ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6933
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร

[คัดลอกลิงก์]
ตำนานเจ้าหญิงสร้อยดอกหมาก ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง [ต้องการอ้างอิง] และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี

วัดพนัญเชิง ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวง



เหตุที่ได้นามว่า "วัดพนัญเชิง" .
๑. คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายว่า  “นั่งขัดสมาธิ” ฉะนั้น คำว่า “วัดพนัญเชิง” “วัดพระแนงเชิง” หรือ  “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายความถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั่นเอง

๒. เพราะการสร้างพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยเป็นประธานของวัด อาจเป็นลักษณะพิเศษจึงขนานนามวัดตามพระพุทธลักษณะที่สร้างเป็นปางมารวิชัยก็ อาจเป็นได้  โดยเฉพาะพระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่ สุดในประเทศไทย

๓. เพราะสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น  พระนางคงจะนั่งขัดสมาธิ   เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด  บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง  ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต

ฉะนั้น   ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว    คำว่า  “ วัดพนัญเชิง” ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต  หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงอาศัยเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้ไปต่าง ๆ กัน  จึงโปรดให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิงไว้ดังนี้


“วัดพนัญเชิง” อีกคำหนึ่งว่า  “วัดพระเจ้าพนัญเชิง”  ให้คงเรียกอยู่อย่างเดิมอย่าอุตริเล่นลิ้น  เรียกว่าผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองมาแต่ไหนๆมาแปลงว่าผนังเชิงก็ไม่ เพราะ  จะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร  สำแดงแต่ความไม่รู้ของผู้แปลงไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่า “พนัญเชิง” ด้วยเหตุไรประการหนึ่ง วัดนั้นเป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็เจ้าของเดิมตั้งชื่อนั้นไว้จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรก็ไม่รู้ มาแปลงขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็ไม่สู้จะสบาย ไม่พอที่ย้ายก็อย่ายกไปเลย  ให้คงไว้ตามเดิมเถิด”


วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง [ต้องการอ้างอิง] และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๗ ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี






2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-12 08:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตรเศษ สูง ๑๙ เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง[ต้องการอ้างอิง] คำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้น คำว่า วัดพนัญเชิง / วัดพระแนงเชิง หรือ / วัดพระเจ้าพแนงเชิง จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก นั้นเอง หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต ( อ้างอิงจากประวัติวัดพนัญเชิงข้อมูลของทางวัดในปัจจุบัน )


พระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วย คือ ตามคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกนั้น  พระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง   วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี  เหตุนี้ประชาชนจึงมีความเคารพนับถือมาก ถึงหน้าเทศกาลได้ไปประชุมกันนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี


สถาปัตยกรรม/ถาวรวัตถุและ เสนาสนะที่สำคัญ
๑. พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง วัดโดยยาว ๘ วา ๑๘ นิ้ว กว้าง ๕ วา  ๖ นิ้ว  มีหน้ามุขยาว ๒ วา สูงเเต่พื้นถึงอกไก่ ๖ วาเศษ เป็นมุขลดไม่มีลวดลายประดับ ระหว่างประตูด้านหน้าพระอุโบสถมทำซุ้มติดกับผนัง เป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปย่อมๆ รวมทั้งพระทองด้วย ในปัจจุบันได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ  ด้านหน้าเป็นภาพเขียนมารผจญ  รอบข้างเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพพุทธประวัติชาดก  และได้มีการติดเครื่องปรับอากาศภายในพระอุโบสถ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาพเขียนให้มีความคงทนยาวนานยิ่งขึ้น

๒. พระวิหารเขียน พระ วิหารเขียน  คือ  พระวิหารตั้งคู่กับพระอุโบสถ  อยู่ทางเบื้องซ้ายของพระวิหารหลวง  ในตำนานการสร้างโบสถ์กล่าวไว้ว่า  บุตรเขยพระยารามัญเป็นผู้สร้าง  ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง  วัดรอบนอกยาว  ๘  วา  ๑๘  นิ้ว  กว้าง  ๔  วา ๒  ศอก  ๑  คืบ  ๙  นิ้ว  หน้ามุข  ๗  ศอก  ๓  นิ้ว   สูงจากพื้นถึงอกไก่  ๖  วาเศษ  เป็นมุขลดมีซุ้มหน้าเหมือนพระอุโบสถ   ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา    ปางมารวิชัย   ๒   องค์  ตั้งเรียงกัน  ภายในวิหารมีการเขียนภาพลวดลายกระถางต้นไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้ เครื่องบูชาแบบของชาวจีน  เหตุนี้จึงเรียกว่า “วิหารเขียน” สิ่งสำคัญในพระวิหารเขียน ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้น  สมัยอยุธยา พระพุทธรูปของทางฝ่ายมหายาน


๓. พระวิหารหลวง พระ วิหารใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก เรียกพระวิหารหลวง  สูงแต่พื้นถึงอกไก่  ๑๘  วา  ๒  ศอก  กว้าง  ๑๓  วา  อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส    ตามฝาผนังใหญ่ทั้งสี่ด้าน  เจาะช่องเป็นซุ้มไว้สำหรับตั้งพระพุทธรูปและพระพิมพ์เป็นระยะอย่างเป็น ระเบียบ  ช่องพระพิมพ์นั้นสำหรับบรรจุพระพิมพ์  ๘  หมื่น  ๔  พันองค์  เป็นพระขนาดเล็ก  ชาวบ้านเรียกว่าพระงั่ง   เสาภายในพระวิหารหลวงเขียนด้วยดินสีแดงตัดเส้นเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์  เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ หัวเสาประดับด้วยบัวกลุ่มสมัยอยุธยา  รอบผนังทั้งสี่ด้าน ตั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้   พระวิหารหลวงนี้มีศิลปกรรมสมัยอยุธยา  คือบานประตู   ซึ่งสลักเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมาเหนือลวดลาย  ในปัจจุบันได้มีการทำความสะอาดทำให้ปรากฏร่องรอยแห่งความสวยงามของ สถาปัตยกรรมอันวิจิตร

๔. ศาลาการเปรียญ ศาลา การเปรียญ  ตั้งอยู่ชายน้ำทางทิศตะวันตก  เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยเครื่องไม้  เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่  ๔  ขนาดยาว  ๑๑  วา  กว้าง  ๖  วา    มีเฉลียงสองชั้น  หน้าบันสลักลวดลายสลักด้วยช่อฟ้าใบระกา   ภายในเพดานประดับด้วยดาวระหว่างคอสองมีภาพเขียนพุทธประวัติโดยรอบ  จารึกว่าเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒  ปัจจุบันใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธีของพุทธศาสนิกชน

สิ่งสำคัญในศาลาการเปรียญนี้  คือ บุษบกธรรมาสน์ ที่ได้สร้างขึ้นมาแทนธรรมาสน์หลังเก่า  ซึ่งมีลักษณะยาวรี  บรรจุพระสวดได้  ๔  รูป  มีมุขและช่อฟ้าใบระกา  พระครูมงคลเทพมุนี  (ปิ่น)  จำลองแบบสร้างมาแต่วัดสุวรรณดาราม  แต่ไฟไหม้  จึงได้สร้างบุษบกธรรมาสน์หลังนี้ขึ้นมาแทน

๕. ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็น ศาลเจ้าของจีน  ถือว่าเป็นที่สถิตของพระนางสร้อยดอกหมาก  ธิดาพระเจ้ากรุงจีนซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง   ตามที่กล่าวไว้ในตำนวนการสร้างวัด  ชาวจีนเรียกกันว่า  “ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย”  ตั้งอยู่ริมน้ำด้านเหนือนอกกำแพงแก้ว  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน   มุขด้านหลังเป็นอาคารสองชั้น  ชั้นบนตั้งแท่นบูชาและรูปเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก   ชั้นล่างตั้งแท่นบูชารูปเจ้าพ่อกวนอิม  ใกล้ ๆ ศาลนี้มีสมอเรืออันหนึ่ง  ชาวบ้านงมขึ้นมาจากท่าน้ำหน้าวัด  กล่าวกันว่าเป็นสมอเรือของนางสร้อยดอกหมาก ปัจจุบันได้ เก็บไว้ในศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากแล้ว  ได้รับการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีการปั้นลวดลายประดับทั้งภายในและภายนอก  ให้มีลักษณะแบบเก็งจีน  ซึ่งเป็นการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-12 08:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ประวัติความเป็นมาเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
แต่โบราณนานมาแล้ว  มีเด็กหญิงเล็กๆคนหนึ่ง  เกิดอยู่ในจั่นหมากพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม  และได้ให้นามนางว่า “นางสร้อยดอกหมาก” เมื่อนางสร้อยดอกหมาก  เจริญวัยขึ้น  นางมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้ากรุงจีนทรงโปรดให้โหรทำนายว่า ในกาลภายหน้า พระนางสร้อยดอกหมากจะคู่ควรกับกษัตริย์เมืองใด  โหรพิเคราะห์ดูแล้วกล่าวว่า  คู่ของนางจะเป็นกษัตริย์กรุงไทย  อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นผู้มีบุญญาอภินิหารมากนัก


พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังคำโหรทำนายดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก  ทางด้านกรุงไทย  ขณะนั้นกำลังว่างผู้ปกครองแผ่นดินและไม่มีรัชทายาทจะสืบราชสมบัติ     ต่อมาบรรดาเสนาอำมาตย์และสมณชีพราหมณ์ จึงทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย  เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อเรือแล่นไปถึงยังที่แห่งหนึ่งที่ริมฝั่ง  มีเด็กเลี้ยงโคกำลังเล่นกันอยู่  เรือสุวรรณหงส์เอกชัยจอดหยุดนิ่ง  ไม่เคลื่อนอีกต่อไป  แม้เหล่าฝีพายจะพยายามสักเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนที่  เหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น  รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดสังหรณ์ใจ  จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคที่กำลังเล่นกันอยู่  พบเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาดพูดจาตอบโต้ฉาดฉาน  เหล่าอำมาตย์ต่างก็คิดว่า  “ชะรอยเด็กคนนี้คงเป็นผู้มีบุญ  กิริยาท่าทางจึงต่างกับเด็กคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด  แม้การเจรจากับเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ฉลาดหลักแหลม” เมื่อคิดดังนั้นแล้วเหล่าอำมาตย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเด็กชายคนนั้น มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงไทยต่อไป


เมื่อพระเจ้ากรุงไทยพระองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองบ้านเมืองเป็นปรกติสุข ครั้งหนึ่งพระองค์โปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี  เมื่อเสด็จมาถึงยังหัวแหลมวัดปากคลอง เป็นเวลาน้ำขึ้น จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด  ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบันของโบสถ์จึงทรงดำริ ว่า “จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด” เมื่อตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร โดยเปลื้องพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือประทับพระที่นั่ง  เรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีต่างก็พากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้า กรุงไทยว่า “ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ”


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-12 08:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ครั้นถึงเวลาน้ำลง  พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงมีรับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร  ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งเอกชัยเพียงลำเดียว  เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งราชกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง  จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย  จนกระทั่งลุถึงกรุงจีน ชาวจีนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์  จึงนำความขึ้นทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก  พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปสืบดูว่าพระเจ้ากรุงไทยมี บุญญาธิการจริงหรือไม่ เสนาบดีจีนออกไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค  ซึ่งเป็นที่ที่มีภยันตรายมาก  ตกเพลาค่ำเสนาบดีจีนใช้ทหารไปสอดแนมดูว่า  “ เหตุการณ์ร้ายแรงอันใดจะเกิดขึ้นหรือไม่ ” มีแต่เสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น ในคืนต่อมาเสนาบดีจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่มีอันตรายมาก ขึ้นไปอีก  เหตุการณ์ยังเหมือนคืนก่อนเมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสยิ่ง นัก  จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนให้นำสำเภาห้าลำพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก  เมื่อถึงปากน้ำพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน  เมื่อจัดตำหนักซ้ายขวาเสร็จก็จัดขบวนมารับพระนางสร้อยดอกหมากจากเรือ โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย  พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า“มาด้วยพระองค์ก็โดยยากเมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป”

เสนาบดีนำเนื้อความไปกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่นจึงกล่าวสัพยอกว่า“เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด”เมื่อ พระนางทราบเนื้อความจึงสำคัญว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจริง จึงน้อยพระทัยและเศร้าพระทัยยิ่งนัก  ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งจัดกระบวนแห่มารับ  และเสด็จมาด้วยพระองค์เอง  เมื่อเสด็จขึ้นไปบนสำเภา  พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์  พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เอาละ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น  ด้วยความน้อยพระทัยนางจึงกลั้นพระทัยตายทันที  พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยมาก  โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาพระราชทานเพลิง  ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย  จึงทรงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “ วัดพระนางเชิญ ” แต่นั้นมา

ตำนานเรื่อง  “เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก”  จึงเป็นตำนานแห่งการสร้างวัด พนัญเชิง หรือวัดพระเจ้าแพนงเชิง  หรือวัดพระนางเชิญ ก็มี  วัดนี้เป็นวัดสำคัญเก่าแก่แต่โบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวไทยและจีน  ทุกปีจะมีงานฉลองตามประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้  และในปี ๒๕๔๔  พระธรรมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัด  และพระพิพัฒน์วราภรณ์ รองเจ้าอาวาสในสมัยนั้น (ในปัจจุบันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชรัตนวราภรณ์ เมื่อวันที่  ๑๒  สิงหาคม  ๒๕๔๗ และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ได้ให้มีการบูรณะศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากขึ้นใหม่จนมีความสวยงามเป็นยิ่งนัก ฯ

๖. เมรุ ที่ใช้เป็นที่ฌาปนกิจในปัจจุบันนี้   สร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นวัดมณฑปมาก่อน  เป็นเมรุเตาอบสร้างขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  ๒๕๑๑  ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด   หลังคาเป็นยอดมณฑป  มีศาลาบำเพ็ญกุศล  ๒  ศาลา  และสถานที่บรรจุศพอีก  ๑  หลัง  สิ้นงบประมาณ  ๒๐๐,๐๐๐  บาท

๗. โรงฉันภัตตาหาร ปัจจุบัน กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม  เป็นลักษณะอาคาร ๓ ชั้น  สำหรับใช้เป็นสถานที่ฉันภัตตาหารของพระภิกษุ-สามเณร  และรับประทานอาหารของประชาชนโดยทั่วไปที่มาติดต่องานต่างๆ หรือมาประชุมภายในวัดพนัญเชิงฯ โดยติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสามารถจะรองรับได้ประมาณ  ๑,๐๐๐ รูป/คน  และจะใช้เป็นสถานที่ประชุมขนาดกลาง  สามารถจะรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ประมาณ ๒๐๐ ที่นั่ง

๘. ตำหนักเดิม (หอสวดมนต์) ได้ รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี  ๒๕๔๔  โดยพระพิพัฒน์วราภรณ์(แวว  กตสาโร  พ.ศ.๒๕๔๗  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชรัตนวราภรณ์)  มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย  ๒  ชั้น  ชั้นบนมีห้องพักรับรองพระภิกษุอาคันตุกะ  อีกด้านหนึ่งเป็นโถงกว้างใช้เป็นที่ประชุมของพระภิกษุสงฆ์เพื่อทำวัตรสวด มนต์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  ชั้นล่างได้จัดเป็นห้องประชุมขนาดเล็ก  สามารถจุผู้เข้าประชุมได้ประมาณ  ๑๐๐  ที่  ติดเครื่องปรับอากาศและเครื่องขยายเสียงเพื่อรองรับการใช้งานอย่างสมบูรณ์

๙. หอพระไตรปิฎก ขนาดกว้าง   ๘  เมตร  ยาว   ๙  เมตร  ปัจจุบันเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและตู้พระคัมภีร์โบราณ  ได้รับการบูรณะใหม่ให้มีความสวยงาม

๑๐. หอประชุมสงฆ์ สร้างเมื่อพระราชสุวรรณโสภณ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการก่อสร้างเมี่อระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๑ สำเร็จเรียบร้อย  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒  สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ ๔ ล้านบาทเศษ  ต่อมาในสมัยพระธรรมญาณมุนี (ไวทย์  มุตฺตกาโม) เป็นเจ้าอาวาส พระพิพัฒน์วราภรณ์ (นพปฎลหรือแวว  กตสาโร)  เป็นรองเจ้าอาวาส  ได้มีการต่อเติมทำให้สามารถจุผู้เข้าประชุมได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน  ติดเครื่องปรับอากาศพร้อมเครื่องเสียงอย่างสมบูรณ์  โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน  ๒๔ ล้านบาทเศษ

๑๑. กุฏิพระธรรมญาณมุนี เป็น กุฏิทรงไทยกลุ่ม จำนวน ๖ หลัง  ทำด้วยไม้สักทองล้วน สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๔๒  ในสมัยของพระธรรมญาณมุนี (ไวทย์  มุตฺตกาโม ป.ธ.๕)  ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส  และเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๒. กุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๑๒  สิงหามหาราชินี   ๒๕๔๗   (พระราชรัตนวราภรณ์) ฝา กุฏิทรงไทยทำด้วยไม้สักทอง  พื้นไม้ตะเคียนทอง  มีลวดลายที่เป็นการอนุรักษ์จิตรกรรมไทย  จำนวน ๔ หลัง  ขวาง ๑ หลัง  ข้าง ๒ หลัง  ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีการติดเครื่องปรับอากาศ  ใช้เป็นสถานที่สำหรับการทัศนศึกษากุฏิทรงไทยแบบโบราณที่มีความสวยงาม  โดยจะเปิดให้ผู้มากราบไหว้หลวงพ่อโตได้เข้าเยี่ยมชมตลอดทุกวัน  และใช้เป็นสถานที่รับรองพระมหาเถระหรือพระอาคันตุกะ  มีขนาดกว้าง   ๑๒.๒๐    เมตร   ยาว  ๓๒.๑๐   เมตร  สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี  พ.ศ.๒๕๔๗   ในสมัยพระราชรัตนวราภรณ์ (แวว กตสาโร)  ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

๑๓. ศาลเจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อกวนอูและเทพเจ้าอุ่ยท้อ ตั้ง อยู่ริมแม่น้ำด้านทิศเหนือของวัด  ติดกับตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๙  เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระสังกัจจายน์ เจ้าแม่กวนอิม (พระโพธิสัตว์) เจ้าพ่อกวนอู(เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์)และเทพเจ้าอุ่ยท้อ (เทพเจ้าผู้คุ้มครองพระศาสนา)  ซึ่งประชาชนให้ความเคารพนับถือมาก

การเดินทางสู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ๓ ทาง
ก. เดินทางโดยรถยนต์ไป ตามถนนพหลโยธิน แยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สามแยกอำเภอวังน้อย ถนนสายโรจนะถึงเจดีย์ใหญ่วัดสามปลื้ม ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑ เลี้ยวซ้ายไปตามถนน  ผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลแล่นเรื่อยไปจนถึงวัด

ข. เดินทางโดยรถไฟไป ยังสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อรถประจำทาง หรือรถรับจ้างเพื่อข้ามเรือที่สถานีตำรวจป้อมเพชร ซึ่งเรียกว่า ท่าข้ามวัดสุวรรณดาราราม – วัดพนัญเชิงฯ

ค. เดินทางโดยเรือ มีเรือ ๓ สาย สายใต้และสายตะวันตก จะถึงวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจป้อมเพชรก่อนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สายเหนือจะถึงตัวจังหวัดก่อนถึงวัด

ที่อยู่ ป ๒ หมู่ ๑๒ ต.กะมัง อ. พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-3-7 07:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้