ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1780
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระไสยาสน์

[คัดลอกลิงก์]
อยุธยาเมืองกรุงเก่าที่มากด้วยวัดวาอารามอันเก่าแก่ ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญในการทัวร์บุญ ทัวร์ธรรมมะ ของพี่น้องชาวพุทธในเมืองไทย และเพื่อเป็นการรับขวัญ 2 วันพระใหญ่อาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่จะมาถึงอีกไม่กี่วันนี้ ฉันจึงขอไปตะลุยเมืองกรุงเก่า ไหว้พระนอน 9 วัด ขอพรเสริมสิริมงคล พร้อมกับชื่นชมงานพุทธศิลป์ทรงคุณค่าที่เป็นมรดกตกทอดจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้
      
       แต่ก่อนที่จะออกไปทัวร์บุญกัน ฉันขอเล่าเรื่องน่าสนใจคร่าวๆเกี่ยวกับ“พระนอน”หรือ“พระไสยาสน์” เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการออกไหว้พระนอนให้มีสีสันมากขึ้น
      
       สำหรับพระนอนในประเทศไทยนั้นมักนิยมสร้างในรูปแบบ “ปางโปรดอสุรินทราหู” ซึ่งองค์พระพุทธรูปจะอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย(หมอน)รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ(รักแร้)
      
       ทั้งนี้ตามประวัติได้เล่าไว้ว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน ในนครสาวัตถี อสุรินทราหูซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนเองมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก
หลวงพ่อโตวัดสะตือ(ก่อนเริ่มบูรณะ)
       เมื่ออสุรินทราหู ไปเข้าเฝ้าสำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร ทรงนอนในลักษณะเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ
      
       พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์ดูมดปลวกตัวเล็กๆ อสุรินทราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
      
       และนี่ก็คือที่มาของพระนอน “ปางโปรดอสุรินทราหู” เมื่อรู้ประวัติความเป็นมาแล้ว เราก็ไปเริ่มประเดิมรับบุญกันที่ “วัดสะตือ” อ.ท่าเรือ ที่วัดแห่งนี้ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระนอนองค์ใหญ่กลางแจ้ง สร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ในปี พ.ศ. 2413 เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนยาว 52 เมตร สูง 16 เมตร ผู้คนนิยมมาบนบานศาลกล่าวในเรื่องของโชคลาภ แคล้วคลาดจากสิ่งชั่วร้าย เมื่อสำเร็จดังประสงค์แล้วมักจะมาแก้บนด้วยขนมจีน เพราะเชื่อกันว่าในที่สร้างพระนอนองค์นี้ มักจะทำขนมจีนเลี้ยงบรรดาคนงาน นอกจากนี้ยังนิยมแก้บนด้วยขบวนแตรวงแห่ไปรอบองค์พระอีกด้วย

พระพุทธไสยาสน์ลงรักปิดทองวัดไม้รวก
       จากนั้นฉันเดินทางต่อไปยัง “วัดไม้รวก” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเดียวกัน วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมาถึงวัดแล้วเดินเข้าไปภายในเขตกำแพงแก้ว ก็จะเจอกับพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นลงรักปิดทอง มีความยาวประมาณ 7 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ทรงไทย ชาวบ้านนิยมขอพระในเรื่องของโชคลาภ และสุขภาพแข็งแรง

พระนอนในวิหารเก่าแก่วัดใหญ่ชัยมงคล
       จากอ.ท่าเรือ ฉันย้อนกลับเข้ามาในอ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมุ่งหน้าสู่ “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดที่มีพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่เป็นดังสัญลักษณ์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติครั้งมีชัยในศึกยุทธหัตถี พร้อมกันนั้นยังโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์เพื่อเป็นที่ถวายสักการะและปฏิบัติบูชากรรมฐาน แต่ปัจจุบันวิหารแห่งนี้เหลือเพียงเสาสองต้น และกำแพงเพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้ที่มากราบไหว้ขอพระในเรื่องของการอภัยทานและเมตตามหานิยม

พระนอนสมัยอยุธยาวัดเสนาสนาราม
       วัดที่สี่ได้แก่ “วัดเสนาสนาราม” ตั้งอยู่ในอ.พระนครศรีอยุธยาเช่นกัน วัดนี้เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ในกำแพงหน้าหลังพระราชวังจันทรเกษม องค์พระนอนที่ประดิษฐานภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยศิลาต่อเป็นท่อนๆ นำมาต่อเรียงกันแล้วสลักเป็นองค์พระมีขนาดยาว 14.2 เมตร เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ เชิงสะพานป่าถ่าน รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ ผู้ที่มากราบไหว้ถือเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตและประสบโชคดี

พระนอนผสมผสานศิลปะอยุธยากับสุโขทัยวัดสามวิหาร
       จากนั้นฉันไปต่อที่ “วัดสามวิหาร” อ.พระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่เดิมเชื่อว่ามีทั้งหมด 3 วิหาร คือวิหารพระนอน วิหารพระยืน และวิหารพระนั่ง แต่หลังเสียกรุงก็ได้ถูกพม่าทำลายจนเหลือเพียงวิหารพระนั่ง และวิหารพระนอน ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ อันเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนต้นผสมผสานกับศิลปะแบบสุโขทัย เชื่อกันว่าผู้ที่มากราบไหว้จะประสบแต่โชคดี

พระพุทธรรมิกราชมหาลาภอุดมวัดธรรมิกราช
       เส้นทางบุญต่อไปคือ "วัดธรรมิกราช" อ.พระนครศรีอยุธยา ตามประวัติเล่าว่า พระอัครมเหสีในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ทรงตั้งจิตอธิฐานว่า หากพระราชโอรสหายจากอาการประชวรหนัก ก็จะทรงสร้างพระพุทธไสยาสน์ถวายเป็นพุทธบูชา โดยองค์พระพุทธไสยาสน์องค์นี้มีชื่อว่า “พระพุทธรรมิกราชมหาลาภอุดม” ก่ออิฐถือปูน ขนาดยาวประมาณ 12 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ที่ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจกทำตามคติมาหปุริสลักษณะ โดยทำเป็นรูปจักรปูนปั้นนูนออกมาจากฝ่าพระบาท น้ำพระพุทธมนต์ในพระวิหารนี้กล่าวกันว่ามี ความศักดิ์สิทธิ์มากมีประชาชนมาอธิษฐาน ขอนำไปใช้ตามความปรารถนาเป็นจำนวนมาก

ฝ่าพระบาทของพระนอนวัดธรรมิกราชเป็นรูปจักรนูน
       ถัดไปคือ “วัดพนมยงค์” อ.พระนครศรีอยุธยา เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นสวนของพระนมในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนามว่า "โยง" หรือ "ยง" เมื่อพระนมโยงได้ถึงแก่อนิจกรรมลงแล้ว เจ้านายบางองค์ได้ระลึกถึงอุปการคุณ จึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พระนม นามว่า "วัดพระนมโยง" ต่อมาเรียกว่า "วัดพนมยงค์" และได้สร้างอุโบสถ และวิหารพระนอนองค์ใหญ่ประจำวัด องค์พระนอนเป็นปูนปั้น มีพุทธลักษณะพระศกคล้ายก้นหอยละม้ายไปทางสุโขทัย ใครที่กราบไหว้เชื่อว่าจะได้โชคลาภและหายจากอาการเจ็บป่วย

พระนอนพุทธลักษณะคล้ายสุโขทัยวัดพนมยงค์
       รับบุญกันต่อที่ “วัดโลกยสุธาราม” อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา โดยพระนอนองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ตัดกับฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าดูแล้วช่างสวยงามยิ่งนัก แต่เดิมคงจะมีวิหารครอบแต่ได้ถูกทำลายไปในสงคราม

พระนอนที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยาที่วัดโลกยสุธาราม
       วัดแห่งนี้จึงเหลือเพียงเศษซากของวัดและองค์พระนอนกลางแจ้งซึ่งก่ออิฐถือปูน ยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร พระเศียรเป็นแบบพระพุทธรูปทรงเครื่อง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีความโดดเด่นตรงที่พระเศียรซึ่งทำเป็นดอกบัวซ้อนกันรองรับไว้แทนพระเขนย พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทมีความยาวเท่ากัน ใครที่ได้มาสักการะถือว่าจะได้เมตตามหานิยม

พระนอนวัดพุทไธศวรรย์มีพุทธลักษณะพิเศษที่พระบาทและพระกร
       เส้นทางบุญนี้เดินทางมาจนถึง “วัดพุทไธศวรรย์” ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายในทริปไหว้พระขอพรพระนอน 9 วัด โดยวัดแห่งนี้โดดเด่นที่พระปรางค์ขนาดใหญ่ที่แลเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล ด้านหลังขององค์พระปรางค์ที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคตนี้เอง เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงผนังและกรอบหน้าต่างบางส่วน
      
       สำหรับองค์พระนอนที่ก่ออิฐถือปูนนี้ มีพุทธลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระนอนที่วัดอื่นๆคือ มีการวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา พระพาหาและพระกรที่พับวางราบด้านหน้าในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียรนั้น เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง แตกต่างจากพระนอนในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเขตเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมักจะตั้งพระกรขึ้นและหงายพระหัตถ์รองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย ถือว่าแปลกตาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่มาสักการะเชื่อว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

วิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพุทไธศวรรย์
       ผ่านไปทั้ง 9 วัดแล้ว ก็ถือเป็นการจบทริปไหว้ขอพรพระนอน 9 วัด จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงเข้าพรรษานี้หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ใครจะจัดโปรแกรมอิ่มบุญไหว้พระนอน 9 วัด เมืองกรุงเก่าตามเส้นทางนี้ ฉันก็ขอร่วมอนุโมธนาสาธุบุญด้วยอีกหนึ่งทาง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้