ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2333
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สุนทรภู่ยอดกวี ผู้มากเมา

[คัดลอกลิงก์]
สุนทรภู่ยอดกวี ผู้มากเมา



อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่ จังหวัดระยอง

วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 หรือวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 2 โมงเช้า(แปดนาฬิกา) ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี (26 มิ.ย.50 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุนทรภู่)
      
       สองผัวเมียที่เพิ่งตกล่องปล่องชิ้นเป็นครอบครัวกันใหม่ๆในย่านวังหลัง คลองบางกอกน้อย ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งขึ้นมา พร้อมๆกับตั้งชื่อบุตรชายคนนั้นว่า
“ภู่”
      

              
สุนทรภู่ครูฉัน       เกิดวันจันทร์ปีม้า
       ยี่สิบหกมิถุนา               เมื่อเวลา 8 น.

      
       จากหนังสือ สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี(ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ)
      
       หลังเด็กชายภู่ถือกำเนิดได้มีผู้ผูกดวงชะตาพร้อมฟังธงว่า ดวงชะตาของเด็กคนนี้ตรงกับ“อาลักษณ์ขี้เมา” ซึ่งก็แม่นไม่น้อยทีเดียว
      
       เพราะดูเหมือนว่าเด็กชายภู่เมื่อเติบใหญ่ จนได้รับการยกย่องให้เป็น“พระสุนทรโวหาร” หรือที่นิยมเรียกกันแบบสามัญว่า“สุนทรภู่” หนึ่งในกวีเอกแห่งสยามประเทศนั้น ชั่วชีวิตของท่านล้วนต่างเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเมาๆอยู่เป็นนิจ
      
       ดังคำที่ “พระราชธรรมนิเทศ”ได้ร้อยรจนาบทกลอนด้วยความรักใคร่และยกย่องท่านสุนทรภู่ว่า
      
              
สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก
       ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
       ทั้งสามเมาเข้าอิงสิง “สุนทร”
       ไม่มีวันพักผ่อน หย่อนใจกาย
              ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี
       ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
       ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย
       “ภู่”ๆไม่วายว่างเว้นเป็นคนเมา

      
      
เมาเหล้า...
      

       เป็นที่รู้กันดีในบรรดาผู้ที่ติดตามเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า ท่านเป็นนักดื่มสุราตัวฉกาจชนิดหาตัวจับยาก และดื่มอยู่เป็นนิจตั้งแต่เริ่มหนุ่มไปจนถึงช่วงบั้นปลาย ประมาณว่าเป็นน้ำเมาเป็นน้ำทิพย์ จะมีว่างเว้นบ้างก็เห็นจะเป็นยามที่ท่านบวชเป็นพระเท่านั้น
      
       แน่นอนว่าหากใครที่ดื่มเหล้าแบบมากมายเกินพอดี ผลเสียย่อมตกแก่ตัวเองเป็นอันดับแรก สำหรับท่านสุนทรภู่ก็เช่นกัน ไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการเมาของสุนทรภู่ในหลายๆครั้งก็ถือว่าเป็นคุณต่อวงการกวีอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อท่านดื่มแบบกำลังดีจนเกิดอารมณ์กวีหรืออารมณ์ศิลปินลุกโชนท่านก็จะร้อยรจนาถ้อยคำออกมาเป็นบทกลอน บทกวี ยิ่งท่านเป็นนักเลงทางเพลงด้วยแล้ว พอเหล้าเข้าปากเมากรึ่มๆได้ที่ ก็คงด้นกลอนปร๋อทีเดียว ถึงขนาดมีคนว่ากันว่าในบางครั้งท่านสามารถบอกนิทานกลอนสองเรื่องสลับกันไป-มาได้ในครั้งเดียวแน่ะ
      
       เรื่องการดื่มของสุนทรภู่นี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในบันทึกประวัติสุนทรภู่ว่า เมื่อสุนทรภู่คิดกลอน ถ้าได้ดื่มเหล้าเข้าไป จะคิดกลอนคล่องถึงขนาดสองคนจดไม่ทัน นอกจากนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯยังเล่าว่า เคยๆได้ยินผู้อื่นเล่าถึงวิธีการแต่งกลอนของสุนทรภู่ว่า มีข้าหลวงหรือชาววังถือเหล้าไปหาสุนทรภู่ขวดหนึ่ง แล้วบอกสุนทรภู่ว่า “เสด็จให้มาเอาเรื่อง” จากนั้นสุนทรภู่ก็เริ่มกินเหล้าพลาง บอกเรื่องพลาง แล้วข้าหลวงก็ได้เรื่องไปถวายทันที
      
       นี่ย่อมแสดงให้ว่า สุนทรภู่ท่านเป็นอัจฉริยะด้านกาพย์กลอนอย่างแท้จริง แถมบางครั้งยิ่งเมามาย ความเป็นอัจฉริยะกลับยิ่งเพิ่มพูน
      
       ส่วนหากพูดถึงความเป็นนักดื่มของท่านสุนทรภู่แล้ว ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ระบุว่าท่านดื่มหนักมากๆตอนที่มีอายุได้ราว 40 ปีเศษ เห็นจะได้ ส่วนที่ยังคลุมเครือก็เห็นจะเป็นเรื่องการเลิกเหล้าของสุนทรภู่ เพราะบันทึกบางเล่มก็ระบุว่าท่านดื่มไปตลอดชีวิต แม้กระทั่งถูกจับติดคุกในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะสุรา แต่พอออกมาก็ยังคงดื่มอยู่ ในขณะที่บางตำราระบุว่าสุนทรภู่ท่านน่าจะดื่มอย่างหนักในสมัยวัยหนุ่มที่กำลังคึกคะนอง และสามารถเลิกเหล้าได้เด็ดขาดในบั้นปลาย เพราะหากเป็นคนขี้เมาจริงๆก็คงไม่อาจสร้างสรรค์วรรณกรรมอันยอดเยี่ยมได้มากมาย
      
       มีเรื่องน่าแปลกในความเป็นนักดื่มของสุนทรภู่อย่างหนึ่งก็คือ บทกวีที่ท่านแต่ง กลับกลายเป็นบทกวีเตือนใจเกี่ยวกับสุราเมรัยเสียมากกว่า เช่นในสุภาษิตสอนหญิงที่กล่าวว่า
      
               
คิดถึงตัว หาผัว นี้แสนยาก
       มันชั่วมากนะอนงค์อย่าหลงใหล
       คนสูบฝิ่นกินสุราพาจัญไร
       แม้นหญิงใดร่วมห้องจะต้องจน

      
       หรือบทกลอนสุดคลาสสิคที่สอนใจและชี้ให้เห็นถึงโทษของเหล้าอย่าง
      
               
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันขโมง
       มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
       โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
       ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
               ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
       พระสรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
       ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
       ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไปฯ
      
(นิราศภูเขาทอง)
      
       แต่ถึงจะกินเหล้ามามากแค่ไหนหากวันรุ่งขึ้นไม่ถอนก็ย่อมมีแฮงก์และสร่าง ที่อาจจะมีปวดหัวทรมาน อ้วกแตกอ้วกแตนบ้าง แต่ว่าต่อให้เมาขนาดไหน สำหรับสุนทรภู่แล้ว ยังไงๆมันก็ไม่เท่ากับอาการ“เมารัก”หรอก
      
               
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
       สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
       ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
       แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

       (นิราศภูเขาทอง)


ที่มา..http://www.oknation.net
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้