จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งสะท้อนภาพวิถีชีวิตในสังคมไทยโบราณไว้หลายประการ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรไทยแต่ครั้งก่อน ที่นอกจากจะศึกษาวิชาทางหนังสือแล้วยังต้องฝึกหัดวิชาทางจิตควบคู่ไปด้วยกัน และวิธีการฝึกจิตด้วยการหัดลงผงนี้ก็คงเป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่ไม่น้อยในสังคมไทยยุคก่อน ดังปรากฏเรื่องในเสภาว่าเมื่อครั้งที่ขุนแผนไปเรียนวิชาอยู่กับพระอาจารย์คง ที่วัดแคนั้น พระอาจาย์คงได้สอนทั้งวิชาอยู่ยงคงกระพัน การผูกหุ่นพยนต์ และการทำผงปถมัง แต่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือจากเสภาตอนกำเนิดพลายงาม เมื่อพลายงามได้เรียนหนังสือขอมหน้งสือไทยจนแตกฉานสามารถอ่านเขียนได้ดีแล้ว จึงเริ่มศึกษาวิชาทางจิตหรือไสยศาสตร์ และเริ่มศึกษาจากคัมภีร์ปถมังเป็นต้นไป ดังบทกลอนว่า
อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์
ปถมังตั้งตัวนะปัดตลอด แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล แล้วเล่ามนต์เสกขมิ้นกินน้ำมัน
อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ผู้ชำนาญทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้อรรถาธิบายเรื่องการทำผงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสตราคมว่า "...การทำผงนั้นเป็นการหัดทำสมาธิขั้นแรกอย่างเอกอุ กระทำพร้อมกันทั้งองค์ ๓ คือทางกาย ใช้มือขีดเขียนตัวอักขระลงไป พร้อมกับทางวาจา ซึ่งบริกรรมท่องบ่นสูตรและคาถาที่ทำต่าง ๆ ไปพร้อมกับอาการกิริยาที่เขียน ทางใจก็ต้องสำรวมควบคุมเพ่งเล็งตัวอักษรมิให้เขียนผิดพลาด...นับว่าเป็นเครื่องล่อในการหัดทำสมาธิเป็นอย่างดี เพราะมิใช่แต่จะเขียนอย่างเดียว พอเขียนเสร็จบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ลบเสียบังเกิดเป็นขึ้นใหม่ต่อไปอีก เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปฉะนี้สลับกันไป จนท้ายที่สุดถึงองค์พระและลบเข้าสู่สูญนิพพาน..." ผงปถมังนี้เมื่อทำตัวนะปถมังสำเร็จแล้ว ต่อมาคือฝึกหัดเพ่งจนเกิดเป็นนิมิตในลักษณะอย่างอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เพราะโดยแก่นแท้แล้วหลักการทำผงของไทยโบราณก็คือการฝึกสมาธิที่ประยุกต์ขึ้นตามแนวทางของสมถกรรมฐาน ซึ่งหากพิจารณาให้ถ่องแท้จึงจะเห็นถึงหลักไตรลักษณ์ ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดังเช่นผงที่กำเนิดขึ้นและลบดับสู่นิพพานไปบนกระดานชนวนนั่นเอง |