|
ตำนานหอยสังข์
---สังข์เป็นหอยอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความเกี่ยวพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นมงคลของไทย ที่เห็นบ่อย ๆ ได้แก่ การรดน้ำสังข์ในงานแต่งงาน หรือในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่มีการอัญเชิญพระสังข์ พระมหาสังข์องค์ต่าง ๆ เข้าประกอบพิธี เช่น พิธีโสกัณฑ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือแม้กระทั่งที่ผ่านมา ในงานพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงเรา ก็คงจะได้เห็นภาพที่พระราชครูวามเทพมุนี ถวายน้ำพระมหาสังข์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ซึ่งพระมหาสังข์เอง ก็จัดเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค ซึ่งหมายถึง เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ อีกทั้ง ยังใช้เป็นเครื่องประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมงคล 8 ประการ เรียกว่า "อัฐพิธมงคล" อันประกอบด้วย
1.คทา หรือ ตะบอง
2.สังข์ทักษิณาวรรต
3.จักร
4.ธงสามชาย
5.อุณหิศ หรือ หญ้าแพรก
6.โคอศุภราช
7.หม้อน้ำมนต์
8.ขอสับช้าง
---แม้แต่รูปปั้นของเทพเจ้าฮินดู ที่ทรงสังข์เป็นเทพศาสตราวุธ ในพระหัตถ์ก็จะทรงสังข์ทักษิณาวรรต หรือในมหากาพย์ต่าง ๆ เช่น มหาภารตยุทธ ก็ได้กล่าวถึงสังข์สำคัญมากมาย ซึ่งเหล่ากษัตริย์มีไว้ประจำองค์ และนำติดตัวไปเป็นเครื่องพิชัยสงคราม ยามที่ออกเล่นศึกชาญณรงค์สงคราม หลายท่านอาจจะสงสัยว่า สังข์ ใช้เป็นอาวุธได้อย่างไร จริง ๆ แล้วมิได้ใช้ ขว้าง ทิ่ม แทง ใส่ศัตรูดอกขอรับ เพียงแต่ใช้เป่า เป็นอาณัติสัญญาณให้กับไพร่พล เวลาออกทำศึกในตอนเช้า และเลิกทัพในตอนเย็น รวมถึงตอนที่เข้าประจัญบาน เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม หรือเป็นการประกาศเดชานุภาพ ให้เหล่าทวยเทพและมหาชนได้รับรู้
---แม้แต่ในพงศาวดารหลายเรื่อง ก็มีการกล่าวถึงหอยสังข์ เช่น การใช้เปลือกหอยสังข์ มาทำเป็นผังเมืองสำหรับสร้างเมืองหริภุญไชย หรือที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในตอนสร้างกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ทรงเห็นว่า ทำเลบริเวณหนองโสน อยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม มีคูคลองล้อมรอบ จึงมีรับสั่งให้ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพิธีกลบบาตสุมเพลิง จากนั้น จึงให้พนักงานขุดดินโดยรอบ เพื่อเตรียมสร้างพระราชวัง และได้พบสังข์ทักษิณาวรรต สีขาวบริสุทธิ์ใต้ต้นหมันหนึ่งขอน
---อ้อ ลืมบอกไปขอรับ คำลักษณะนามที่ใช้เรียก “สังข์” นั้น เขาเรียกกันเป็น “ขอน” เดี๋ยวจะเข้าใจว่าเป็นขอนของต้นหมันไป ทรงถือเป็นศุภนิมิตร ทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานสังข์ทักขินาวัฎขอนดังกล่าว ในปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงรูปสังข์ทักษิณาวรรต ประดิษฐานอยู่ในพานทองใต้ต้นหมัน เป็นตราประจำจังหวัด นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ปรากฏว่ ามีแขกคนหนึ่งชื่อ นักกุดาสระวะสี ได้นำมหาสังข์ทักษิณาวรรตมาถวายเป็นคนแรก จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นขุนนางมียศเป็นหลวงสนิทภูบาล
---เรื่องราวที่เล่าขานมานี้ ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า สังข์มีความเกี่ยวพันกับคนไทยมานานแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องใช้สังข์หลั่งน้ำในงานมงคลต่าง ๆ หรือเข้าประกอบในงานมงคลต่าง ๆ นั้น เรื่องนี้มีที่มาขอรับ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระอิศวรสร้างเขาพระสุเมรุแล้ว พระองค์ก็มีประกาศิต ให้พระพรหมธาดา ขึ้นไปอยู่ในพรหมโลก ให้เป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหลาย ในครั้งนั้น บรรดาพรหมที่มีจิตใจริษยาต่างก็ไม่พอใจ ก็เลยจุติลงมาเป็นสังข์อสูร อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ครั้งนั้น พระพรหมธาดาได้นำเอาคัมภีร์มาถวายพระอิศวร เมื่อมาถึงที่อยู่ของสังข์อสูร ก็เกิดอาการร้อนรุ่มอยากสรงน้ำ จึงได้วางคัมภีร์ไว้ริมฝั่งแล้วเสด็จลงน้ำ
---ฝ่ายสังข์อสูร เมื่อเห็นเช่นนั้น จึงได้ให้ผีเสื้อน้ำไปลักเอาคัมภีร์นั้นมา แล้วก็กลืนเข้าไว้ในท้องทั้งหมด ฝ่ายองค์พรหมเมื่อขึ้นมาจากน้ำไม่เห็นคัมภีร์ จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระอิศวร ทูลเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ เมื่อพระศิวะเจ้า เข้าฌานก็ทราบถึงสาเหตุ จึงได้เชิญพระนารายณ์มา และให้เป็นธุระในการนำเอาพระคัมภีร์กลับมา พระนารายณ์จึงได้แปลงกายเป็นปลากรายทอง นามว่า "มัจฉาวตาร" ไล่ล่าสังหารผีเสื้อน้ำ และเข้าโรมรันกับสังข์อสูรเป็นสามารถ ในที่สุดก็เอาชนะสังข์อสูรได้ แล้วสำแดงองค์ คืนร่างเป็นพระสี่กร ยื่นพระหัตถ์เข้าไปในปากสังข์อสูร เพื่อหยิบเอาพระคัมภีร์
---บางตำนานก็ว่า ทรงแหวกปากของสังข์อสูรออก ทำให้หอยสังข์ในปัจจุบัน มีรอยนิ้วของพระนารายณ์ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ จากนั้น พระสี่กรจึงสาปสังข์อสูรว่า สังข์อสูรเป็นพรหมมาจุติ และกลืนคัมภีร์พระเวทย์เข้าไว้ อีกทั้งยังมีรอยนิ้วพระหัตถ์แห่งพระองค์ปรากฏอยู่ด้วย นับว่าเป็นมงคล ดังนั้น ถ้าผู้ใดจะทำการมงคลพิธีในภายภาคหน้าก็จงเอาสังข์เข้าอยู่ในพิธีนั้น ผู้ใดรดน้ำในอุทรสังข์ ก็ให้เป็นมงคลกันอุบาทว์เสนียดจัญไร หรือเป่าก็ให้เป็นมงคลไปจนสุดเสียงสังข์ ครั้นสาปแล้ว พระนารายณ์ก็นำคัมภีร์ไปถวายพระอิศวร และเสด็จกลับเกษียรสมุทรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พราหมณ์จึงถือว่าหอยสังข์ที่ปากมีริ้ว 2-4 ริ้ว อันเกิดจากนิ้วพระหัตถ์ของพระสี่กรปรากฏอยู่นั้นเป็นสังข์สำคัญ
---อีกตำนานหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากทางคชศาสตร์ โดยเกี่ยวพันกับเทพเจ้าแห่งช้าง ที่สำคัญสององค์ คือ “พระ พิฆเนศ” และ “พระโกญจนาเนศวร” สำหรับพระพิฆเนศนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักดี แล้วขออนุญาตไม่เล่าในที่นี้ขอรับ ถ้าอยากทราบประวัติของท่าน สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ“อมนุษยนิยาย” ของ ส พลายน้อย ได้ขอรับ แต่เทพอีกองค์คือ พระโกญจนาเนศวร นั้น มีพระนามปรากฏอยู่เฉพาะในตำราคชลักษณ์ ตามตำนานกล่าวว่า ในไตรดายุค พระนารายณ์ ทรงกระทำเทวฤทธิ์ให้เกิดดอกบัวผุดขึ้นจากอุทร ดอกบัวดอกนั้นมีแปดกลีบ มีเกสร 172 เกสร แล้วนำไปถวายพระอิศวร ซึ่งองค์เทวะเจ้า ได้แบ่งเกสรดอกบัวออกเป็นสี่ส่วน หนึ่งส่วนเป็นขององค์ศิวะเจ้าเอง
---หนึ่งส่วนขององค์พรหมา ส่วนหนึ่งเป็นของพระวิษณุ และส่วนที่สี่ให้แก่พระอัคนี เพื่อให้เทวะแต่ลงองค์ ทรงบันดาลให้เกิดช้างสี่ตระกูล คือ อิศวรพงศ์, พรหมพงศ์, วิษณุพงศ์ และอัคนิพงศ์ แล้วจึงสร้างพระเวทสี่ประการ ไว้ให้สำหรับชนทั้งหลาย จะได้ปราบช้างทั้งสี่ตระกูลในโลก พระผู้ทรงจันทเศขร ทรงประสาทพร ให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสองและท่ามกลางเปลวเพลิงทางด้านขวา บังเกิดเป็นเทวกุมาร องค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นช้าง พระกรขวาทรงตรีศูล พระกรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์ (พญานาค) เป็นสังวาล นั่งชาณุมณฑล อยู่เบื้องขวาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ทรงพระนามว่า “ศิวบุตรพิฆเนศวร” ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมาร มีพระพักตร์เป็นช้างสามเศียร มีหกพระกร ทรงพระนาม “โกญจนาเนศวร” ทรงบันดาลให้เกิดเป็นช้างเอราวัณ ช้างเผือกผู้มี 33 เศียร
---อีกพระการหนึ่ง บังเกิดช้างคิรีเมขละไตรดายุค ช้างเผือกผู้สามเศียร ช้างทั้งสองถือเป็น “เทพยานฤทธิ์” ซึ่งพระเป็นเจ้าทั้งสามประสาทพรไว้ให้เป็นเทพพาหนะขององค์อมรินทร์ พระกรอีกสองกรของพระโกญจนาเนศวร เกิดเป็นช้างเผือกซึ่งจะได้อุบัติในโลก
---สำหรับเป็นพาหนะของกษัตริย์ อันมีอภินิหารอีกข้างละสามตระกูล คือ ช้างเผือกเอก โท ตรี และพระกรเบื้องขวาเป็นพลาย อีกสองพระกรบังเกิดเป็น “สังข์ทักษิณาวรรต” เบื้องขวา “สังข์อุตราวัฏ” เบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศรีษะช้างเจ็ดเศียร บรรดาหมอช้างทั้งหลายจึงไหว้บูชา พระศิวบุตรพิฆเนศวรและพระโกญจนาเนศวร ด้วยเหตุนี้ พระศิวบุตรทั้งสอง ก็ประจำอยู่ในโลกจนสิ้นภัทรกัปหนึ่ง
---ช้างเผือกทั้งสามตระกูล และสังข์สองตระกูล จึงเป็นของมงคล เพราะเกิดจากกลางฝ่ามือของพระโกญจนาเนศวรศิวบุตรนั่นเอง ความเชื่อดังกล่าว ทำให้การขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญในทุกรัชกาล จะทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏเหนือศีรษะช้างสำคัญ อันเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมาก เทียบเท่าพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้าเลยนะครับ
---สำรับพระมหาสังข์ที่สำคัญที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ประกอบด้วย พระมหาสังข์สำคัญ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน มีจำนวน 16 องค์ เป็นพระมหาสังข์ทักษิณาวรรตเจ็ดองค์ ส่วนพระมหาสังข์สำคัญองค์อื่น ๆ เป็นสังข์อุตราวัฏ ได้แก่
---พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ (ทักษิณาวรรต) พระมหาสังข์องค์นี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงใช้สำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ สรงมูรธาภิเษกในงานพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระองค์ และเป็นพระราชประเพณีถือปฏิบัติสืบมาว่า ห้ามมิให้สตรีจับต้อง
---พระมหาสังข์เพชรใหญ่ (ทักษิณาวรรต) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นไว้ประจำถาดสรงพระพักตร์ และยังใช้สำหรับมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลต่อ ๆ มา
---พระมหาสังข์เพชรน้อย (ทักษิณาวรรต) ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าสร้างในรัชกาลใด สังข์องค์นี้ ใช้ประจำสำหรับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรงน้ำพระแก้วมรกต ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงประจำฤดูกาล และทรงใช้สังข์นี้ บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ จากที่สรงน้ำพระแก้วมรกต หลั่งลงที่พระเศียรของพระองค์เอง แล้วหลั่งพระราชทานพระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ที่มาเข้าเฝ้าในพระราชพิธี นอกจากนี้ พระสังข์องค์นี้ยังใช้ในพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระมหาสังข์ สำหรับถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้หลั่งน้ำ พระราชทานในงานพระราชพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น อภิเษกสมรส เป็นต้น
|
ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง
คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน
x
|