไม่จน
ไม่ต้องไปขอความดีจากคนอื่น
ผลที่ได้ คือ
๑) ทำให้ตัวเองเป็นผู้เจริญด้วย
"อริยทรัพย์"
๒) ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็จะต้องพอพระทัยมาก
เหมือนพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนร่ำรวย ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เอง
ท่านก็หมดความเป็นห่วงใย นอนตาหลับได้
สรุปแล้ว
"โลกียทรัพย์" เป็นเครื่องบำรุงกาย
"อริยทรัพย์" เป็นเครื่องบำรุงกำลังใจ
จึงขอให้พากันน้อมนำธรรมะข้อนี้ไปปฏิบัติ
เพื่อฝึกตน ขัดเกลากาย วาจา ใจของตน
ให้เป็นความดีงาม บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ถึงซึ่งอริยทรัพย์
อันเป็นทางนำมาแห่งความสุขเป็นอย่างยอด คือ พระนิพพาน
คัดลอกจาก...
หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๕๔-๕๖