เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และนางสุชาดานำข้าวปายาสไปถวาย หลังจากเสวยหมดแล้วได้ทรงนำถาดทองไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองได้ลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ ๘๐ ศอก พอถึงวนแห่งหนึ่งก็จมลงไปยังที่อยู่แห่งพญากาฬนาคราช พญากาฬนาคราช หรือ พญากาฬภุชคินทร์ มีอายุมากจะหลับอยู่เป็นนิตย์ จะตื่นต่อเมื่อได้ยินเสียงถาดทองที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงลอยลงไปกระทบกับถาดที่มีอยู่เดิม ตามประวัติว่ามีอยู่แล้ว ๓ ถาด เป็นของพระพุทธกุกกุสันธ ๑ พระพุทธโกนาคมน์ ๑ และพระพุทธกัสสป ๑ แสดงว่าพญากาฬนาคราชได้พบพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๓ พระองค์ มาตื่นอีกครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ และจะมีอายุยืนต่อไปจนถึงพระศรีอารยเมตไตรยมาตรัส ขณะนี้กำลังนอนหลับอยู่ เรียกว่านอนคอยพระพุทธเจ้าโดยแท้ นอกจากพญากาฬภุชคินทร์แล้วยังมีนาคสำคัญอีกตนหนึ่ง บังเกิดสระโบกขรณี (โปรกขรณี = สระบัวหรือตระพังน้ำ) ซึ่งอยู่ใกล้ต้นจิกที่ประทับของพระพุทธเจ้าคือหลังจากประทับ ณ ภายใต้ไม้อัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ครบ ๗ วันแล้ว ได้เสด็จไปสู่มุจลินท์ไม้จิกประทับภาคใต้ร่มไม้จิกอีก ๗ วันในระหว่างนั้นมีเมฆครื้มและมีฝนตกตลอดทั้ง ๗ วัน พญามุจลินทนาคราชทราบเหตุแปรปรวนของเมฆฝน จึงขึ้นมาจากสระก็แลเห็นบุรุษหนึ่งนั่งอยู่ใต้ต้นจิก มีลักษณะงามเปล่งปลั่งก็นึกในใจว่า “ท่านผู้นี้มีสิริวิลาศเลิศ ชะรอยจะเป็นเทพดาพิเศษประดับด้วยฉัพพรรณรังสี” ฉัพพรรณรังสีได้แก่รัศมี ๖ ประการ ได้แก่ ๑. นีล สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน ๒. ปีต สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง ๓. โลหิต สีแดงเหมือนตะวันอ่อน ๔. โอทาต สีขาวเหมือนแผ่นเงิน ๕. มัญเชฐ สีหงสบาท สีเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ ๖. ประภัสสร สีเสื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก ฉัพพรรณรังสีนี้น้อยคนนักที่จะได้เห็น พญามุจลินทนาคราชเห็นแล้วก็ทราบชัดว่าเป็นพระพุทธเจ้ามาตรัส และที่เสด็จมาสู่นิวาสสถานแห่งตนนั้น ก็ด้วยพระมหากรุณา เป็นมหาบุญลาภอันใหญ่ยิ่ง สมควรที่ตนจะต้องช่วยปกป้องมิให้พระองค์ถูกต้องลมฝน เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็เข้าไปขดขนดกายได้ ๗ รอบแวดล้อมองค์พระศาสดาจารย์ แล้วก็แผ่พังพานอันใหญ่ขึ้นป้องปกเบื้องบน เพื่อให้พ้นจากอากาศร้อนและเย็น เมื่อต้องแดดลมและฝน ทั้งยังช่วยปัดเป่ายุงและงูต่างๆ มิให้มาสัมผัสพระวรกาย ครั้นล่วง ๗ วันไปแล้วฝนก็หยุด พญามุจลินท์จึงคลี่คลายขนดกายออก แปลงกายเป็นมนุษย์น้อมกายถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระสัพพัญญู เหตุการณ์ตอนนี้ เป็นเหตุให้เกิดพระพุทธรูปปางนาคปรก นิยมทำรูปพญานาคมี ๗ เศียร ณ แม่น้ำเนรัญชรา มีนักบวช ๓ คนพี่น้องปลูกอาศรมเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้ คนพี่ชื่ออุรุเวลกัสสป คนที่สองชื่อนทีกัสสป และคนที่สามชื่อคยากัสสป หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังอาศรมอุรุเวลกัสสปได้ตรัสขออนุญาตว่า “ดูกรกัสสป ถ้าท่านไม่ลำบากใจแล้ว ตถาคตจะขออาศัยอยู่ในโรงเพลิงของท่านสักคืนหนึ่ง” “ดูกรสมณะ เรามิได้หนักใจที่ท่านจะอยู่ แต่ทว่ามีพญานาคตนหนึ่งมีพิษร้ายกาจนัก มาอาศัยอยู่ในโรงเพลิงนั้นท่านต้องระวังให้ดี อย่าให้พญานาคทำร้ายเอาได้” “พญานาคไม่เบียดเบียนตถาคต ท่านจงอนุญาตให้ตถาคตอาศัยในโรงเพลิงสักคืนหนึ่งเถิด” พระพุทธเจ้าตรัสดังนั้นถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง อุรุเวลกัสสปจึงได้ตอบอนุญาตว่า “ดูกรมหาสมณะ ท่านจงอยู่โดยปรกติสุขเถิด” พระพุทธเจ้าทรงได้รับอนุญาตเช่นนั้นแล้วืก็เสด็จเข้าไปในโรงเพลิงนั้นแล้วลาดปูซึ่งสันถัต (ผ้ารองนั่ง) ประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระกายให้ตรงดำรงพระสติเฉพาะหน้าต่อพระกัมมัฏฐาน ภาวนานุโยค ฝ่ายพญานาคเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาสถิตในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดไม่พอใจ ได้พ่นพิษเป็นควันตลบพระพุทธเจ้าก็ทรงบันดาลให้ควันนั้นหมดไป ทำให้พญานาคโกรธพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงบันดาลให้เป็นเพลิงออกปะทะ ทำให้เกิดแสงเพลิงโชติช่วงราวกับจะเผาพลาญโรงเพลิงนั้นให้วอดวาย บรรดาชฎิลทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันมามุงล้อมรอบโรงเพลิงพูดกันว่า “ดูกรชาวเรา พระมหาสมณองค์นี้ มีสิริรูปอันงามยิ่งนัก น่าเสียดายจะมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งนาคในครั้งนี้” แต่เหตุการณ์หาได้เป็นไปตามที่พสกชฎิลนับพันคนคาดคิดไม่ เพราะพอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าก็สามารถทำให้พญานาคสิ้นฤทธิ์ บันดาลให้พญานาคขดขนดกายลงอยู่ในบาตรได้สำเร็จ เป็นการปราบพญานาคครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ดังได้กล่าวแล้วว่าพญานาคอาจแปลงเป็รมนุษย์ได้และเคยแปลงมาบวช มีเรื่องในพระไตรปิฎกจึงขอคัดมารวมไว้ด้วยครั้งนี้ นาคตัวหนึ่งอึดอัดระอาเกลียดกำเนิดนาค ซึ่งนาคนั้นได้มีความดำริว่าด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากการกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แลเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบาชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้เราก็จะพ้นจากการกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบท
ที่มา http://www.siamganesh.com/hindu/archives/346
|