หลวงปู่ทอง อินทสุวณโณ วัดละมุด นครชัยศรี นครปฐม
เขียนโดย วิศัลย์
หลวงปู่ทอง อินทสุวณโณ วัดละมุด นครชัยศรี นครปฐม (๒๓๙๑- ๒๔๖๙)
วัดละมุด เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ ไม่สามารถสรุปได้ว่าสร้างมาในสมัยใด สันนิษฐานว่าชาวบ้านสมัยโบราณที่อยู่ในละแวกนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อ ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาในชุมชนของตน เล่ากันว่าพื้นที่ในละแวกวัดสมัยโบราณ เป็นร่องสวน ปลูกต้นละมุด ได้มีชาวบ้านทำการไถพรวนดินแล้วไปพบ เศียรพระพุทธรูป จึงได้รวมตัวกันสละแรงกายและแรงเงินสร้างวัดขึ้นมาในบริเวณร่องสวนที่พบเศียรพระพุทธรูปนั่นเอง แล้วเรียกชื่อกันติดปากมาแต่โบราณตามลักษณะของพื้นที่ว่า วัดละมุด
ปัจจุบัน วัดละมุด ตั้งอยู่ที่ ต.ละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พื้นที่ปัจจุบัน ๒๙ไร่เศษ อยู่ติดกับคลองบางพระทางทิศตะวันตก ถ้าเดินทางโดยรถยนต์วัดละมุดจะอยู่เลยวัดบางพระไปประมาณ ๒ กม. คลองบางพระเป็นคลองเก่าแก่มาแต่สมัยโบราณ เป็นเส้นทางการเดินทางที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองที่มาจาก จ.กาญจนบุรี กับแม่น้ำท่าจีน ที่เชื่อมต่อกับ จ.นครปฐม
หลวงปู่ทอง อินทสุวณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดละมุด เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ปีระกา ตรงกับ พ.ศ.๒๓๙๑ ที่ ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม ในช่วงวัยเด็ก บิดา มารดาท่าน ได้นำท่านไปฝาก ไว้กับหลวงปู่แจ้ง วัดธรรมศาลา เพื่อรับใช้และศึกษาพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับอักขระบาลี สันสกฤต จนอายุครบบวช ท่านได้เข้ารับบรรชาเป็นพระภิกษุ ที่วัดธรรมศาลา เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยมี หลวงปู่แจ้ง วัดธรรมศาลา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า อินทสุวัณโณ หลังจากบรรพชา ท่านได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม กับหลวงปู่แจ้ง อุปัชฌาย์ ของท่าน อันหลวงปู่แจ้งนี้ ในยุคสมัยของท่าน ถือเป็นเกจิที่มีชื่อเสียงมากในนครปฐม ท่านมีชื่อเสียงควบคู่มากับ หลวงปู่นาค และหลวงพ่อทา
หลวงปู่ทอง ได้ศึกษาพุทธาคมกับหลวงปู่แจ้ง ได้ประมาณ ๕ พรรษา จากนั้นท่านได้เข้ามาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มเติมตามคำแนะนำของหลวงปู่แจ้ง ที่วัดบางสะแก กรุงเทพฯ พร้อมกับได้ออกธุดงค์เพื่อฝึกวิปัสสนา และศึกษาพุทธาคมเพิ่มเติม หลังจากนั้นท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดธรรมศาลา ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคู่สวด โดยที่ส่วนมากท่านมักได้รับนิมนต์ให้เป็นพระคู่สวดคู่กับ หลวงพ่อนวม วัดธรรมศาลา อันหลวงพ่อนวมนี้ ท่านเป็นน้องชายแท้ๆของหลวงปู่แจ้ง ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมศาลา และได้รับการแต่งตั้งจากในหลวง ร.๔ ให้ดำรงค์ตำแหน่งเป็นหนึ่งในสี่พระครูผู้พิทักษ์องค์พระปฐมเจดีย์ ที่ พระครูปุริมานุรักษ์ คู่กับหลวงปู่แจ้งที่ดำรงค์ตำแหน่ง พระครูทักษิณานุกิจ
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ วัดละมุดได้ว่างเจ้าอาวาส ทายก และทายิกา ตลอดจนชาวบ้าน ต.ละมุด ได้มาปรึกษากับหลวงปู่แจ้ง ถึงตำแหน่งเจ้าอาวาส หลวงปู่แจ้ง ท่านได้ให้ หลวงปู่ทอง ไปดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดละมุด ในปีนั้นเอง หลังจากที่หลวงปู่ทองได้ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาจนวัดละมุด เจริญสูงสุดในสมัยท่าน พร้อมกับได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ต.ละมุดและบริเวณใกล้เคียง ทั้งทางด้านพุทธาคมและด้านการแพทย์แผนโบราณ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ท่านได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชกุลบุตรในเขต ต.ละมุดและใกล้เคียง
ทางด้านวัตถุมงคล นอกจากพระเครื่องที่สร้างจากเนื้อตะกั่ว เนื้อดิน และเนื้อผงใบลาน พิมพ์พระคง กับพิมพ์นาคปรกแล้ว ท่านยังได้สร้าง ตะกรุด ผ้าประเจียด พิรอด แจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ไว้ใช้คุ้มครองป้องกันเพทภัย จนปรากฎพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือกันมาก เป็นทีกล่าวขานกันมาจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องที่ท่านสร้างในยุคของท่านนับได้ว่า หายากกว่าพระเครื่องของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้วมากนัก
ตลอดชีวิตท่าน ที่ได้ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดละมุด ท่านได้สร้างคุณูปการเป็นอย่างมากต่อวัดละมุด ตลอดจนชาวบ้าน ต.ละมุดและใกล้เคียง วัดละมุดเจริญสูงสุดในยุคของท่าน จนกระทั่ง วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ ตรงกับ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล ท่านได้ละสังขาร เมื่ออายุได้ ๗๘ ปี สร้างความโศกเศร้าเป็นอย่างมากต่อบรรดาลูกศิษย์ ทิ้งไว้แต่คุณงามความดีและความเจริญของวัดละมุด ตราบจนปัจจุบัน
|