ธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน
เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี
ได้ตรัสสอนพระราหุล ถึงธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน ๖ คู่ คือ
๑. “ราหุล ! เธอจงเจริญ
เมตตาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่
จักละ
“พยาบาท” (ความคิดที่จะแก้แค้น) ได้
๒. เธอจงเจริญ
กรุณาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่
จักละ
“วิหิงสา” (การเบียดเบียน) ได้
๓. เธอจงเจริญ
มุทิตาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่
จักละ
“อรติ” (ความริษยา) ได้
๔. เธอจงเจริญ
อุเบกขาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่
จักละ
“ปฏิฆะ” (ความขัดใจ) ได้
๕. เธอจงเจริญ
อสุภภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่
จักละ
“ราคะ” (ความยินดีในกาม) ได้
๖. เธอจงเจริญ
อนิจจสัญญาภาวนาเถิด
เพราะเมื่อเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่
จักละ
“อัสมิมานะ” (การถือตัว) ได้
จาก :
มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๒๗
การปฏิบัติธรรมเพื่อการดับทุกข์อย่างแท้จริง
ควรที่จะต้องศึกษาให้รู้ถึงสิ่งที่เป็น
“คู่ปรับ” ของกันและกัน
ดังที่ทรงยกมาสอนแก่พระราหุล ๖ ข้อนี้ และยังมีอีกมาก
การปฏิบัติธรรม ถ้าเราจับคู่ของธรรมะข้อนั้นๆ ให้ถูกฝาถูกตัวกัน
การปฏิบัติธรรมก็ดูจะเป็นเรื่องไม่ยากเลย
เช่น คนมีความตระหนี่ ถี่เหนียว ทำให้เกิดเป็นคนยากจน ไม่มีพวกพ้องบริวาร
ทำให้เป็นคนมีใจคับแคบ และเห็นแก่ตัว
ทางแก้ก็ต้องใช้แบบ “หนามยอก เอาหนามบ่ง”
คือ การบริจาค การให้ทาน การเสียสละต่างๆให้มาก
จริงอยู่ในการทำครั้งแรกๆ มันก็ย่อมฝืนใจและทำยาก
แต่เมื่อหัดทำบ่อยๆ มันก็จะเกิดความเคยชินไปเอง
ธรรมะข้ออื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนมีคู่ปรับที่คอยหักคอยโค่นกันอยู่เสมอ
ถ้าเราหาคู่ปรับมาแก้ ให้ถูกฝาถูกตัวกันได้แล้ว
การปฏิบัติธรรมทางศาสนาก็จะไม่กลายเป็นเรื่องยาก
หรือเป็นเรื่อง “สุดวิสัย” อย่างที่คนทั่วๆ ไปคิดเห็นกันอีกต่อไป
ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วไม่ก้าวหน้า ไม่เกิดผลใดๆ
ก็ขอให้พิจารณาดูข้อธรรมนั้นๆ ว่ามันถูกฝาถูกตัวกันหรือไม่ ?
ที่มา :
อภิมหามงคลธรรม, หน้า ๒๐๑-๒๐๒