ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2010
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ วัดห้วยขานาง อุทัยธานี

[คัดลอกลิงก์]
หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ วัดห้วยขานาง อุทัยธานี


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 02:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ วัดห้วยขานาง อุทัยธานี

ท่านเกิดที่บ้านจาร้า อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๒ คน คือ
๑.หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ นามสกุลเดิม อ่ำสุพรรณ
๒.นางขำ อ่ำสุพรรณ
บิดามารดา ของท่าน มีอาชีพ ทำนา อยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัว ของหลวงปู่พลอยนั้นนับว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นเรียบง่ายสงบ สมัยที่ท่านยังเป็นเด็กท่านได้ศึกษาหาความรู้จนจบโรงเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ในสมัยนั้นถือว่าดีแล้วที่ใครสามารถจบชั้นประถมปีศึกษาที่ ๔ได้ และเมื่อ ถึงฤดูทำนาถ้าท่านไม่ได้ไปโรงเรียน ท่านจะไปกับ บิดา มารดา เพื่อ คอยดูแลเลี้ยงน้อง เพราะเมื่อถึงหน้าน้ำๆจะหลากท่วมท้องทุ่ง เจิ่งนองไปหมด บิดาของท่านได้ปลูกห้างนาเล็ก ๆ ไว้บนจอมปลวกสูง และในวันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นเมื่อในขณะที่ มารดา กำลังยุ่งกับการทำนาอยู่นั้น นางขำ ซึ่งกำลังเริ่มหัดคลานซุกซนมากและได้พลัดตกลงไปในสระน้ำ เด็กชายพลอยเมื่อเห็นน้องตกน้ำจึงร้องเรียกบอกแม่ว่า “แม่น้องตกน้ำ”เมื่อแม่ได้ยินเสียงเรียกจึงรีบ กระโดดลงไปงมหาลูกสาว หลวงปู่เองก็ยังเป็นเด็ก ก็ได้แต่ยืนจ้องดูแม่ ด้วยความห่วงใย เมื่อแม่ของท่านโผล่ขึ้นมาเพื่อหายใจครั้งหนึ่งท่านก็รีบถามว่า “ได้ไหมแม่” แม่ไม่ทันตอบก็ต้องรีบดำกลับลงไปใหม่ แม่ ดำผุด ดำโผล่อยู่อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง จึงได้ลูกสาวขึ้นมาเด็กหญิงขำ รอดตายอย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั้ง เด็กชายพลอย และ เด็กหญิงขำ อ่ำสุพรรณ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความชราภาพ บวกกับการแพทย์ยังไม่เจริญ พ่อ แม่ ของท่านทั้งสองได้ล้มป่วยลงจากการทำงานหนักมาตลอดชีวิตของท่าน ๆ เพื่ออยากให้ลูกทุกคนมีความสุขสบาย แต่ความหวังของท่านทั้งสองยังไม่สมหวังดังที่ตั้งใจไว้ท่าน ก็เสียชีวิตลงทั้งคู่ ทิ้งให้นายพลอย และนางสาวขำอยู่ด้วยกันสองพี่น้อง นายพลอยจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูน้องสาว ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งสองพี่น้องมีความรักผูกพันกันมาก นายพลอยจึงยึดอาชีพที่เป็นมรดกตกทอดจากพ่อ แม่มา คือการทำนา นายพลอยเป็นคนที่ขยันในการทำงานหาเลี้ยงดูแลน้องสาวมาจนกระทั้ง เมื่อท่านมีอายุ ๒๑ ปี ท่านก็ได้เข้าเป็นทหารเกณฑ์
การที่ท่านได้เป็นทหารเกณฑ์นี้เอง ทำให้ท่านได้มีโอกาส เรียนหนังสือเพิ่มเติม ฝึกฝนการอ่าน และการเขียนหนังสือ จนสามารถอ่านออกเขียนได้ดีพอสมควร ในช่วงที่ท่านเป็นทหารอยู่นี้เอง ท่านเป็นคนที่รักและห่วงน้องสาวเมื่อท่านไปเป็นทหารเกณฑ์ไม่เท่าไร ด้วยความที่ท่านเป็นห่วงน้องสาว กลัวน้องจะลำบาก ท่านจึงตัดสินใจที่จะหนีทหาร แต่ด้วยท่านมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของชายไทย ท่านได้หนีออกมาหาน้องสาวของท่านถึง ๒ ครั้งและก็กลับเป็นทหารอีกและครั้งสุดท้าย ท่านก็ได้ตัดสินใจหนีทหารอย่างเด็ดขาด และได้ พาน้องสาวหนีจากสุพรรณบุรีมาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านหนองโพ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดชัยนาท ท่านพาน้องสาวมาอยู่ได้ไม่กี่ปี ด้วยเกรงว่า ทางจังหวัดสุพรรณบุรี จะรู้ที่อยู่ แล้วจะมาตามจับกลับไปเป็นทหารอีก ท่านจึงพาน้องสาวหนีจาก ชัยนาท มาอยู่ที่ บ้านเขาเชือก จังหวัดอุทัยธานี จนกระทั้งนางสาวขำ อ่ำสุพรรณ ได้มีครอบครัวได้สมรสกับ นายกุล วะชู ซึ่งเป็นคนบ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และ นายพลอย ซึ่งกำลังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และนายพลอยเองก็ได้ผูกสมัครรักใคร่กับลูกสาวของหญิงหม้ายคนหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) ในวันหนึ่งหญิงสาวคนรักได้นัดให้ นายพลอย ให้ไปขึ้นหาในตอนกลางคืน แต่แม่ของสาวคนรักนั้นซึ่งเป็นหญิงหม้าย ซึ่งแอบชอบนายพลอยอยู่ และคอยโอกาสอยู่ และวันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อมารู้แผนการเรื่องที่ลูกสาว นัดให้ นายพลอยขึ้นหาในคืนนี้จึงเป็นโอกาสดีของหญิงหม้ายที่จะจับนายพลอยเป็นสามี จึงไล่ให้ ลูกสาว ซึ่งเป็นคนรักของนายพลอยไปนอนที่อื่น และหญิงหม้ายนั้นก็เริ่มแผนการนารีพิฆาต โดยเข้าไปนอนแทนที่ลูกสาว เพื่อจะเผด็จศึกนายพลอยในคืนวันนี้ ให้ได้ พอถึงเวลานัดหมายนายพลอยก็ขึ้นหาสาวคนรักตามสัญญา แต่กลับไม่เจอสาวคนรัก แต่เจอแม่ของสาวคนรักนอนรอการเผด็จศึกอยู่ ด้วยความมืดจึงไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก่อนที่สงครามสร้างเผ่าพันธุ์จะเกิดขึ้นในความมืด นายพลอยรู้ตัวเสียก่อน เพราะว่า ผิดสัมผัส พอหญิงหม้ายรู้ว่านายพลอยรู้ตัว จึงโวยวายขึ้นมา เพื่อจะจับนายพลอยไว้เป็นทหารเอกของนางเอง เมื่อผิดแผนการที่วางเอาไว้กับสาวคนรัก จากการที่จะได้เป็นสามี แต่กลับจะได้เป็นพ่อเลี้ยงแทน นายพลอย จะกระโดดหนีแต่ไม่ทันเสียแล้ว จึงเสียใจมากที่ไม่สมหวังในความรัก นายพลอย จึงต้องตัดสินใจจากสาวคนรัก ด้วยความอาลัยในรักและจะไม่ยอมเป็นพ่อเลี้ยงของสาวคนรัก นายพลอยจึงหนีกลับไปสุพรรณบุรี นายพลอย เมื่อผิดหวังจากความรัก ก็เหมือนกับหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป แต่ด้วยสวรรค์ยังเมตตา ท่านจึงตัดสินใจสละทางโลกออกบวช เป็นพระภิกษุ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 02:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อท่านบวชแล้วท่านได้ ทิ้งให้นางขำ วะชู ให้อยู่กับครอบครัว ที่ บ้านเขาเชือก นางขำ มีบุตรสาว ๑ คน คือนางพัน วะชู ต่อมาเกิดโรคห่าระบาดขึ้น “อหิวาตกโรค” ซึ่งการแพทย์ยังไม่เจริญ มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก นางขำ จึงพาครอบครัวอพยพไปอยู่ที่บ้านหนองมะสัง หรือหมู่บ้านทุ่งสาลีในปัจจุบัน และ นางพัน บุตรสาวได้ แต่งงาน กับนายมูล (ไม่ทราบนามสกุล) และ นาย กุล วะชู ผู้เป็นสามีนางขำได้เสียชีวิตลง นางขำจึงได้พาครอบครัวของบุตรสาวอพยพมาจับจองที่ทำกิน ที่บ้านห้วยขานาง ต่อมาสามีของนางพัน ได้เสียชีวิตลง และนางพันได้สมรสกับ นายเปล่ง ดวงหนองบัว ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยขานาง และ มีบุตรสาว ๑ คน คือ นางสะอาด ดวงหนองบัว นางขำใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านห้วยขานาง กับลูกหลาน ตลอดชีวิตของท่าน

หลังจากที่หลวงปู่พลอยท่านได้อุปสมบทครั้งแรก ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยได้เดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆแสวงหา ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ เพื่อจะศึกษาวิชาอาคมต่างๆ ท่านเล่าว่า ได้เดินธุดงค์ไปถึงเขตประเทศพม่า ท่านได้พบกับคนมอญ ท่านก็พูดมอญด้วย คนพวกนั้นเกรงว่าหลวงปู่จะรู้เรื่องที่คุยกัน จึงเปลี่ยนไปพูดภาษาพม่าแทน ท่านได้เดินธุดงค์อยู่หลายปี เมื่อท่าน
มีความรู้พอสมควรแล้ว ท่านได้เดินทางกลับและท่านได้มาจำพรรษา อยู่ที่วัดเนินเพิ่มอยู่ในเขต ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี วัดเนินเพิ่ม มีเนื้อที่ ประมาณ ๗ ไร่เศษ แต่ในปัจจุบันได้ยกเป็นวัดร้าง ซึ่งที่ดินวัดในปัจจุบัน ไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่รกร้าง ไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่นใดให้เห็นเป็นรูปวัด จะเหลือต้นโพธิ์ ให้เห็นว่าเป็นวัด และศาลพระภูมิเก่า ๆ ที่ชาวบ้านนำมาทิ้งไว้เท่านั้น แต่จะมีพระธุดงค์ แวะเวียนเข้ามาอาศัยพักค้างแรมเป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบัน พื้นที่วัดถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยมีถนนลาดยางตัดผ่านพื้นที่วัด แต่ยังคงความร่มรื่น สมกับคำว่าอาราม เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของพระภิกษุสงฆ์จากทิศทั้งสี่ที่แวะเวียนมาปักกรดปฏิบัติธรรม และเนื้อที่วัดทั้งสองฟากถนน จะมีสระน้ำ สระน้ำทางทิศเหนือ เมื่อครั้งในอดีตในราวปี พุทธศักราช ๒๔๕๐ คุณโยมที่อาศัยอยู่ติดกับที่วัด ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อครั้งที่ท่านเป็นเด็ก แม่ของท่านเล่าให้ฟังว่าในสมัยที่หลวงปู่มาอยู่นั้นมีคนมาลักปลาในสระไปทำปลาร้ากิน เกิดเหตุที่จะคิดว่าไม่น่าจะ เกิดขึ้นได้คือ ไฟลุกอยู่ในไหปลาร้าเป็นคำบอกเล่า ผู้อ่าน ควรใช้วิจารญาณ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล หลังจากนั้นไม่นาน ชาวบ้านทุ่งกองโพธิ์ที่มีความศรัทธาในตัวหลวงปู่พลอย ได้ร่วมใจกันมาอาราธนา หลวงปู่ท่านให้ไปช่วยสร้างวัด ซึ่งในสมัยนั้น หนทางการสัญจรมีความลำบากมาก และ ในละแวกบ้านนั้นก็ไม่มีวัดให้ชาวบ้านได้ทำบุญกัน จะทำบุญกันแต่ละทีก็ต้องเดินทาง มาทำบุญที่วัดเนินเพิ่ม หรือไม่ก็จะไปทำบุญที่วัดหนองขุนชาติ หลวงปู่พลอยท่านเห็นความลำบากของชาวบ้านจึงรับอาราธนา และ ท่านได้เดินทางมาสร้างวัดทุ่งกองโพธิ์ ในปี พุทธศักราช ๒๔๕๒ บนเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา วัดทุ่งกองโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งกองโพธิ์ หมู่ที่ ๘ ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ระยะทางห่างจากอำเภอหนองฉาง ๘ กิโลเมตร เมื่อ วัดทุ่งโพ เจริญมั่นคงดีแล้ว “แต่แล้วอนิจจาชีวิตคนไม่แน่นอน”หลวงปู่ก็เช่นเดียว ในช่วงที่ท่านอยู่ที่ วัด ทุ่งกองโพธิ์นั้น ท่านได้พบรัก อีกครั้ง กับหญิงหม้าย นางหนึ่ง “ผู้เขียนคิดว่า คงจะงามมากเลยละ” ที่สามารถผูกใจของหลวงปู่พลอย ได้และ ท่านลาสิกขาออกมา สร้างครอบครัว กับ หญิงหม้ายผู้โชคดี ที่ชื่อว่า “เทียน”(ไม่ทราบนามสกุล) ที่ว่าโชคดี นั้นเพราะว่าหลวงปู่ท่าน เป็นคนขยัน หมั่นเพียรในการทำงานประกอบอาชีพ สร้างฐานะด้วยความอดทนจน

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 02:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครอบครัวของ ท่านมีความมั่นคง ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ท่านไม่มีบุตร กับนางเทียน “อนิจจา ท่านต้องพบกับ ความพลัดพรากอีกครั้ง ” ชีวิตคู่ของหลวงปู่พลอย กำลังไปได้ดีมีความสุขกับครอบครัว ทั้งในด้านความรักและฐานะที่มั่นคง และแล้ว วันนั้นก็มาถึง เมื่อนางเทียน ได้ล้มป่วยลง จนหมอหมดทางรักษาและแล้ว นางเทียนก็ เสียชีวิตลงโดย ปัจจุบันทันด่วน หลวงปู่ท่านยังไม่ทันตั้งตัว ความเศร้าโศกเสียใจ ได้เกิดขึ้นกับท่าน เป็นครั้งที่สอง ดังคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เมื่อท่านจัดงานศพนางเทียนเรียบร้อยแล้ว ท่านได้เดินทางกลับไปจังหวัดสุพรรณบุรีอีกครั้ง เพื่อทบทวนความเป็นมาเป็นไปของชีวิตของท่านและแล้วท่านก็สามารถเป็นผู้ชนะใจของท่านเองได้อย่างเด็ดขาดท่าน สละทุกสิ่งทุกอย่างอีกครั้งแล้วจึงออกบวช โดยไม่หันหลังกลับอีกต่อไป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมู่ญาติและภรรยา และท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดทุ่งกองโพธิ์ ตามเดิม ขณะนั้นญาติพี่น้องของท่าน อยู่ที่บ้านสะเดาซ้าย อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้มานิมนต์ท่านให้ไปสร้างวัดสะเดาซ้าย ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีเมตตาและยึดมั่นในสัจจะธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญตั้งมั่นและมีความเจริญบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน ที่นับถือพระพุทธศาสนาให้มีสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล ทำความดี ท่านจึงรับนิมนต์และไปได้สร้างวัดสะเดาซ้าย หลังจากท่านได้สร้างวัดสะเดาซ้าย จนมั่นคงแล้ว หลวงปู่พลอย ท่านก็ได้เดินทางกลับมาจำพรรษา และพัฒนาวัดทุ่งกองโพธิ์ ตามเดิม ในช่วงเวลานั้น นางขำ น้องสาวของท่าน ที่ตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านห้วยขานาง นางขำท่านเป็นคนที่มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ต่อผู้คนทั่วไป ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านห้วยขานางและหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้คนจึงพากันเรียกท่านว่า “แม่แก่ขำ” แม่แก่ขำ ท่านมีจิตใจฝักใฝ่ในการทำบุญ ให้ทานด้วยความที่ท่านเป็นคนใจบุญ ท่านจะสั่งสอนและชักชวนลูกหลานให้ทำแต่ความดี และ แม่แก่ขำท่านจะพาลูกหลาน เดินทางไปทำบุญที่วัดทุ่งกองโพธิ์ทุกวันพระอยู่เสมอมิได้ขาด สาเหตุที่ท่านจะต้องเดินไปทำบุญที่วัดทุ่งกองโพธิ์ ก็เพราะว่าหมู่บ้านห้วยขานาง และหมู่บ้านใกล้เคียงโดยรอบยังไม่มีวัด และที่สำคัญคือ หลวงปู่พลอย ซึ่งเป็นพี่ชายคนเดียวของท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์ การที่จะเดินทางไปวัดทุ่งกองโพธิ์ในสมัยนั้นลำบากมากเพราะไม่มีรถยนต์ ใครมีเงินก็จะมีรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถจักรยาน แต่ส่วนมากการเดินทางจะใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง ๆ ไปในตัวจังหวัดต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นวันๆคือจะต้องนอนค้างคืน กันเลยทีเดียว และระยะทางจาก บ้านห้วยขานาง กับวัดทุ่งกองโพธิ์ ไกลกันพอสมควร และเมื่อแม่แก่ขำ ชราภาพลง เห็นว่าการจะไปทำบุญแต่ละครั้ง ทั้งไกล และ ลำบาก ท่านจึงมีความคิดที่จะย้ายไปอยู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์กับหลวงปู่พลอย ท่านจึงได้เก็บข้าวของเพื่อจะเดินทางไปอยู่กับหลวงปู่ที่วัดทุ่งกองโพธิ์ แต่ไม่ทันที่จะเดินทางไป หลวงปู่พลอย ท่านได้ทราบเรื่องเสียก่อน ด้วยความสงสารและเป็นห่วงน้องสาวกลัวลำบากที่ต้องเดินทางไปกลับ ท่านจึงได้พูดกับน้องสาวว่า “มึงไม่ต้องมาหลอก อีกหน่อยกูจะไปอยู่กับมึงที่ห้วยขานางเอง” หลังจากนั้น ไม่นาน หลวงปู่ท่านก็ได้พาพระลูกวัดทุ่งกองโพธิ์ เดินทางมาที่หมู่บ้านห้วยขานาง เพื่อมาปรับปรุงที่บริเวณลำห้วยขานางซึ่งเป็นที่ป่ารกมาก เมื่อฉันเช้าแล้วท่านก็จะเดินทางมาและระยะทางระหว่าง วัดทุ่งกองโพธิ์ กับ บ้านห้วยขานาง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ท่านจะเดินทางมา เป็นประจำทุกวัน ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ท่านได้สร้างกุฏิสงฆ์ และศาลาการเปรียญ พอจะเป็นที่อาศัยและบำเพ็ญสมณะกิจได้และให้ชาวบ้านอาศัยทำบุญได้ หลวงปู่พลอย ท่านได้ย้ายจากวัดทุ่งกองโพธิ์ มาอยู่จำพรรษา อยู่ที่วัดห้วยขานางตลอดชีวิตท่าน
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 02:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทุกวันนี้ผู้คนที่สัญจรไปมาบนถนนสายบ้านไร่-อุทัยธานี เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดห้วยขานาง หรือ วัดทุ่งโพ จะต้องบีบแตร ๓ ครั้ง หรือ พนมมือไหว้ท่านอธิษฐานของพรให้เดินทางปลอดภัย มีโชคลาภ เป็นการแสดงความคารวะด้วยความเคารพนับถือ เพราะทุกคนมีความเชื่อว่าหลวงปู่พลอยท่านมีอำนาจดลบันดาลความสุขความสมหวังแก่ตนและครอบครัว ครูหว้า ท่านบอกว่า ท่านถือว่าหลวงปู่พลอยท่านเป็นบุคคลที่ควรบูชาท่านหนึ่ง เพราะว่าท่านมีคุณธรรมสูงหลายประการ ท่าน คือ
๑.ท่านเป็นพระที่เป็นที่พึ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนที่ทุกข์ยาก ในสมัยที่ท้องถิ่นอยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นขวัญกำลังใจให้ต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิตด้วยความเชื่อที่ว่าหลวงปู่ท่านยังอยู่กับทุกคนและสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่คิดดีปฏิบัติดี เป็นสุขสมหวัง ปลอดภัยในชีวิต
๒.ท่านเป็นครูผู้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยท่านนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาสั่งสอน ให้คิดดี ปฏิบัติดีไม่เบียดเบียน รังแกผู้อื่น นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนการศึกษาสร้างอาคารเรียน
๓.ท่านเป็นผู้พิพากษา เมื่อมีผู้คนมีกรณีพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะมาพึ่งหลวงปู่ท่านให้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งคู่แสดงความบริสุทธิ์จริงใจต่อกัน (คือการสาบานนั้นเอง)
๔.ท่านเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ในสมัยนั้นถ้าทางวัดใดมีงานประจำปี ก็จะมานิมนต์ท่านไป เป็นประธานในงานรับรองได้เลยว่างานที่วัดนั้นจะสงบเรียบร้อย เพราะผู้คนเกรงวาจาสิทธิ์ของท่าน พวกนักเลงอันธพาล ไม่กล้าที่จะทำความชั่ว หรือก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกันในบริเวณวัด เพราะกลัวคำสาปแช่ง
๕.ท่านยังเป็นหมอรักษาโรค ทั้งโรคทางใจ และทางจิต โดยท่านอาศัยสมุนไพรกับอำนาจพุทธคุณ สาสมารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนที่มาพึ่งท่านให้รักษา เพราะในสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้
๖.ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในการปฏิบัติในกิจวัตรของสงฆ์มาก เช่นมีอยู่คราวหนึ่งช่วงที่หลวงปู่ท่านชราภาพมากแล้ว ท่านอาพาธดวง ตาของคนอายุร้อยกว่า ย่อมมองไม่ค่อยเห็นแล้วเป็นธรรมดา คนที่ดูแลท่านเพื่อจะให้ท่านฉันยา ได้นำอาหารป้อนท่าน ซึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านก็ฉัน ในขณะนั้นมีผู้ทักขึ้นว่า “หลวงปู่ฉันท่านอาหารตอนเย็นได้หรือ” เมื่อท่านได้ยิน ท่านก็ไม่ยอมเปิดปากรับอาหารอีกเลย โดยเฉพาะหลวงปู่ท่านมีปกตินิสัยประจำของท่าน
ทางกาย ท่านมีร่างกายที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง ว่องไว สะอาด ปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงน้ำเพียงวันละครั้งเท่านั้น
ทางวาจา ท่านเสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรงปราศจากมารยาทางคำพูดคือไม่พูดเทียบเคียง ไม่โอ้อวด ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทาไม่พูดขอร้องขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน
ทางใจ ท่านมีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น อดทน ไม่กระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิดรำคาญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสม ไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะเบิกบานอยู่เสมอ คุณธรรมของหลวงปู่พลอย เท่าที่ผมรู้จักยังมีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้อย่างครบถ้วน แต่อย่างน้อยข้อมูลประวัติของท่าน ที่ได้รวบรวมมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หลวงปู่พลอย ฐิติญาโณ ท่านเป็นบุคคลสำคัญรูปหนึ่ง ที่เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีเกียรติคุณ งามความดี ควรค่าแก่อนุชนรุ่นหลังจะได้เจริญรอยตามปฏิปทาของท่าน และเคารพบูชาท่านได้อย่างสนิทใจ และท่านก็เป็นหนึ่งที่ชาวจังหวัดอุทัยธานีภาคภูมิใจ

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้