ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 21688
ตอบกลับ: 114
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าโคกมน บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย
อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกราบนมัสการหลวงปู่ชอบ


    นามเดิม บ่อ แก้วสุวรรณ

    บิดา นายมอ แก้วสุวรรณ

    มารดา นางพิลา แก้วสุวรรณ

    เกิด ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง ๔ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๒ คน

    บรรพชาและอุปสมบท เป็นผ้าขาวน้อยถือศีล ๘ อยู่กับอาจารย์พา ซึ่งเป็นศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่มั่นอยู่ถึง ๔ ปีเต็ม บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๙ ปี ณ วัดบ้านนาแก บ้านนากลาง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี และได้อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๓ ปี ณ วัดสร่างโศก (ปัจจุบันวัดศรีธรรมาราม) อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีพระครูวิจิตร วิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ได้รับฉายาว่า "ฐานสโม" และได้พบพระอาจารย์มั่น หลังจากออกบวช ๔ ปี ได้ศึกษาธรรมจากท่านอาจารย์มั่นและเป็นผู้เด็ดเดี่ยวในธุดงควัตร

    เทวดามาขอฟังธรรม ท่านเล่าว่า ระหว่างที่ท่านธุดงค์เข้าไปในป่าลึก จะมีพวกกายทิพย์เข้ามาอาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขา แม้แต่เสียงที่ท่านสวดมนต์ภาวนา ก็ทำความชุ่มชื่นรื่นรมย์ให้แก่สัตว์โลกไปทั่วทั้งปฐพี แทบไม่เว้นแต่ละคืน จะมีพวกมาจากภพภูมิอื่นเป็นเทวดา นาค มากราบไหว้ขอฟังธรรม มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งมีจำนวนเป็นหลักสิบ บางทีก็เป็นจำนวนร้อย บางครั้งก็ถึงจำนวนพัน ๆ

    ปฏิปทาของท่าน ในสายพระธุดงคกรรมฐานศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นที่ยกย่องกันว่า หลวงปู่เป็นศิษย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญทางความเพียร มีนิสัยมักน้อย ถือสันโดษ ชอบแสวงหาความสงัดวิเวกอยู่ตามป่าตามเขามาตลอด ข้อปฏิบัติและธรรมภายในของท่านเป็นที่สรรเสริญ แม้จากปากพระอาจารย์ของท่านเอง
    ตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่เคยเที่ยวธุดงค์มากับท่านมาแต่สมัยแรก ๆ ว่า ท่านเป็นผู้อยู่ง่าย มาง่าย ไปง่าย ปกติชอบอยู่คนเดียว ไปคนเดียว ถ้ามีหมู่พวกก็จะต้องเลือกเฉพาะผู้มีนิสัยใจเพชร สู้อดทนลำบาก เหมือนอย่างท่าน
    อยู่ง่าย หมายถึงว่าท่านไม่เลือกที่พักนอน ไม่ว่าจะเป็นในป่าในเขา เพียงใช้ใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารอง ปูผ้าอาบลงไปก็ใช้เป็นที่นอนได้ หากอยู่ใกล้หมู่บ้านมีฟางก็ใช้ฟาง มีใบหญ้าก็ใช้ใบหญ้า
    มาง่าย ไปง่าย ของหลวงปู่เป็นที่เลื่องลือ บางคราวอยู่ในป่า ชาวบ้านที่เคารพศรัทธาทำกระต๊อบให้เป็นอย่างดี มีฝา มีหน้าต่าง มีชาน ครบ จัดว่าเลิศในป่าลึก ท่านอยู่เพียง ๒-๓ วันก็ออกเดินธุดงค์ต่อ โดยหาได้ห่วงหาอาลัยต่อกุฏิพิเศษ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่

    มรณภาพ เมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๓๘ เวลา ๑๒.๑๕ น. ขณะนำท่านเดินทางจากโรงพยาบาลศิริราชกลับวัดป่าโคกมน จังหวัดเลย ท่านมรณภาพในระหว่างทาง สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี ๑๐ เดือน ๒๗ วัน พรรษา ๗๐ พระราชทานเพลิงศพเสร็จไม่นานนักอัฐิท่านกลายเป็นพระธาตุ

http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan0345_2.html

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและปฏิปทา

๑. ชาติภูมิ

พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มีชาติกำเนิดในสกุล “แก้วสุวรรณ” เดิมชื่อ “บ่อ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

โยมบิดาชื่อ “มอ” โยมมารดาชื่อ “พิลา” ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน มีชื่อเรียงกันตามลำดับคือ

๑.  ตัวท่าน

๒.  น้องสาว ชื่อ พา แก้วสุวรรณ

๓.  น้องสาว ชื่อ แดง แก้วสุวรรณ

๔.  น้องชายคนสุดท้อง ชื่อ สิน แก้วสุวรรณ

ทั้งน้องสาวและน้องชาย รวม ๓ คนนี้ ปัจจุบันถึงแก่กรรมไปตามกาลเวลาหมดแล้ว

โยมบิดามารดาเล่าให้ท่านฟังว่า บรรพบุรุษต้นตระกูลของท่านนั้น เดิมมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่โดยที่พื้นที่เป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ การทำนาต้องอาศัยไหล่เขา ยกดินเป็นขั้นบันไดเป็นชั้น ๆ ไป จึงจะปลูกข้าวได้ แม้จะลงแรงทำงานหาเลี้ยงกันอย่างไม่ยอมเหนื่อย ต้องทำไร่ตามดอยเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ค่อยพอปากพอท้อง โดยเฉพาะบางปีถ้าฝนแห้งแล้ง ข้าวไม่เป็นผล พืชล้มตาย ก็อดอยากแร้นแค้น จึงได้คิดโยกย้ายไปแสวงหาถิ่นทำกินใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ราบลุ่มอันไม่เป็นที่ดอยที่เขาเช่นแต่ก่อน

ตระกูลของท่านพากันอพยพหนีความอัตคัดฝืดเคือง มาหาภูมิลำเนาใหม่ ผ่านหุบเหวภูเขาสูงของอำเภอด่านซ้าย ผ่านป่าดงพงทึบของ ภูเรือ ภูฟ้า ภูหลวง ได้มาพบชัยภูมิใหม่เหมาะ คือที่ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าใกล้หุบห้วย เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงช่วยกันหักร้างถางป่าออกเป็นไร่นาสาโท คงยึดอาชีพหลักคือการทำนาเช่นเดิม

ณ ที่บ้านโคกมนแห่งนี้เอง ที่ เด็กชายบ่อ บุตรชายคนหัวปีของสกุลแก้วสุวรรณได้ถือกำเนิดมา เป็นประดุจพญาช้างเผือกที่มีกำเนิดจากกลางไพรพฤกษ์ ทำให้ชื่อป่าที่เกิดของพญาช้างเผือกนั้นเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วสารทิศ...ฉันใด หลวงปู่ก็ทำให้ชื่อหมู่ “บ้านโคกมน” บ้านที่เกิดของท่านเป็นที่รู้จัก เป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดาชาวพุทธทั่วประเทศ...ฉันนั้น

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-01.htm
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒. ปฐมวัย

ชีวิตตอนเป็นเด็กของท่าน นับว่ามีภาระเกินวัย ด้วยเกิดมาเป็นบุตรหัวปี ต้องมีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำงานในเรือกสวนไร่นา พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่พี่ใหญ่ ดูแลน้อง ๆ หญิงชายทั้งสามด้วย

บ้านโคกมนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะคุยให้เราฟังว่า มีความเจริญขึ้นกว่าเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อนอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ในสายตาของเราชาวกรุง ก็ยังเห็นคงสภาพเป็นบ้านป่าชนบทอยู่มาก ดังนั้นหากจะนึกย้อนกลับไปสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ณ ที่นั้น บ้านเกิดของท่านก็ยังคงมีลักษณะเป็นบ้านป่าเขาที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง สมาชิกทุกคนในครอบครัว ต้องช่วยกันตัวเป็นเกลียวโดยไม่เลือกว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่ต้องไถ หว่าน ปักกล้า ดำนา เด็ก ๆ ก็ต้องเลี้ยงควาย คอยส่งข้าวปลาอาหาร เด็กโตหรือลูกหัวปีอย่างท่าน ก็ต้องช่วยในการไถ ปักกล้า ดำนาด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้อง ๆ กลับจากทำนา ก็ต้องช่วยกันหาผักหญ้า หน่อหวาย หน่อโจด หน่อบง หน่อไม้ รู้จักว่ายอดอ่อนของต้นไม้ชนิดใดในป่าในท้องนาควรจะนำมาเป็นอาหารได้ เช่น ยอดติ้ว ใบหมากเม่า ผักกระโดน...

โดยมากเด็กชายบ่อจะพอใจช่วยบิดามารดาทางด้านเรือกสวนไร่นามากกว่า กล่าวคือ จะช่วยเป็นภาระทางด้านเลี้ยงควาย ไถนา เกี่ยวข้าว หาผักหญ้า แต่ด้านการหาอาหารที่ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตผู้อื่น เช่น การจับปู ปลา หากบ เขียด มาเป็นอาหารประจำวันอย่างเด็กอื่น ๆ นั้น ท่านไม่เต็มใจจะกระทำเลย ยิ่งการเล่นยิงนก กระรอก กระแต ที่เด็กต่าง ๆ เห็นเป็นของสนุกสนานนั้น ท่านจะไม่ร่วมวงเล่นด้วยอย่างเด็ดขาด พูดง่าย ๆ ท่านไม่มีนิสัยทาง “ปาณาติบาต” มาแต่เด็กนั่นเอง

ความลำบากยากแค้นในการดำรงชีวิตขณะนั้นเป็นเช่นไร เราคงจะพออนุมานกันได้ โดยในสมัยหลัง เมื่อท่านและหลวงปู่หลุยมาคุยกันถึงการครองชีพที่จังหวัดเลย ระยะที่ท่านทั้งสองเป็นเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อบรรดาศิษย์ได้ยินเข้าก็อดที่จะนึกสงสารน้ำตาร่วงไปด้วยไม่ได้ พวกเด็ก ๆ ต้องจับปู จับปลาในนาในหนองน้ำ ปลาเล็กปลาน้อย ลูกกบเขียดใช้ได้ทั้งนั้น วันหนึ่งได้เขียดมาเพียงตัวเล็ก ๆ ก็ต้องปิ้งให้น้อง ๆ กิน โดยจัดแบ่งเก็บไว้สำหรับบิดามารดาด้วย น้อง ๆ ยังเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องใช้แรงงานอะไร ฉะนั้นจึงแบ่งให้เพียงขาเดียว

ไม่ใช่ไก่ ไม่ใช่กบ ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่อะไร แต่เป็นเขียดตัวเล็กผอมกระจ้อยร่อย....!! ดังนั้นเมื่อน้อง ๆ ได้รับส่วนแบ่งเพียงเขียดปิ้งขาเดียวจึงร้องไห้ วอนขอพี่ชายให้เพิ่มอีก โดยจะขอกินทั้งตัว

แม้จะสงสารน้อง ๆ ใจจะขาด แต่พี่ชายใหญ่ก็ต้องฝืนใจทำเป็นดุเสียงแข็ง

“จะกินล้างกินผลาญอะไรกัน ตั้งเขียดทั้งตัว ! ไม่ได้...ขาเดียวพอแล้ว !”

ปกติท่านเป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่เป็นที่หนักใจของบิดามารดา และเป็นคนไม่ชอบเล่นคลุกคลีกับหมู่คณะเพื่อนฝูง มีนิสัยเงียบขรึมมาแต่เล็กแต่น้อย ไม่ค่อยพูดเล่นหัว เพื่อนถามคำหนึ่งก็ตอบคำหนึ่ง เล่นคนเดียวเงียบ ๆ มากกว่าจะสนุกสนานเฮฮา ถ้าหากจะมีการเล่นและคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง ก็มักชอบเล่นแต่กับเพื่อนที่มีอายุน้อยกว่า เล็กกว่าเสมอ

ท่านแสดงนิสัยองอาจ เด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่เด็ก โดยไปไหนชอบไปคนเดียว ไม่อาศัยหมู่พวก ซึ่งนิสัยองอาจเด็ดเดี่ยวที่ฝังตัวมาแต่เล็กแต่น้อยนั้น ก็ได้ปรากฏชัดเจนในภายหลัง เมื่อท่านเข้าสู่เพศครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ก็ออกเดินธุดงค์จาริกแสวงธรรมไปในป่าดงพงทึบแต่ลำพังองค์เดียวอย่างไม่หวั่นเกรงภัยอันตรายใด ๆ เหมือนพญาช้างสารที่ละโขลงบริวาร พอใจท่องเที่ยวไปในราวป่าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายฉะนั้น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นเด็ก อย่างปกติของเด็กชนบทสมัยนั้น โดยเติบโตมากับทุ่งนาและท้องทุ่งไร่สวน การศึกษาในโรงเรียนนั้นไม่มีโอกาสเลย เพราะยังไม่มีโรงเรียนให้ ความจริงอย่าว่าแต่แถวบ้านโคกมนเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อนจะไม่มีโรงเรียนเลย แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร...พระนครหลวงของเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็ยังมีโรงเรียนเพียงไม่กี่แห่ง แต่อย่างไรก็ดี เด็กชายบ่อก็ยังสนใจในการศึกษาเล่าเรียน จนสามารถพออ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้บ้าง ซึ่งก็นับว่าเก่งพอใช้แล้ว สำหรับเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลจังหวัดเช่นนั้น

ท่านเล่าว่า ความรู้ในการอ่านเขียนนี้ ท่านเรียนได้มาจากพระภิกษุในวัด ซึ่งทำให้ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับวัดมาตั้งแต่เล็ก

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-02.htm

๓.จิตโน้มน้าวไปสู่ธรรม

เมื่อท่านอายุครบ ๙ ขวบ ย่างขึ้นปีที่สิบ โยมบิดาก็ถึงแก่กรรม มารดาแต่ผู้เดียวต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเล็กถึง ๔ ปาก ๔ ท้อง เด็กชายบ่อในฐานะพี่ชายคนโตก็กลายเป็น “ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุด” แห่งบ้านไปโดยอัตโนมัติ แม้จะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ แต่เด็กชายบ่อก็รู้คิด ช่วยมารดาในกิจการงานทั้งปวง การใดซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน เช่น งานออกแรงกลางแจ้ง ในด้านเรือกสวนไร่นา ท่านก็มิได้ปล่อยให้ตกเป้นภาระของมารดาแต่ฝ่ายเดียว เด็กชายบ่อก็พยายามช่วยแบ่งเบาทำหน้าที่ “ผู้ชายแห่งบ้าน” ไปด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องเล็ก ๆ แทนมารดาด้วย ความลำบากตรากตรำในฐานะมี่เป็นเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมีอยู่มากแล้ว แต่ก็ยังถูกโชคเคราะห์กระหน่ำซ้ำเติมอีก โดยให้ครอบครัวนี้ต้องขาด “พ่อบ้าน” ไปอีก จึงทำให้เด็กชายบ่อมีภาระเกินวัย ที่เป็นเด็กพูดน้อยอยู่แล้ว ก็ดูจะเพิ่มความเงียบขรึมมากขึ้นไปอีก

ต่อมามารดาของท่านพิจารณาเห็นว่า ที่ทางทำมาหากินที่บ้านโคกมนนี้ยังขัดข้องอยู่ ญาติพี่น้องของท่านที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวมาส่งข่าวว่า ได้พบถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าแล้ว อยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกมนเท่าไรนัก แต่เป็นคนละจังหวัดกัน คือที่ ตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ได้มีการเดินทางไปสำรวจแหล่งทำกินแห่งใหม่ และปรึกษาหารือกันในกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายแล้ว ตกลงที่จะอพยพเคลื่อนย้ายไปหาถิ่นทำเลทำมาหากินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ท่านเล่าว่า การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านช่องนั้น มิได้ไปกันตามลำพังครอบครัวหนึ่งครอบครัวใดอย่างโดดเดี่ยว หากจะไปกันเป็นหมู่เป็นคณะ อย่างที่สมัยโบราณเรียกกันว่า ย้ายถิ่นรื้อถอนไป แปลงเมืองสร้างบ้าน กันทีเดียว การอพยพมาบ้านตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้งนี้ ครอบครัวของท่านอพยพมาพร้อมพวกครอบครัวพี่ป้าน้าอามากหลาย แต่ก็มีญาติพี่น้องอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่ยังรักถิ่นฐานบ้านเรือนแห่งเก่า คงพอใจที่จะปักหลักอยู่ ณ บ้านโคกมนต่อไปดังเดิม ดังนั้นแม้ต่อมาครอบครัวของหลวงปู่จะมาอยู่บ้านเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี แต่เด็กชายบ่อก็พอใจจะไป ๆ มา ๆ ระหว่างเชียงพินกับบ้านโคกมนอยู่มิได้ขาด

ท่านเล่าว่า ท่านถือว่า ทั้งที่บ้านเชียงพิน และบ้านโคกมน ต่างถือได้ว่าเป็น “บ้าน” ของท่าน “บ้าน” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่ “ญาติพี่น้อง” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่มาก และที่ บ้านโคกมน “ญาติพี่น้อง” ก็ยังมีอยู่มากเช่นเดียวกัน

ระหว่างที่ไป ๆ มา ๆ มารดาพากลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านโคกมนนี้เอง ที่ชีวิตของหลวงปู่เริ่มโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น และมีผ้ากาสาวพัสตร์เป็นบั้นปลายแห่งชีวิตในภายหลัง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กล่าวคือปีนั้น ท่านมีอายุได้ ๑๔ ปีแล้ว ได้มีพระธุดงค์กรรมฐานองค์หนึ่ง จาริกไปปักกลดรุกขมูลอยู่ที่วัดตระครูแซ ใกล้บ้านท่าน พระธุดงคกรรมฐานองค์นั้นชื่อ พระอาจารย์พา เป็นศิษย์องค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านเป็นพระที่มีจริยาวัตรที่นุ่มนวล และเคร่งครัดในธรรมวินัย คนในหมู่บ้านรวมทั้งมารดาและญาติผู้ใหญ่ของหลวงปู่จึงมีความเลื่อมใสศรัทธา พากันไปปรนนิบัติอุปัฏฐาก ถวายกัปปิยะจังหัน อยู่มิได้ขาด ตัวท่านเองก็พลอยติดตามโยมมารดาไปด้วย ในฐานะที่เป็นเด็กชายแรกรุ่น วัยกำลังใช้สอย จึงได้รับหน้าที่มอบหมายให้คอยปฏิบัติรับใช้พระ ประเคนของ ล้างบาตรให้พระอาจารย์ทุกวัน

ราวกับว่าพระอาจารย์พาจะตั้งใจไปโปรดเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณโดยเฉพาะ ท่านจึงได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้านนานพอดู จนกระทั่งเด็กชายน้อย เกิดความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี ท่านสอนให้เด็กชายรู้จักของควรประเคน และไม่ควรประเคน เวลาว่างก็เมตตาสอนหนังสือให้บ้าง และอบรมการสวดมนต์ภาวนาให้บ้าง จิตของเด็กชายน้อยจึงโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น ทุกที จนในที่สุดเมื่อพระอาจารย์เห็นนิสัยอันสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ฝักใฝ่ในทางธรรมของเด็กชายน้อยผู้นี้ “บ่มได้ที่” แลดง “นิสัยวาสนา” แต่ก่อนอย่างเพียงพอแล้ว ท่านก็ออกปากชวนไปบวชด้วย

“บวชกับเราไหม”

เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณก็ตอบคำเดียว...สั้น ๆ อย่างไม่ลังเลเลยว่า

“ชอบครับ”

ท่านถามย้ำ “บวชกับเราแน่หรือ?”

“ชอบครับ” เป็นคำตอบยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านจึงให้ไปขออนุญาตมารดาผู้ปกครองก่อน

เมื่อหลวงปู่ไปขอลามารดา เพื่อจะตามพระอาจารย์ไปออกบวช มารดาทั้งประหาดใจและตกใจระคนกัน

ประหลาดใจ....ที่บุตรชายน้อยมีความคิดอาจหาญ เด็ดเดี่ยว.... ใจคอจะทิ้งบ้าน ทิ้งอ้อมอกแม่อันอบอุ่น ทิ้งญาติพี่น้องไปได้หรือ

ตกใจ....ที่ในวัยเพียงเท่านี้ บุตรชายน้อยจะต้องจากบ้าน เดินทางไปถิ่นทางไกลอันลำบากยากแค้นลำเค็ญ เหมือนคนไร้ญาติขาดมิตร

อย่างไรก็ดีท่านก็ยังพออุ่นใจได้บ้างว่า บุตรชายน้อยของท่านคงจะได้รับความคุ้มครองดูแลจากท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี

แต่ที่จะไม่ให้ห่วงหาอาลัยเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งมารดาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ลูกของท่านจะมีความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงแค่ไหน จึงถามย้ำแล้วย้ำอีก

“จะบวชไหม?”

“จะบวชแน่หรือ?”


ทุกครั้ง....ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากมารดาก็ดี จากญาติผู้ใหญ่ผู้ทราบเรื่องก็ตกใจ มาช่วยกันซักไซ้ไล่เรียง...ก็ดี ทุกครั้งจะได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงจากเด็กชายน้อยว่า

“ชอบครับ” ทุกคราวไป

ดังนั้นในเวลาต่อมา ชื่อ “เด็กชายบ่อ” จึงกลายเป็น “เด็กชายชอบ” ด้วยประการฉะนี้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-03.htm
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๔. เริ่มชีวิตเป็นผ้าขาวน้อย

เมื่อเด็กชายผู้ “ชอบ” บวช ลาโยมมารดาและญาติผู้ใหญ่ได้แล้ว ก็ออกจากบ้านโคกมนติดตามพระอาจารย์พาไปทุกหนทุกแห่งสุดแต่ท่านจะพาไป

หลวงปู่เล่าว่า ท่านเป็น ตาปะขาว หรือ ผ้าขาวน้อย ถือศีลแปด อยู่กับอาจารย์ ๔ ปีเต็ม รับการฝึกอบรม ทั้งด้านข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ หัดล้างเท้าเช็ดเท้าในเวลาท่านกลับจากบิณฑบาต หัดพับผ้าจีวรและสังฆาฏิ และปูผ้านิสีทนะ หัดตักน้ำ กรองน้ำ ถวายท่าน ทั้งการท่องบ่นสวดมนต์บริกรรมภาวนา และเดินจงกรม ท่านได้ออกเดินรุกขมูลติดตามพระอาจารย์ไปอย่างทรหดอดทน ไม่ว่าจะเป็นการบุกน้ำลุยโคลน บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ผ้าขาวน้อยก็มิได้ย่อท้อ โดยสภาพป่าดงพงไพรอันลำบากลำเค็ญในเวลากลางวัน โดยสภาพป่าเขารกชัฏอันสงัดเงียบ น่าสยองกลัวในเวลากลางคืน....ท่านก็ได้ผ่านการทดสอบมาโดยตลอด

ท่านสารภาพว่าสำหรับความลำบาก ความหวาดกลัว แรกเริ่มก็มีบ้าง แต่ก็ต้องพยายามอดทน ด้วยความเคารพเชื่อฟัง เห็นตัวอย่างจากท่านอาจารย์

ความลำบาก....ท่านทนได้ ทำไมเราจะทนไม่ได้ !

ความน่าหวาดกลัว...ท่านอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่มิได้อย่างท่าน !

ผ้าขาวน้อยจะนึกข่มใจอยู่เช่นนี้เสมอ

ส่วนความคิดถึงบ้าน คิดถึงมารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ตามประสาเด็กนั้นไม่ใช่ไม่เคยมี บางกาลบางวาระเวลาเย็นค่ำ โพล้เพล้เห็นนกกาบินกลับรวงรัง ก็เคยเกิดความรู้สึกวังเวง ชะเง้อหาบ้านหาแม่บ้าง แต่ท่านก็นึกถึงความเมตตาของครูอาจารย์ นึกถึงความสุขสงบในการภาวนามาข่มความรู้สึกเหล่านั้นเสีย

“ใจมันชอบภาวนา” ท่านเล่า “มีความเยือกเย็นดี”

อีกประการหนึ่ง ท่านก็คิดปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราติดตามท่านอาจารย์ไปพบความลำบากเพียงแค่นี้ ว่าเป็น ทุกข์ แต่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนเราว่า นี่เป็นหนทางที่จะให้ พ้นทุกข์ ต่างหาก ทุกข์ใหญ่ ของมนุษย์และสัตว์โลกนั้น ท่านว่าอยู่ที่ การเวียนว่ายตายเกิด ปราชญ์จะต้องทำตนให้พ้นจาก “ทุกข์ใหญ่” นี่ เราเป็นเด็ก เรายังไม่รู้จักชัดว่า “ทุกข์ใหญ่” นี้เป็นจริงฉันใด แต่ทุกข์ที่เรา “เห็น” นั้น ก็มีชัดอยู่แล้ว ถ้าเราจะยังอยู่กับบ้าน ติดบ้าน ติดเพื่อน ติดญาติ ติดพี่น้อง ไม่ติดตามท่านออกไปแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ทุกข์ ที่ เราเห็นชัดของเราเองนั้น เราจะมีวันหลุดพ้นไปได้อย่างไร

“ทุกข์”..ที่เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ หรือผ้าขาวน้อยศิษย์พระอาจารย์พาได้เห็นชัดด้วยความรู้สึกเห็นจริงของท่านเองนั้น ก็คือทุกข์ที่ท่านเห็นจากครอบครัว จากพ่อแม่ญาติพี่น้อง และจากตัวเอง

ทุกข์..ที่ต้องอยู่อย่างจนยากตรากตรำ ต้องทำนา ทำไร่ หากินตัวเป็นเกลียว อย่างไรก็ไม่เห็นเงยหน้าอ้าปากได้

เมื่ออายุ ๗ ขวบ ถ้าเป็นเด็กชาวกรุง ก็คงจะทำอะไรไม่เป็น ต้องมีพี่เลี้ยงนางนมช่วยเหลือ ทั้งการกิน การอยู่ การแต่งตัว อย่างมดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม แต่สำหรับเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ วัย ๗ ปี ได้ทำให้เป็นผู้ใหญ่เกินตัว

ท่านเล่าว่า ใจของท่านคิดจะขอมีส่วนช่วยบิดามารดาหารายได้ ถึงอาสาหาบขี้ครั่งไปขาย โดยเดินทางร่วมขบวนไปกับหมู่พวกที่เตรียมสินค้าไปขายที่จังหวัดอุดร ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครใช้สอยไหว้วาน แต่อยากไปเอง ด้วยปรารถนาจะให้บิดามารดาชื่นใจในความมีน้ำใจของบุตรชายคนโต ท่านจำได้ว่า ขี้ครั่งนั้นหนักมาก หนักถึงกว่า ๑๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากมิใช่น้อย สำหรับเด็กชายวัย ๗ ขวบ เมื่อต้องรอนแรมเดินทางจากบ้านโคกมนไปถึง ๙ วัน ๙ คืน กว่าจะถึงอุดรฯ บ่าสองข้างจึงระบมแตกเป็นแผลหมด

ท่านเล่าว่า เดินทางไปขายขี้ครั่งนี้ ร่วมปี เก็บเงินได้ถึง ๖ บาท เด็กชายน้อยภูมิอกภูมิใจมาก ที่สามารถช่วยหารายได้ให้ครอบครัวได้ด้วยเงิน ๖ บาทนี้ ท่านสามารถซื้อควายให้ทางบ้านได้ถึง ๕ ตัว ด้วยในสมัยที่ท่านเป็นเด็กนั้น ควายทางอีสานราคาถูกมาก ตัวละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๑ บาท เท่านั้น
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บางทีสินค้าขี้ครั่งมีคนแย่งขายล้นตลาด เด็กชายน้อยก็เลือกหาสินค้าชนิดอื่นมาแทน เช่น ยาสูบ ไม้ขีด หรือขี้ไต้ บางโอกาสไปไม่ถึงตัวจังหวัด ด้วยเหนื่อยหนัก พักขายได้แค่หนองบัวลำภูก็พอแล้ว ท่านรู้ซึ้งถึงใจว่า เงินทองนั้นหายากแท้ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ อดทนกัดฟันสู้ตลอดมา

ยิ่งโยมบิดาสิ้นชีวิตลง การช่วยมารดาทำมาหากิน ยิ่งทำให้ท่านรู้ซึ้ง ..ชัดขึ้น ชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อจะทำงาน เวียนวนอยู่เช่นนี้หรือ ?...

...เช้าขึ้นต้องออกไปไร่ออกไปนา ก่อนจะเป็นนาก็ต้องหักร้างถางพง ขุดเผาต้นไม้ ตอไม้ ตกแต่งให้เป็นคู เป็นคันนา เมื่อเป็นนาแล้ว...ถึงหน้านา ต้องไถคราด กลับดิน ให้หญ้าตายก่อน ต่อไปต้องไถอีกครั้ง คราดให้ดินแตก พอที่จะหว่านเมล็ดข้าว ตกกล้า พอต้นกล้าได้ที่ ก็ต้องเก็บกล้าไปปักกล้า ดำนา....

ไขน้ำเข้านา ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบใหญ่ ระหว่างต้นข้าวเติบโตออกรวงตั้งท้องอ่อน ๆ ก็ต้องคอยระแวดระวังศัตรูข้าว เช่น เพลี้ย ปู ที่จะมากัดกินต้นข้าว ข้าวแก่ รวงค้อมค่อมลง ต้องคอยไขน้ำออกจากนา ให้นาแห้ง เพื่อเวลาข้าวแก่จะได้ไม่ตกท้องน้ำ

.....ระหว่างรอข้าวแก่ มิใช่ว่าจะสะดวกสบาย มีเวลาเพลิดเพลินเจริญใจได้เที่ยวเตร่ กลับต้องมีงานไร่ที่จะต้องดูแลต่อไป ปลูกผัก ผลไม้ เผาถ่าน

บางปี ฝนดี น้ำดี ก็ได้ข้าวมากหน่อย พอกินพอเหลือขาย บางปีฝนแล้ง น้ำน้อย ข้าวเสียหาย แทบจะไม่พอกิน พวกผู้คนในหมู่บ้าน ต้องออกไปหาทางทำมาหากินอย่างอื่น เป็นการเพิ่มพูนรายได้ บ้างไปเป็นคนรับใช้ คนสวนในเมืองหลวง บางกลุ่มก็ต้อนวัวต้อนควายไปขาย แต่เป็นการทำมาหากินที่เบียดเบียนชีวิตเขา ซึ่งท่านอาจารย์สอนหนักหนาว่าไม่ถูกต้อง ผิดศีล ทำให้ทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดหนักหนาเข้าไปอีก

ปีหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนหายใจ ถึงเวลาข้าวแก่ ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกัน ผู้ที่จากไปทำมาหากินเพิ่มพูนรายได้ในต่างเมือง ก็ต้องกลับมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว....นวดข้าว.....ฝัดข้าว....สีข้าว

กว่าจะเป็นข้าวเปลือก....

กว่าจะเป็นข้าวสาร....

สิ้นหยาดเหงื่อ สิ้นแรงคน เวียนวนกันทั้งเดือน...ทั้งปี...ทั้งชีวิตไม่รู้จักจบสิ้น

เกิด...แล้วก็แก่...แล้วก็เจ็บ...แล้วก็ตาย...!

โยมพ่อของเราก็ตายไปแล้ว....

เรายังเด็กอยู่ เคยเลี้ยงควาย ช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา แต่ต่อไปถ้ายัง “ติดข้อง” อยู่อย่างนี้ก็คงไม่พ้น...เติบโตไป ต้องเข้าเทียมแอก เทียมไถ แห่งชีวิต หมุนวนอยู่รอบกองทุกข์เช่นนี้อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง

เหมือนควายที่เมื่อเราเลี้ยง ก็ปักหลักไว้ในนา ปล่อยสายเชือกที่ฟั่นเหนียวไว้ยาวเพียงระยะหนึ่ง มันจะกินหญ้า กินน้ำ จะถ่าย จะเล่นปลักโคลน ก็วนเวียนอยู่ในระยะความยาวของเชือกหนังนั้น ดูเผิน ๆ เหมือนว่า มันมีอิสระเสรี แต่ความจริงมันมีวงชีวิตจำกัดอยู่รอบเสาหลักนั้น เท่านั้น จะฟันฝ่าออกไปให้หลุดพ้น ก็ได้ยินเสียงกระดึงดัง มนุษย์ผู้เป็นนายก็จะมาขันเชือกชะเนาะให้เปลาะแน่นไปอีก

เราเป็นมนุษย์ ประเสริฐกว่าสัตว์ ทำไมจะยอมอยู่ในวงวัฏฏะ

แค่ปลายเชือกควายที่เราเห็นเป็นตัวอย่างอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


เราจะต้องหลุดพ้นจาก กองทุกข์ ให้ได้

คำนึงได้เช่นนี้ “ทุกข์” ที่มารดา ญาติพี่น้องหวั่นเกรงว่าผ้าขาวน้อยจะไม่มีความอดทนเพียงพอ จึงดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปสิ้น

ใจมันกระหยิ่ม คิดจะข้ามล่วง “วงทุกข์” นี้ไปให้จงได้ ท่านมีความเคารพท่านพระอาจารย์พาอย่างสุดซึ้ง พยายามปรนนิบัติวัฏฐากด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ท่านสอนเช่นไร ก็พยายามจดจำนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านการบำเพ็ญเพียรภาวนา

เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี อาจารย์ของท่านพิจารณาเห็นว่า ผ้าขาวน้อยผู้นี้ มีใจแน่วแน่มั่นคงในทางศาสนา และได้ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยเพียงพอแก่การแล้ว จึงออกปากอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรได้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-04.htm
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๕. ทดสอบก่อนออกบวช

สมควรจะกล่าวแทรกไว้ในที่นี้ด้วยว่า แม้ว่าขณะนั้นจิตใจของท่านจะมุ่งมั่นไปสู่แดนผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็ตาม แต่ท่านก็เป็นผู้มีความรอบคอบอยู่มาก ระหว่างใจหนึ่งฮึกเหิมว่า

“เราชอบบวช เราชอบอยู่ในธรรมวินัย เราจะเจริญรอยตามท่านอาจารย์ของเรา เราจะบวชเพื่อข้ามกองทุกข์ เราจะบวชไม่สึก เราเชื่อว่าเรามีใจแน่วแน่ต่อพระศาสนาอย่างมั่นคง”

แต่อีกใจหนึ่ง อันเป็นวิสัยของปราชญ์ผู้ชาญฉลาด มีความรอบคอบระมัดระวัง ก็กล่าวเตือนใจตัวเองว่า

“ท่านอาจารย์ของเรา สอนว่าจิตของมนุษย์เรานั้น กลับกลอกเชื่อยาก วันนี้เราว่าเราจะบวชแน่นอน จะบวชไม่สึก แต่เราก็ออกมาสู่ร่มเงาของศาสนาแต่เล็ก แทบจะไม่ได้เคยพบเห็นชีวิตตามปกติของฆราวาสวิสัยของคนหนุ่มคนสาวเลย ถ้าเราบวชไปแล้ว กลับไปพบสิ่งที่ยั่วยวนชวนกิเลสให้มันยอกย้อนซ้อนกลเอาเล่า เราจะทำฉันใด เรามิถูกมันขย้ำกระหน่ำเอาจนโงหัวไม่ขึ้นหรือ...?”

ท่านเล่าว่า ดังนั้น ก่อนที่จะปลงชีวิตสู่เพศพรหมจรรย์ ระหว่างเป็นผ้าขาว ท่านจึงเรียนขออนุญาตพระอาจารย์ของท่าน กลับมาบ้านชั่วคราว ขอใช้ชีวิตฆราวาส เป็นการทดสอบความมั่นคงของจิตใจให้แน่นอนก่อน

ท่านได้กลับมาทดลองใช้ชีวิตสนุกสนานกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันระยะหนึ่ง คนหนุ่มคนสาวเขาสนุกสนานรื่นเริงกันอย่างไร ก็ขอลองทำตามเขาดูบ้าง ว่าเราจะหลงหัวปักหัวปำไปกับเขาไหม หรือว่า ต่อไป หากบวชแล้ว เกิดมีกิเลสกล้ำกรายมา เรารำลึกได้ว่าเคยผ่านมาแล้ว เราเคยปล่อย สละ สลัดตัว ขาดมันไปแล้ว เราจะไปหวนหาอาลัยมันได้อย่างไร

สมัยนั้น เป็นที่นิยมกันว่า เด็กหนุ่ม ๆ จะต้องมีรอยสักตามแขนตามขาเป็นลายดำอวดกัน จึงจะถือว่าเป็นชายชาตรี ใครตัวขาวเปล่าเปลือยไม่มีรอยสักดำอวดกัน ก็ถือว่าไม่ใช่ ชาย...!

ผู้สาวจะไม่สนใจ....

ผู้สาวจะไม่ฮัก....


เพื่อฝูงก็หนุนว่า ท่านต้องสักว่านด้วย ไม่งั้นผู้สาวไม่ฮักเด๊อ....!!

ท่านเล่าว่า ท่านก็เลยตามใจเพื่อน ยอมไปสักว่านกับเขาบ้าง ที่แขนและขา ตกลงค่าจ้างกันว่า ให้สักเป็นรูป “ตัวมอม” คล้ายราชสีห์ ที่ขาทั้งสองข้าง ๆ ละ ๑ ตัว เขาคิดค่าจ้าง ๑ บาท เงิน ๑ บาท สมัยเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีที่แล้ว เป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย แต่เด็กหนุ่ม “ชอบ” ก็ยินยอมทดลองดู ท่านให้สักเสร็จขาข้างเดียว คือขาซ้าย พอเริ่มสักขาขวาต่อไปได้นิดเดียวก็รู้สึกเจ็บมากขึ้น เห็นว่าจะทนเจ็บไปทำไม..เพื่ออะไร...เพื่อที่เขาเห็น เขานิยมกันว่าเพื่อโก้เพื่อหรูนี้หรือ....? ที่จริงมันเป็นของที่ไม่มีแก่นสาร ไม่เป็นสาระต่างหาก....!
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านก็เลยให้หยุดสักว่านต่อ คงสักขาลายเสร็จไปเพียงขาเดียว และเสียค่าจ้างเพียง ๕๐ สตางค์เท่านั้น



(เรื่อง “สักขาลาย” นี้ ในภายหลังเมื่อปี ๒๕๒๗ นี้ ท่านได้ไปเยี่ยมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านต่างคุยกันเรื่องนี้ และยังเปิดขาให้ดู “ขาลาย” ของกันและกัน เป็นสักขีพยานของการใช้ชีวิตฆราวาสก่อนออกบวช แล้วหลวงปู่ทั้งสองก็หัววกัน)

เพื่อทดสอบจิตใจต่อ ท่านก็ลองตามกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวบ้าง เห็นเขาไปเที่ยวสรวลเสเฮฮา คุยหยอกล้อกันตามบ้านผู้สาว ท่านก็ตามไปกับกลุ่มเพื่อน ประเพณีแถบอีสานมีการ  แอ่วสาว จกสาว ซึ่งหมายความว่าไปล่วงเกินสาว ก็จะมีบทปรับผี เสียผี ซึ่งบางรายก็อาจจะจบลงด้วยการแต่งงานอยู่กินกันได้ อย่างไรก็ดี หลวงปู่เมื่อเป็นเด็กชายวัย ๑๗ ปีกว่า ก็ได้ลองลิ้มชิมชีวิตเด็กหนุ่มกับเขาบ้างเหมือนกัน

ท่านเล่าอย่างขัน ๆ ว่า ท่านก็ได้ตามเพื่อนไปแอ่วสาว ไปจกสาว ไปล่วงเกินเขาตามอย่างเพื่อน..!!

แต่เขาว่า ท่านไปล่วงเกินเขา เขาจะเอามีดฟันหัวเอา..!!

โอ...ชีวิตฆราวาสมันเป็นทุกข์อย่างนี้เอง มันขัดข้องวุ่นวายอย่างนี้เอง ไม่เห็นเป็นสาระแก่นสารแต่อย่างใดเลย...!  ไม่มีทางที่เราจะยินดีกับชีวิตที่หมกมุ่นวุ่นวายจมกองมูตร กองคูถ อย่างนี้แน่นอน...!!

แน่ใจตนเองเช่นนั้น ท่านก็กลับไปกราบท่านอาจารย์ของท่านด้วยความลำยองผ่องแผ้ว ใช้ชีวิตผ้าขาวต่อไปอย่างมองเห็นธงชัยในชีวิตบรรพชิตรออยู่เบื้องหน้า

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-05.htm
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๖. สู่เพศพรหมจรรย์

เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๙ ปี พระอาจารย์พาได้จัดการดูแลให้ผ้าขาวศิษย์รักได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านนาแก บ้านนากลาง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ด้วยเป็นวัดใกล้บ้านกับที่ลุงของท่าน ผู้เป็นพี่ชายโยมมารดา มีหลักฐานบ้านช่องอยู่ อัฐบริขารนั้นโยมมารดาและยายช่วยกันจัดหาให้ด้วยความศรัทธา

ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นสามเณรอยู่ถึง ๔ ปีกว่า โดยท่านอาจารย์พามิได้หวงแหน ให้ศิษย์ศึกษาอบรมอยู่กับท่านแต่ผู้เดียว ท่านได้ให้ศิษย์รักออกไปศึกษาธรรมกับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้แตกฉานกว้างขวางขึ้น หลวงปู่จึงได้มีโอกาสไปกราบเรียนข้อปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์อื่น ๆ บ้าง เช่น พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ วัดโยธานิมิต เป็นอาทิ

ครั้นท่านมีอายุครบ ๒๓ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสร่างโศก ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมิได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร เช่นทุกวันนี้

หลวงปู่บวชเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มี พระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานสโม”

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านมิได้มีนิสัยสนใจทางการศึกษาด้านปริยัติธรรมมากนัก แม้การท่องพระปาฏิโมกข์นั้น ท่านใช้เวลาเรียนท่องถึง ๗ ปี จึงจำได้หมด

“รู้ความ แต่ไม่ได้ท่องจำ” ท่านเล่า

เมื่อกราบเรียนถามว่า เหตุใดหลวงปู่จึงใช้เวลานานนัก ท่านก็ตอบอย่างขัน ๆ ว่า

“นาน ๆ ท่องเถื่อ (ครั้ง) หนึ่ง บางทีก็ ๒ เดือน ท่องเถื่อหนึ่ง บางทีก็ ๓ เดือนท่องเถื่อหนึ่ง”

“สนใจภาวนามากกว่า”


ท่านสารภาพว่า ท่านดื่มด่ำในการภาวนามาก ท่านใช้คำบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว มิได้ใช้ “อานาปานสติ” หรือกำหนดลมหายใจเข้า-ออกควบคู่กับพุทโธเลย

อันที่จริงเพียงบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับอภิบุคคล เช่นหลวงปู่ ท่านบริกรรมไม่นาน จิตก็จะรวมลงสู่ความสงบ ให้ความรู้สึกดูดดื่ม ลึกซึ้งในความสงบอย่างบอกไม่ถูก

สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น

สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้

สิ่งที่เป็นของอสาธารณะแก่ปุถุชนธรรมดาก็กลับปรากฏขึ้น

เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง....!
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้