งานพระธรรมทูตหลังพุทธกาล
| เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว บุคคลผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาประเภทพระธรรมทูตก็ยังมีความจำเป็น และดูเหมือนจะจำเป็นมากขึ้น เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑) เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังประเทศที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา
๒) ได้มีคนแอบแฝงปลอมบวชในพระพุทธศาสนามาก แล้วประพฤติเสียหาย
๓) เกิดมีศาสนาต่างๆ ขึ้นอีกหลายศาสนา
ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ งานพระธรรมทูตจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับการนับถือจากพระเจ้าอโศมหาราช ประชาชนก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พวกนักบวชในศาสนาอื่นๆ เห็นว่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ลาภสักการะต่างๆมาก ก็พากันปลอมบวชเข้าเป็นภิกษุเพื่ออาศัยกาสาวพัสตร์เป็นเครื่องเลี้ยงชีพ แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้สงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันนานถึง ๗ ปี เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงรับสั่งให้ไตร่สวน แล้วส่งทูตไปนิมนต์พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ มาเป็นประธานชำระความยุ่งเหยิงในพระศาสนา
ผลของการชำระพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า มีพระปลอมถูกบังคับให้สึกถึง ๖๐,๐๐๐ รูป แล้วพระโมคคัลลีบุตรเถระให้ประชุมพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ รูป ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ การสังคายนาได้ทำกันอยู่ถึง ๙ เดือน จึงสำเร็จ การส่งสมณทูตไปประกาศศาสนา เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกได้ทรงคัดเลือกพระเถระผู้มีความสามารถส่งไปเป็นสมณทูต ให้นำพระพุทธศาสนาไปสั่งสอนในต่างประเทศ หลายทิศ รายนามสมณทูตที่ปรากฎในปกรณ์บาลี มี ๙ สาย คือ
|
สายที่ ๑
คณะพระมัชฌันติกะ ไปแคชเมียร์และคันธาระ คือ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือสุดของอินเดีย ปัจจุบันบางส่วนอยู่ในปากีสถาน บางส่วนอยู่ในอัฟกานิสถาน
สายที่ ๒
คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสมณฑล ปัจจุบันได้แก่ รัฐไซเมอร์ อยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย แถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี
สายที่ ๓
คณะพระรักขิต ไปวนวาสี ได้แก่ บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย
สายที่ ๔
คณะพระธรรมรักขิต ท่านผู้นี้เป็นฝรั่งชาติกรีก และดูเหมือนจะเป็นฝรั่งคนแรกที่บวชในพระพุทธศาสนา ไปอปรันตชนบท แถวชายทะเลเหนือ เมืองบอมเบย์
สายที่ ๕
คณะพระมหาธรรมรักขิต ไปแคว้นมหาราษฏร์ อยู่ทางตะวันออกของเมืองบอมเบย์
สายที่ ๖
คณะพระมหารักขิต ไปประเทศโยนก คือ ประเทศกรีกในเอเชียกลาง
สายที่ ๗
คณะพระมัชฌิมะ ไปทางเหนือแถบภูเขาหิมาลัย
สายที่ ๘
คณะพระโสณะและพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า อาจเป็นดินแดนซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย หรือประเทศพม่าในปัจจุบัน
สายที่ ๙
คณะพระมหินทะ พระโอรสของพระเจ้าอโศกเอง ไปเกาะลังกา คือ ประเทศศรีลังกา
พระมหินทเถระ เมื่อไปถึงเกาะลังกา ได้ประกาศพระศาสนา สามารถทำให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์ลังกาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคง
|
ความสามารถในการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ที่คนศาสนาอื่นมองเห็น มิชชันนารี ชาวโปรตุเกส ชื่อ กาสปาร์ ดาครูซ ได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ.๑๕๕๖ (พ.ศ.๒๐๐๙) ว่า
“มีความภาคภูมิใจและเย่อหยิ่งอย่างเหลือเกิน พวกเขาได้รับการบูชาสักการะราวกับเทพเจ้าเป็นๆ ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าในหมู่ภิกษุด้วยกัน ก็บูชาผู้อาวุโสกว่าดุจเทพเจ้า ทั้งสวดมนต์ภาวนาและกราบกราน ฉะนี้สามัญชนทั้งหลาย จึงเชื่อมั่นในพระภิกษุอย่างสูง ให้ความเคารพและกราบไหว้บูชา ไม่มีใครกล้าคัดค้านพระในเรื่องใดๆ บางครั้งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเทศน์อยู่ ผู้คนรอบข้างซึ่งได้ยินข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจนและพอใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าสอน ทันทีที่พระเหล่านี้เดินผ่านมา และพูดเปรยว่า “นั่นก็ดีอยู่หรอก แต่ของเราดีกว่า” พวกเขาก็จะเดินหนีไปหมด ทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ลำพัง”
|