ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2191
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติวัดนครสวรรค์ (พระอารามหลวง) จ.นครสวรรค์

[คัดลอกลิงก์]

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-12 20:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-12 20:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติวัดนครสวรรค์ (พระอารามหลวง)

วัดนครสวรรค์ เดิมมีนามว่า “วัดหัวเมือง” เพราะตั้งอยู่ตอนต้นของตัวเมืองก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองจะต้องผ่านวัดนี้ก่อน สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๑๙๗๒ โดยประมาณ เดิมหน้าวัดอยู่ทางริมแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นโพธิ์และพระปรางค์มองเห็นเด่นชัดสำหรับผู้สัญจรทางน้ำ ต่อมาสายน้ำได้เปลี่ยนทิศทางห่างออกไปจากวัดประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาแต่เดิม ประมาณ พ.ศ.๑๙๗๒

    วัดนครสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๐๒ ถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวา อาณาเขตเฉพาะส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาส ทิศเหนือยาว ๖๗ วา ติดต่อกับถนนเทพสิทธิชัย ทิศใต้ยาว ๖๗ วา ติดต่อกับถนนลูกเสือ ทิศตะวันออกยาว ๗๖ วา ติดต่อกับถนนโกสีย์ ทิศตะวันตกยาว ๘๐ วา ติดต่อกับถนนสวรรค์วิถี ซึ่งเป็นถนนผ่ากลางที่ดินตั้งวัด มีโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๙๔๓, ๙๖๓๙ และมีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๕ แปลง เนื้อที่ ๑๑๘ ไร่ ๙๙ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๒๕๓, ๒๒๖๗๓, ๑๐๔๑, ๑๑๑ และ น.ส. ๓ สารบบหน้า ๓๘ เล่ม ๑ ที่ธรณีสงฆ์นี้ตั้งอยู่ตำบลปากน้ำโพ ๒ แปลง ตำบลบางม่วง ๑ แปลง ตำบลศาลาแดง อำเภอโกรกพระ ๑ แปลง และตำบลเนินมะกอก อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ๑ แปลง

    พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีกำแพงโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน และมีประตูเข้าออกได้สะดวกทั้ง ๔ ด้าน เช่นกัน ที่ดินตั้งวัดนี้ได้ถูกถนนสวรรค์วิถีตัดผ่านแบ่งเนื้อที่ออกเป็น ๒ แปลงเป็นเขตสังฆาวาส และเขตพุทธาวาสในส่วนที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งมีเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๒๕ ตารางวา อีกแปลงหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกใช้เป็นเขตฌาปนสถาน มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๑๑ ตารางวา ภายในบริเวณวัดมีถนนติดต่อระหว่างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ถึงกันหมด
        
อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีพระอุโบสถกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๖ เมตร บูรณะ พ.ศ. ๒๕๑๕ ศาลาการเปรียญกว้างยาวด้านละ ๓๔ เมตร เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๖ กฏิสงฆ์ จำนวน ๑๕ หลัง เป็นอาคารคอนกรีต ๙ หลัง อาคารไม้สัก ๒ ชั้น ๑ หลัง ห้องสมุดจตุรมุขกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๒ เมตร อาคารคอนกรีต หอระฆังจตุรมุขสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง อาคารเรียนพระปริยัติธรรมกว้าง ๒๔.๕๐ เมตร ยาว ๒๘.๕๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น มีมุขหน้าและหลัง พระวิหารสร้างด้วยอิฐโบราณแผ่นใหญ่ บูรณะ พ.ศ. ๒๕๒๗ อาคารสำนักงานมูลนิธิการกุศล ๑ หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ๖ หลัง และฌาปนสถานแบบเตาอบคอนกรีตเสริมเหล็ก

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-12 20:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปูชนียวัตถุ

    มีพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดพระเพลากว้าง ๒.๕๐ เมตร สร้างด้วยทองเหลือง มีพระนามเรียกกันว่า “หลวงพ่อศรีสวรรค์” พระพุทธรูปใหญ่ ๒ องค์ในพระวิหาร เรียกว่า “พระผู้ให้อภัย” พระพุทธรูปอื่นอีก ๒ องค์ในพระวิหาร พระพุทธรูปเนื้อสำริดสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย อยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาสจำนวน ๔ องค์ พระเจดีย์เก่าอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ๓ องค์ พระปรางค์ซึ่งปรักหักพังมีเพียงซากและรากฐานปรากฏอยู่

    ทางราชการได้เคยใช้สถานที่วัดนี้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (มีศิลาจารึกเป็นหลักฐาน) เป็นที่พำนักอยู่จำพรรษาของเจ้าคณะจังหวัด เป็นสถานที่ใช้สอบธรรมและบาลีสนามหลวงตลอดมา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๓ ชาวบ้านได้พบช้างเผือก ๑ เชือก ที่เมืองนครสวรรค์ได้ประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดนี้ แล้วนำถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี ซึ่งได้พระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์” จึงนับว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล

    ในราว พ.ศ.๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จทางชลมารคมาทรงเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่จังหวัดพิษณุโลก ได้เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมและเห็นความสำคัญของวัดนี้ จึงได้ทรงโปรดให้ย้ายพระครูสวรรค์วิถีวิสุทธิอุตตมคณาจารย์สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อครุฑ) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ จากวัดเขา (วัดจอมคีรีนาคพรต) มาพำนักอยู่ประจำที่วัดนี้ ในการย้ายหลวงพ่อครุฑนั้นทางราชการและประชาชนได้ร่วมจัดเป็นการใหญ่มาก มีขบวนแห่แบบเวสสันดร จำนวน ๑๓ ขบวน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบผู้บัญชาการทหารสมัยนั้นจัดขบวนส่งท่านด้วย

    พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จพระราชินีพระพันปีหลวง และสมเด็จพระมาตุจฉา เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันพระราชสมภพ และวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยเจ้านายอีกหลายพระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ เพื่อปฏิสังขรณ์พระอารามนี้ด้วย

    พ.ศ.๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ได้ทรงแวะเยี่ยมหลวงพ่อครุฑด้วย ในฐานะทรงคุ้นเคยเป็นการส่วนพระองค์มาก่อน และในปีต่อมาได้เสด็จมาในงานศพหลวงพ่อครุฑที่วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง

    พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับเป็นทุนสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบัน ซึ่งได้ครอบหลังเดิมไว้พร้อมทั้งได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์เป็นโลหะทองแดงขนาดใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ในพระอุโบสถด้วย

    วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕ สมเด็จพระภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้ประทานผ้าพระกฐินมาทอดถวายที่วัดนี้

    สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้เสด็จมาประทับแรมที่วัดนี้ ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓

    ครั้นถึง พ.ศ.๒๕๒๗ ได้มีนายเสน่ห์ วัฒนาธร รองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อสถาปนาวัดนครสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๔๗๘๔๖ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘

    กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๘ วัดนครสวรรค์จึงได้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นับตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นมา

  เกี่ยวกับการศึกษา
    ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตลอดมาทุกปี ทั้งแผนกธรรมและบาลี เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๗๗ นอกจากนี้ ยังได้เปิดสอนแผนกสามัญใน พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด ที่ทำการของพุทธสมาคมมูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์ และศูนย์บริการประชาชนของตำรวจ ซึ่งทางวัดได้ให้การอนุเคราะห์ด้วยดีตลอดมา สำหรับพระภิกษุอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ปีละประมาณ ๘๐ รูป สามเณร ๔๕ รูป

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-12 20:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ลำดับเจ้าอาวาสที่ทราบนามมี ๘ รูป คือ

    รูปที่ ๑ พระอาจารย์เคลือบ พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๔๓

    รูปที่ ๒ พระครูสวรรค์วิถีสุทธิอุตตมคณาจารย์สังฆปาโมกข์ (ครุฑ) พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๖

    รูปที่ ๓ พระครูเขมวิถีสังฆปาโมกข์ (สด) พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๒

    รูปที่ ๔ พระใบฎีกาอั้น พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๗๑

    รูปที่ ๕ พระครูนิภาสธรรมคุณ (บุญเกิด จนฺทสาโร ป.ธ.๓) พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๕๐๘

    รูปที่ ๖ พระเทพสิทธินายก (ห้อง ชาติสิริ ป.ธ.๖) รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๙๙

    รูปที่ ๗ พระเทพญาณโมลี (ประสิทธิ์ มิตฺตธมฺโม ป.ธ.๖) ปกครองระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๘ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๓๙

    รูปที่ ๘ พระเทพปริยัติเมธี ผศ.ดร. (สฤษดิ์ สิริธโร ป.ธ.๙) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑-ปัจจุบัน

ดูเพิ่มเติมได้ที่

http://www.nakhonsawantemple.com/nswtemple/index.html

.......................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45982

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้