หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “ปีชง” กันใช่ไหมครับ แต่ก็คงจะมีไม่น้อยที่ยังไม่รู้ความหมายของคำนี้ว่าคืออะไร ..ทำไมต้องไหว้ ..ไหว้แล้วได้อะไร ..รวมถึงเครื่องบูชาและขั้นตอนการไหว้ที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร ยิ่งช่วงเวลานี้ก็เข้าสู่เทศกาลการไหว้ปีชงอย่างเต็มตัวแล้ว วันนี้ ZeekWay จึงถือโอกาสนี้พามาหาคำตอบกันที่ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 (วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์) กันครับ
เมื่อมาถึงเราก็ไม่รอช้าทำการเสาะหาและสอบถามข้อมูลเพื่อไขทุกข้อข้องใจทันที สำหรับความหมายของปีชงนั้น จริง ๆ แล้วคำว่า ”ปีชง” ก็คือ ปีนักษัตรที่มีธาตุประจำปีที่ไม่สมพงษ์กัน หรือเป็นปฏิปักษ์ไม่เกื้อหนุนเกื้อกูลกัน ถ้าโคจรมาเจอกันก็จะเกิดการปะทะกันตามความเชื่อของคนจีน และจากตำราโหราศาสตร์ของจีนที่จะมีระบุปีที่ชงไว้อย่างชัดเจนนั่นเองครับ ซึ่งในแต่ละปีนั้นก็จะมีปีที่ไม่สมพงษ์กันหรือปีชงกันอยู่ 1 ปี และปีร่วมชงอีก 3 ปีครับ
สำหรับ จุดประสงค์ในการไหว้ปีชง ซึ่งคนจีนจะเชื่อว่า ถ้าปีนั้นตรงกับนักษัตรที่ไม่สมพงษ์กับปีเกิดของตนเอง (ปีชง) ก็จะทำให้มีเคราะห์ร้ายประสบปัญหาในชีวิต เงินทองติดขัด สุขภาพไม่แข็งแรง งานการไม่รุ่งโรจน์ ดังนั้นผู้ที่เกิดปีชงจะต้องไปทำบุญกราบไหว้องค์เทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา นั่นก็คือ องค์ไท้ส่วยเอี๊ย เพื่อสะเดาะเคราะห์และปัดเป่าโชคร้าย รวมทั้งคุ้มครองทั้งตนเองและครอบครัว อีกทั้งเพื่อขอพร ขอโชคลาภอันเป็นศิริมงคง เสมือนการเริ่มต้นปีใหม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้มีความสุขตลอดทั้งปี
ประเพณีการไหว้ปีชงนั้นมีมานานแล้วตามความเชื่อของชาวจีน ซึ่งสำหรับประเทศไทยของเรานั้น เริ่มมีมานับตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมายังสยามประเทศ และได้นำประเพณีการไหว้ปีชงเข้ามาปฏิบัติ ซึ่งในเวลาต่อมาก็เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน และยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ครับ
การไหว้ปีชงในสมัยก่อนนั้นจะมีเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนเท่านั้นที่ทำตามประเพณีความเชื่อ ส่วนในปัจจุบันนอกจากตำราโหราศาสตร์ของจีนแล้ว ตามวัดจีนหรือสื่อต่าง ๆ ก็มีการจัดเตรียมและประชาสัมพันธ์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้การเข้าถึงง่ายต่อการรับรู้สำหรับคนทั่วไป จนกลายเป็นที่รู้จักและธรรมเนียมในการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีคนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกปีครับ
สำหรับปีนักษัตรทั้ง 4 ที่เป็นปีชงของปีนั้น ๆ จะมีเกณฑ์ในการแบ่งหรือชี้วัดว่าปีไหนชงมาก ชงน้อย ตามตำราจีนครับ (การแบ่งเกิดขึ้นเฉพาะช่วงปีหลัง ๆ มานี้) ยกตัวอย่างเช่น ปี 2556 นี้เป็น ปีมะเส็ง (งู) ปีนักษัตรที่ชงจะมี ปีมะเส็ง (งู) , กุน (หมู) , วอก (ลิง) และ ขาล (เสือ) โดยปีที่ชงหนักสุดคือ ปีกุล (หมู) เพราะเป็นปีคู่ชงหรือที่ไม่สมพงษ์กันกับปีเจ้าชะตา ซึ่งก็คือ ปีมะเส็ง (งู) ส่วนอีก 3 ปีที่เหลือ ก็จะพอ ๆ กันครับ เพราะถือเป็นปีคาบเกี่ยวหรือปีร่วมชงร่วมปะทะ |