|
ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง อินฺทรตฺตโน) แห่งวัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลวงพ่อท่านสามารถแก้ปริศนานี้ได้ จึงบูรณะวัดพระทองขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๕ ของวัดพระทอง ท่านอยู่จำพรรษาถึง ๖๑ ปี กระทั่งได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๐๑
ความหมายของปริศนาลายแทงของ “หลวงพ่อสิงห์” เจ้าอาวาสวัดพระทองรูปแรก แก้ได้ว่า ยักสามยักสี่ คือ การหามเก่วพรจีน (เกี้ยว) เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง, หามผีมาเผา คือ ในขบวนหามเก่วนั้น มีคนหามไม้หอมต่างๆ มาด้วย หามมาเผานั่นเอง, ผีไม่ทันเน่า คือ ไม้หอมต่างๆ เช่น ไม้จันทร์ ฯลฯ ที่นำมาเผาพระจีน, หอมฟุ้งตลบ คือ หอมฟุ้งตลบ คือ ไม้หอมต่างๆ ที่เผานั่นเอง เมื่อเผาแล้วก็มีควันหอม, ผู้ใดคิดสบให้รับที่กบปากแดง คือ ผู้ใดคิดความนี้ได้ ให้เอาที่หลวงพ่อพระผุด, ผู้ใดรู้แจ้งให้รับที่แล่งล่อคอ คือ ให้เขย่าเอาจากกระบอกไม้เซียมซี ซึ่งในปริศนาลายแทงเรียกว่า แล่งล่อคอ (ชาวภูเก็ตเรียก “ไม้เซียมซี” ว่า เชี้ม)
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระทอง (พระผุด) องค์นี้ พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง” ต่อจากนั้นรัชกาลที่ ๖ ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จฯ มายังวัดพระทอง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน โดยเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ ในหลวงทรงลงลายพระหัตถ์บนแผ่นหิน จารึกพระปรมาภิไธยย่อตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าวิหารหลวงพ่อพระทอง ไว้เป็นพระอนุสรณ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัดพระทองและพสกนิกรชาวไทยสืบมา
หากแต่อีกความเชื่อหนึ่งของพี่น้องชาวจีน เชื่อว่าพระทอง (พระผุด) ถูกอัญเชิญมาจากเมืองจีนเรียกว่า “พู่ฮุก” (หรือภู่ปุ๊ค) เล่าว่าธิเบตไปรุกรานจีน จนจีนต้องเสียเมืองเซี่ยงไฮ้ให้ธิเบต ในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนมีพระพุทธรูปทองคำ ชื่อว่า กิ้มมิ่นจ้อ ชาวธิเบตจึงได้ลำเลียงลงเรือ ต่อมาถูกมรสุมหนักพัดมาเกยตื้น พระพุทธรูปก็จมลง จนกระทั่งมีผู้คนมาพบเห็น ชาวจีนต่างให้ความนับถือพระพุทธรูปองค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน ฯลฯ ก็จะพากันมาบูชากราบไหว้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันพระทอง (พระผุด) ได้ประดิษฐานเป็นพระประธานใน “วิหารหลวงพ่อพระทอง” ที่กล่าวขานกันว่า ใครทุกข์โศกไปกราบไหว้ขอพร ก็จะสัมฤทธิ์ผลดลบันดาลให้ตามที่่ปรารถนา สำหรับพระทอง (พระผุด) องค์จริงนั้นได้มีการล้อมไว้และติดป้ายห้ามเข้าไปในบริเวณองค์จริง แต่จะมีการประดิษฐาน พระทอง (พระผุด) องค์จำลอง ไว้เพื่อให้สาธุชนปิดทอง นอกจากพระทอง (พระผุด) แล้ว ณ วัดแห่งนี้ยังมี “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งทางวัดจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย เช่น จังซุ่ย เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก, เสี่ยหนา ตะกร้าใส่ของของชาวจีน, หมอนกระเบื้องที่ชาวจีนใช้หนุนเมื่อยามสูบฝิ่น, เตียงนอนและตู้เก็บของแบบจีนโบราณ ทำด้วยไม้มีลวดลายแกะสลักสวยงาม, รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีนที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น ปืนใหญ่ ๕ กระบอก ซึ่งเคยใช้ป้องกันเมืองในคราวศึกถลาง พ.ศ. ๒๓๕๒ ฯลฯ สามารถบอกถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑสถานฯ เปิดให้สาธุชนเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๓๐ น.
|
|